การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นางมะนาว แซ่หรู เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2512 จากบิดามารดาเป็นญวนอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (มีใบสําคัญประจําตัวคนต่างด้าว) นางมะนาวได้อยู่กินกับนายกู๋ แซ่โง โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรในประเทศไทยห้าคน สองคนแรกเกิดก่อนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับ คนที่สาม สี่ เกิดเมื่อประกาศ ของคณะปฏิวัติใช้บังคับแล้ว แต่ก่อน พ.ร.บ. สัญชาติ ฉบับที่ 2 ใช้บังคับ ส่วนคนที่ห้าเกิดเมื่อ พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 ใช้บังคับแล้วมะนาวและบุตรทั้งห้าคนได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

มาตรา 10 บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มะนาวและบุตรทั้ง 5 คน จะได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่นั้น วินิจฉัยได้ดังนี้

1 มะนาว ซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อปี พ.ศ. 2512 จากบิดาและมารดาซึ่งเป็น คนต่างด้าวแต่ได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ดังนี้ย่อมถือว่ามะนาวเป็น ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย และจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)

และต่อมาเมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (ในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) มะนาวก็ไม่ถูกถอนสัญชาติไทย เพราะแม้ว่ามะนาวจะได้เกิดโดยบิดาและมารดาเป็นญวนอพยพ แต่ในขณะที่เกิดนั้น บิดาและมารดาของมะนาวได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ดังนั้น มะนาวจึงยังคง มีสัญชาติไทย

2 บุตร 2 คน รก ซึ่งเกิดในราชอาณาจักรก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้ บังคับย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)

และแม้ต่อมาประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 จะมีผลใช้บังคับ บุตร 2 คนแรกของ มะนาวก็ไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามข้อ 1(3) เพราะบุตร 2 คนแรกนั้นมีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และนาย บิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวก็มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 2450/2526) ดังนั้นบุตร 2 คนแรกจึงยังคงมี สัญชาติไทย

3 บุตรคนที่ 3 และ 4 แม้จะเกิดภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับ แล้วก็ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) เช่นกัน เพราะไม่เข้า ข้อยกเว้น ตามข้อ 2 และข้อ 1(3) เนื่องจากมีมะนาวมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และนายคู่บิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าว ก็มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 1746/2532)

อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) บุตรทั้ง 4 คนกลับได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ที่กําหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือ นอกราชอาณาจักร ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ได้กําหนดให้นํา บทบัญญัติมาตรา 7(1) มาใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย ดังนั้น บุตรทั้ง 4 คนจึงได้รับสัญชาติไทยตามหลักสายโลหิต โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด เพราะมารดา คือ มะนาวเป็นผู้มีสัญชาติไทย

4 สําหรับบุตรคนที่ 5 เกิดเมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ ฉบับที่ 2 ใช้บังคับ โดยมะนาวมารดา เป็นผู้มีสัญชาติไทย ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) และ ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 7 ทวิ วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เกิดในราชอาณาจักร โดยบิดาและมารดาเป็น คนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย…”

สรุป

มะนาวได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)บุตร 4 คน ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) โดยผลของมาตรา 10 ซึ่งให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด บุตรคนที่ 5 ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1)

 

ข้อ 2 นายโฮคนสัญชาติเกาหลีมีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศฟิลิปปินส์ได้สละสัญชาติเกาหลี และได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต่อมานายโฮถูกถอนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 โดยในขณะเดียวกันนั้นเองเกิดคดีขึ้นสู่ศาลไทย และประเด็นข้อพิพาทมีว่านายโฮมีความสามารถ ทํานิติกรรมซื้อเครื่องเชื่อมโลหะ จํานวน 10 เครื่องจากนายวิชัยที่กรุงเทพฯ หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัย พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า ศาลไทยควรนํากฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่านี้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 6 วรรคสาม “สําหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลําเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลําเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ”

มาตรา 10 วรรคแรก “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตาม กฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลไทยควรนํากฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักใน การพิจารณาและวินิจฉัย เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทที่ว่า นายโฮจะมีความสามารถทํานิติกรรมซื้อเครื่องเชื่อมโลหะ จากนายวิชัยที่กรุงเทพฯ ได้หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตาม กฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายโฮคนสัญชาติเกาหลีมีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศฟิลิปปินส์ โดยได้สละสัญชาติเกาหลีและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งในขณะเกิดข้อพิพาทที่ว่านี้นายโฮได้ตกเป็น บุคคลไร้สัญชาติ เพราะนายโฮได้ถูกถอนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 ดังนี้ การจะนํากฎหมาย ประเทศใดมาปรับแก่ข้อพิพาทดังกล่าว จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม ซึ่งมีหลักคือ

1 ถ้าปรากฏภูมิลําเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลําเนาของบุคคลนั้นบังคับ หรือ

2 ถ้าไม่ปรากฎภูมิลําเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายโฮบุคคลไร้สัญชาติและไม่ปรากฏว่ามีภูมิลําเนาอยู่ที่ใด กรณี เช่นนี้จึงต้องใช้กฎหมายประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นกฎหมายที่นายโฮมีถิ่นที่อยู่บังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม

ผลจึงเป็นว่า ศาลไทยจึงควรนํากฎหมายประเทศฟิลิปปินส์ขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณา และวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายโฮที่ว่านี้

สรุป

ศาลไทยควรนํากฎหมายประเทศฟิลิปปินส์ขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัย ประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายโฮ

 

ข้อ 3 เรือสินค้าสัญชาติเนเธอร์แลนด์ถูกกลุ่มบุคคลพร้อมอาวุธปืนนั่งเรือเร็วเข้าปล้น และได้ลักพาตัวลูกเรือชาวเนเธอร์แลนด์ 5 คน และลูกเรือชาวไทย 3 คน เรียกค่าไถ่ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในทะเลหลวง

การกระทําดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1958 (Geneva Convention on High Sea 1958)

มาตรา 15 ได้ให้ความหมายของคําว่า “การโจรสลัด” ว่าต้องประกอบด้วยการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1 การกระทําอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้กําลัง การกักขัง หรือการกระทําอันเป็น การปล้นสะดม ซึ่งกระทําเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของเรือเอกชนมุ่งกระทํา

(ก) ในทะเลหลวง ต่อเรือหรืออากาศยานอีกลําหนึ่ง หรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือหรืออากาศยานเช่นว่านั้น

(ข) ต่อเรือ อากาศยาน บุคคลหรือทรัพย์สินในที่ที่อยู่ภายนอกอํานาจของรัฐใด

2 การกระทําใดอันเป็นการเข้าร่วมด้วยใจสมัครในการดําเนินการของเรือ

3 การกระทําอันเป็นการยุยงหรืออํานวยความสะดวกโดยเจตนาต่อการกระทําที่ได้ กล่าวไว้ในวรรคแรก หรืออนวรรคสอง ของมาตรานี้

วินิจฉัย

ตามปัญหา การที่กลุ่มบุคคลพร้อมอาวุธปืนนั่งเรือเร็วเข้าปล้นเรือสินค้าสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ในเขตทะเลหลวง และได้ลักพาตัวลูกเรือชาวเนเธอร์แลนด์ 5 คน และลูกเรือชาวไทย 3 คน เพื่อเรียกค่าไถ่นั้น การกระทําดังกล่าวถือเป็นการกระทําอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้กําลัง การกักขัง หรือการกระทําอันเป็น การปล้นสะดม ซึ่งกระทําเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของเรือเอกชนมุ่งกระทําใน ทะเลหลวง ต่อเรือหรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือ จึงถือว่าการกระทําดังกล่าว เป็นความผิดฐานโจรสลัด ตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1958 มาตรา 15

สรุป

การกระทําดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ฐานโจรสลัด

 

ข้อ 4 การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากรัฐผู้ร้องขอ รัฐผู้รับคําขอไม่ควรปฏิเสธที่จะร่วมมือโดยการส่งผู้ร้าย ข้ามแดนกลับไปให้ตามคําขอนั้น อยากทราบว่ามีเหตุผลใดบ้างที่รัฐผู้รับคําขอควรจะร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ตามคําขอ

จงบอกเหตุผลเหล่านั้นมาโดยครบถ้วน

ธงคําตอบ

อธิบาย

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน คือ การที่รัฐซึ่งบุคคลนั้นไปปรากฏตัวอยู่ส่งมอบตัวผู้ต้องหาหรือผู้ซึ่ง ต้องคําพิพากษาให้ลงโทษแล้วไปยังรัฐซึ่งผู้นั้นต้องหาว่าได้กระทําความผิดอาญา หรือถูกพิพากษาให้ลงโทษทาง อาญาแล้ว ในดินแดนของรัฐที่ขอให้ส่งตัว

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อประเทศหนึ่งร้องขอแล้วประเทศที่รับคําขอก็ควรจะส่งตัวให้ตามคําขอ ซึ่งเหตุผลสําคัญที่รัฐผู้รับคําขอควรร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ตามคําขอของรัฐผู้ร้องขอ คือ

1 เพื่อร่วมมือกันระหว่างประเทศในการปราบปรามและป้องกันการกระทําความผิดทางอาญาเพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์ร่วม (Common Goal) คือความสงบสุขของประชากรโลก

2 เพื่อเป็นการยืนยันหลักการที่ว่าผู้กระทําผิดต้องได้รับการลงโทษ

3 เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้กระทําความผิดอาศัยการหลบหนีเพื่อมิให้ถูกลงโทษได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลักการทั่วไปดังกล่าว ก็ยังมีข้อยกเว้นให้ผู้กระทําผิดดังกล่าวไม่ต้องถูกส่งตัว อยู่ 3 ประการ คือ

1 ลักษณะแห่งความผิด เช่น เป็นความผิดทางการเมือง ความผิดต่อกฎหมายพิเศษ ความผิดต่อกฎหมายการพิมพ์ ความผิดต่อศาสนา เป็นต้น

2 สัญชาติของผู้กระทําความผิด เช่น เป็นคนในสัญชาติของรัฐผู้รับคําขอ เป็นต้น

3 ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทําความผิด เช่น เป็นบุคคลในคณะทูต บุคคลที่สั่งให้ปล่อยตัวแล้ว เป็นต้น

Advertisement