การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายดอกดุยและน้อง ๆ อีกห้าคนเกิดในประเทศไทยก่อนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับ จากบิดานายหรู หรูท ซึ่งเป็นคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและมีใบสําคัญประจําตัว คนต่างด้าวชอบด้วยกฎหมาย บิดาได้จดทะเบียนสมรสในประเทศไทยกับมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าว เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เมื่อประกาศ ของคณะปฏิวัติใช้บังคับ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีมีคําสั่งให้ถอนสัญชาติไทยของนายดอกดุย กับพวก ให้ท่านวินิจฉัยว่าคําสั่งถอนสัญชาติไทยดังกล่าวขอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

“ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดอกคู่ยและน้อง ๆ อีก 5 คน เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 14 ธันวาคม 2515 คือก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับนั้น นายดอกดุยและน้อง ๆ อีก 5 คน ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (3)

และต่อมาเมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับนายดอกดุยและน้อง ๆ อีก 5 คน ก็จะไม่ถูกถอนสัญชาติไทย เพราะแม้นายด็อกดุยและน้องทั้ง 5 คน จะเกิดโดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ก็ตาม แต่ในขณะที่เกิดนั้นบิดาของนายดอกดุยและน้องทั้ง 5 คน เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและได้เข้ามาอยู่ ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 (3) ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้มีคําสั่งให้ถอนสัญชาติไทยของ นายดอกดุยกับพวกนั้น คําสั่งถอนสัญชาติไทยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งถอนสัญชาติไทยของนายต๊อกดุยกับพวกของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2 นายจังเกิดจากบิดามารดาเป็นคนสัญชาติจีน แต่เกิดและมีภูมิลําเนาในประเทศเวียดนาม ตามกฎหมายจีนบุคคลย่อมได้สัญชาติจีนหากเกิดจากบิดาเป็นจีนไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศจีน และตามกฎหมายเวียดนามบุคคลย่อมได้สัญชาติเวียดนามหากเกิดในประเทศเวียดนาม กฎหมายจีน ยังกําหนดไว้อีกว่าบุคคลบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทํานิติกรรมสัญญาใด ๆ ได้เมื่ออายุ ครบ 19 ปีบริบูรณ์ แต่กฎหมายเวียดนามต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่ นายจังมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้ทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มจํานวน 10 เครื่อง จากนายกล้า คนสัญชาติไทยที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นนายจังและนายกล้ามีคดีขึ้นสู่ศาลไทยโดยประเด็นข้อพิพาท มีว่านายจังมีความสามารถทําสัญญาฯ ที่ว่านี้หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมาย ประกอบด้วยว่า ศาลไทยควรวินิจฉัยอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 6 วรรคสอง “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติ ขึ้นไป อันได้รับมาคราวเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลําเนาอยู่บังคับ ถ้าบุคคลนั้น มีภูมิลําเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่ ให้ใช้กฎหมายภูมิลําเนาในเวลายื่นฟ้องบังคับ ถ้าภูมิลําเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ ในกรณีใด ๆ ที่มี การขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติซึ่ง จะใช้บังคับได้แก่ กฎหมายแห่งประเทศสยาม”

มาตรา 10 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคล ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทํานิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติ คนต่างด้าวนั้นย่อมจะ ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดสําหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมนั้น ได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและ กฎหมายมรดก”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และ บรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่า นายจังมีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มจากนายกล้าคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่อง ความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายจังมีทั้งสัญชาติจีนและเวียดนามซึ่งได้รับมาในคราวเดียวกัน (ได้รับมาพร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติของประเทศที่นายจังมีภูมิลําเนาอยู่ อันได้แก่ กฎหมายเวียดนาม ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสอง ซึ่งเมื่อพิจารณาตาม กฎหมายเวียดนามแล้ว นายจังย่อมไม่มีความสามารถทําสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจากตามกฎหมายเวียดนาม กําหนดว่า บุคคลจะบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทํานิติกรรมใด ๆ ได้เมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อในขณะทํานิติกรรมนายจังมีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

 

แต่อย่างไรก็ดี แม้นายจังจะไร้ความสามารถในการทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่อาจถือได้ว่านายจังคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไข ดังนี้คือ

1) คนต่างด้าวนั้นได้ทํานิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2) ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่า บุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดในการทํานิติกรรมตามข้อ 1) 3) แต่ตามกฎหมายไทย ถือว่า คนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมตามข้อ 1) ได้

ดังนั้น การที่นายจังได้ทํานิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่ นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของนายจัง (เวียดนาม) ก็ถือว่า นายจังไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว นายจังมีความสามารถ ทํานิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้ เพราะถือว่านายจังบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้น ศาลไทยจึงควร วินิจฉัยว่านายจังมีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง

สรุป

ศาลไทยควรวินิจฉัยว่านายจังมีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์ม ดังกล่าวได้

 

ข้อ 3 เรือสินค้าสัญชาติไทยซึ่งออกเกินทางจากประเทศฝรั่งเศสกลับมายังประเทศไทย ถูกกลุ่มบุคคลจากเรืออีกลําซึ่งมีอาวุธบุกปล้น โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้จับตัวลูกเรือทั้งหมดขังไว้และเรียกค่าไถ่ โดยเหตุดังกล่าวเกิดในบริเวณทะเลหลวง ภายหลังลูกเรือทั้งหมดของเรือสินค้าปลอดภัยและได้รับ การปล่อยตัวแล้ว ดังนี้การกระทําของกลุ่มบุคคลดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมาระหว่างประเทศ ฐานใดหรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1958 (Geneva Convention on High Sea 1958) มาตรา 15 ได้ให้ความหมายของคําว่า “การโจรสลัด” ว่าต้องประกอบด้วยการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1 การกระทําอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้กําลัง การกักขัง หรือการกระทําอันเป็นการปล้นสะดม ซึ่งกระทําเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของ เรือเอกชนมุ่งกระทํา

(ก) ในทะเลหลวง ต่อเรือหรืออากาศยานอีกลําหนึ่ง หรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือหรืออากาศยานเช่นว่านั้น

(ข) ต่อเรือ อากาศยาน บุคคลหรือทรัพย์สินในที่ที่อยู่ภายนอกอํานาจของรัฐใด

2 การกระทําใดอันเป็นการเข้าร่วมด้วยใจสมัครในการดําเนินการของเรือ

3 การกระทําอันเป็นการยุยงหรืออํานวยความสะดวกโดยเจตนาต่อการกระทําที่ได้กล่าวไว้ในวรรคแรก หรืออนุวรรคสอง ของมาตรานี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กลุ่มบุคคลจากเรืออีกลําหนึ่งซึ่งมีอาวุธบุกปล้นเรือสินค้าสัญชาติไทย ซึ่งออกเดินทางจากประเทศฝรั่งเศสกลับมายังประเทศไทย โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้จับตัวลูกเรือทั้งหมดขังไว้และ เรียกค่าไถ่ โดยเหตุดังกล่าวเกิดในบริเวณทะเลหลวงนั้น แม้ภายหลังลูกเรือทั้งหมดของเรือสินค้าปลอดภัยและได้รับ การปล่อยตัวแล้วก็ตาม การกระทําดังกล่าวถือเป็นการกระทําอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้กําลัง การกักขัง หรือการกระทําอันเป็นการปล้นสะดม ซึ่งกระทําเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของเรือ เอกชนมุ่งกระทําในทะเลหลวง ต่อเรือหรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือ จึงถือว่าการกระทําดังกล่าว เป็นความผิด ฐานโจรสลัด ตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1958 มาตรา 15

สรุป

การกระทําของบุคคลดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานโจรสลัด

 

ข้อ 4 จงบอกเหตุผลที่รัฐควรร่วมมือกันส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาอย่างน้อย 3 ประการ

ธงคําตอบ

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน คือ การที่รัฐซึ่งบุคคลนั้นไปปรากฏตัวอยู่ส่งมอบตัวผู้ต้องหาหรือผู้ซึ่ง ต้องคําพิพากษาให้ลงโทษแล้วไปยังรัฐซึ่งผู้นั้นต้องหาว่าได้กระทําความผิดอาญา หรือถูกพิพากษาให้ลงโทษทางอาญา แล้ว ในดินแดนของรัฐที่ขอให้ส่งตัว

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อประเทศหนึ่งร้องขอแล้วประเทศที่รับคําขอก็ควรจะส่งตัวให้ตามคําขอ ซึ่ง เหตุผลสําคัญที่รัฐผู้รับคําขอควรร่วมมือในการไม่ปฏิเสธที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ตามคําขอของรัฐผู้ร้องขอ คือ

1 เพื่อร่วมมือกันระหว่างประเทศในการปราบปรามและป้องกันการกระทําความผิดทางอาญาเพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์ร่วม (Common Goal) คือความสงบสุขของประชากรโลก

2 เพื่อเป็นการยืนยันหลักการที่ว่าผู้กระทําผิดต้องได้รับการลงโทษ

3 เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้กระทําความผิดอาศัยการหลบหนีเพื่อมิให้ถูกลงโทษได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลักการทั่วไปดังกล่าว ก็ยังมีข้อยกเว้นให้ผู้กระทําผิดดังกล่าวไม่ต้องถูกส่งตัว อยู่ 3 ประการ คือ

1 ลักษณะแห่งความผิด เช่น เป็นความผิดทางการเมือง ความผิดต่อกฎหมายพิเศษความผิดต่อกฎหมายการพิมพ์ ความผิดต่อศาสนา เป็นต้น

2 สัญชาติของผู้กระทําความผิด

3 ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทําความผิด เช่น บุคคลในคณะทูต บุคคลที่สั่งให้ปล่อยตัวแล้ว เป็นต้น

Advertisement