การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ปรานีหรือนอม แซ่ผ่าน เป็นบุตรนายยิน นางเกียว แซ่ผ่าน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาต (มีใบต่างด้าว) ปรานีเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2490 ปรานีได้อยู่กินกันฉันสามีภริยากับนายกู้ แซ่โง ญวนอพยพโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสเกิดบุตรใน ประเทศไทยสองคนก่อนวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เจ้าหน้าที่กิจการญวนอพยพได้ใส่ชื่อนาย ปรานี และบุตรทั้งสองคนเป็นญวนอพยพ การใส่ชื่อดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2456

มาตรา 3 “บุคคลเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเป็นคนไทย คือ

(3) บุคคลผู้ได้กําเนิดในพระราชอาณาจักรสยาม” พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

มาตรา 10 “บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(1) บุคคลผู้ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษ

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว

(3) บุคคลผู้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 กรณีการใส่ชื่อนายกู้เป็นคนญวนอพยพ ตามข้อเท็จจริง นายกู้ แซโง เป็นคนญวนอพยพ อยู่แล้ว ดังนั้น การใส่ชื่อนายกู้เป็นคนญวนอพยพจึงถูกต้อง

2 กรณีการใส่ชื่อปรานีเป็นคนญวนอพยพ ตามข้อเท็จจริง ปรานีเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2490 ปรานี้จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 343) และปรานี้จะไม่ถูกถอนสัญชาติตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515)เพราะบิดามารดาของปรานี คือ นายยิน และนางเกียว แซ่ผ่าน เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยชอบด้วยกฎหมาย (มีใบต่างด้าว) ดังนั้น การใส่ชื่อปรานี้เป็นคนญวนอพยพจึงไม่ถูกต้อง

3 กรณีการใส่ชื่อบุตรทั้งสองคนเป็นญวนอพยพ ตามข้อเท็จจริง การที่บุตรทั้งสองคน เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 บุตรทั้งสองคนย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ 1.ศ. 2508 มาตรา 7(3) และเมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) บุตรทั้งสองจะไม่ถูกถอนสัญชาติไทย เพราะบิดาเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนมารดามีสัญชาติไทย (คําพิพากษาฎีกาที่ 1746/2532) และเมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผล ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) บุตรทั้งสองคนจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ประกอบมาตรา 10 เพราะเกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น การใส่ชื่อบุตรทั้งสองคนเป็นญวนอพยพจึงไม่ถูกต้อง

สรุป

การที่เจ้าหน้าที่กิจการญวนอพยพได้ใส่ชื่อนายกู๋ ปรานี และบุตรทั้งสองคนเป็นญวนอพยพนั้น การใส่ชื่อนายกู๋ถูกต้อง แต่การใส่ชื่อปรานี และบุตรทั้งสองว่าเป็นคนญวนอพยพไม่ถูกต้อง

 

ข้อ 2 ศาลไทยกําลังพิจารณาคดีเรื่องหนึ่งซึ่งมีประเด็นว่านายอับดุลห์คนสัญชาติบรูไน อายุ 20 ปีบริบูรณ์ มีภูมิลําเนาตามกฎหมายอยู่ที่กรุงเทพฯ มีความสามารถทําสัญญาธุรกิจการค้าธรรมดาทั่วไปฉบับหนึ่ง ซึ่งทําขึ้นในประเทศเกาหลีหรือไม่ กฎหมายภายในของบรูไนกําหนดว่าบุคคลมีความสามารถทําสัญญา เมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ส่วนกฎหมายภายในของเกาหลีต้องมีอายุครบ 22 ปีบริบูรณ์ และ กฎหมายขัดกันของบรูไนกําหนดว่าความสามารถของบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ บุคคลนั้นมีภูมิลําเนา ส่วนกฎหมายขัดกันของเกาหลีให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศแห่งถิ่น ที่สัญญาทําขึ้น ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมยังยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าศาลไทยจะพิจารณาว่า นายอับดุลห์มีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2431

มาตรา 4 “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ และตามกฎหมายต่างประเทศนั้นกฎหมาย ที่จะใช้บังคับได้แก่ กฎหมายแห่งประเทศสยาม ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ มิใช่กฎเกณฑ์แห่ง กฎหมายสยามว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย”

มาตรา 10 วรรคแรก “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตาม กฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ เมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยจะพิจารณาว่านายอับดุลห์มีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้ หรือไม่นั้น เห็นว่าตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก กําหนดให้ ความสามารถของบุคคลเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น เมื่อปรากฏว่านายอับดุลห์มีสัญชาติบรูไน

กฎหมายที่จะใช้บังคับจึงได้แก่กฎหมายบรูไน อย่างไรก็ตาม กฎหมายบรูไนย่อมหมายรวมถึงกฎหมายขัดกันของบรูไนด้วย ดังนั้น เมื่อกฎหมายขัดกันของบรูไนกําหนดว่าความสามารถของบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมายของ ประเทศที่บุคคลนั้นมีภูมิลําเนา ซึ่งตามปัญหาได้แก่ ประเทศไทย จึงเป็นกรณีที่กฎหมายต่างประเทศย้อนส่งกลับมา ให้ใช้กฎหมายไทย โดยนัยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 ดังนั้นกฎหมายที่จะต้องใช้บังคับในที่นี้ จึงได้แก่ กฎหมายไทย และเป็นกฎหมายภายในของไทยมิใช่กฎหมายขัดกัน

และเมื่อปรากฏว่ากฎหมายภายในของไทย คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 กําหนดให้บุคคลผู้มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะสามารถทํานิติกรรมต่าง ๆ ได้ ดังนั้น เมื่อ นายอับดุลห์มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว ศาลไทยจึงมีคําพิพากษาว่า นายอับดุลห์มีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้

สรุป

ศาลไทยจะพิจารณาว่านายอับดุลห์มีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้

 

ข้อ 3 บริษัท เอเอเทรดดิ้ง เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศออสเตรเลียได้มาตั้งสาขาที่ประเทศไทยโดยมีนายสก็อตคนสัญชาติออสเตรเลียเป็นพนักงานประจําสํานักงานที่ประเทศไทย นายสก็อตได้ปลอมแปลง บัญชีของบริษัทฯ สาขาที่ประเทศไทยเพื่อบริษัทฯ จะได้เสียภาษีน้อยลง การกระทําของนายสก็อตถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสก็อตคนสัญชาติออสเตรเลียซึ่งเป็นพนักงานประจําสํานักงาน ที่ประเทศไทยได้ปลอมแปลงบัญชีของบริษัทฯ สาขาที่ประเทศไทยเพื่อบริษัทฯ จะได้เสียภาษีน้อยลงนั้น การ กระทําของนายสก็อตดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “White Collar Crimes” ซึ่งหมายถึงการกระทําความผิดโดยบุคคลที่แต่งตัวสะอาดโก้หรู มีตําแหน่งหน้าที่การงานและใช้ตําแหน่งหน้าที่ การงานของตนมาเป็นประโยชน์ในการประกอบความผิด

ซึ่งลักษณะของการกระทําความผิดประเภทนี้ มักเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การทุจริต การยักยอก หรือฉ้อโกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจและการค้าต่าง ๆ รวมตลอดถึงการขโมยหรือบิดเบือนบัญชีบริษัทหรือ ปลอมแปลงสัญญาหรือตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือเช็ค เป็นต้น ตัวอย่างเช่น พวกพ่อค้า หรือนักธุรกิจที่โกงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ สมุห์บัญชีฉ้อโกงบริษัทที่ประกอบการธุรกิจหรือการค้าต่าง ๆ การกระทําความผิดเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าควบคุมในตลาดมืด เป็นต้น

สรุป

การกระทําของนายสก็อต ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “White Collar Crimes”

 

ข้อ 4 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ให้ท่านอธิบาย

ก ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ข วัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้

ค หลักทั่วไปในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ธงคําตอบ

ก คําว่า “ผู้ร้าย” หมายถึง บุคคลผู้กระทําผิดอาญา ซึ่งอาจจะอยู่ในฐานะผู้ต้องหาหรือจําเลย หรือ ผู้ซึ่งต้องคําพิพากษาให้ลงโทษ อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้กระทําผิดอาญาในประเทศหนึ่งแล้วหลบหนีข้ามแดนไปอยู่ อีกประเทศหนึ่ง ประเทศที่ความผิดได้กระทําลงร้องขอให้ประเทศที่ผู้ร้ายหลบหนีไปอยู่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อนํามา พิจารณาลงโทษ

ดังนั้น คําว่า “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน” จึงหมายถึง การที่ประเทศซึ่งผู้ร้ายไปปรากฏตัวอยู่ ส่งมอบ ตัวผู้ร้ายนั้นไปยังประเทศผู้ร้องขอให้ส่งตัวนั่นเอง

ข วัตถุประสงค์ของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีอยู่ 3 ประการ คือ

1 เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการกระทําผิดอาญาและอาชญากรรมต่าง ๆ เพื่อความสงบสุขของประชาชนโลกทั้งปวง

2 เพื่อให้เป็นไปตามหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาที่ว่า ผู้กระทําผิดอาญาจะต้องได้รับโทษเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

3 เพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทําผิดอาศัยการหลบหนีไปอีกประเทศหนึ่ง เพื่อให้ตนรอดพ้นจากการถูกลงโทษ

ค หลักทั่วไปของการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมี 9 ข้อ คือ

1 บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวเป็นผู้กระทําผิดทางอาญา หรือถูกลงโทษในทางอาญาในเขตของประเทศที่ร้องขอ หรือเป็นคดีอาญาที่มีมูลที่จะนําตัวผู้ต้องหาขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้

2 ต้องไม่ใช่คดีที่ขาดอายุความ หรือคดีที่ศาลของประเทศใด ได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งข้ามแดนได้

3 บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวจะเป็นคนสัญชาติใดก็ได้ อาจจะเป็นพลเมืองของประเทศที่ร้องขอหรือประเทศที่ถูกขอหรือประเทศที่สามก็ได้

4 ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวได้กระทําไปนั้น ต้องเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาของทั้งสองประเทศ คือประเทศที่มีคําขอและประเทศที่ถูกขอให้ส่งตัว

5 ต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายกําหนดโทษจําคุกไม่ต่ำกว่า 1 ปี

6 บุคคลที่ถูกขอตัวได้ปรากฏตัวอยู่ในประเทศที่ร้องขอให้ส่งตัว

7 ประเทศเจ้าของที่เกิดเหตุ เป็นผู้ดําเนินการร้องขอให้ส่งตัวโดยปฏิบัติตามพิธีการต่าง ๆครบถ้วนดังที่กําหนดไว้ในสนธิสัญญา หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

8 ผู้ที่ถูกส่งตัวไปนั้น จะต้องถูกฟ้องเฉพาะในความผิดที่ระบุมาในคําขอให้ส่งตัวเท่านั้นหรืออย่างน้อยที่สุด จะต้องเป็นความผิดที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาระหว่างกัน

9 ต้องไม่ใช่ความผิดบางประเภทที่ไม่นิยมส่งผู้ร้ายข้ามแดน เช่น คดีการเมือง เพราะมีหลักห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีการเมือง

Advertisement