การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ตึกสํานักงานของบริษัททรุดตัว นายจ้างจึงให้ผู้รับเหมาทําการซ่อมแซมใช้เวลาสามเดือน (ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม) ปรากฏว่านายอนุชิตเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท ทํางานมาแล้ว 2 ปี 10 เดือน นับถึงเดือนกุมภาพันธ์) และนายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจําเป็น ที่จะต้องหยุดกิจการทั้งหมดลงชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน ในระหว่าง 3 เดือนนั้น นายอนุชิตได้ไป ทํางานกับบุคคลอื่นเพื่อหารายได้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้

(ก) ในระหว่าง 3 เดือนนี้ นายจ้างจะต้องให้เงินแก่นายอนุชิตหรือไม่ เป็นจํานวนเงินเท่าใดเพราะเหตุใด

(ข) ถ้าหากว่านายจ้างต้องการบอกเลิกสัญญาจ้างนายอนุชิต จะต้องให้ค่าชดเชยเป็นจํานวนเงินเท่าใด หรือไม่ เพราะเหตุใด

จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 19 “เพื่อประโยชน์ในการคํานวณระยะเวลาการทํางานของลูกจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นับวันหยุด วันลา วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง และวันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน เพื่อประโยชน์ของนายจ้าง รวมเป็นระยะเวลาการทํางานของลูกจ้างด้วย”

มาตรา 75 “ในกรณีที่นายจ้างมีความจําเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สําคัญอันมีผลกระทบต่อ การประกอบกิจการของนายจ้างจนทําให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า ของค่าจ้างในวันทํางานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทํางาน

ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่ม หยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทําการ”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(3) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 119 “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้……”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่ตึกสํานักงานของบริษัททรุดตัว นายจ้างจึงให้ผู้รับเหมามาทําการซ่อมแซมและต้องหยุดกิจการเป็นเวลา 3 เดือนนั้น ถือเป็นความจําเป็นอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทําให้ นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยตามมาตรา 75 ดังนั้นในระหว่าง 3 เดือน ดังกล่าว นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่นายอนุชิตลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทํางานที่ ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทํางาน เมื่อนายอนุชิตได้รับค่าจ้าง เดือนละ 20,000 บาท ร้อยละ 75 จึงเท่ากับ 15,000 บาท ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายเงินให้แก่นายอนุชิต เป็นเงินทั้งสิ้น 45,000 บาท

(ข) การที่นายอนุชิตได้ไปทํางานกับบุคคลอื่นเพื่อหารายได้นั้น ไม่ถือว่านายอนุชิตได้กระทําผิด อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 119 ดังนั้น ถ้านายจ้างต้องการบอกเลิกสัญญาจ้างนายอนุชิตจึงต้องจ่ายค่าชดเชย ให้แก่นายอนุชิตตามมาตรา 118 และเมื่อนายอนุชิตได้ทํางานมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี 10 เดือน บวกกับวันที่นายจ้าง สั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้างอีก 3 เดือน (ตามมาตรา 19) เท่ากับถือว่านายอนุชิตได้ทํางาน มาแล้วเป็นเวลา 3 ปี 1 เดือน ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายอนุชิตไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน 6 เดือน) เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 120,000 บาท (ตามมาตรา 118 (3) และคําพิพากษาฎีกาที่ 7675/2548)

สรุป

(ก) นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่นายอนุชิตเป็นเงิน 45,000 บาท

(ข) ถ้านายจ้างต้องการบอกเลิกสัญญาจ้างนายอนุชิต นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่นายอนุชิตเป็นเงิน 120,000 บาท

 

ข้อ 2. นายสุชาติเป็นหัวหน้าพนักงานที่โรงแรมสบายสบาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท (เฉลี่ย 100 บาทต่อชั่วโมง) ทํางานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. (พักเที่ยง 1 ชั่วโมง) นายจ้างให้เลื่อนวันหยุดประจําสัปดาห์ของเดือนพฤษภาคมไปหยุดช่วงปลายเดือนเป็นเวลา 4 วัน ติดต่อกัน (สามารถทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด)

แต่เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวเป็นจํานวนมาก นายจ้างจึงขอให้นายสุชาติมาทํางานในช่วงวันหยุดประจําสัปดาห์ 4 วันของนายสุชาติ โดยให้มา ทํางานตั้งแต่เวลา 08.00 ถึง 17.00 น. เช่นนี้ นายสุชาติจะได้รับค่าตอบแทนอย่างไร เป็นจํานวนเงินเท่าใด เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 28 วรรคสอง “ในกรณีที่ลูกจ้างทํางานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดประจําสัปดาห์ และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาสี่สัปดาห์ติดต่อกัน”

มาตรา 62 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือ มาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทํางานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้

(1) สําหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่า หนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทําหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้าง ต่อหน่วยในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายสุชาติเป็นหัวหน้าพนักงานที่โรงแรมสบายสบาย ถือว่านายสุชาติเป็นลูกจ้าง ที่ทํางานในโรงแรมตามมาตรา 28 วรรคสอง นายจ้างและลูกจ้างจึงสามารถตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุด ประจําสัปดาห์ และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาสี่สัปดาห์ติดต่อกัน ดังนั้น การที่นายจ้างให้ เลื่อนวันหยุดประจําสัปดาห์ของเดือนพฤษภาคมไปหยุดช่วงปลายเดือนเป็นเวลา 4 วันติดต่อกันจึงสามารถทําได้

2 เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเป็นจํานวนมาก นายจ้างจึงขอให้นายสุชาติมาทํางานในช่วง วันหยุดประจําสัปดาห์ 4 วันของนายสุชาติ โดยเริ่มทํางานตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. นั้น เป็นกรณีที่นายจ้าง ให้ลูกจ้างทํางานในวันหยุด ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทําสําหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ตามมาตรา 62 (1) เมื่อนายสุชาติได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท (เฉลี่ยวันละ 800 บาท และชั่วโมงละ 100 บาท) นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดให้นายสุชาติ 800 บาทต่อวัน และเมื่อนายสุชาติทํางานในวันหยุดประจําสัปดาห์ 4 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าทํางานในวันหยุด เป็นเงินรวมทั้งสิ้นจํานวน 3,200 บาท

สรุป

นายจ้างสามารถให้เลื่อนวันหยุดประจําสัปดาห์ของเดือนพฤษภาคมไปหยุดช่วงปลายเดือน เป็นเวลา 4 วันได้ และเมื่อนายสุชาติมาทํางานในช่วงวันหยุดประจําสัปดาห์ 4 วัน นายสุชาติจะได้รับค่าทํางาน ในวันหยุด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,200 บาท

 

ข้อ 3. นายสาธิตเป็นลูกจ้างแผนกทําอาหารได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท นายจ้างให้นายสาธิตทํางานตอนเย็นตั้งแต่ 18.00 ถึง 23.00 น. นายสาธิตได้เดินทางกลับไปบอกภริยาและเดินทางมาทํางาน ตามที่นายจ้างสั่ง ในระหว่างเดินทางเห็นว่ายังขาดเครื่องปรุงอาหารบางอย่างจึงได้แวะซื้อเพื่อ นํามาใช้ในการปรุงอาหารให้แก่คนทํางานตอนดึก แต่เกิดอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ได้รับบาดเจ็บ ระหว่างเดินทางต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือน เช่นนี้ นายสาธิตจะมีสิทธิอะไรบ้างเพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนฯ มาตรา 5 กรณีที่จะถือว่าลูกจ้างประสบอันตราย จะต้องเป็นกรณี ที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กาย หรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตาย เนื่องจาก

1 การทํางานให้แก่นายจ้าง หรือ

2 การทํางานเพื่อป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือ

3 การทํางานตามคําสั่งของนายจ้าง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสาธิตได้เดินทางกลับไปบอกภริยาและเดินทางมาทํางานตามที่ นายจ้างสั่ง ในระหว่างเดินทางได้แวะซื้อเครื่องปรุงอาหารบางอย่างที่ต้องนํามาใช้ในการปรุงอาหารให้แก่คนทํางาน ตอนดึก แต่เกิดอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ได้รับบาดเจ็บระหว่างเดินทางนั้น ถือว่าอุบัติเหตุดังกล่าวได้เกิดขึ้นใน ระหว่างเดินทางก่อนถึงเวลาปฏิบัติงานยังไม่ได้ลงมือทํางานให้แก่นายจ้าง และการที่นายสาธิตได้เดินทางกลับบ้าน ไปบอกภริยาเพื่อให้ภริยาทราบว่าจะต้องทํางานในวันเกิดเหตุนั้นถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับงานที่จะต้องทํา และ การที่นายสาธิตตั้งใจจะแวะซื้อเครื่องปรุงอาหารบางอย่างที่เห็นว่าขาดหรือหมดไปจากตลาดที่อยู่ในระหว่างทางมาใช้ ในการทํางานด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏว่านายจ้างได้มีคําสั่งให้กระทําเช่นนั้น จึงแสดงอยู่ในตัวว่า นายสาธิตได้กระทําการเอง ไม่ได้กระทําตามคําสั่งของนายจ้าง จะถือว่านายสาธิตได้รับอันตรายเนื่องจากการทํางานตามคําสั่งของนายจ้าง หรือเนื่องจากทํางานให้แก่นายจ้างไม่ได้ ดังนั้น กรณีของนายสาธิตจึงไม่ถือว่าเป็นการ “ประสบอันตราย” ตามความหมายของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 (คําพิพากษาฎีกาที่ 3/2543) นายสาธิต จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

สรุป

นายสาธิตไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนใด ๆ จากนายจ้าง

 

ข้อ 4. ในสถานประกอบการแห่งหนึ่งได้มี “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” กําหนดให้ ลูกจ้างที่ทํางานครบ 6 เดือน มีสิทธิได้รับค่ารถและค่าครองชีพ แต่ต่อมานายจ้างได้แก้ไขระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ การทํางานจากเดิมที่กําหนดไว้ 6 เดือน เป็น 1 ปี ลูกจ้างเห็นว่านายจ้างกระทําการดังกล่าวไม่ถูกต้องเช่นนี้ ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“สภาพการจ้าง” หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือการทํางาน กําหนดวันและเวลาทํางาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทํางาน

“ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” หมายความว่า ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือ ระหว่างนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้าง”

มาตรา 20 “เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทําสัญญา จ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้น เป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่สถานประกอบกิจการดังกล่าวได้มี “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” กําหนดให้ลูกจ้างที่ทํางานครบ 6 เดือน มีสิทธิได้รับค่ารถและค่าครองชีพ แต่ต่อมาภายหลัง นายจ้างได้แก้ไขระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานจากเดิมที่กําหนดไว้ 6 เดือน เป็น 1 ปีนั้น เมื่อนายจ้างได้แก้ไขระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ การทํางานจากเดิมที่กําหนดไว้ 6 เดือน เป็น 1 ปี ย่อมทําให้สิทธิของลูกจ้างซึ่งจะได้รับสิทธิเปลี่ยนจากได้รับเมื่อ พ้นเวลา 6 เดือน เป็น 1 ปี ถือเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เป็นการขัดแย้งกับ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 การแก้ไข ดังกล่าวจึงไม่มีผล จะต้องถือตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม เนื่องจากเป็นการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 (คําพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543) ดังนั้น การที่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการดังกล่าวเห็นว่านายจ้างได้กระทําการดังกล่าวไม่ถูกต้องนั้น ความเห็นของลูกจ้างจึงถูกต้อง

สรุป

การที่ลูกจ้างเห็นว่านายจ้างกระทําการดังกล่าวไม่ถูกต้องนั้น ความเห็นของลูกจ้าง ถูกต้อง

Advertisement