การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายนครเป็นลูกจ้างบริษัท ออลนิว จํากัด ข้อบังคับการทํางานของบริษัทฯ ในเรื่องการเกษียณอายุโดยให้ลูกจ้างเกษียณอายุ เมื่ออายุครบ 60 ปี เมื่อครบ 60 ปีก็อยู่ที่บริษัท ออลนิว จํากัด นายจ้าง จะให้ลูกจ้างเกษียณอายุหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบริษัท ออลนิว จํากัด นายนครเมื่ออายุครบ 60 ปี จึงขอเกษียณอายุไม่ทํางานต่อไป บริษัท ออลนิว จํากัด จึงแจ้ง อนุญาต แต่ไม่จ่ายค่าชดเชย เพราะอ้างว่านายนครขอพ้นจากการเป็นลูกจ้างเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่บริษัท ออลนิว จํากัด เลิกจ้าง นายนครจึงไปปรึกษาพนักงานตรวจแรงงาน โดยนายนครทํางานกับบริษัทฯ นายจ้างถึง 15 ปี พนักงานตรวจแรงงานจึงออกคําสั่งให้บริษัท ออลนิว จํากัด จ่ายค่าชดเชยไม่น้อย กว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังนี้ คําสั่งดังกล่าวถูกต้อง หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

(5) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามร้อยวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทําใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทํางานต่อไปและ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดของสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้าง ไม่ได้ทํางานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดําเนินกิจการต่อไป”

มาตรา 118/1 วรรคหนึ่ง “การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่ นายจ้างกําหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนครซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท ออลนิว จํากัด ขอเกษียณอายุ ไม่ทํางานต่อไปเมื่อมีอายุครบ 60 ปีนั้น แม้ข้อบังคับการทํางานของบริษัทฯ จะได้กําหนดไว้ว่า เมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปี นายจ้างจะให้ลูกจ้างเกษียณอายุหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบริษัทฯ ก็ตาม แต่ตามมาตรา 118/1 ให้ถือว่า การขอเกษียณอายุของนายนครดังกล่าวเป็นกรณีการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง คือเป็นกรณีที่นายจ้าง ไม่ให้ลูกจ้างทํางานตอไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ หาใช่เป็นเรื่องที่ลูกจ้างขอลาออกในกรณีปกติไม่ ดังนั้น บริษัทฯ จึง ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายนครลูกจ้างตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง และเมื่อนายนครลูกจ้างทํางานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป บริษัท ออลนิว จํากัด จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายนครไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ตามมาตรา 118 (5) การที่พนักงานตรวจแรงงานออกคําสั่งให้บริษัท ออลนิว จํากัด จ่ายค่าชดเชยให้นายนครไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 (5) นั้น คําสั่งดังกล่าวจึงถูกต้องตามกฎหมาย

สรุป

คําสั่งดังกล่าวของพนักงานตรวจแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายรื่นเริงเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,400 บาท (เฉลี่ยวันละ 480 บาท) และนายอาสาเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างวันละ 320 บาท ทํางานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. ในวันจันทร์และวันอังคารนายจ้างให้ลูกจ้างทั้งสองเลิกงานเร็วกว่าปกติ คือเวลา 16.00 น. แต่ นายจ้างมีคําสั่งให้นายรื่นเริงและนายอาสาทํางานในวันพุธไปถึงเวลา 18.00 น. เช่นนี้ นายรื่นเริง และนายอาสาจะเรียกร้องค่าตอบแทนระหว่างเวลา 17.00 น. ถึง 18.00 น. ได้หรือไม่ เรียกว่า ค่าอะไร เป็นจํานวนเงินเท่าใด เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 23 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ให้นายจ้างประกาศเวลาทํางานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดยกําหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทํางานแต่ละวันของลูกจ้างได้ไม่เกินเวลาทํางานของแต่ละประเภทงาน ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมง ในกรณีที่เวลาทํางานวันใดน้อยกว่าแปดชั่วโมง นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันให้นําเวลาทํางานส่วนที่เหลือนั้นไปรวมกับเวลาทํางานในวันทํางานปกติอื่นก็ได้ แต่ต้องไม่เกินวันละเก้าชั่วโมงและเมื่อรวมเวลาทํางานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง เว้นแต่ งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กําหนดในกฎกระทรวงต้องมีเวลาทํางาน ปกติวันหนึ่งไม่เกินเจ็ดชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทํางานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบสองชั่วโมง

ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันให้นําเวลาทํางานส่วนที่เหลือไปรวมกับเวลาทํางาน ในวันทํางานปกติอื่นตามวรรคหนึ่งเกินกว่าวันละแปดชั่วโมง ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่ง ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทําเป็นสําหรับลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้ในชั่วโมงที่ทําเกิน สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายรื่นเริงและนายอาสาลูกจ้างทํางานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่ เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. และนายจ้างได้มีคําสั่งให้ลูกจ้างทั้งสองเลิกงานเร็วกว่าปกติคือเวลา 16.00 น. ในวันจันทร์และวันอังคาร โดยให้ไปทํางานในวันพุธจนถึงเวลา 18.00 น. นั้น ย่อมสามารถทําได้ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ซึ่งกําหนดว่า ในกรณีที่เวลาทํางานวันใดน้อยกว่า 8 ชั่วโมง นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันให้นํา เวลาทํางานส่วนที่เหลือนั้นไปรวมกับเวลาทํางานในวันทํางานปกติอื่นก็ได้ แต่ต้องไม่เกินวันละ 9 ชั่วโมง และเมื่อ รวมเวลาทํางานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง

ส่วนการที่นายรื่นเริงและนายอาสาจะเรียกร้องค่าตอบแทนระหว่างเวลา 17.00 น. ถึง 18.00 น. ได้หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 23 วรรคสองแล้ว จะเห็นได้ว่า เมื่อนายอาสาเป็นลูกจ้างรายวัน ซึ่งได้รับค่าจ้างวันละ 320 บาท เฉลี่ยชั่วโมงละ 40 บาท นายอาสาจึงสามารถเรียกร้องค่าตอบแทนระหว่างเวลา 17.00 น. ถึง 18.00 น. ได้ โดยจะได้รับไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของค่าจ้างต่อชั่วโมง ดังนั้น นายอาสาจะได้รับ ค่าตอบแทนเป็นเงิน 60 บาท ส่วนนายรื่นเริงซึ่งเป็นลูกจ้างรายเดือนนั้น จะไม่ได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวเพราะ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 23 วรรคสอง ซึ่งกําหนดให้จ่ายค่าตอบแทนกรณีดังกล่าวให้แต่เฉพาะลูกจ้างรายวันหรือ รายชั่วโมงเท่านั้น

สรุป

นายอาสาสามารถเรียกร้องค่าตอบแทนระหว่างเวลา 17.00 น. ถึง 18.00 น. ของ การทํางานในวันพุธได้ ซึ่งเรียกว่า “ค่าตอบแทน” เป็นจํานวนเงิน 60 บาท ส่วนนายรื่นเริงไม่สามารถเรียก ค่าตอบแทนดังกล่าวได้

 

ข้อ 3. มังกรเป็นลูกจ้างรายเดือนของบริษัท แม็คก้าโฮม จํากัด ได้รับค่าจ้างเดือนละ 16,000 บาท ทํางานในตําแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทฯ นายจ้างได้มอบหมายให้มังกรทํางานมากขึ้น บาบูซึ่งเป็น ลูกน้องของมังกรทําเงินขาดหายไปจํานวนหนึ่งซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของมังกร ทําให้มังกร มีความเครียดประกอบกับมังกรต้องทํางานหนักทั้งสัปดาห์และทํางานล่วงเวลาด้วย วันเกิดเหตุ มังกรมีอาการหน้ามืด ล้มลงขณะทํางาน มังกรถูกนําตัวส่งโรงพยาบาล ระหว่างทางได้เสียชีวิต เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตกก่อนถึงโรงพยาบาล ทายาทของมังกร ได้แก่ สมพรมารดา ขวัญจิต ภริยา (จดทะเบียน) กิมจิบุตรชายอายุ 16 ปี ทํางานร้านขายของชํา ได้เรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงิน ค่าทดแทน แต่นายจ้างปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่ามังกรไม่ได้ตายด้วยโรคจากการทํางานจึงไม่มีสิทธิ ในเงินทดแทน ดังนี้ ให้พิจารณาว่า

ก. ข้ออ้างของนายจ้างที่ว่ามังกรไม่ได้ตายด้วยโรคจากการทํางานจึงไม่มีสิทธิในเงินทดแทน ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ข. ทายาทของมังกรจะมีสิทธิในเงินทดแทนหรือไม่ อย่างไรบ้าง ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“เจ็บป่วย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตาม ลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทํางาน”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้นายจ้าง จ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีกําหนดแปดปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่า ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

มาตรา 20 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1) บิดามารดา

(2) สามีหรือภริยา

(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่”

มาตรา 21 วรรคหนึ่ง “ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก ข้ออ้างของนายจ้างที่ว่ามังกรไม่ได้ตายด้วยโรคจากการทํางานจึงไม่มีสิทธิในเงินทดแทนฟังขึ้น หรือไม่ เห็นว่า การที่มังกรเป็นลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเดือนละ 16,000 บาท นายจ้างได้มอบหมายให้มังกร ทํางานมากขึ้น ลูกน้องของมังกรทําเงินหายและมังกรซึ่งทํางานหนักตลอดทั้งสัปดาห์และทํางานล่วงเวลาด้วย ทําให้วันเกิดเหตุมังกรมีอาการหน้ามืด ล้มลงขณะทํางานและถูกนําตัวส่งโรงพยาบาล แต่ระหว่างทางได้เสียชีวิต เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตกก่อนถึงโรงพยาบาลนั้น การที่มังกรถึงแก่ความตายถือเป็นการตายด้วยโรคจาก การทํางานตามนัยของคําว่า “เจ็บป่วย” ตามมาตรา 5 เนื่องจากการตายของมังกรเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการที่ นายจ้างมอบหมายงานให้ลูกจ้างมีความรับผิดชอบมากขึ้น ประกอบกับมังกรมีความเครียดเพราะลูกน้องที่อยู่ใน ความรับผิดชอบทําเงินหายไปจํานวนหนึ่ง และตลอดสัปดาห์ก็ทํางานล่วงเวลาเป็นการตรากตรําทํางานจนเป็นผล ทําให้ไม่ได้พักผ่อน ดังนั้น ข้ออ้างของนายจ้างที่ว่ามังกรไม่ได้ตายด้วยโรคจากการทํางานจึงไม่มีสิทธิในเงินทดแทน จึงฟังไม่ขึ้น (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 5121/2537)

ข ทายาทของมังกรจะมีสิทธิในเงินทดแทนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมังกรได้ถึงแก่ความตายด้วยโรค จากการทํางาน ทายาทของมังกรย่อมมีสิทธิในเงินทดแทน โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าทําศพให้แก่ผู้จัดการศพของ มังกรลูกจ้างตามมาตรา 16 โดยต้องจ่ายเป็นเงินจํานวน 31,000 บาท (100 คูณด้วยอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ซึ่งปัจจุบันคือ 310 บาท) และนายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ซึ่งได้แก่ สมพร ขวัญจิต และกิมจิ ในอัตราตามที่กําหนดไว้ตามมาตรา 18 (4) ประกอบวรรคสีอีกเป็นจํานวนเงิน 9,600 บาท (ร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนคือ 9,500 บาท ซึ่งไม่เกินค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานฯ ประกาศกําหนด คือ 12,000 บาท) เป็นระยะเวลา 8 ปี โดยสมพร ขวัญจิต และกิมจิ จะได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทน เท่า ๆ กันตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง คือคนละ 3,200 บาท

สรุป

ก ข้ออ้างของนายจ้างที่ว่ามังกรไม่ได้ตายด้วยโรคจากการทํางานจึงไม่มีสิทธิในเงินทดแทน ฟังไม่ขึ้น ทายาทของมังกรมีสิทธิในเงินทดแทน คือค่าทําศพจํานวน 31,000 บาท และ ค่าทดแทนเป็นรายเดือน ๆ ละ 9,600 บาท โดยทั้งสามคนจะได้รับคนละ 3,200 บาท

 

ข้อ 4. ลูกจ้างบริษัท กาโตว์กราฟฟิค จํากัด รวมตัวกันแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง ขั้นตอนอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ให้นักศึกษาอธิบายว่า

ก กรณีขั้นตอนอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนายจ้างจะปิดงานได้หรือไม่

ข หากนายจ้างเลิกจ้างจักร ซึ่งเป็นแกนนําในการแจ้งข้อเรียกร้องในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน จักรจะได้รับการคุ้มครองตากฎหมายแรงงานสัมพันธ์หรือไม่ และหากจักรใช้สิทธิฟ้องร้องนายจ้างทันที่จะกระทําได้หรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 22 “เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับแจ้งตามมาตรา 21 แล้ว ให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดําเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง และฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกันภายใน กําหนดห้าวันนับแต่วันที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับหนังสือแจ้ง

ถ้าได้มีการตกลงกันภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นํามาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้น เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ตามมาตรา 26 หรือนายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา 39 ก็ได้ ทั้งนี้ภายใต้บังคับ มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 หรือมาตรา 36”

มาตรา 31 “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว

มาตรา 34 “ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 13 หรือได้แจ้งข้อเรียกร้องแล้ว แต่ข้อพิพาทแรงงานนั้นยังไม่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม

ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงาน โดยมิได้แจ้ง เป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน และอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้ง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

ก. ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ มาตรา 34 (1) ได้กําหนดถึงการใช้สิทธิและข้อห้ามในการปิดงาน ของนายจ้างเอาไว้ โดยห้ามมิให้นายจ้างปิดงานในกรณีที่สถานประกอบการนั้นไม่เคยมีข้อตกลงหรือคําชี้ขาดใด ๆ มาก่อนเลย และยังมิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 หรือกรณีที่มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว แต่ข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ยหรืออยู่ในระหว่างการวินิจฉัยหรือการชี้ขาดข้อพิพาท แรงงานของผู้มีอํานาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งข้อพิพาทแรงงานนั้นยังไม่เป็นข้อพิพาทแรงงาน ที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม

ดังนั้นจากข้อเท็จจริง การที่ลูกจ้างบริษัท กาโตว์กราฟฟิค จํากัด ได้รวมตัวกันแจ้งข้อเรียกร้องต่อ นายจ้าง และขั้นตอนอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 22 วรรคหนึ่งนั้น นายจ้างจะปิดงานไม่ได้ เพราะหากพนักงานประนอมข้อพิพาทไกล่เกลี่ยสําเร็จภายในกําหนด 5 วัน นับแต่วันที่ พนักงานประนอมข้อพิพาทได้รับหนังสือแจ้ง ก็ไปจัดทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 18 หากไกล่เกลี่ย ไม่สําเร็จเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ นายจ้างจึงจะปิดงานเพื่อเป็นการกดดันลูกจ้างให้ถอนข้อเรียกร้องได้ โดยแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและลูกจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้งตามมาตรา 34

ข หากนายจ้างเลิกจ้างจักร ซึ่งเป็นแกนนําในการแจ้งข้อเรียกร้องในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทแรงงาน จักรจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และหากจักรใช้สิทธิฟ้องร้องนายจ้างทันที ย่อมสามารถกระทําได้ตามมาตรา 31 ที่ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในช่วงที่มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 และข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29

สรุป

ก กรณีขั้นตอนอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนายจ้างจะปิดงานไม่ได้

ข หากนายจ้างเลิกจ้างจักร ซึ่งเป็นแกนนําในการแจ้งข้อเรียกร้องในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน จักรจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน สัมพันธ์ และหากจักรใช้สิทธิฟ้องร้องนายจ้างทันทีย่อมสามารถกระทําได้

Advertisement