การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายพสุธา เป็นลูกจ้างบริษัท บัวทอง จํากัด ทํางานในแผนกผลิตยาบํารุงร่างกายมาเป็นเวลา 12 ปี นายพสุธามีอาการผิดปกติในร่างกายป่วยอยู่บ่อย ๆ นายพสุธาจึงไปตรวจร่างกายพบว่า นายพสุธา ป่วยเป็นมะเร็ง นายพสุธาขอลาป่วยอยู่บ่อยครั้ง การทํางานของนายพสุธาจึงบกพร่องในการผลิตยา บริษัท บัวทอง จํากัด ได้มีหนังสือเตือนถึงการขาดงานบ่อยครั้ง แต่อาการของนายพสุธาทรุดลง อย่างมาก นายพสุธาจึงทําหนังสือขอลาป่วยอีก 2 อาทิตย์ นายจ้างเห็นว่า นายพสุธาทํางานไม่ไหว บกพร่องในงานผลิตยา บริษัท บัวทอง จํากัด นายจ้างจึงทําหนังสือเลิกจ้างนายพสุธาโดยไม่จ่ายค่าชดเชย

ดังนี้ อยากทราบว่า การบอกเลิกจ้างของนายจ้างดังกล่าว ต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายพสุธา หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(5) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามร้อยวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 119 วรรคหนึ่ง “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคหนึ่ง นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพสุธา มีอาการผิดปกติในร่างกายป่วยอยู่บ่อย ๆ และเมื่อไปตรวจ ร่างกายจึงพบว่าป่วยเป็นมะเร็ง นายพสุธาจึงขอลาป่วยอยู่บ่อยครั้ง ทําให้การทํางานของนายพสุธาจึงบกพร่องในการผลิตยานั้น การเจ็บป่วยของนายพสุธาถือว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกาย มิใช่การกระทําฝ่าฝืน ระเบียบหรือคําสั่งของนายจ้าง และมิใช่การกระทําโดยประการอื่นใดที่จะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง และแม้จะปรากฏว่าบริษัทฯ จะได้มีหนังสือเตือน ถึงการขาดงานบ่อยครั้งก็ตาม การที่นายพสุธาได้ทําหนังสือขอลาป่วยอีก 2 อาทิตย์ ทําให้บริษัทฯ เลิกจ้างนั้น กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 119 (4) อันจะทําให้บริษัทฯ มีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายพสุธา และเมื่อปรากฏว่านายพสุธาได้ทํางานมาเป็น เวลา 12 ปีแล้ว บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายพสุธาไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน 10 เดือน) ตามมาตรา 118 (5)

สรุป

การบอกเลิกจ้างของนายจ้างดังกล่าว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายพสุธาไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน (10 เดือน)

 

 

ข้อ 2 นายกุศลได้ประกาศรับสมัครงานในตําแหน่งผู้จัดการอาคารชุด ได้รับสินจ้างเดือนละ 30,000 บาท และหัวหน้างานบุคคล ได้รับสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท นายบุญรอดได้มาสมัครงานในตําแหน่ง ผู้จัดการอาคารชุด และนายวิษณได้มาสมัครงานในตําแหน่งหัวหน้างานบุคคล นายกุศลเขียน สัญญาเป็นข้อตกลงว่า “ให้นายบุญรอดวางเงินประกันความเสียหายในการทํางานเป็นจํานวนเงิน 70,000 บาท และให้นายวิษณุวางเงินประกันความเสียหายในการทํางานเป็นจํานวนเงิน 40,000 บาท และนายกุศลจะคืนเงินประกันความเสียหายในการทํางานให้ภายหลังการเลิกจ้างหรือการลาออก 60 วัน” เช่นนี้ท่านเห็นว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตามมาตรา 10 วรรคสอง… ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกําหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกําหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้า ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน การทํางานหรือหลักประกันความเสียหายในการทํางาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ําประกันด้วย บุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทํานั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สิน ของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับ หลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จํานวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด

ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทําสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความ เสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทํา เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืน หลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้น เป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกุศลเขียนสัญญาเป็นข้อตกลงว่า “ให้นายบุญรอดวางเงิน ประกันความเสียหายในการทํางานเป็นจํานวนเงิน 70,000 บาท และให้นายวิษณวางเงินประกันความเสียหายใน การทํางานเป็นจํานวนเงิน 40,000 บาท และนายกุศลจะคืนเงินประกันความเสียหายในการทํางานให้ภายหลัง การเลิกจ้างหรือการลาออก 60 วัน” นั้น ถูกต้องหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายบุญรอด

การที่นายบุญรอดได้มาสมัครงานในตําแหน่งผู้จัดการอาคารชุด ซึ่งงานในตําแหน่งผู้จัดการอาคารชุดนั้น ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทํานั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือ ทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ดังนั้น นายกุศลเรียกให้นายบุญรอดวางเงิน ประกันความเสียหายในการทํางานได้ (ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง) แต่นายกุศลสามารถเรียกได้เพียงตามหลักเกณฑ์ ที่กําหนดไว้ในประกาศกระทรวง คือเรียกได้ไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างโดยเฉลี่ยต่อวัน ซึ่งเท่ากับ 60,000 บาท เท่านั้น (39000 x 60) ดังนั้น การที่นายกุศลเรียกให้นายบุญรอดวางเงินประกันความเสียหายในการทํางาน เป็นจํานวนเงิน 70,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง

กรณีของนายวิษณุ

การที่นายวิษณได้มาสมัครงานในตําแหน่งหัวหน้างานบุคคล ซึ่งไม่ใช่งาน ที่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่ทํานั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งอาจ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ (ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง) นายกุศลจึงไม่สามารถเรียกให้นายวิษณุ วางเงินประกันความเสียหายในการทํางานได้ ดังนั้น การที่นายกุศลเรียกให้นายวิษณุวางเงินประกันความ เสียหายในการทํางานเป็นจํานวนเงิน 40,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง

ส่วนการที่นายกุศลเขียนเป็นข้อตกลงว่าจะคืนเงินประกันความเสียหายในการทํางานให้ ภายหลังการเลิกจ้างหรือการลาออก 60 วันนั้น ก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะเป็นข้อตกลงที่ขัดกับมาตรา 10 วรรคสอง ที่กําหนดให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่ นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกแล้วแต่กรณี ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของ ประชาชน การเขียนข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้นนายกุศลจะต้องคืนเงิน ประกันการทํางานให้ภายใน 7 วันนับแต่วันเลิกจ้างหรือลาออก ถ้าไม่คืนภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้นายกุศล นายจ้างเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด (ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง) และถ้านายกุศลจงใจไม่ คืนหรือไม่จ่ายเงินตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร นายกุศลจะต้องเสียเงินเพิ่ม อีกร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน (ตามมาตรา 9 วรรคสอง)

สรุป

การที่นายกุศลเขียนสัญญาเป็นข้อตกลงดังกล่าวนั้น ไม่ถูกต้อง ตามเหตุผลและหลัก กฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 3. เต้ยเป็นลูกจ้างบริษัท อัมพา จํากัด ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 16,000 บาท ขณะปฏิบัติงานประมาทเลินเล่อทําให้เครื่องจักรตัดมือขาด 2 ข้าง เต้ยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลปีกว่า และถูกนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจ่ายเงินตามสิทธิในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และจ่ายเงินทดแทน ให้ 1 ปี หลังจากนั้นนายจ้างไม่จ่ายค่าทดแทนกรณีดังกล่าวให้อีก เต้ยทวงถามแต่นายจ้างปฏิเสธ อ้างว่าเต้ยออกจากงานแล้ว นายจ้างจึงไม่ต้องจ่าย ดังนี้ ข้ออ้างของนายจ้างฟังขึ้นหรือไม่ เต้ยจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนอย่างไรบ้าง และจะได้รับค่าทดแทนภายหลังออกจากงานแล้วหรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง”

มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการ รักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า เมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้ทราบ”

มาตรา 15 “กรณีที่ลูกจ้างจําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลังการ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็นตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละหกสิบ ของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทํางานติดต่อกันได้ เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทํางานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทํางานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี

(3) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภท ของการทุพพลภาพและตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด แต่ต้องไม่เกินสิบห้าปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่า ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เต้ยเป็นลูกจ้างบริษัท อัมพา จํากัด ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 16,000 บาท ขณะปฏิบัติงานเต้ยถูกเครื่องจักรตัดมือขาด 2 ข้าง ทําให้เต้ยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลปีกว่านั้น ถือว่าเต้ยประสบอันตรายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เต้ยจึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้

การที่เต้ยถูกนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง และนายจ้างจ่ายเงินตามสิทธิในกฎหมายคุ้มครอง แรงงาน และจ่ายเงินทดแทนให้ 1 ปี หลังจากนั้นนายจ้างไม่จ่ายค่าทดแทนกรณีดังกล่าวให้อีกเลย โดยอ้างว่า เต้ยได้ออกจากงานแล้ว นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายนั้น ข้ออ้างของนายจ้างย่อมฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้เพราะตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนฯ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่เต้ยในกรณีดังกล่าวดังนี้ คือ

1 ค่ารักษาพยาบาล ตามมาตรา 13 โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่เต้ย เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าเต้ยประสบอันตราย ถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง จึงต้องได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น 50,000 บาท และในกรณีบาดเจ็บรุนแรงอีก ไม่เกิน 100,000 บาท รวมกันแล้วไม่เกิน 150,000 บาท (ตามกฎกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 2 และข้อ 3)

2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางาน ตามมาตรา 15 โดยนายจ้างต้องจ่ายตามความ จําเป็นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง ในกรณีนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าฟื้นฟู สมรรถภาพในการทํางานให้แก่เต้ยเป็นจํานวนเงินไม่เกิน 24,000 บาท (ตามกฎกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับอัตรา การจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 4 (1)

3 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้ ตามมาตรา 18 (1) เมื่อเต้ยไม่สามารถทํางานได้ ปีกว่าซึ่งถือว่าติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่าย ตั้งแต่วันแรกที่เต้ยไม่สามารถทํางานได้ เมื่อเต้ยได้รับค่าจ้างเดือนละ 16,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 16,000 บาท จึงเท่ากับ 9,600 บาท (ซึ่งไม่เกินค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานฯ ประกาศกําหนดคือ 12,000 บาท) ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่เต้ยเดือนละ 9,600 บาท เป็นเวลา 1 ปี

4 ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพ ตามมาตรา 18 (3) เมื่อเต้ยกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน ซึ่งก็คือ 9,600 บาท ให้แก่เต้ยทุกเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี แม้ว่าเต้ยจะได้ออกจากงานแล้วก็ตาม

สรุป ข้ออ้างของนายจ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น และเต้ยจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ดังนี้

1 ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 150,000 บาท

2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานจํานวนไม่เกิน 24,000 บาท

3 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้เดือนละ 9,600 บาท เป็นเวลา 1 ปี

4 ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพเดือนละ 9,600 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี

 

 

ข้อ 4. ให้นักศึกษาอธิบายการแจ้งข้อเรียกร้องของลูกจ้างตามมาตรา 13 ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และให้อธิบายขั้นตอนการแจ้งข้อเรียกร้องของลูกจ้างดังกล่าวจนถึงมีการจัดทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

ธงคําตอบ

ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 มาตรา 16 และมาตรา 18 ได้กําหนด ขั้นตอนการแจ้งข้อเรียกร้องของลูกจ้างจนถึงมีการจัดทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไว้ดังนี้คือ

ขั้นตอนการแจ้งข้อเรียกร้องของลูกจ้าง

1 ฝ่ายลูกจ้างจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องนั้นไปยังฝ่ายนายจ้าง โดยทําเป็นหนังสือแจ้งไปยัง ฝ่ายนายจ้าง (มาตรา 13 วรรคหนึ่ง) และข้อเรียกร้องดังกล่าวจะต้อง

(1) มีรายชื่อ และ

(2) มีลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในจํานวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 ของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น (มาตรา 13 วรรคสาม)

2 ในกรณีที่ลูกจ้างได้เลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาไว้แล้ว ให้ระบุชื่อผู้แทน ผู้เข้าร่วมในการเจรจามีจํานวนไม่เกิน 7 คน พร้อมกับการแจ้งข้อเรียกร้องด้วย ถ้าลูกจ้างยังมิได้เลือกตั้งผู้แทนเป็น ผู้เข้าร่วมในการเจรจา ให้ลูกจ้างเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาและระบุชื่อผู้แทนผู้เข้าร่วมในการเจรจา มีกําหนดไม่เกิน 7 คน โดยมิชักช้า (มาตรา 13 วรรคสาม)

ขั้นตอนการเจรจา

เมื่อนายจ้างได้รับข้อเรียกร้องแล้ว ต้องแจ้งชื่อตนเองหรือผู้แทนเป็นหนังสือให้ฝ่ายลูกจ้างทราบ โดยมิชักช้า และให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจากันภายใน 3 วัน นับแต่วันที่นายจ้างได้รับข้อเรียกร้อง (มาตรา 16)

การทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและการจดทะเบียนข้อตกลง

1 ให้นายจ้างและลูกจ้างทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้ตกลงร่วมกันเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างหรือกรรมการของสหภาพแรงงาน แล้วแต่กรณี

2 ให้นายจ้างติดประกาศข้อตกลงดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยภายใน 3 วัน นับแต่ที่ตกลงกัน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน

3 ให้นายจ้างนําข้อตกลงที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างไปจดทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดี มอบหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ตกลงกัน (มาตรา 18)

Advertisement