การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. บริษัท อุดมทรัพย์เพิ่มพูน จํากัด มีการให้ลูกจ้าง 3 คน ออกจากกงานเพราะเหตุดังนี้

1 นายเก่งยื่นใบลาออกจากบริษัท อุดมทรัพย์เพิ่มพูน เพื่อไปทํางานที่อื่น

2 นายเอกเป็นโรคมะเร็งเจ็บป่วยทํางานไม่ค่อยจะได้ผลงาน

3 นายเจริญเคยถูกพิพากษาจําคุกจากคดีฉ้อโกง บริษัทไม่ทราบเพราะนายเจริญไม่บอกตอนสมัครจึงให้เลิกจ้าง

ให้ท่านวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างดังกล่าว บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง”

มาตรา 119 วรรคแรก “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคันหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคแรก นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท อุดมทรัพย์เพิ่มพูน จํากัด มีการให้ลูกจ้าง 3 คนออกจากงาน บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

1 การที่นายเก่งยื่นใบลาออกจากบริษัทฯ เพื่อไปทํางานที่อื่น และบริษัทฯ ให้นายเก่ง ออกจากงานนั้น บริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเก่ง เพราะเป็นกรณีที่นายเก่งได้ลาออกจากงานเอง มิใช่เป็นกรณีที่บริษัทฯ เลิกจ้าง (ตามมาตรา 118)

2 การที่นายเอกเป็นโรคมะเร็งเจ็บป่วยทํางานไม่ค่อยจะได้ผลงานและบริษัทฯ ได้ให้นายเอก ออกจากงานนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่บริษัทฯ เลิกจ้าง และเมื่อไม่ปรากฏว่านายเอกได้กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 119 อันเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น กรณีนี้บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชย ให้แก่นายเอกตามมาตรา 118

3 การที่นายเจริญเคยถูกพิพากษาจําคุกจากคดีฉ้อโกง แต่นายเจริญไม่บอกให้บริษัทฯ ทราบ ตอนสมัครงานนั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 119 (6) เพราะมิใช่คําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกในขณะ เป็นลูกจ้าง แต่เป็นกรณีที่นายเจริญพ้นโทษแล้วจึงมาสมัครเป็นลูกจ้าง ดังนั้นเมื่อบริษัทฯ ให้นายเจริญออกจากงาน จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้าง บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเจริญตามมาตรา 118

สรุป

1 บริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเก่ง

2 บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเอก

3 บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเจริญ

 

ข้อ 2. บริษัท อาหารไทย จํากัด ได้ประกาศรับสมัครลูกจ้างโดยกําหนดให้กรอกข้อมูลด้วยว่าเคยทํางานมาก่อนหรือไม่ และเคยกระทําความผิดต้องโทษตามกฎหมายหรือไม่ นายสหัสและนายสมชาติ ได้มาสมัครงานและกรอกข้อมูลครบถ้วนว่าไม่เคยทํางานที่อื่นมาก่อน และไม่เคยกระทําความผิด ต้องโทษใด ๆ มาก่อน นายจ้างจึงได้ทําสัญญาจ้างมีกําหนดเวลา 1 ปี โดยจ่ายสินจ้างให้เดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือน แต่ต่อมาเมื่อทํางานได้ 5 เดือน นายจ้างทราบว่านายสหัสเคยต้องโทษ คดีลักทรัพย์มาก่อนที่จะยื่นใบสมัคร นายจ้างจึงเลิกจ้างนายสหัสทันทีในวันที่ 31 พฤษภาคม โดย ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ส่วนนายสมชาติเมื่อทํางานครบสัญญานายจ้างก็ไม่จ้างต่อ เช่นนี้ ทั้งสองคน จะเรียกร้องค่าชดเชยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 17 วรรคแรก “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

(2) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง อัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานเก้าสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 119 วรรคแรก “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น หากนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย ให้แก่ลูกจ้างด้วย (มาตรา 118) เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคแรก นายจ้างจึงมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีนายสหัส การที่นายสหัสเคยต้องโทษคดีลักทรัพย์มาก่อนที่จะยื่นใบสมัคร แต่ไม่ได้กรอก ข้อมูลตามความเป็นจริงนั้น เมื่อนายจ้างมาทราบในภายหลังจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีของ นายสหัสนั้นเป็นการกระทําความผิดก่อนมาสมัครงาน จึงมิใช่กรณีที่ลูกจ้างได้กระทําความผิดในขณะเป็นลูกจ้าง ตามมาตรา 119 (6) เมื่อนายสหัสทํางานได้ 5 เดือน และนายจ้างได้เลิกจ้าง นายสหัสจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ตามมาตรา 118 (1) คือได้รับค่าชดเซยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงินจํานวน 15,000 บาท

กรณีของนายสมชาติ การที่นายจ้างได้ทําสัญญาจ้างนายสมชาติมีกําหนด 1 ปี เมื่อนายสมชาติ ได้ทํางานครบ 1 ปีแล้ว และนายจ้างไม่ได้จ้างต่อ จึงเป็นกรณีที่สัญญาจ้างมีกําหนดเวลาได้สิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนด ระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยนายจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคแรก และเมื่อปรากฏว่า นายสมชาติได้ทํางานครบ 1 ปี นายสมชาติจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (2) คือ มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นจํานวนเงิน 45,000 บาท

สรุป

ทั้งสองคนสามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ โดยนายสหัสเรียกได้ 15,000 บาท ส่วน นายสมชาติเรียกได้ 45,000 บาท

 

ข้อ 3. แกงไก่เป็นลูกจ้างของบริษัท ประพันธ์สหกิจ จํากัด ซึ่งประกอบกิจการด้านเครื่องกรองน้ำ แกงไก่ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 12,000 บาท มีตําแหน่งพนักงานขาย มีหน้าที่ออกเดินทางไปเสนอขายเครื่องกรองน้ำนอกสถานที่ทํางานทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ตามจุดขายที่หัวหน้างาน กําหนดในแต่ละวัน ขณะที่แกงไก่เดินทางด้วยเรือโดยสารไปขายเครื่องกรองน้ำที่จังหวัดพังงา เรือโดยสารลําดังกล่าวประสบเหตุล่มกลางทะเล แกงไก่หายไปหลังจากเกิดเหตุ โดยหน่วยกู้ภัย พยายามค้นหาแต่ไม่พบ แกงไก่มีทายาท ได้แก่ นางสดมารดา นางหน่อยภริยา ด.ช.นัถบุตรชาย อายุ 14 ปี น.ส.นิ่มนงค์บุตรสาวอายุ 18 ปี ทํางานร้านสะดวกซื้อ น.ส.สดใส บุตรสาวอายุ 20 ปี เรียนระดับปริญญาตรีปี 3 ดังนี้ ทายาทแกงไก่จะมีสิทธิในเงินทดแทนอย่างไรบ้าง และหากต่อมา นางสดมารดาเสียชีวิต นางหน่อยไปเป็นภริยาของนายเขียว น.ส.สุดใจเรียนจบ สิทธิในเงินทดแทน ของทายาทจะเป็นอย่างไร ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“สูญหาย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างทํางานหรือปฏิบัติตามคําสั่งของ นายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างทํางาน หรือ ปฏิบัติตามคําสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ เพื่อไปทํางานให้นายจ้างซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ ความตาย ทั้งนี้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีกําหนดแปดปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และ ไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

มาตรา 20 วรรคแรก “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1) บิดามารดา

(2) สามีหรือภริยา

(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่”

มาตรา 21 “ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน

ในกรณีที่สิทธิได้รับเงินทดแทนสิ้นสุดลงเพราะผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตาย หรือสามีหรือภริยาสมรสใหม่หรือมิได้สมรสใหม่แต่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าอยู่กินฉันสามีหรือภริยากับหญิงหรือ ชายอื่น หรือบุตรไม่มีลักษณะตามมาตรา 20 (3) หรือ (4) อีกต่อไป ให้นําส่วนแบ่งของผู้หมดสิทธิเพราะเหตุหนึ่งเหตุใด ดังกล่าวไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แกงไก่เป็นลูกจ้างของบริษัท ประพันธ์สหกิจ จํากัด ซึ่งประกอบกิจการ ด้านเครื่องกรองน้ำและมีตําแหน่งเป็นพนักงานขาย มีหน้าที่ออกเดินทางไปเสนอขายเครื่องกรองน้ำนอกสถานที่ ทํางานทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดตามจุดขายที่หัวหน้างานกําหนดในแต่ละวันนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่แกงไก่เดินทางด้วยเรือโดยสารไปขายเครื่องกรองน้ำที่จังหวัดพังงา เรือโดยสารลําดังกล่าวประสบเหตุล่ม กลางทะเล และแกงไก่ได้หายไปหลังจากเกิดเหตุ โดยหน่วยกู้ภัยพยายามค้นหาแต่ไม่พบนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าแกงไก่ ลูกจ้างได้หายไปในระหว่างเดินทางโดยพาหนะทางน้ำเพื่อไปทํางานให้นายจ้าง เพราะพาหนะที่เดินทางประสบเหตุ อันตรายและมีเหตุอันควรเชื่อว่าแกงไก่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ซึ่งตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน มาตรา 5 จะให้ถือว่า เป็นการสูญหาย และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ ก็ต่อเมื่อเวลาที่ลูกจ้างได้หายไปนั้นได้ผ่านไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 120 วันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น

และเมื่อแกงไก่ลูกจ้างได้สูญหายไปจนครบ 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุย่อมถือว่าแกงไก่ลูกจ้าง ถึงแก่ความตาย นายจ้างต้องจ่ายค่าทําศพให้แก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างตามมาตรา 16 และจ่ายค่าทดแทนเป็น รายเดือนให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน มีกําหนด 8 ปี ตามมาตรา 18 (4) เมื่อแกงไก่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 12,000 จึงเท่ากับ 7,200 บาท

สําหรับทายาทของแกงไก่ที่จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างตามมาตรา 20 วรรคแรก ได้แก่ นางสดมารดา นางหน่อยภริยา ด.ช.นัถบุตรชายอายุ 14 ปี และ น.ส.สุดใจบุตรสาวอายุ 20 ปี เรียนระดับ ปริญญาตรีปี 3 รวมทั้งหมด 4 คน โดยจะได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากันคือคนละ 1,800 บาท ตามมาตรา 21 วรรคแรก ส่วน น.ส.นิมนงค์บุตรสาวอายุครบ 18 ปี แต่ไม่ได้ศึกษาอยู่จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

และหากต่อมานางสดมารดาเสียชีวิต นางหน่อยไปเป็นภริยาของนายเขียว และ น.ส.สุดใจ เรียนจบ สิทธิในการได้รับเงินทดแทนของทายาทย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามมาตรา 21 วรรคสอง กล่าวคือ สิทธิที่จะ ได้รับเงินทดแทนย่อมสิ้นสุดลง จึงเหลือทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเพียงคนเดียวคือ ด.ช.นัถ ดังนั้น ด.ช.นัก จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนทั้งหมด คือ 7,200 บาท เพียงคนเดียว

สรุป

ทายาทของแกงไก่ คือ นางสดมารดา นางหน่อยภริยา ด.ช.นัถ และน.ส.สุดใจ จะได้รับ เงินทดแทนคนละ 1,800 บาท หากต่อมา นางสดมารดาเสียชีวิต นางหน่อยไปเป็นภริยาของนายเขียว และน.ส.สุดใจ เรียนจบจะเหลือทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเพียงคนเดียว คือ ด.ช.นัถ โดย ด.ช.นักจะได้รับเงินทดแทน ทั้งหมดจํานวน 7,200 บาท เพียงคนเดียว

 

ข้อ 4. ลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด ประกอบกิจการผลิตและจําหน่ายน้ํามันปาล์ม ได้ทําการแจ้งข้อเรียกร้องกับนายจ้างเพื่อขอปรับสวัสดิการ โดยให้สหภาพแรงงานกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันปาล์มทําการ แจ้งข้อเรียกร้องให้ในการเจรจาสามารถตกลงกันได้ และมีการจัดทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง วิจิตรซึ่งเป็นลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง อยากทราบว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะมีผล ผูกพันกับลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด อย่างไรบ้าง ให้นักศึกษาอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 19 “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้าง และลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อ ในข้อเรียกร้อง ตลอดจนลูกจ้างซึ่งมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาทุกคน

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กระทําโดยนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงาน หรือ ลูกจ้างซึ่งทํางานในกิจการประเภทเดียวกัน โดยมีลูกจ้างซึ่งทํางานในกิจการประเภทเดียวกันเป็นสมาชิก หรือร่วม ในการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกินกว่าสองในสามของลูกจ้างทั้งหมด ให้ถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น มีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งทํางานในกิจการประเภทเดียวกันนั้นทุกคน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด ประกอบกิจการผลิตและจําหน่ายน้ำมันปาล์ม ได้ทําการแจ้งข้อเรียกร้องกับนายจ้างเพื่อขอปรับสวัสดิการ โดยให้สหภาพแรงงานกลุ่มผู้ผลิต น้ำมันปาล์มทําการแจ้งข้อเรียกร้องให้ ซึ่งในการเจรจาสามารถตกลงกันได้ และมีการจัดทําข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้างไว้นั้น เมื่อเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กระทําโดยนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ย่อมมีผลผูกพัน กับลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด เฉพาะลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง (ลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อ) ในข้อเรียกร้องนั้น ส่วนลูกจ้างที่ไม่ได้เข้าร่วมเรียกร้องตั้งแต่ต้นจะไม่ได้รับสิทธิตามข้อตกลงใหม่แต่อย่างใด (มาตรา 19 วรรคแรก)

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสถานประกอบการคือบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด นั้น มีลูกจ้างซึ่งทํางาน อยู่เป็นสมาชิก หรือร่วมในการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกินกว่า 2 ใน 3 ของลูกจ้างทั้งหมด ให้ถือว่าข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลผูกพันลูกจ้างทุกคน (มาตรา 19 วรรคสอง)

สรุป

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะมีผลผูกพันกับลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด อย่างไรนั้น เป็นไปตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement