การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายลักษณะของจารีตประเพณีระหว่างประเทศโดยละเอียด นอกจากนี้หลักของกฎหมายดังกล่าวมีความแตกต่างจากหลักกฎหมายทั่วไปในประเด็นสําคัญอย่างไร และยกตัวอย่างประกอบในการ อธิบายด้วย

ธงคําตอบ

จารีตประเพณีระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร มีลักษณะไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ หรือยกเลิกได้ โดยการปฏิบัติหรือไม่รับปฏิบัติของรัฐต่าง ๆ ซึ่งการก่อให้เกิดเป็นจารีตประเพณีที่ยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องประกอบด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ

1 การปฏิบัติ (ปัจจัยภายนอก) หมายถึง รัฐทั่วไปยอมรับปฏิบัติอย่างเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลง และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร สําหรับระยะเวลานานเท่าใดไม่มีกําหนดแน่นอน แต่ก็คงต้องเป็น ระยะเวลายาวนานพอควร และไม่มีประเทศใดคัดค้าน แต่การปฏิบัติไม่จําเป็นจะต้องเป็นการปฏิบัติของรัฐทุกรัฐในโลก เพียงแต่เป็นการปฏิบัติของรัฐกลุ่มหนึ่งก็เพียงพอ

2 การยอมรับ (ปัจจัยภายใน) หมายถึง การจะเปลี่ยนการปฏิบัติให้เป็นจารีตประเพณี ระหว่างประเทศนั้น จะต้องได้รับการยอมรับการกระทําดังกล่าวจากสมาชิกสังคมระหว่างประเทศ คือ รัฐหรือ องค์การระหว่างประเทศได้ตกลงยอมรับลักษณะบังคับของการปฏิบัติเช่นนั้นว่าเป็นสิ่งจําเป็นที่ต้องปฏิบัติ (เสมือนเป็นกฎหมาย) แต่จารีตประเพณีระหว่างประเทศไม่จําต้องยอมรับโดยทุกประเทศ

ส่วนหลักกฎหมายทั่วไป เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากประเทศ ต่าง ๆ ที่มีความศิวิไลซ์ทางด้านกฎหมาย ซึ่งหมายถึง

1 หลักเกณฑ์ทางกฎหมายทั่วไปที่ยอมรับและใช้บังคับอยู่ในกฎหมายภายในของรัฐ ทั้งหลาย โดยบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายภายในของรัฐต่าง ๆ หรือกฎหมายภายในของประเทศที่มี ความเจริญในทางกฎหมาย ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไป อันอาจนํามาเป็นหลักในการพิจารณาวินิจฉัย คดีได้ เช่น หลักที่ว่าสัญญาจะต้องได้รับการปฏิบัติจากผู้ทําสัญญา หลักความสุจริตใจ หลักกฎหมายปิดปาก หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

2 หลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐต่าง ๆ ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ โดยทั่วไป โดยมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น หลักความเสมอภาค เท่าเทียมกันของรัฐไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เป็นต้น

จะเห็นว่าหลักกฎหมายทั่วไปเกิดจากการที่รัฐต่าง ๆ ยอมรับคล้ายกับจารีตประเพณี แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ เพราะไม่ได้เกิดจากการยอมรับปฏิบัติติดต่อกันมาเหมือนจารีต ประเพณี แต่เกิดจากการที่สังคมระหว่างประเทศยอมรับเพราะถือว่าชอบด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งจะแตกต่าง กับจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่เกิดจากการที่รัฐทั่วไปยอมรับปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าเรื่อง ดังกล่าวจะชอบด้วยเหตุผลทางกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น จารีตประเพณีระหว่างประเทศจึงแตกต่างจาก หลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องของเหตุผลทางกฎหมายนั่นเอง

ในกรณีที่มีคดีเกิดขึ้นและไม่มีสนธิสัญญาหรือจารีตประเพณีที่จะนํามาใช้พิจารณาคดีได้ ศาลก็อาจจะนําหลักกฎหมายทั่วไปมาวินิจฉัยคดีได้ เคยมีหลายคดีซึ่งศาลได้ใช้หลักกฎหมายทั่วไปเป็นแนวทาง ตัดสินคดี เช่น คดีเขาพระวิหารซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินชี้ขาด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ให้เขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา โดยอ้างหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายปิดปาก เป็นต้น

 

ข้อ 2 จงอธิบายถึงขั้นตอนการจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาให้ชัดเจนและขั้นตอนใดของสนธิสัญญาที่จะทําให้รัฐผูกพันตามสนธิสัญญาและรัฐที่ไม่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทําสนธิสัญญาสามารถเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาได้โดยวิธีใดบ้าง และหากไม่ได้นําสนธิสัญญาไปจดทะเบียนจะมีผลใช้บังคับอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ

การจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา มีขั้นตอน การจัดทําดังนี้ คือ

1 การเจรจา

2 การลงนาม

3 การให้สัตยาบัน

4 การจดทะเบียน

1 การเจรจา การเจรจาเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทําสนธิสัญญาเพื่อกําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทําสนธิสัญญา ซึ่งองค์กรที่มีอํานาจในการเจรจาเพื่อทําสนธิสัญญาจะถูกกําหนดโดยรัฐธรรมนูญของแต่ละ ประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ หรือในบางกรณีผู้มีอํานาจใน การเจรจาอาจจะไม่ทําการเจรจาด้วยตนเองก็ได้แต่มอบอํานาจให้ผู้อื่น เช่น ตัวแทนทางการทูต หรือคณะผู้แทน เข้าทําการเจรจาแทน แต่ต้องทําหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Full Powers) ซึ่งผู้แทนจะนํามามอบให้แก่รัฐคู่เจรจา หรือต่อที่ประชุมในกรณีที่มีรัฐหลายรัฐร่วมเจรจาด้วย

การร่างสนธิสัญญาเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐคู่เจรจา จะทําความตกลงกันใน หลักการและข้อความในสนธิสัญญา โดยจะมีการประชุมพิจารณาร่างข้อความในสนธิสัญญา และตามมาตรา 9 ของ อนุสัญญากรุงเวียนนาระบุว่า ร่างสนธิสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากรัฐคู่เจรจา เว้นแต่ที่ประชุม จะให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

2 การลงนาม การลงนามในสนธิสัญญา มีวัตถุประสงค์ที่จะกําหนดข้อความเด็ดขาดในสนธิสัญญา และการแสดงความยินยอมที่จะผูกพันในสนธิสัญญาของรัฐคู่เจรจา ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญานั้น จะกระทําเมื่อผู้แทนในการเจรจาเห็นชอบกับข้อความในร่างสนธิสัญญานั้นแล้ว

การลงนามในสนธิสัญญานั้น อาจจะเป็นการลงนามเลย หรือลงนามย่อก่อนและลงนามจริง ในภายหลังก็ได้ และสนธิสัญญาที่ได้มีการลงนามแล้วนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันความรับผิดชอบของรัฐจะต้องมีการให้สัตยาบันเสียก่อนจึงจะสมบูรณ์

3 การให้สัตยาบัน การให้สัตยาบัน หมายถึง การยอมรับขั้นสุดท้าย เป็นการแสดงเจตนา ของรัฐที่จะรับข้อผูกพันและปฏิบัติตามพันธะในสนธิสัญญา และการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญานั้น จะต้องมีการจัดทํา สัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) ซึ่งกระทําในนามประมุขของรัฐ หรือรัฐบาล หรืออาจจะลงนามโดย รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ และในสัตยาบันสารนั้นจะระบุข้อความในสนธิสัญญา และคํารับรองที่จะปฏิบัติตาม ข้อผูกพันในสนธิสัญญานั้น

4 การจดทะเบียน เมื่อมีการทําสนธิสัญญาเสร็จแล้ว โดยหลักจะต้องนําสนธิสัญญานั้น ไปจดทะเบียนไว้กับสํานักเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ (มาตรา 102 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ) แต่อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาบางฉบับอาจจะไม่ได้นําไปจดทะเบียนก็ได้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าสนธิสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนแล้วเท่านั้น สนธิสัญญาบางฉบับแม้จะไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

และจากขั้นตอนในการจัดทําสนธิสัญญาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนที่ทําให้สนธิสัญญามีผล ผูกพันกับภาคีสมาชิกคือขั้นตอนการให้สัตยาบันนั่นเอง

และการที่รัฐใดไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินการจัดทําสนธิสัญญากับรัฐอื่น สามารถ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญานั้นได้ โดยวิธีการดังต่อไปนี้

1 การลงนามภายหลัง (Deferred Signature) เป็นกรณีที่รัฐไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน การทําสนธิสัญญานั้นแต่แรก แต่เข้ามามีส่วนในขั้นตอนหลังจากการเจรจาผ่านไปแล้วและอยู่ในระยะของขั้นตอนที่ 2 คือการลงนาม การลงนามภายหลังนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับการเข้าร่วม แต่ต่างกันตรงที่การเข้าร่วมนั้นจะมีผลผูกพัน นับแต่มีการปฏิญญาขอเข้าร่วมในสนธิสัญญา ส่วนการลงนามภายหลังนี้รัฐที่ลงนามภายหลังยังไม่มีพันธกรณี ตามสนธิสัญญา เพราะจะต้องให้สัตยาบันก่อนจึงจะถือว่าเป็นภาคีสนธิสัญญาและมีผลผูกพันรัฐนั้น

2 ภาคยานุวัติหรือการเข้าร่วม (Adhesion) คือ การที่รัฐหนึ่งรัฐใดไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการทําสนธิสัญญาตั้งแต่แรก แต่เมื่อสนธิสัญญาผ่านขั้นตอนการลงนามจนมีผลใช้บังคับ และมิได้ระบุห้ามการภาคยานุวัติไว้ รัฐนั้นก็อาจเข้าไปร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญานั้นในภายหลังหลังจากระยะเวลาการลงนามได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยยอมรับผูกพันตามสิทธิและหน้าที่ที่กําหนดไว้ในสนธิสัญญา ซึ่งมีผลผูกพันนับแต่วันทําภาคยานุวัติ ไม่มีผลย้อนหลังแต่อย่างใด

อนึ่งอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ค.ศ. 1969 ได้กําหนดว่า ความยินยอมของรัฐที่จะรับ พันธกรณีตามสนธิสัญญาด้วยการทําภาคยานุวัติ จะทําได้ในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

1) สนธิสัญญานั้นกําหนดไว้โดยตรงให้มีการทําภาคยานุวัติได้

2) ทุกรัฐที่เป็นภาคีของสนธิสัญญานั้นตกลงให้มีการภาคยานุวัติได้

ส่วนสนธิสัญญาที่มิได้นําไปจดทะเบียนต่อสหประชาชาตินั้นจะมีผลสมบูรณ์ทุกประการ แต่ถ้าภาคีสมาชิกไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญานั้น ภาคีสมาชิกที่เหลือจะนําสนธิสัญญาดังกล่าวมาฟ้อง หรือมาอ้างต่อ องค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติหรือต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อบังคับให้เป็นไปตามสนธิสัญญานั้นไม่ได้ เพราะสหประชาชาติมิได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของสนธิสัญญาฉบับนั้น

 

ข้อ 3 จงอธิบายว่า ดินแดนของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศประกอบไปด้วยพื้นที่บริเวณใดบ้าง และจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร นอกจากนี้การได้ดินแดนของรัฐวิธีใดบ้างที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการได้ ดินแดนตามหลักการของกฎหมายภายในของประเทศไทย

ธงคําตอบ

ดินแดนของรัฐ คือ บริเวณที่รัฐสามารถมีอํานาจอธิปไตยเหนือดินแดนเหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งดินแดนของรัฐจะสอดคล้องกับเขตอํานาจอธิปไตยของรัฐ กล่าวคือ รัฐย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและอํานาจเหนือ บุคคลก็เฉพาะในดินแดนของรัฐเท่านั้น

ดินแดนของรัฐจะประกอบไปด้วย

1 พื้นดิน พื้นดินที่เป็นดินแดนของรัฐย่อมรวมถึงพื้นดินทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือของรัฐ หรือของชาวต่างประเทศที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐ ดินแดนของรัฐถูกกําหนดโดยเส้นเขตแดน และรวมถึงพื้นที่ใต้พื้นดินด้วย ทั้งนี้ดินแดนที่รวมกันเป็นอาณาเขตของรัฐไม่จําเป็นต้องติดต่อกัน อาจจะอยู่ในดินแดนของประเทศอื่นก็ได้

2 พื้นน้ำบางส่วนที่เป็นน่านน้ำภายในและทะเลอาณาเขต น่านน้ำภายใน หมายถึงน่านน้ำที่อยู่ถัดจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตเข้ามาทางแผ่นดิน ทะเลอาณาเขต หมายถึง ส่วนหนึ่งของพื้นน้ําซึ่งอยู่ระหว่างทะเลหลวงกับรัฐ 3 ห้วงอากาศ เหนือบริเวณต่าง ๆ ดังกล่าว

และการจะเป็นดินแดนของรัฐได้นั้น จะต้องมีเงื่อนไข 2 ข้อ คือ

1 มีความแน่นอน กล่าวคือ จะต้องสามารถรู้ได้แน่นอนว่าส่วนใดบ้างเป็นดินแดนของรัฐ และจะต้องมีความมั่นคงถาวรด้วย

2 สามารถกําหนดขอบเขตได้ชัดเจน คือ สามารถกําหนดเขตแดนของรัฐได้ชัดเจนนั่นเอง โดยอาจจะใช้เส้นเขตแดนในการกําหนดดังกล่าว ซึ่งดินแดนของรัฐจะเล็กหรือใหญ่ หรือมีอาณาเขตติดต่อกันหรือไม่ไม่สําคัญ แต่ดินแดนของรัฐจะต้องมีความชัดเจนแน่นอน

ส่วนการได้ดินแดนของรัฐนั้น รัฐอาจได้ดินแดนโดยวิธีต่าง ๆ หลายวิธี แต่การได้ดินแดนของรัฐ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการได้ดินแดนตามหลักการของกฎหมายภายในของประเทศไทย ได้แก่

1 การได้ดินแดนโดยธรรมชาติ รัฐอาจจะได้ดินแดนโดยผลของธรรมชาติ เช่น ที่งอกริมตลิ่ง ริมแม่น้ำ หรือฝั่งทะเล เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย

2 การครอบครองโดยปรปักษ์ เป็นวิธีการที่รัฐได้ดินแดนโดยการครอบครองและใช้ อํานาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นมาเป็นเวลานาน โดยดินแดนนั้นเคยเป็นของรัฐอื่นมาก่อน แต่รัฐนั้นได้ทอดทิ้งไป และรัฐที่ได้ดินแดนได้ทําการครอบครองโดยรัฐที่เป็นเจ้าของเดิมไม่ได้คัดค้าน และรัฐอื่นก็ไม่ได้โต้แย้ง ซึ่งคล้ายกับ การครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย

3 การได้ดินแดนโดยคําพิพากษาของศาล หรืออนุญาโตตุลาการหรือองค์การระหว่าง ประเทศ เช่น คําพิพากษาของศาสประจํายุติธรรมระหว่างประเทศในคดีกรีนแลนด์ตะวันออก และมติของสมัชชา สหประชาชาติเกี่ยวกับการตั้งรัฐอิสราเอลในปี ค.ศ. 1947 เป็นต้น

 

ข้อ 4 จงอธิบายว่าผู้แทนทางการทูตได้รับสิทธิพิเศษอย่างไรบ้างตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 และสิทธิพิเศษเหล่านี้มีความแตกต่างจากสิทธิพิเศษที่กงสุล ได้รับอย่างไร อธิบายประกอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจด้วย

ธงคําตอบ

สิทธิพิเศษที่ผู้แทนทางการทูตได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศเช่นเดียวกับ ประมุขของรัฐ ได้แก่ การได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในเรื่องดังต่อไปนี้

1 สิทธิล่วงละเมิดมิได้ ประกอบด้วยสิทธิในตัวบุคคลของผู้แทนทางการทูต และสิทธิใน ทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ของผู้แทนทางการทูต เช่น ตามมาตรา 29 อนุสัญญา กรุงเวียนนาฯ ห้ามจับกุมหรือกักขังในรูปใด ๆ และกระทําการอันกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพและเกียรติยศของ ผู้แทนทางการทูต รัฐผู้รับต้องปฏิบัติต่อผู้แทนทางการทูตด้วยความเคารพตามสมควร หรือตามมาตรา 27 ได้ กําหนดว่า ถุงทางการทูต เอกสารทางราชการ สมุดทะเบียน เครื่องใช้ในการสื่อสาร จะต้องได้รับการคุ้มกันไม่ถูก ตรวจค้น ยึด หรือเกณฑ์เอาไปใช้ เป็นต้น

2 สิทธิไม่อยู่ภายใต้เขตอํานาจศาลของรัฐผู้รับ (สิทธิได้รับยกเว้นในทางศาล) สิทธิ ดังกล่าวเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระของคณะทูตและเป็นการให้เกียรติในฐานะตัวแทนของรัฐ ซึ่งจะเห็นได้จากมาตรา 31 อนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ที่ระบุให้สิทธิผู้แทนทางการทูตจะไม่ถูกฟ้องทั้งในคดีอาญา และคดีแพ่ง แม้ว่าจะเป็นการกระทํานอกหน้าที่ก็ตาม

3 สิทธิพิเศษเรื่องภาษี ผู้แทนทางการทูตจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทางตรงไม่ว่า จะเป็นของรัฐ ของท้องถิ่น เช่น ภาษีเงินได้ เป็นต้น และสําหรับภาษีทางอ้อมโดยปกติก็จะได้รับยกเว้นภาษีบางชนิด เช่น ภาษีศุลกากร เป็นต้น

ส่วนสิทธิพิเศษที่กงสุลได้รับนั้น เนื่องจากกงสุลไม่ใช่ผู้แทนทางการทูต จึงไม่ได้รับเอกสิทธิ์และ ความคุ้มกันทางการทูตอย่างเต็มที่เหมือนผู้แทนทางการทูต อย่างไรก็ดีกฎหมายระหว่างประเทศก็ยังรับรู้ให้กงสุล ได้รับสิทธิในการล่วงละเมิดมิได้ในตัวบุคคล จะจับหรือยังกงสุลไม่ได้ยกเว้นความผิดซึ่งหน้า

สถานที่ทําการกงสุลได้รับความคุ้มครองจะล่วงละเมิดมิได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ตั้งไม่มีสิทธิเข้าไป ตรวจค้นในสถานกงสุล รัฐที่ตั้งกงสุลจะต้องอํานวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของกงสุล และที่ทําการกงสุล มีสิทธิชักธงและติดตราของรัฐที่ส่งกงสุล

และนอกจากนั้น จารีตประเพณีและสนธิสัญญาระหว่างรัฐเกี่ยวกับกงสุลยอมให้สิทธิกงสุลไม่อยู่ ใต้อํานาจของรัฐที่ตนไปประจําเฉพาะในกรณีที่กระทําตามหน้าที่ของกงสุลเท่านั้น แต่ถ้าเป็นความผิดที่มิได้เกิดจากการกระทําตามหน้าที่กงสุลยังคงต้องรับผิดชอบ

Advertisement