การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

Advertisement

ข้อ 1. รัฐ ก. และรัฐ ข. ได้ตกลงทำสนธิสัญญาแบบย่อ และกำหนดให้สนธิสัญญามีผลบังคับทันทีเมื่อได้ลงนามกันเรียบร้อยแล้ว ต่อมารัฐ ก. ไม่ยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญา โดยอ้างว่าสนธิสัญญาไม่สมบูรณ์เพราะว่าไม่ได้นำไปจดทะเบียน ดังนั้นรัฐ ข. จะฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อบังคับรัฐ ก. ให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาได้หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 102 กำหนดว่า สนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ ทุกฉบับซึ่งสมาชิกใด ๆ แห่งสหประชาชาติได้เข้าเป็นภาคี ภายหลังที่กฎบัตรฉบับปัจจุบันได้ใช้บังคับ (24 ต.ค. 1945) จะต้องจดทะเบียนไว้กับสำนักเลขาธิการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยสำนักงานนี้

ภาคีแห่งสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่าใด ๆ ซึ่งมิได้จดทะเบียนไว้ตามบทบัญญัติในวรรคหนึ่งแห่งมาตรานี้ ไม่อาจยกเอาสนธิสัญญาหรือความตกลงนั้น ๆ ขึ้นกล่าวอ้างต่อองค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติ

วินิจฉัย          

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 102 ได้กำหนดให้สนธิสัญญาทุกฉบับต้องนำไปจดทะเบียนต่อองค์การสหประชาชาติเพื่อองค์การสหประชาชาติจะได้จัดพิมพ์เผยแพร่ให้ประเทศต่าง ๆ ทราบ

แต่ถ้าสนธิสัญญาไม่ได้นำไปจดทะเบียน สนธิสัญญานั้นก็ยังสมบูรณ์อยู่ แต่จะนำมาอ้างต่อ องค์การสหประชาชาติและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่ได้

ดังนั้น 1. สนธิสัญญามีความสมบูรณ์

2.         รัฐ ข. จะนำมาฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไมได้ เพราะศาลจะไม่ยอมรับรู้ เนื่องจากไม่จดทะเบียนต่อองค์การสหประชาชาติ

 

ข้อ 2. การที่นักนิติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า กฎหมายระหว่างประเทศเป็นเพียงศีลธรรมระหว่างประเทศนั้น มีเหตุผลอย่างไรที่นำมากล่าวอ้าง และเป็นความจริงเพียงใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

นักนิติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า กฎหมายระหว่างประเทศเป็นเพียงศีลธรรมระหว่างประเทศถ้าจะเป็นกฎหมายแล้วจะต้องมีองค์ประกอบคือจะต้องมี

1.         องค์กรในการบัญญัติกฎหมาย

2.         ผู้คอยตรวจตราให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย

3.         ศาลเพี่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย

ทั้งนี้ นักนิติศาสตร์ที่มีความเห็นดังกล่าว อ้างเหตุผลสนับสนุนความคิดของตนว่า

1.         กฎหมายระหว่างประเทศไม่มีองค์กรท่าหน้าที่ในการร่างกฎหมายเหมือนเช่นฎหมายภายใน

2.         กฎหมายระหว่างประเทศไมมีองค์กรทำหน้าที่บังคับให้กฎหมายระหว่างประเทศมี ผลบังคับอย่างแท้จริง

 

ข้อ 3. ในขณะที่ประเทศติมอร์ตะวันออกแยกตัวออกมาจากอินโดนีเซียเป็นประเทศเอกราชได้สำเร็จ แต่ความพร้อมในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของความเป็นรัฐยังเป็นปัญหาอยู่มาก องค์การสหประชาชาติ จึงเข้ามาช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จนปัจจุบันติมอร์ตะวันออกสามารถดำรงความเป็นรัฐได้อย่าง สมบูรณ์ ในอดีตมีการจัดการปัญหาลักษณะดังกล่าวนี้โดยการจัดให้เป็นรัฐใต้อารักขา (State under Protectorate) โดยการทำสนธิสัญญาระหว่างรัฐที่ยังไม่พร้อม ยอมให้อีกรัฐหนึ่งซึ่งมีความเข้มแข็ง มาให้ความคุ้มครองดูแลรัฐใต้อารักขาซึ่งจะต้องยอมสละอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งแกรัฐที่ให้ความอารักขาเป็นผู้กระทำการแทนรัฐใต้อารักขา ปัญหาที่นักศึกษาจะต้องวิเคราะห์คือสภาพบุคคลตาม กฎหมายระหว่างประเทศของรัฐใต้อารักขาว่ายังคงมีความเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกเหตุผลในการวิเคราะห์ให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

ปัญหาเกี่ยวกับสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศของรัฐใต้อารักซา มีสองความเห็น

ความเห็นแรก  เห็นว่ารัฐใต้อารักขาสูญเสียสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว

เพราะขาดอำนาจอิสระในการดำเนินกิจการภายในและภายนอกของตนเอง

ความเห็นที่สอง ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป มีความเห็นว่า รัฐใต้อารักขายังมีสภาพความเป็นรัฐ และมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยให้เหตุผลว่า

1. การยอมอยู่ภายใต้การอารักขาเกิดจากการใช้อำนาจอิสระของตน เป็นความสมัครใจให้ อำนาจอีกรัฐหนึ่งโดยทำสนธิสัญญาโอนอำนาจอธิปไตยบางส่วนของตนให้อีกรัฐหนึ่ง ดำเนินการ

2.         ประมุขของรัฐใต้อารักขายังคงได้รับการยอมรับ และได้สิทธิต่าง ๆ เช่นประมุขของรัฐอื่น

3.         บางกรณีรัฐใต้อารักขายังมีความสามารถทำสนธิสัญญาด้วยตนเองได้อยู่

4.         ทางปฏิบัติดินแดนของรัฐใต้อารักขาไม่กลายเป็นดินแดนของรัฐที่ให้การอารักขา ซึ่งมี การใช้อำนาจเหนือดินแดนในขอบเขตที่จำกัด

5.         พลเมืองของรัฐใต้อารักขายังมีสัญชาติของตนเองอยู่

 

ข้อ 4. จงอธิบายว่าการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตถือว่าเป็นวิธีการตอบโต้ที่เรียกว่า รีโพรซัล (Reprisal) หรือไม่

ธงคำตอบ

รีโพรซัลเป็นมาตรการตอบโต้การกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศของอีกรัฐหนึ่ง เพื่อให้รัฐนั้นเคารพในสิทธิของตนและรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งมาตรการตอบโต้นั้นเป็นการกระทำ ที่ไมชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน แต่เป็นการกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

การใช้มาตรการรีโพรซัลนั้นต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 4 ประการ คือ

1.         การกระทำนั้นของอีกรัฐหนึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

2.         ไม่สามารถตกลงได้โดยวิธีอื่น

3.         รัฐที่เสียหายต้องเรียกค่าทดแทนก่อน

4.         มาตรการตอบโต้ต้องพอสมเหตุสมผลกับความเสียหายที่ได้รับ

การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อ กฎหมายระหว่างประเทศอย่างใด เพียงแต่มีลักษณะของการบังคับหรือกดดันอีกรัฐหนึ่งเพื่อให้รัฐนั้นเคารพในสิทธิของตน ดังนั้นจึงไม่ใช่ลักษณะของมาตรการรีโพรซัล

Advertisement