การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ1 จงอธิบายถึงขั้นตอนการลงนามในสนธิสัญญาว่าเป็นขั้นตอนที่ก่อให้เกิดความผูกพันหรือไม่ อย่างไร และการลงนามเต็ม (หรือการลงนามอย่างเป็นทางการ) จะต่างกับการลงนามย่ออย่างไร

ธงคำตอบ

การลงนามในสนธิสัญญา มีวัตถุประสงค์ที่จะกำหนดข้อความเด็ดขาดในสนธิสัญญา (ตาม มาตรา 10 แหงอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา ค.ศ. 1969) และเป็นการแสดงความยินยอมที่จะเข้าผูกพัน ในสนธิสัญญาระหว่างรัฐคู่เจรจา ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญานั้นจะกระทำเมื่อผู้แทนในการเจรจาเห็นชอบกับข้อความ ในร่างสนธิสัญญานั้นแล้ว ตามหลักทั่วไป สนธิสัญญาที่ได้มีการลงนามนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันความรับผิดชอบ ของรัฐแต่อย่างใด จะต้องมีการให้สัตยาบันเสียก่อนจึงจะสมบูรณ์และมีผลผูกพัน เว้นแต่จะตกลงกันให้เกิด ความผูกพันในขั้นตอนการลงนาม (ตามมาตรา 11 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา ค.ศ. 1969)

การลงนามเต็ม (หรือการลงนามอย่างเป็นทางการ) จะเป็นการลงนามตามปกติของการลงนาม ในสนธิสัญญา แต่การลงนามย่อนั้นจะเป็นกรณีที่ตัวแทนของรัฐอาจจะเกิดความไม่แน่ใจในอำนาจการลงนามของตน จึงอยากจะสอบถามรัฐบาลของตนเสียก่อนที่จะลงนามจริง จึงได้ลงนามย่อไว้ ซึ่งการลงนามย่อนี้จะยังไม่สมบูรณ์ จนกว่าจะมีการยืนยันกลับมาอย่างเป็นทางการอีกครั้งหรือเมือมีการลงนามเต็มอีกครั้งในภายหลัง

 

ข้อ 2. จงอธิบายถึงข้อสงวนในสนธิสัญญา และรัฐสามารถที่จะตั้งข้อสงวนได้หรือไม่ อย่างไร 

ธงคำตอบ

ข้อสงวนของสนธิสัญญา (Reservation) หมายถึง ข้อความซึ่งรัฐคู่สัญญาได้ประกาคออกมา ว่าตนไม่ผูกพันในข้อความหนึ่งข้อความใดในสนธิสัญญา หรือตนเข้าใจความหมายของข้อกำหนดอย่างไร หรือตนรับจะปฏิบัติแต่เพียงบางส่วน

อนุสัญญากรุงเวียนนาฯค.ศ. 1969 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า การตั้งข้อสงวน ได้แก่ คำแถลงฝ่ายเดียว ของรัฐภาครัฐหนึ่งรัฐใดของสนธิสัญญาที่ได้ทำขึ้นขณะที่ลงนาม ให้สัตยาบัน ยอมรับ อนุมัติ หรือทำภาคยานุวัติ สนธิสัญญา โดยคำแถลงนี้แสดงว่าต้องการระงับหรือเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายของบทบัญญัติบางอย่างของ สนธิสัญญาในส่วนที่ใช้กับรัฐนั้น

เห็นได้วา การตั้งข้อสงวนคือวิธีการที่รัฐภาคีแห่งสนธิสัญญาต้องการหลีกเลี่ยงพันธกรณีตาม สนธิสัญญาในเรื่องหนึ่งเรื่องใดหรือในหลายเรื่อง เป็นวิธีการจำกัดความผูกพันตามสนธิสัญญาของรัฐ เช่น แจ้งว่าตน จะไม่รับพันธะที่จะปฏิบัติทั้งหมด หรือรับที่จะปฏิบัติบางส่วน หรือว่าตนเข้าใจความหมายของข้อกำหนดนั้นวาอย่งไร

การตั้งข้อสงวนในสนธิสัญญานั้น จะกระทำได้เฉพาะในสนธิสัญญาประเภทพหุภาคีเท่านั้น สำหรับสนธิสัญญาประเภททวิภาคีนั้นไม่สามารถกระทำได้เพราะการตั้งข้อสงวนในสนธิสัญญาประเภททวิภาคีนั้น เท่ากับเป็นการปฏิเสธการให้สัตยาบันและยื่นข้อเสนอใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อเมื่อคู่สัญญายอมรับ ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมรับ ข้อเสนอสนธิสัญญาย่อมตกไป ดังนั้นสนธิสัญญาประเภททวิภาคีจึงไม่อาจมีข้อสงวนได้

สำหรับการตั้งข้อสงวนของสนธิสัญญานั้น รัฐคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินการได้เสมอไป เพราะ อนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ค.ศ. 1969 มาตรา 19 ระบุว่า รัฐคู่สัญญาย่อมตั้งข้อสงวนได้ เว้นแต่

1.         สนธิสัญญามีข้อกำหนดห้ามการตั้งข้อสงวนไว้ชัดแจ้ง

2.         สนธิสัญญากำหนดกรณีที่อาจตั้งข้อสงวนได้ นอกเหนือจากกรณีที่กำหนดแล้ว รัฐไม่อาจ ตั้งข้อสงวนได้

3.         ข้อสงวนนั้นขัดต่อวัตถุประสงค์หรอความมุ่งหมายของสนธิสัญญา

การตั้งข้อสงวนหรอการรับข้อสงวนหรือการคัดค้านการตั้งข้อสงวน ต้องทำเป็นหนังสือและแจ้ง ไปให้รัฐคู่สัญญาทราบ และการตั้งข้อสงวนนั้น รัฐที่ตั้งข้อสงวนอาจจะขอถอนคืนข้อสงวนของตนได้ เว้นแต่สนธิสัญญา ดังกล่าวได้ระบุห้ามการถอนคืนข้อสงวนไว้

 

ข้อ 3. ประเทศปากีสถานเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงเมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลเสียหายอย่างมากมาย ขณะเดียวกัน ก็เกิดมีเกาะโผล่ขึ้นมาใหม่ในทะเลห่างจากชายฝั่งประมาณ 2 ไมล์ทะเล เนื่องมาจากผลของแผ่นดินไหว ครั้งนี้ ให้นักศึกษาอธิบายหลักการได้ดินแดนของรัฐด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยสังเขป และเกาะดังกล่าว จะถือว่าเป็นการได้ดินแดนของปากีสถานหรือไม่ ด้วยเหตุผลตามหลักการของกฎหมายระหว่าง ประเทศใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ธงคำตอบ

รัฐอาจได้ดินแดนโดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

1.         โดยการใช้กำลัง ในครั้งโบราณการได้ดินแดนของรัฐส่วนใหญ่มักจะได้มาจากการรบ ซึ่งรัฐที่มีชัยชนะก็มีสิทธิจะทำการผนวกดินแดนของรัฐที่พ่ายแพ้มาเป็นของตน ในประวัติศาสตร์มีการได้ดินแดน โดยวิธีนี้มากมาย แต่ปัจจุบันกฎหมายระหว่างประเทศไม่ยอมรับความชอบธรรมในการได้ดินแดนโดยการใช้กำลัง

2.         โดยการยกให้ ปกติการได้ดินแดนของรัฐอื่นจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้มีสนธิสัญญา ยกดินแดนให้จากรัฐที่เป็นเจ้าของ ซึ่งอาจเป็นการยกให้โดยเสน่หาหรือขายดินแดนหรือแลกเปลี่ยนดินแดนกันก็ได้

3.         โดยการครอบครองดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ คือการเข้าครอบครองดินแดนที่ยังไม่ได้อยู

ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐใด หรืออาจเคยอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐอื่นมาก่อน แต่รัฐนั้นได้ทอดทิ้งไปแล้ว และต้องครอบครองในนามของรัฐ เอกชนที่เข้าครอบครองไม่มีสิทธิที่จะอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นได้

4.         โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นวิธีการที่รัฐเข้าครอบครองและใช้อำนาจอธิปไตยเหนือ ดินแดนนั้นเป็นระยะเวลานานโดยดินแดนนั้นเป็นหรือเคยเป็นของรัฐอื่นมาก่อน และรัฐที่เข้ามาครอบครองภายหลัง โดยรัฐเดิมไม่ได้คัดค้าน และรัฐอื่นมิได้โต้แย้ง การครอบครองปรปักษ์เป็นหลักการทำนองเดียวกับกฎหมายภยใน แต่ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาไว้อย่างชัดเจน แต่โดยปกติรัฐก็จะต้องครอบครองดินแดนนั้นเป็นเวลานาน

5.         โดยการครอบครองดินแดนโดยผลจากธรรมชาติ รัฐอาจจะได้ดินแดนโดยผลของธรรมชาติ เช่น ที่งอกริ่มตลิ่ง ริมแม่น้ำ หรือฝั่งทะเล ตามหลักกฎหมายโรมันถือว่าสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ากับสิ่งที่เป็นประธาน ย่อมเป็นทรัพย์ของผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ประธาน นอกจากนั้นรัฐอาจจะได้ดินแดนโดยการกระทำของรัฐเอง เช่น ถมที่ดินขยายพื้นที่ออกไป หรือทำพื้นในทะเลให้แห้งเป็นพื้นดินได้

6. โดยคำพิพากษาของศาลหรือมติขององค์การระหว่างประเทศ เช่น คำพิพกษาของศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีกรีนแลนด์ตะวันออก และมติของสมัชชาสหประชาชาติเกี่ยวกับการตั้ง รัฐอิสราเอลใบปี ค.ศ. 1947

ตามอุทาหรณ์ เกาะที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวนั้นถือเป็นผลมาจากธรรมชาติ และเป็นเกาะซึ่งอยู่ ภายในทะเลอาณาเขตของปากีสถาน เพราะห่างจากชายฝั่งเพียง 2 ไมล์ทะเลซึ่งอาณาเขตของทะเลมีอาณาเขตกว้าง 12 ไมล์ทะเล ดังนั้นการเกิดเกาะดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการได้ดินแดนของปากีสถานตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว

 

ข้อ 4. จงอธิบายการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีการทีเรียกว่า การแทรกแซง” ว่ามีลักษณะ ของการดำเนินการอย่างไร และการแทรกแซงจะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ได้หรือไม่ และอย่างไร

ธงคำตอบ

กระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่ไม่ถึงกับสงครามทีเรียกว่า การแทรกแซง” (Intervention) หมายถึง การที่รัฐหนึ่งเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในหรือภายนอกของรัฐอื่น เพื่อบังคับให้รัฐนั้น ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของรัฐที่เข้าแทรกแซง โดยรัฐที่ถูกแทรกแซงนั้นต้องเป็นรัฐที่เป็นเอกราช

การแทรกแซงจะต้องมีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ

1.         เป็นการกระทำที่แทรกแซงต่อกิจการภายในหรือภายนอกของรัฐอื่น

2.         รัฐที่ถูกแทรกแซงต้องเป็นอิสระ มีอำนาจอธิปไตยของตนเองทั้งภายในและภายนอก

3.         มีวัตถุประสงค์ที่จะบังคับให้รัฐนั้นกระทำตามความประสงค์ของตน

และการแทรกแซงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักการของกฎหมาย ระหว่างประเทศนั้นมีได้ แต่จะต้องเป็นการแทรกแซงในกรณีดังต่อไปนี้

1.         การแทรกแซงโดยมีสนธิสัญญาต่อกันให้ดำเนินการได้

2.         การแทรกแซงโดยอ้างว่ารัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายร้องขอ

3.         การแทรกแซงโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลในสัญชาติตนในรัฐอื่น แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขดังนี้

1)         รัฐนั้นไม่ให้ความคุ้มครองหรือไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่บุคคล หรือทรัพย์สินของขาติที่ทำการแทรกแซง และองค์การสหประชาชาติก็ไม่สามารถจะให้ความ คุ้มครองได้ทันที

2)         มีการคุกคามซึ่งจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

3)         การปฏิบัติการแทรกแซงต้องสมเหตุสมผลกับความเสียหายที่ได้รับ และต้องหยุดการกระทำเมื่อทำการคุ้มครองเป็นผลสำเร็จหรืออพยพประชาชนหมดสิ้นแล้ว

4.         การแทรกแซงโดยเหตุผลของมนุษยธรรม เป็นกรณีที่รัฐที่ถูกแทรกแซงกระทำการป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม หรือไม่ยุติธรรมต่อบุคคลในสัญชาติของรัฐที่ถูกแทรกแซงเอง

Advertisement