การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

Advertisement

ข้อ 1. สนธิสัญญาแบบใดบ้างที่ก่อนการให้สัตยาบันจะต้องขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ และการ ที่ประเทศไทยทำความตกลง FTA อาเซียน-สหภาพยุโรป นั้น ก่อนการให้สัตยาบันจะต้องขอความ เห็นชอบจากสภานิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 190 วรรคสองว่าหนังสือ สัญญาใดที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติก่อน ทั้งนี้รัฐสภาจะต้อง พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ซึ่งหนังสือสัญญาดังกล่าวได้แก่

1. สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือ

2.         สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ

3.         สนธิสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือ

4.         สนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่าง กว้างขวาง หรือ

5.         สนธิสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมี นัยสำคัญ

กรณีความตกลง FTA อาเซียน-สหภาพยุโรปเป็นสนธิสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ที่จะ ต้องขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติก่อนการให้สัตยาบันเพราะมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนของประเทศ

 

ข้อ 2. จากข้อเท็จจริงของความขัดแย้งภายในรัฐอาจนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองที่มีการต่อสู้กันของ ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายกบฏ ดังเช่น กรณีของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งการต่อสู้ กันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแกรัฐต่างประเทศหรือคนในสัญชาติของรัฐต่างประเทศได้ ประเด็น ปัญหาที่จะต้องพิจารณาตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ คือ รัฐจะต้องรับผิดชอบต่อ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากสงครามกลางเมือง หรือไมอย่างไร นักศึกษาจงอธิบายประเด็น ดังกล่าวนี้ ให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ซึ่งอาจไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต่างประเทศหรือคนต่างด้าวได้ ซึ่งมีปัญหาว่า รัฐจำเป็นต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากสงครามกลางเมืองหรือไม ซึ่งต้องแยกพิจารณาว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายกบฏ

1.         ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาล กฎหมายระหว่างประเทศยอมรับ หลักการว่า รัฐไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาล เพราะถือเสมือนว่า เป็นลักษณะเดียวกับการเกิดสงคราม ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย

แต่อย่างไรก็ตาม หลักการดังกล่าวก็มีข้อยกเว้น ถ้าความเสียหายที่รัฐบาลก่อให้เกิดแกชาวต่างประเทศนั้น มิได้เกิดจากการต่อสู้ในสงครามกันตามปกติวิสัยของการปราบกบฏ เช่น ไปทำลายบ้านเรือนของเอกชน โดยไม่มีความจำเป็นทางทหาร หรือไปยิงคนต่างด้าว หรือปล้นทารุณ หรือฆาตกรรม โดยไม่เกี่ยวข้องกับการปราบกบฏเลย กรณีนี้รัฐก็ยังต้องรับผิดชอบ

2.         ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของฝ่ายกบฏ จะต้องแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี

2.1       กรณีที่ฝายกบฏเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง รัฐไม่ต้องรับผิดชอบต่อความ เสียหายที่ฝ่ายกบฏได้ก่อขึ้น เพราะฝ่ายกบฏไม่ใช่ตัวแทนของรัฐ ฉะนั้นรัฐบาล จึงพ้นความรับผิดชอบ

แต่อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้น ให้รัฐต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการ กระทำของฝ่ายกบฏ ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้สงคราม

1)         ถ้ารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อปกป้องคุ้มครองชาวต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่รัฐได้ทราบอยู่แล้วว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น และรัฐมีกำลังเพียงพอ ที่จะป้องกันได้ แต่ละเลยไม่กระทำการป้องกัน

2)         กรณีที่รัฐได้ยอมยกโทษให้ฝ่ายกบฏหรืออาจยอมให้ฝ่ายกบฏเข้าร่วมใน คณะรัฐบาล ซึ่งเท่ากับว่ารัฐยอมรับรู้การกระทำของฝายกบฏ

2.2       กรณีที่ฝ่ายกบฏเป็นฝ่ายชนะในสงคราม ถือว่าฝ่ายกบฏต้องรับผิดชอบต่อความ เสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำของตน หรือของฝ่ายรัฐบาล

 

ข้อ 3. ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเป็นข่าวที่แพร่หลายโดยทั่วไป ซึ่งรูปแบบของสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐรวมแบบสหพันธรัฐ หรือสหรัฐ (Federal of State) นักศึกษา จงอธิบายถึงลักษณะสำคัญของรัฐรวมในลักษณะดังกล่าวนี้โดยละเอียด และหากนำมาเปรียบเทียบกับรัฐในรูปแบบของรัฐเดียว (Single State) จะมีลักษณะที่แตกต่างกันในประเด็นสำคัญอย่างไร

ธงคำตอบ

สหพันธรัฐหรือสหรัฐ (Federal of State) เป็นการรวมกันของรัฐหลายรัฐในลักษณะที่ก่อให้เกิด รัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว ซึ่งรัฐเดิมที่เข้ามารวมนี้จะสูญสภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป โดยยอมสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แกรัฐบาลกลางของสหพันธรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการภายนอก เช่น อำนาจในการป้องกันประเทศ อำนาจในการติดต่อกับต่างประเทศ ส่วนกิจการภายในรัฐสมาชิกยังคงมีอิสระเช่นเดิม

ลักษณะสำคัญของสหพันธรัฐ มีดังต่อไปนี้

1.         การรวมในรูปสหพันธรัฐไม่ใช่การรวมแบบสมาคมระหว่างรัฐ แต่เป็นการรวมที่ก่อให้เกิด รัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว และจะมีรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทใน การปกครอง กำหนดหน้าที่ของรัฐบาลกลางและหน้าที่ของรัฐสมาชิก

2.         รัฐที่มารวมจะหมดสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป ซึ่งรัฐใหม่ที่เกิดขึ้นมา จะมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศเพียงรัฐเดียว

3.         อำนาจการติดต่อภายนอก เช่น การทำสนธิสัญญา การรับส่งผู้แทนทางการทูต กาป้องกันประเทศ ฯลฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางแต่ผู้เดียว แต่รัฐสมาชิกก็ยังมีอำนาจอธิปไตย อย่างสมบูรณ์ในกิจการภายในของตนเอง แต่รัฐธรรมนูญของมลรัฐจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ของสหพันธรัฐไม่ได้

4.         มลรัฐมีส่วนในการบริหารงานของสหพันธรัฐ โดยสภาสูงจะประกอบด้วยผู้แทนของแต่ละมลรัฐ

5.         ในกรณีที่มลรัฐไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต่างประเทศ สหพันธรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว

สหพันธรัฐอาจจะเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น เกิดจากหลายรัฐมารวมกันในรูปของสหพันธรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ หรือเกิดการเปลี่ยนรูปจากรัฐเดียวมาเป็นสหพันธรัฐ เช่น เม็กชิโก บราซิล เป็นต้น โดยปกติแล้วรัฐสมาชิกของสหพันธรัฐจะไม่สามารกถอนตัวออกไปได้ เว้นแต่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ของสหพันธรัฐให้รัฐสมาชิกถอนตัวออกได้

ในปัจจุบันมีรัฐเป็นจำนวนมากที่มีรูปการปกครองแบบสหพันธรัฐ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อินเดีย ปากิสถาน ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน เป็นต้น

ส่วนรัฐเดี่ยว หมายถึง รัฐซึ่งมีการปกครองเป็นเอกภาพ โดยไมมีการแบ่งแยกออกจากกัน ตามปกติจะมีรัฐบาลกลางปกครองประเทศเพียงรัฐบาลเดียว มีการรวมศูนย์อำนาจปกครองไว้ที่รัฐบาลกลาง อาจจะมีการกระจายอำนาจปกครองให้ท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองตนเอง แต่ยังอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลกลาง

ตัวอย่างของรัฐเดี่ยว เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียม อิตาลี ไทย เป็นต้น

 

ข้อ 4. กงสุลมีสถานภาพเช่นเดียวกับผู้แทนทางการทูตหรือไม่อย่างไร  ภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1963 ได้แบ่งชั้นกงสุลไว้อย่างไร และกงสุลมีกี่ประเภท จงอธิบาย

ธงคำตอบ

กงสุลเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศที่มิใช่ผู้แทนทางการทูต เพื่อช่วยเหลือดูแลรักษา ผลประโยชน์ของบุคคลในสัญชาติของรัฐที่ส่งตนมา

เดิมนั้นระเบียบการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกงสุล ได้ถูกกำหนดโดยสนธิสัญญาซึ่งรัฐต่าง ๆ ทำระหว่างกัน ต่อมาคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศจึงได้จัดทำอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกงสุล ค.ศ. 1963 ซึ่งใช้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ประเภทของกงสุล มี 2 ประเภท คือ

1.         กงสุลประจ่าตำแหน่ง ซึ่งเป็นข้าราชการของรัฐ สังกัดกระทรวงต่างประเทศ

2.         กงสุลกิตติมศักดิ์ ไม่มีฐานะเป็นข้าราชการของรัฐ ส่วนใหญ่จะแต่งตั้งจากบุคคลของรัฐ ที่รับกงสุลนั้นเอง ซึ่งตามปกติจะเป็นนักธุรกิจในเมืองนั้นที่มีความสัมพันธ์กับรัฐผู้ส่ง

การแต่งตั้งกงสุล ตามหลักการแล้ว กงสุลขึ้นตรงต่อกระทรวงการต่างประเทศ แต่อยู่ภายใต้ การบังคับบัญชาของสถานทูตของรัฐผู้ส่งในประเทศที่ประจำอยู่ โดยปกติกฎหมายภายในของแต่ละรัฐจะกำหนด คุณสมบัติ วิธีการคัดเลือกและแต่งตั้งกงสุลไว้ การแต่งตั้งกงสุลจะมีลักษณะคล้ายกับการแต่งตั้งผู้แทนทางการทูต โดยจะออกสัญญาบัตรแต่งตั้งเมื่อได้รับความเห็นชอบในตัวบุคคลจากรัฐผู้รับแล้ว

ลำดับชั้นของกงสุล อนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ค.ศ. 1963 มาตรา 9 กำหนดชั้นของกงสุลไว้ดังนี้

1.         กงสุลใหญ่ เป็นหัวหน้ากงสุลหลายเขต หรือหัวหน้าของเขตกงสุลที่ใหญ่มาก

2.         กงสุล เป็นกงสุลประจำเขตที่เล็กลงไป มีอำนาจและขอบเขตอยู่เฉพาะในท้องที่หนึ่งเท่านั้น

3.         รองกงสุล ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกงสุลใหญ่หรือกงสุลก็ได้

4.         ตัวแทนกงสุล เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปประจำที่ใดที่หนึ่งในเขตกงสุล

หน้าที่ของกงสุล กงสุลมีหน้าที่ที่สำคัญดังต่อไปนี้

1.         กงสุลมีหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐผู้ส่งและบุคคลสัญชาติของรัฐผู้ส่ง ทั้งที่เป็น บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

2.         สืบเสาะด้วยวิธีการอันชอบด้วยกฎหมายถึงสภาวะและความเคลื่อนไหวในด้านการค้า เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ของรัฐที่ตนไปประจำ แล้วรายงานต่อรัฐผู้ส่ง

3.         ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การท่องที่ยว วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับ

4.         ทำหน้าที่อย่างอื่น เช่น ออกใบรับรอง ออกหนังสือเดินทาง งานทะเบียนราษฎร์ จดทะเบียนสมรส และในกรณีจำเป็นส่งคนในสัญชาติของรัฐผู้ส่งกลับประเทศ

5.         ปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐผู้ส่งมอบหมายให้ในขอบเขต และที่มิได้ต้องห้ามตามกฎหมายของรัฐ ผู้รับ

Advertisement