การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายถึงขั้นตอนการจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาและภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557) หรือตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านประชามติ มาตรา 178 (ซึ่งมีหลักการเหมือนกับฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557) ว่ามีกรณีใดบ้าง ที่ก่อนมีการให้สัตยาบัน รัฐบาลจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

ธงคําตอบ

การจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา มีขั้นตอน การจัดทําดังนี้ คือ

1 การเจรจา

2 การลงนาม

3 การให้สัตยาบัน

4 การจดทะเบียน

1 การเจรจา การเจรจาเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทําสนธิสัญญาเพื่อกําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทําสนธิสัญญา ซึ่งองค์กรที่มีอํานาจในการเจรจาเพื่อทําสนธิสัญญาจะถูกกําหนดโดยรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ หรือในบางกรณีผู้มีอํานาจใน การเจรจาอาจจะไม่ทําการเจรจาด้วยตนเองก็ได้แต่มอบอํานาจให้ผู้อื่น เช่น ตัวแทนทางการทูต หรือคณะผู้แทน เข้าทําการเจรจาแทน แต่ต้องทําหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Full Powers) ซึ่งผู้แทนจะนํามามอบให้แก่รัฐคู่เจรจา หรือต่อที่ประชุมในกรณีที่มีรัฐหลายรัฐร่วมเจรจาด้วย

การร่างสนธิสัญญาเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐคู่เจรจา จะทําความตกลงกันใน หลักการและข้อความในสนธิสัญญา โดยจะมีการประชุมพิจารณาร่างข้อความในสนธิสัญญา และตามมาตรา 9 ของ อนุสัญญากรุงเวียนนาระบุว่า ร่างสนธิสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากรัฐคู่เจรจา เว้นแต่ที่ประชุม จะให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

2 การลงนาม การลงนามในสนธิสัญญา มีวัตถุประสงค์ที่จะกําหนดข้อความเด็ดขาดใน สนธิสัญญา และการแสดงความยินยอมที่จะผูกพันในสนธิสัญญาของรัฐคู่เจรจา ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญานั้น จะกระทําเมื่อผู้แทนในการเจรจาเห็นชอบกับข้อความในร่างสนธิสัญญานั้นแล้ว

การลงนามในสนธิสัญญานั้น อาจจะเป็นการลงนามเลย หรือลงนามย่อก่อนและลงนามจริง ในภายหลังก็ได้ และสนธิสัญญาที่ได้มีการลงนามแล้วนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันความรับผิดชอบของรัฐ จะต้อง มีการให้สัตยาบันเสียก่อนจึงจะสมบูรณ์

3 การให้สัตยาบัน การให้สัตยาบัน หมายถึง การยอมรับขั้นสุดท้าย เป็นการแสดงเจตนา ของรัฐที่จะรับข้อผูกพันและปฏิบัติตามพันธะในสนธิสัญญา และการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญานั้น จะต้องมีการจัดทํา สัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) ซึ่งกระทําในนามประมุขของรัฐ หรือรัฐบาล หรืออาจจะลงนามโดย รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ และในสัตยาบันสารนั้นจะระบุข้อความในสนธิสัญญา และคํารับรองที่จะปฏิบัติตาม ข้อผูกพันในสนธิสัญญานั้น

4 การจดทะเบียน เมื่อมีการทําสนธิสัญญาเสร็จแล้ว โดยหลักจะต้องนําสนธิสัญญานั้น ไปจดทะเบียนไว้กับสํานักเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ (มาตรา 102 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ) แต่อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาบางฉบับอาจจะไม่ได้นําไปจดทะเบียนก็ได้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าสนธิสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนแล้วเท่านั้น สนธิสัญญาบางฉบับแม้จะไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

และภายใต้รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 23 หรือตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ ปัจจุบันมาตรา 178 ได้กําหนดไว้ว่า หนังสือสัญญา (สนธิสัญญา) ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ก่อนการให้สัตยาบันจะต้อง ขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาก่อน ได้แก่

1 สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือ

2 สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอํานาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ

3 สนธิสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือ

4 สนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่าง กว้างขวาง เช่น สนธิสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

 

ข้อ 2 จงอธิบายถึงสาระสําคัญของเหตุแห่งการสิ้นสุดของสนธิสัญญาในกรณีที่มีสภาวการณ์อันเป็นรากฐานของสนธิสัญญาได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ธงคําตอบ

เหตุแห่งการสิ้นสุดของสนธิสัญญาในกรณีที่สภาวการณ์อันเป็นรากฐานของสนธิสัญญาได้ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนั้น เป็นกรณีที่สนธิสัญญาได้สิ้นสุดลงเนื่องจากมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ทําให้การปฏิบัติ ตามข้อตกลงในสนธิสัญญานั้นไม่อาจเป็นไปได้ ซึ่งแยกออกเป็น 2 กรณี คือ

1 เมื่อเกิดสงครามขึ้นระหว่างรัฐภาคีสนธิสัญญา

เมื่อเกิดสงครามขึ้นระหว่างรัฐภาคีสนธิสัญญา สนธิสัญญาจะสิ้นสุดลงหรือไม่นั้น จะต้องแยกพิจารณาว่า เป็นสนธิสัญญาสองฝ่าย (ทวิภาคี) หรือสนธิสัญญาหลายฝ่าย (พหุภาคี)

สําหรับสนธิสัญญาสองฝ่าย (ทวิภาคี) โดยหลักการแล้วถือว่าสนธิสัญญาที่ทําไว้ก่อน เกิดสงครามของรัฐคู่สงคราม (รัฐภาคีสนธิสัญญา) สิ้นสุดลง เว้นแต่

(1) สนธิสัญญาที่ทําขึ้นเพื่อบังคับใช้โดยตรงในเวลาสงคราม เช่น อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายและจารีตประเพณีในการทําสงครามทางบก ค.ศ. 1907, อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก ค.ศ. 1949

(2) สนธิสัญญาบางชนิด เช่น การยกดินแดน

(3) สนธิสัญญานั้นเองได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าให้คงดําเนินต่อไปแม้เมื่อเกิดสงคราม เช่น สนธิสัญญาลงวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1815 ระหว่างอังกฤษ ฮอลแลนด์ และ รัสเซีย ซึ่งกําหนดว่าอังกฤษจะต้องจ่ายเงินให้รัสเซียแม้ว่าจะทําสงครามกับรัสเซีย ก็ตาม ในสงครามไคเมียระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย อังกฤษก็ยังชําระหนี้ให้รัสเซียต่อไป

สําหรับสนธิสัญญาหลายฝ่าย (พหุภาคี) ซึ่งมีทั้งรัฐคู่สงคราม รัฐภาคีสนธิสัญญา) และรัฐเป็นกลางเป็นภาคีในสนธิสัญญา ผลของสนธิสัญญาระหว่างคู่สงครามเป็นแต่เพียงระงับไปชั่วคราวจนกว่าสงครามสงบ โดยมีการทําสนธิสัญญาสันติภาพ สนธิสัญญานั้นยังไม่ถือว่าสิ้นสุดลง แต่ผลระหว่างรัฐเป็นกลางกับรัฐคู่สงคราม หรือระหว่างรัฐเป็นกลางที่เป็นภาคีสนธิสัญญายังใช้บังคับอยู่เช่นเดิม เช่น สงครามในปี ค.ศ. 1870 ไม่ได้ทําให้สนธิสัญญาปารีสวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1856 สิ้นสุดลง และสนธิสัญญาวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1839 ที่ค้ำประกันความเป็นกลางของเบลเยียมไม่ได้สิ้นสุดลง เมื่อเยอรมนีบุกเบลเยียมในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 แต่ยังคงใช้อยู่จนกระทั่งได้มีการทําสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เช่นเดียวกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1939 ก็ไม่ได้ทําให้องค์การสันนิบาตชาติเลิกล้มไป จนกระทั่งเกิดองค์การสหประชาชาติขึ้นมาแทน

2 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมผิดไปจากขณะทําสัญญา

ตามหลักกฎหมายโรมัน ถือว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างสําคัญในสิ่งแวดล้อมผิดไป จากขณะทําสัญญาก็อาจทําให้สัญญานั้นล้าสมัย หรือหมดสภาพบังคับ (Rebus sic stantibus) ซึ่งโดยหลักการ นักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่ทําให้สนธิสัญญาสิ้นสุด ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญใน สภาพการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมซึ่งเป็นอยู่ในขณะทําสัญญา จนทําให้ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธะที่ระบุไว้ใน สนธิสัญญาได้ และการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องชัดแจ้งที่ทุกฝ่ายยอมรับ

ตามปกติแล้วหลัก Rebus sic stantibus นั้น ส่วนใหญ่มักจะใช้กับสนธิสัญญาที่มีกําหนด ระยะเวลานาน หรือทํากันแบบไม่มีกําหนดระยะเวลา ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานนั้นอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ทําให้ ไม่สามารถปฏิบัติตามสนธิสัญญาได้ เช่น สนธิสัญญาสันติภาพ เป็นต้น

ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 62 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่า

“1 การเปลี่ยนแปลงที่สําคัญของสิ่งแวดล้อมซึ่งมีอยู่ในขณะที่ตกลงทําสนธิสัญญา และภาคีมิได้คาดคิดมาก่อนนั้น จะอ้างเป็นมูลเหตุเพื่อเลิกสนธิสัญญาหรือถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไม่ได้ นอกจาก

ก ความเป็นอยู่แห่งสิ่งแวดล้อมนี้เป็นปัจจัยในการที่ภาคีตกลงยอมให้มี ความผูกพันตามสนธิสัญญา

ข ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงทําให้แปรสภาพขอบเขตแห่งหนี้ ซึ่งจะต้องปฏิบัติ ต่อกัน”

 

ข้อ 3 ปัจจุบันสถานการณ์ในสังคมระหว่างประเทศมีการเดินขบวนเพื่อต่อต้านรัฐบาลของประเทศต่าง ๆเป็นจํานวนมากรวมทั้งประเทศไทยด้วย หากมีเหตุการณ์ที่จะนําไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แทน รัฐบาลเดิมด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ การปฏิวัติ หรือวิธีอื่นใดก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและมีผู้สนใจมาถามนักศึกษาในฐานะที่ผ่านการศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองมาแล้ว ท่านจะอธิบายให้ผู้สนใจนี้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐบาลใหม่เหล่านี้อย่างชัดเจนอย่างไร และยกตัวอย่างประกอบในการอธิบายด้วย

ธงคําตอบ

หากมีเหตุการณ์ที่จะนําไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แทนรัฐบาลเดิมด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ การปฏิวัติ หรือวิธีอื่นใดก็ตาม จะต้องมีการรับรองรัฐบาลใหม่หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีไม่จําเป็นต้องรับรอง คือกรณีที่รัฐบาลใหม่ได้ขึ้นมาบริหารประเทศตามกระบวนการ ตามปกติวิสัยหรือตามวิถีทางของกฎหมายภายในของรัฐนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือโดย วิธีการอื่น ๆ ก็ตาม ก็ไม่จําเป็นต้องรับรองรัฐบาลชุดใหม่นี้ เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องและชอบธรรมแล้ว

2 กรณีที่จะต้องมีการรับรองรัฐบาลใหม่ จะเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

(1) กรณีที่รัฐบาลใหม่มิได้ขึ้นมาปกครองประเทศตามวิถีทางของกฎหมาย คือ เป็นกรณี ที่มีคณะบุคคลขึ้นครองอํานาจโดยวิธีการที่ผิดแปลกไปจากที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ ซึ่งโดยปกติที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ คือ การปฏิวัติรัฐประหาร หรือการได้อํานาจโดยการใช้กําลังบังคับ

(2) กรณีที่มีการตั้งรัฐบาลขึ้นมีอํานาจปกครองดินแดนส่วนหนึ่งของรัฐ โดยการแย่ง อํานาจปกครองจากรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐ ทําให้มี 2 รัฐบาลในรัฐเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลที่ตั้งขึ้นในกรณี ดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลโดยพฤตินัย จึงสมควรที่จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐอื่น

การตัดสินใจในการให้การรับรองรัฐบาลใหม่นี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐที่จะให้การรับรองหรือไม่ และอาจจะรับรองโดยมีเงื่อนไขก็ได้ การรับรองรัฐบาลนี้มีผลในลักษณะของการประกาศให้นานาชาติทราบถึง สถานภาพของรัฐบาลที่ได้รับการรับรองเช่นเดียวกับการรับรองรัฐ

สําหรับแนวคิดในการพิจารณาเกี่ยวกับการรับรองรัฐบาลใหม่นี้ มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องดังนี้ คือ

1 ทฤษฎี Tobar เป็นหลักการรับรองรัฐบาลโดยพิจารณาถึงความชอบธรรมของรัฐบาล ที่ขึ้นมามีอํานาจปกครองประเทศว่าเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้เป็นความคิดที่พยายามจะป้องกัน การปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยในลาตินอเมริกา ซึ่ง Tobar รัฐมนตรีต่างประเทศเอกวาดอร์ เห็นว่ารัฐไม่ควรรับรอง รัฐบาลที่ได้อํานาจมาโดยการปฏิวัติรัฐประหาร เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลใหม่จะทําให้ถูกต้องตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ โดยได้รับความยินยอมจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งเสียก่อน

ทฤษฎี Toba” ใช้เฉพาะในทวีปอเมริกาเท่านั้น ประเทศในยุโรปไม่ยอมรับนับถือปฏิบัติ โดยหลักการแล้วทฤษฎีดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เพราะการรับรองรัฐบาลใหม่ก็เหมือนกับการรับรองรัฐ ซึ่งเป็น เพียงการยืนยันหรือประกาศสภาพของรัฐบาลที่มีอยู่แล้วเท่านั้น และการปฏิเสธการรับรองรัฐบาลโดยอ้างว่าเป็น รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมนั้น เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น ดังนั้นทฤษฎี Tobar จึงไม่ได้รับการยึดถือปฏิบัติ ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1932 เป็นต้นมา

2 ทฤษฎี Estrada เป็นหลักการรับรองรัฐบาลโดยพิจารณาถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลนั้น ว่ามีอํานาจอันแท้จริงในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลมีความสามารถเช่นว่านี้ก็เพียงพอที่จะเป็นรัฐบาลโดยสมบูรณ์ได้ โดยมิต้องไปพิจารณาถึง ความถูกต้องตามกฎหมายภายในของรัฐบาล เพราะเป็นกิจการภายในของรัฐนั้น รัฐอื่นไม่มีหน้าที่ไปพิจารณา รัฐทุกรัฐ ย่อมมีอํานาจอธิปไตยของตนเอง ซึ่งสังคมระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้ยึดถือตามทฤษฎี Estrada นี้ เช่น การรับรอง รัฐบาลทหารของประเทศพม่า เป็นต้น

 

ข้อ 4 จงอธิบายกระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่เรียกว่า “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ”โดยละเอียด และศาลฯ นี้มีความแตกต่างและคล้ายกับกระบวนการของ “ศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศ” ในประเด็นสําคัญอย่างไร

ธงคําตอบ

การระงับข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก เป็นการระงับข้อพิพาท ทางศาลตามความหมายที่แท้จริง เนื่องจากเป็นลักษณะของการเสนอข้อพิพาทให้ศาลที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างถาวร โดยมี ผู้พิพากษาประจําอยู่ มีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณาความของตนเอง แตกต่างจากศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นการระงับข้อพิพาทในทางกฎหมาย และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎหมาย เช่นเดียวกัน

สําหรับโครงสร้างของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะประกอบด้วยผู้พิพากษา 15 นาย แต่จะเป็นคนในสัญชาติเดียวกันไม่ได้ ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตําแหน่ง 9 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่ นอกจากนั้นก็มีการเลือกตั้งซ่อมทุก ๆ 3 ปี โดยผู้พิพากษา 5 คน จะอยู่ในตําแหน่ง 3 ปี 5 คนอยู่ในตําแหน่ง 6 ปี และ 5 คนที่เหลือ อยู่ในตําแหน่งได้ครบ 9 ปี ถ้ามีตําแหน่งว่างให้มีการเลือกตั้งซ่อม ผู้ที่ได้รับเลือกจะอยู่ได้เท่าเวลาของผู้ที่ตนแทน การเลือกตั้งกระทําโดยความเห็นชอบร่วมกันของสมัชชาสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งในกรณีนี้ สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถใช้สิทธิวีโต้ได้ มติถือเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ ศาลเลือกประธาน และรองประธานซึ่งอยู่ในตําแหน่ง 3 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีก

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอํานาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทระหว่างประเทศหรือรัฐเท่านั้น และต้องการเกิดจากความสมัครใจของรัฐคู่กรณีด้วย มีเขตอํานาจในเรื่องดังต่อไปนี้คือ

1 การตีความสนธิสัญญา

2 ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ

3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ

4 กรณีเกิดการเสียหายเพราะละเมิดพันธะระหว่างประเทศ

นอกจากนี้คู่พิพาทอาจจะขอให้ศาลพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่ได้กําหนดไว้ในสนธิสัญญา และ ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายแก่คณะมนตรีและสมัชชาของสันนิบาตชาติด้วย ในกรณีที่ถูกร้องขอ

การนําคดีขึ้นสู่ศาลโดยปกติเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง นอกจากจะมีสนธิสัญญาที่คู่กรณี ทําไว้บังคับให้ต้องนําคดีขึ้นสู่ศาลนี้ คําตัดสินของศาลผูกพันคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติ และถือเป็นที่สุดไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา คําพิพากษาของศาลมีลักษณะเป็นพันธกรณีที่คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตาม และคําพิพากษาถือเป็นสิ้นสุด และผูกพัน เฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ถ้ารัฐใดไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา รัฐอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่าจําเป็นก็อาจทําคําแนะนํา หรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดําเนินการเพื่อให้เกิดผล ตามคําพิพากษา

ส่วนการระงับข้อพิพาทโดยศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นการระงับข้อพิพาท โดยองค์กรที่ยังไม่มีลักษณะเป็นศาลที่แท้จริง โดยศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นศาลที่มีการจัดตั้ง ขึ้นมาสืบเนื่องมาจากการประชุมที่กรุงเฮกในปี 1899 และปี 1907 ซึ่งได้มีการผลักดันให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการ ในลักษณะถาวรขึ้นเรียกว่า ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ มีที่ทําการอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศฮอลแลนด์ โดยรัฐที่เป็นภาคีสมาชิกจะส่งรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ในประเทศของตนเพื่อไปเป็นผู้พิพากษายังศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจํานวน 4 คน และรายชื่อทั้งหมด จะรวบรวมทําเป็นบัญชีไว้ หากมีกรณีพิพาทมาสู่ศาลจึงจะเรียกผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นมาตัดสิน และกรณีที่ถือว่า ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศยังไม่มีลักษณะที่เป็นศาลอย่างแท้จริงก็เพราะว่า ถึงแม้จะมีที่ทําการศาล อย่างถาวรก็ตาม แต่ว่ายังไม่มีผู้พิพากษาอยู่ประจําตลอดเวลาอย่างศาลทั่วไป และไม่มีการประชุมกันระหว่าง ผู้พิพากษาด้วยกันอย่างเช่นศาลทั่วไป

กระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่เรียกว่าวิธีการ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (ศาลโลก) จะแตกต่างจากวิธีการที่เรียกว่า “ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ในประเด็นที่สําคัญ คือ

1 การนําคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยปกติจะเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง เว้นแต่จะมีสนธิสัญญาที่คู่กรณีทําไว้บังคับให้ต้องนําคดีขึ้นสู่ศาลนี้ แต่การนําคดีขึ้นสู่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่าง ประเทศจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของคู่กรณีเท่านั้น

2 ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คือผู้พิพากษาที่ประจําอยู่ ในศาลแต่ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ คือผู้พิพากษาที่คู่พิพาทเลือกมาจาก บัญชีรายชื่อ (เป็นผู้พิพากษาที่ได้รับความยินยอมจากคู่กรณี)

3 การพิจารณาคดีโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะมีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณา เป็นของตนเอง รวมทั้งมีการประชุมร่วมกันของผู้พิพากษาในศาล แต่การพิจารณาคดีโดยศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศจะไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณาเป็นของตนเองรวมทั้งไม่มีการประชุมกันระหว่าง ผู้พิพากษาเหมือนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

Advertisement