การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายความหมายขององค์ประกอบของสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา และขั้นตอนการจัดทําแต่ละขั้นตอนจะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างไร

ธงคําตอบ

อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา มาตรา 2 ข้อ 1 (ก) ได้ให้คํานิยาม หรือความหมายของคําว่า “สนธิสัญญา” ไว้ว่า “สนธิสัญญาเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศทําเป็นลายลักษณ์ อักษรระหว่างรัฐและอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่า สนธิสัญญานั้นจะกระทําในรูป เอกสารฉบับเดียว สองฉบับ หรือหลายฉบับ และไม่ว่าจะมีชื่อเรียกเฉพาะเป็นอย่างใดก็ตาม”

จากความหมายของสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ดังกล่าวนั้น สามารถจะแบ่ง องค์ประกอบของสนธิสัญญา ได้ดังนี้ คือ

1 สนธิสัญญาเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐ อนุสัญญากรุงเวียนนาใช้บังคับเฉพาะสนธิสัญญา ที่ทํากันระหว่างรัฐเท่านั้น สนธิสัญญาที่ทํากันโดยบุคคลหรือองค์กรระหว่างประเทศและก่อให้เกิดผลทาง กฎหมายในรูปของสนธิสัญญานั้น ให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเอกเทศจากอนุสัญญานี้ กล่าวคือ ให้เป็นไปตามกฎหมายจารีตประเพณีที่กําหนดหลักเกณฑ์การทําสัญญาเอาไว้

2 ข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นต้องทําเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ในขณะเดียวกัน อนุสัญญากรุงเวียนนาฉบับนี้ก็มิได้ปฏิเสธผลบังคับใช้ทางกฎหมายของความตกลงด้วยวาจา

3 ข้อตกลงที่กระทําขึ้นต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ไม่จําเป็น จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเดียว อาจจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายภายในด้วยก็ได้

4 สนธิสัญญาอาจทําขึ้นในรูปเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ได้ และอาจมีชื่อเรียก แตกต่างกันก็ได้ เช่น สนธิสัญญา อนุสัญญา หรือพิธีสาร เป็นต้น

สําหรับการจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา มีขั้นตอนการจัดทําดังนี้ คือ

1 การเจรจา

2 การลงนาม

3 การให้สัตยาบัน

4 การจดทะเบียน

1 การเจรจา เป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทําสนธิสัญญาเพื่อกําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทําสนธิสัญญา ซึ่งองค์กรที่มีอํานาจในการเจรจาเพื่อทําสนธิสัญญาจะถูกกําหนดโดยรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ หรือในบางกรณีผู้มีอํานาจในการเจรจา อาจจะไม่ทําการเจรจาด้วยตนเองก็ได้แต่มอบอํานาจให้ผู้อื่น เช่น ตัวแทนทางการทูต หรือคณะผู้แทนเข้าทําการ เจรจาแทน แต่ต้องทําหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Full Powers) ซึ่งผู้แทนจะนํามามอบให้แก่รัฐคู่เจรจา หรือต่อที่ประชุมในกรณีที่มีรัฐหลายรัฐร่วมเจรจาด้วย

การร่างสนธิสัญญาเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐคู่เจรจาจะทําความตกลงกันใน หลักการและข้อความในสนธิสัญญา โดยจะมีการประชุมพิจารณาร่างข้อความในสนธิสัญญา และตามมาตรา 9 ของ อนุสัญญากรุงเวียนนาระบุว่า ร่างสนธิสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากรัฐคู่เจรจา เว้นแต่ที่ประชุม จะให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

2 การลงนาม การลงนามในสนธิสัญญา มีวัตถุประสงค์ที่จะกําหนดข้อความเด็ดขาด ในสนธิสัญญา และการแสดงความยินยอมที่จะผูกพันในสนธิสัญญาของรัฐคู่เจรจา ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญานั้น จะกระทําเมื่อผู้แทนในการเจรจาเห็นชอบกับข้อความในร่างสนธิสัญญานั้นแล้ว

การลงนามในสนธิสัญญานั้น อาจจะเป็นการลงนามเลย หรือลงนามย่อก่อนและลงนามจริง ในภายหลังก็ได้ และสนธิสัญญาที่ได้มีการลงนามแล้วนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันความรับผิดชอบของรัฐ จะต้อง มีการให้สัตยาบันเสียก่อนจึงจะสมบูรณ์

3 การให้สัตยาบัน หมายถึง การยอมรับขั้นสุดท้าย เป็นการแสดงเจตนาของรัฐที่จะรับ ข้อผูกพันและปฏิบัติตามพันธะในสนธิสัญญา และการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญานั้นจะต้องมีการจัดทําสัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) ซึ่งกระทําในนามประมุขของรัฐ หรือรัฐบาล หรืออาจลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ และในสัตยาบันสารนั้นจะระบุข้อความในสนธิสัญญา และคํารับรองที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันในสนธิสัญญานั้น

4 การจดทะเบียน เมื่อมีการทําสนธิสัญญาเสร็จแล้ว โดยหลักจะต้องนําสนธิสัญญานั้น ไปจดทะเบียนไว้กับสํานักเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ (มาตรา 102 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ) แต่อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาบางฉบับอาจจะไม่ได้นําไปจดทะเบียนก็ได้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าสนธิสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนแล้วเท่านั้น สนธิสัญญาบางฉบับแม้จะไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

และจากขั้นตอนในการจัดทําสนธิสัญญาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนที่ทําให้สนธิสัญญา มีผลผูกพันกับภาคีสมาชิกคือขั้นตอนการให้สัตยาบันนั่นเอง

 

ข้อ 2 จารีตประเพณีระหว่างประเทศแตกต่างจากสนธิสัญญาอย่างไร และจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

จารีตประเพณีระหว่างประเทศและสนธิสัญญาต่างก็เป็นที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นเดียวกัน แต่ทั้งสองจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้ คือ

จารีตประเพณีระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีลักษณะไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ หรือยกเลิกได้ โดยการปฏิบัติหรือไม่รับปฏิบัติของรัฐต่าง ๆ การก่อให้เกิดเป็นจารีตประเพณีที่ยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องประกอบด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ

(1)  การปฏิบัติ (ปัจจัยภายนอก) หมายถึง รัฐทั่วไปยอมรับปฏิบัติอย่างเดียวกัน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลานานพอสมควร สําหรับระยะเวลานานเท่าใดไม่มีกําหนดแน่นอน แต่ก็คงต้องเป็น ระยะเวลายาวนานพอควร และไม่มีประเทศใดคัดค้าน แต่การปฏิบัติไม่จําเป็นจะต้องเป็นการปฏิบัติของรัฐทุกรัฐ ในโลก เพียงแต่เป็นการปฏิบัติของรัฐกลุ่มหนึ่งก็เพียงพอ

(2) การยอมรับ (ปัจจัยภายใน) หมายถึง การจะเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติให้เป็น จารีตประเพณีระหว่างประเทศนั้นจะต้องได้รับการยอมรับการกระทําดังกล่าวจากสมาชิกสังคมระหว่างประเทศ คือ รัฐหรือองค์การระหว่างประเทศได้ตกลงยอมรับลักษณะบังคับของการปฏิบัติเช่นนั้นว่า เป็นสิ่งจําเป็นที่ต้องปฏิบัติ แต่จารีตประเพณีระหว่างประเทศไม่จําต้องยอมรับโดยทุกประเทศ

จารีตประเพณีระหว่างประเทศอาจเกิดจาก

(1) จารีตประเพณีหรือกฎหมายภายในหรือคําตัดสินของศาลยุติธรรมของรัฐหนึ่ง แต่ประเทศอื่นเห็นว่าดีก็นําหลักการดังกล่าวมาปฏิบัติ จนนานเข้าก็กลายเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

(2) สนธิสัญญาประเภทกฎหมาย คําตัดสินของอนุญาโตตุลาการและคําพิพากษาของศาลระหว่างประเทศ

ส่วนสนธิสัญญา ถือว่าเป็นที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศที่สําคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะหลังจะมีการรวบรวมจารีตประเพณีระหว่างประเทศมาบัญญัติไว้เป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสนธิสัญญา และ โดยที่สนธิสัญญาเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทําขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศ (สองฝ่ายหรือหลายฝ่าย) ซึ่งก่อให้เกิดผลผูกพันตามกฎหมายแก่คู่สัญญา ดังนั้นเมื่อคู่สัญญามีข้อพิพาทเกิดขึ้น เกี่ยวกับสนธิสัญญา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็มักจะอาศัยการตีความหมายจากสนธิสัญญาเพื่อใช้เป็นหลักใน การวินิจฉัยชี้ขาดคดีในศาลของตน

สําหรับสนธิสัญญานั้น เมื่อได้ทําขึ้นมาแล้ว ถ้าในเวลาต่อมาสถานการณ์ระหว่างประเทศ เปลี่ยนแปลงไปหรืออาจมีการพบข้อบกพร่องในการบังคับใช้สนธิสัญญาซึ่งจําเป็นต้องมีการแก้ไข รัฐภาคีอาจจะตกลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก หรือเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของ สนธิสัญญาก็ได้

 

ข้อ 3 หากมีผู้มาขอความรู้จากท่านเกี่ยวกับความเป็นรัฐของ “ไต้หวัน” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐจีน (The Republic of China) ท่านจะนําหลักเกณฑ์ใดมาอธิบายให้ท่านผู้นี้เข้าใจ อย่างชัดเจน และท่านจะสรุปให้ผู้มาขอความรู้จากท่านว่าไต้หวันมีสถานะของความเป็นรัฐหรือไม่ อย่างไร และหากเทียบเคียงกับกรณีของฮ่องกง (Hong Kong) จะมีความแตกต่างในสาระสําคัญ

อย่างไร

ธงคําตอบ

หากมีผู้มาขอความรู้จากข้าพเจ้าเกี่ยวกับสถานะของความเป็นรัฐของ “ไต้หวัน” และกับ กรณีของฮ่องกง ข้าพเจ้าจะให้คําอธิบายแก่บุคคลดังกล่าว ดังนี้ คือ

สภาพความเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศจะเริ่มเกิดขึ้นได้ จะต้องมีองค์ประกอบ ของความเป็นรัฐครบ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1 ดินแดน กล่าวคือ รัฐต้องมีดินแดนให้ประชาชนได้อยู่อาศัย ซึ่งดินแดนของรัฐนั้น รวมทั้งพื้นดิน ผืนน้ำและท้องฟ้าเหนือดินแดนด้วย ดินแดนไม่จําเป็นต้องเป็นผืนเดียวติดต่อกัน อาจจะเป็น ดินแดนโพ้นทะเลก็ได้ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่ได้กําหนดขนาดของดินแดนไว้ ฉะนั้นรัฐจะมีดินแดนมากน้อย เพียงใดไม่ใช่ข้อสําคัญ แต่ต้องมีความแน่นอนมันคงถาวร และกําหนดเขตแดนไว้แน่นอนชัดเจน

2 ประชากร กล่าวคือ มีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนที่มีความแน่นอน ซึ่งกฎหมาย ระหว่างประเทศก็ไม่ได้กําหนดว่าจะต้องมีจํานวนประชากรมากน้อยเท่าไร เพียงแต่ต้องมีจํานวนมากพอสมควรที่ จะสามารถดํารงความเป็นรัฐได้ ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐนี้ไม่จําเป็นต้องมีชนชาติเดียวกัน อาจมี เชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน แต่มีความผูกพันทางนิตินัยกับรัฐ คือ มีสัญชาติเดียวกัน

3 รัฐบาล กล่าวคือ มีคณะบุคคลที่ใช้อํานาจเหนือดินแดนและประชากรมาทําการ บริหารงานทั้งภายในและภายนอกรัฐ จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน จัดระเบียบการปกครองภายใน รักษา ความสงบเรียบร้อยในดินแดนของตน ดําเนินการป้องกันประเทศ ส่งเสริมความเจริญของประเทศ และรักษา สิทธิผลประโยชน์ของประชาชน

4 อํานาจอธิปไตย (หรือเอกราชอธิปไตย) กล่าวคือ รัฐสามารถที่จะดําเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกรัฐ อํานาจอิสระภายใน หมายถึง อํานาจของรัฐในการจัดกิจการ ภายในประเทศได้อย่างอิสรเสรีแต่เพียงผู้เดียว โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก ส่วนอํานาจอิสระ ภายนอก หมายถึง อํานาจของรัฐในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องฟังคําสั่งจากรัฐอื่น และ ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกับรัฐอื่น

และเมื่อมีสภาพความเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศเพราะมีองค์ประกอบที่สําคัญครบ ทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความเป็นรัฐจะเป็นที่รับรู้ในสังคมระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อได้รับการรับรอง สภาพความเป็นรัฐจากรัฐอื่น โดยเฉพาะจากรัฐที่ตนจะเข้าไปทําการติดต่อสัมพันธ์ด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ในการ รับรองความเป็นรัฐโดยรัฐอื่นนั้น มีทฤษฎีเกี่ยวกับการรับรองรัฐอยู่ 2 ทฤษฎี คือ

1 ทฤษฎีว่าด้วยเงื่อนไข (การก่อกําเนิดรัฐ) หมายความว่า แม้รัฐใหม่ที่เกิดขึ้นจะมี องค์ประกอบของความเป็นรัฐครบ 4 ประการแล้วก็ตาม สภาพของรัฐก็ยังไม่เกิดขึ้น สภาพของรัฐจะเกิดขึ้นและ มีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขที่สําคัญคือ จะต้องมีการรับรองรัฐโดยรัฐอื่นด้วย และเมื่อรัฐอื่นได้ให้การรับรองแล้ว รัฐที่เกิดขึ้นใหม่ก็จะมีสภาพบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสามารถที่จะติดต่อกับรัฐอื่นในสังคมระหว่างประเทศได้

2 ทฤษฎีว่าด้วยการประกาศ (ยืนยัน) ซึ่งทฤษฎีนี้ถือว่าการรับรองนั้นไม่ก่อให้เกิด สภาพของรัฐ เพราะเมื่อรัฐที่เกิดขึ้นใหม่มีองค์ประกอบความเป็นรัฐครบถ้วนแล้วก็ย่อมเป็นรัฐที่สมบูรณ์แม้จะ ไม่มีการรับรองจากรัฐอื่นก็ตาม และรัฐนั้นก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศทุกประการ การรับรองนั้นถือว่าเป็นเพียงการยืนยันหรือประกาศความเป็นจริง (ความเป็นรัฐ) ที่เป็นอยู่แล้วเท่านั้น

สําหรับสถานะของ “ไต้หวัน” (Taiwan) นั้น ถือว่ามีสถานะเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่าง ประเทศ เพราะมีเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่สําคัญครบทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้น คือมีดินแดนและมีประชากร ที่อยู่อาศัยในดินแดนที่แน่นอน มีรัฐบาลที่ใช้อํานาจเหนือดินแดนและประชากรทําการบริหารงานทั้งภายในและ ภายนอกรัฐ และที่สําคัญคือการมีอํานาจอธิปไตย ในอันที่จะดําเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกรัฐ อาทิเช่น มีอํานาจในการจัดกิจการภายในประเทศได้อย่างอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก และ มีอํานาจในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องฟังคําสั่งจากรัฐอื่น เป็นต้น

และเช่นเดียวกันเมื่อถือว่า “ไต้หวัน” มีสถานะเป็นรัฐและมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่าง ประเทศแล้ว การมีฐานะเป็นรัฐของ “ไต้หวัน” จะเป็นที่รับรู้หรือเป็นที่ยอมรับในสังคมระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อ ได้รับการรับรองสภาพความเป็นรัฐจากรัฐอื่น โดยเฉพาะจากรัฐที่ตนจะเข้าไปทําการติดต่อสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง (ปัจจุบันความเป็นรัฐของไต้หวันยังมีสถานะไม่มั่นคง เพราะมีการรับรองจากรัฐอื่นไม่มากนัก)

ส่วนกรณีฮ่องกง (Hong Kong) นั้น มีองค์ประกอบของความเป็นรัฐดังกล่าวข้างต้นไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอํานาจอธิปไตย เพราะฮ่องกงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของจีน และเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น ดังนั้น ฮ่องกงจึงไม่มีสถานะเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ข้อ 4 จงอธิบายการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี โดยวิธีที่เรียกว่า “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” มีโครงสร้างและลักษณะของการดําเนินการอย่างไร และหากเปรียบเทียบกับ “ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” จะแตกต่างกันในสาระสําคัญอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ

การระงับข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก เป็นการระงับข้อพิพาท ทางศาลตามความหมายที่แท้จริง เนื่องจากเป็นลักษณะของการเสนอข้อพิพาทให้ศาลที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างถาวร โดยมี ผู้พิพากษาประจําอยู่ มีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณาความของตนเอง แตกต่างจากศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นการระงับข้อพิพาทในทางกฎหมาย และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎหมายเช่นเดียวกัน

สําหรับโครงสร้างของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะประกอบด้วยผู้พิพากษา 15 นาย แต่จะเป็นคนในสัญชาติเดียวกันไม่ได้ ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตําแหน่ง 9 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่ นอกจากนั้นก็มีการเลือกตั้งซ่อม ทุก ๆ 3 ปี โดยผู้พิพากษา 5 คน จะอยู่ในตําแหน่ง 3 ปี 5 คนอยู่ในตําแหน่ง 6 ปี และ 5 คนที่เหลือ อยู่ในตําแหน่ง ได้ครบ 9 ปี ถ้ามีตําแหน่งว่างให้มีการเลือกตั้งซ่อม ผู้ที่ได้รับเลือกจะอยู่ได้เท่าเวลาของผู้ที่ตนแทน การเลือกตั้ง กระทําโดยความเห็นชอบร่วมกันของสมัชชาสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งในกรณีนี้สมาชิกถาวร ของคณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถใช้สิทธิวีโต้ได้ มติถือเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ ศาลเลือกประธานและรองประธาน ซึ่งอยู่ในตําแหน่ง 3 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีก

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอํานาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทระหว่างประเทศหรือรัฐเท่านั้น และต้องเกิดจากความสมัครใจของรัฐคู่กรณีด้วย มีเขตอํานาจในเรื่องดังต่อไปนี้คือ

1 การตีความสนธิสัญญา

2 ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ

3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ

4 กรณีเกิดการเสียหายเพราะละเมิดพันธะระหว่างประเทศ

นอกจากนี้คู่พิพาทอาจจะขอให้ศาลพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่ได้กําหนดไว้ในสนธิสัญญา และ ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายแก่คณะมนตรีและสมัชชาของสหประชาชาติด้วยในกรณีที่ถูกร้องขอ

การนําคดีขึ้นสู่ศาลโดยปกติเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง นอกจากจะมีสนธิสัญญาที่คู่กรณี ทําไว้บังคับให้ต้องนําคดีขึ้นสู่ศาลนี้ คําตัดสินของศาลผูกพันคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติ และถือเป็นที่สุดไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา คําพิพากษาของศาลมีลักษณะเป็นพันธกรณีที่คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตาม และคําพิพากษาถือเป็นที่สิ้นสุด และผูกพัน เฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ถ้ารัฐใดไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา รัฐอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่าจําเป็นก็อาจทําคําแนะนําหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดําเนินการเพื่อให้เกิดผล ตามคําพิพากษา

ส่วนการระงับข้อพิพาทโดยศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นการระงับข้อพิพาท โดยองค์กรที่ยังไม่มีลักษณะเป็นศาลที่แท้จริง โดยศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นศาลที่มีการจัดตั้งขึ้นมา สืบเนื่องมาจากการประชุมที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ.1899 และปี ค.ศ.1907 ซึ่งได้มีการผลักดันให้ มีการตั้งอนุญาโตตุลาการในลักษณะถาวรขึ้นเรียกว่า ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ มีที่ทําการอยู่ที่กรุงเฮก โดยรัฐที่เป็นภาคีสมาชิกจะส่งรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในด้านกฎหมายระหว่างประเทศใน ประเทศของตนเพื่อไปเป็นผู้พิพากษายังศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจํานวน 4 คน และรายชื่อทั้งหมด จะรวบรวมทําเป็นบัญชีไว้ หากมีกรณีพิพาทมาสู่ศาลจึงจะเรียกผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นมาตัดสิน และกรณีที่ถือว่า ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศยังไม่มีลักษณะที่เป็นศาลอย่างแท้จริงก็เพราะว่า ถึงแม้จะมีที่ทําการศาล อย่างถาวรก็ตาม แต่ว่ายังไม่มีผู้พิพากษาอยู่ประจําตลอดเวลาอย่างศาลทั่วไป และไม่มีการประชุมกันระหว่าง ผู้พิพากษาด้วยกันอย่างเช่นศาลทั่วไป

กระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่เรียกว่าวิธีการ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (ศาลโลก) จะแตกต่างจากวิธีการที่เรียกว่า “ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ในประเด็นที่สําคัญ คือ

1 การนําคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยปกติจะเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง เว้นแต่จะมีสนธิสัญญาที่คู่กรณีทําไว้บังคับให้ต้องนําคดีขึ้นสู่ศาลนี้ แต่การนําคดีขึ้นสู่ศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของคู่กรณีเท่านั้น เป็นเจ้าของ

2 ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คือผู้พิพากษาที่ประจําอยู่ในศาล แต่ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ คือผู้พิพากษาที่คู่พิพาทเลือกมาจากบัญชีรายชื่อ (เป็นผู้พิพากษาที่ได้รับความยินยอมจากคู่กรณี)

3 การพิจารณาคดีโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะมีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณา เป็นของตนเอง รวมทั้งมีการประชุมร่วมกันของผู้พิพากษาในศาล แต่การพิจารณาคดีโดยศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศจะไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณาเป็นของตนเองรวมทั้งไม่มีการประชุมกันระหว่างผู้พิพากษา เหมือนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

Advertisement