การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4002 การว่าความและการจัดทำเอกสารทางกฎหมาย

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ทนายโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ โจทก์ชนะโดยจำเลยขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 เป็นเหตุให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี ดังนี้ทนายโจทก์ จะมีความผิดเกี่ยวกับมรรยาททนายความหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529

ข้อ 12 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้  อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของ

ลูกความ

(1)  จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ก็ถือว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์หรือทนายโจทก์ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพี่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทนายโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ คดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จนเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี การกระทำของทนายโจทก์ดังกล่าว ถือว่า เข้าลักษณะเป็นการทอดทิ้งคดี อันทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ ซึ่งเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 12(1) (นัยคำสั่งสภานายกพิเศษฯ ที่ 5/2535)

สรุป    การกระทำของทนายโจทก์ดังกล่าว ถือว่าเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ

ตามข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 12(1)

 

ข้อ 2. สมมติข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา น.ส.เขียด ได้เดินไป ตลาดบางกะปิ แขวงและเขตบางกะปิ กรุงเทพฯ เพื่อหาซื้อกับข้าว ได้มีคนร้ายทราบชื่อภายหลัง ว่านายสนั่นซึ่งเดินสวนมาบนทางเท้าก่อนถึงตลาดประมาณ 10 เมตร นายสนั่นได้กระชากสร้อยคอ ทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคาประมาณ 25,000 บาท พร้อมองค์จตุคามรามเทพเลี่ยมทองคำ 1 องค์ ราคา 3,500 บาท ซึ่งแขวนอยู่กับสร้อยคอรวมราคา 28,500 บาท ขาดจากคอ น.ส.เขียด ผู้เสียหายแล้ววิ่งหนีไป ผู้เสียหายได้ร้องขอให้คนช่วย บรรดาคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง บริเวณนั้นช่วยกันสกัดจับตัวได้พร้อมของกลาง นำสงตำรวจทำการสอบสวนแล้วผู้ต้องหาให้การ รับสารภาพ ระหว่างสอบสวนผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวมาโดยตลอดของกลางผู้เสียหายได้รับคืนไปแล้ว

สมมตินักศึกษาเป็นพนักงานอัยการ จงเรียบเรียงคำฟ้องอาญาฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 336 บัญญัติว่า ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าผู้นั้นกระทำผิด ฐานวิงราวทรัพย์…ฯลฯ” (ให้เรียบเรียงเฉพาะส่วนเนื้อหาของคำฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5))

ธงคำตอบ

คำฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยได้บังอาจลักเอาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น หนัก 2 บาท ราคา 25,000 บาท กับองค์จตุคามรามเทพเลี่ยมทองคำ 1 องค์ ราคา 3,500 บาท ที่แขวนอยู่กับสร้อยคอ รวมราคา 28,500 บาท ของ น.ส.เขียด ผู้เสียหาย โดยจำเลยใช้กริยายาฉกฉวยกระชากเอาสร้อยคอพร้อมองค์จตุคามรามเทพดังกล่าวซึ่งสวมอยู่ที่คอผู้เสียหายพาหนีไปซึ่งหน้า

เหตุเกิดที่แขวงบางกะปิ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

ข้อ 2. ในวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1. เวลากลางวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยได้ ทำการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ทรัพย์ของกลางผู้เสียหายได้รับคืนไปแล้ว

ระหว่างสอบสวนจำเลยได้ถูกควบคุมตัวมาโดยตลอด ได้ส่งตัวจำเลยมาพร้อมฟ้องนี้แล้ว

 

ข้อ 3. ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเอง ทนายจำเลยจะต้องตรวจสอบในชั้นเตรียมคดีก่อนยื่นคำให้การอย่างไรบ้าง จงบอกเป็นข้อ ๆ

ธงคำตอบ

ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเอง ทนายจำเลยจะต้องตรวจสอบในชั้นเตรียมคดี ก่อนยื่นคำให้การ ดังนี้

1.         ความเป็นผู้เสียหาย

ในคดีอาญาผู้เสียหายตามกฎหมายเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้นหากโจทก์ไมใช่ผู้เสียหาย ตามความหมายของกฎหมายย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง อนึ่ง แม้จะเป็นผู้ได้รับความเสียหาย แต่บางฐานความผิด ราษฎรก็ฟ้องเองไม่ได้ เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 รัฐเท่านั้นที่มีหน้าที่ดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ผู้ถกจำเลยขับรถชนไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้องฐานขับรถโดยไมมีใบอนุญาต (ฎ. 2096/2530ฎ. 1141/2531) เป็นต้น

2.         เรื่องเขตอำนาจศาล

ศาลที่รับฟ้องนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวหรือไม่ โดยพิจารณาจากชื่อศาล ที่ระบุว้ในคำฟ้อง กับสถานที่เกิดเหตุที่ระบุไว้ในคำฟ้อง หรือดูจากที่อยูของจำเลยว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลหรือไม่ หากคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล ศาลนั้นก็ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาคดี

3.         เรื่องอายุความของคดี

ตรวจสอบว่าโจทก์ฟ้องคดีขาดอายุความหรือไม่ โดยพิจารณาจากวัน เดือน ปี ที่ระบุ ในคำฟ้องกับวันเวลาที่เกิดเหตุ ทั้งดูว่าคดีนั้นหากเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดี ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ หากผู้เสียหายร้องทุกข์ก่อนฟ้องต้องมีการบรรยายให้ปรากฏโดยชัดเจน ว่าร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว

4.         เรื่องอายุความของโจทก์

ตรวจสอบว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเองหรือไม หรือหากเป็นผู้เยาว์ก็ย่อมไม่อาจฟ้องคดีอาญา ได้เอง ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมดำเนินการแทน

5.         โจทก์เป็นผู้ต้องห้ามฟ้องจำเลย

มีกฎหมายห้ามหรือจำกัดสิทธิมิให้โจทก์ฟ้องหรือไม เช่น ผู้สืบสันดานย่อมฟ้องผู้บุพการี ไมได้เป็น อุทลุม” เป็นต้น

6.         รายละเอียดของการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทำผิด วัน เวลา สถานที่ บุคคล

หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้อง

ดูว่าจำเลยถูกกล่าวหาว่าอย่างไร คำฟ้องบรรยายครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย หรือไม่โดยดูจากเนื้อหาคำฟ้องประกอบตัวบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้หนี้ที่ค้างชำระ จำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีตามกฎหมาย ต่อมาคู่ความ ตกลงกันได้ โจทก์ประสงค์จะถอนฟ้อง ให้ท่านในฐานะทนายโจทก์เรียบเรียงคำร้องขอถอนฟ้อง. (ให้เรียบเรียงเนื้อความ โดยให้โจทก์ลงชื่อและท่านเป็นผู้เรียงและพิมพ์ ไม่ต้องคำนึงแบบพิมพ์คำร้อง)

ธงคำตอบ

คำร้องขอถอนฟ้อง

ข้อ 1.คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยและจำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีตามกฎหมายแล้ว แต่โจทก์และจำเลยตกลงกันได้ โจทก์ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป จึงขอถอนฟ้องคดีนี้ ขอศาลได้โปรด กรุณาอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ………..(ลายมือชื่อโจทก์)……….โจทก์

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ …(ลายมือชื่อนักศึกษา)…..ผู้เรียงและพิมพ์

Advertisement