การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในปีภาษี 2561 นายโลนันโด้ นักฟุตบอลอาชีพชาวโปรตุเกสได้เดินทางมาโชว์ตัวในประเทศไทยเป็นเวลา 15 วัน โดยได้รับเงินค่าตัวในประเทศไทยจํานวน 100 ล้านบาท ซึ่งช่วงระยะเวลาระหว่างโชว์ตัว นายโลนันโด้ได้นําเงินที่สะสมไว้จากการเป็นนักฟุตบอลอาชีพในปีก่อน ๆ ติดตัวเข้ามา เพื่อใช้จ่ายจํานวน 10 ล้านบาท ดังนี้

(1) นายโลนันโด้มีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรประเภทใด

(2) นายโลนันโด้ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทยจากเงินค่าตัวดังกล่าว และเงินที่นําติดตัวเข้ามาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”

มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับ ประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทําใน ประเทศไทย หรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคหนึ่ง)

ส่วนในปีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายโลนันโด้ นักฟุตบอลอาชีพชาวโปรตุเกสได้เดินทางมาโชว์ตัวในประเทศไทย เป็นเวลา 15 วัน โดยได้รับเงินค่าตัวในประเทศไทยจํานวน 100 ล้านบาทนั้น เงินได้จํานวน 100 ล้านบาทดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (8) เนื่องจากเงินจากการเป็นนักกีฬาอาชีพนั้น ถือเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7)

(2) เงินได้ที่นายโลนันโด้ได้รับเป็นค่าตัวจํานวน 100 ล้านบาท ถือเป็นเงินได้เนื่องจาก หน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย จึงถือว่านายโลนันโด้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น นายโลนันโด้จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยจากเงินได้จํานวน 100 ล้านบาทดังกล่าว ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วรรคหนึ่ง

ส่วนเงินที่นายโลนันโด้นําติดตัวเข้ามาใช้จ่ายในช่วงระยะเวลาระหว่างโชว์ตัวจํานวน 10 ล้านบาทนั้น เป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในต่างประเทศและเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีก่อน ๆ มิได้เกิดขึ้นในปีเดียวกันกับที่ นายโลนันโด้เข้ามาในประเทศไทย อีกทั้งนายโลนันโด้ก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษี ดังนั้น นายโลนันโด้ จึงไม่ต้องนําเงินได้จํานวน 10 ล้านบาทดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย เพราะกรณี ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม

สรุป

(1) นายโลนันโด้มีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (8)

(2) นายโลนันโด้ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทยจากเงินค่าตัว 100 ล้านบาท

ส่วนเงินที่นําติดตัวเข้ามาจํานวน 10 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับ ประเทศไทย

 

ข้อ 2 ในเดือนมกราคม 2561 นายทองได้มรดกรถยนต์มาจากบิดา 1 คัน นายทองไม่ต้องการใช้รถคันดังกล่าว จึงได้นําไปขายให้แก่นางเงินในราคา 750,000 บาท เมื่อขายรถได้จึงได้นําเงินไปฝากธนาคารออมสิน ประเภทเงินฝากประจําจํานวน 450,000 บาท และนําเงินที่เหลืออีก 300,000 บาท ไปลงทุนเช่า ร้านขายอาหารตามสั่ง ปรากฏว่าสิ้นปีนายทองได้รับดอกเบี้ยจํานวน 34,500 บาท และเงินได้จาก การขายอาหารตลอดทั้งปีเป็นเงิน 300,000 บาท ดังนี้อยากทราบว่า

(ก) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสิน และเงินได้จากการขายอาหารเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด

(ข) ดอกเบี้ยเงินฝากประจําและเงินได้จากการขายรถยนต์ นายทองต้องนํามาเสียภาษีหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(4) เงินได้ที่เป็น

(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ย เงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”

มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้

(8) ดอกเบี้ยดังต่อไปนี้

(ก) ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภท ฝากเผื่อเรียก

(ข) ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์

(ค) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภท ออมทรัพย์

(9) การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้า หรือหากําไร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายทองได้รับมรดกจากบิดาคือรถยนต์ 1 คัน และนายทองได้ขายรถยนต์ได้เงินมา 750,000 บาท แล้วนําเงินจํานวน 450,000 บาท ไปฝากธนาคารออมสินประเภทเงินฝากประจําและได้รับดอกเบี้ย จํานวน 34,500 บาทนั้น ดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40 (4) (ก) ส่วนเงินได้จากการขายอาหารตลอดทั้งปีจํานวน 300,000 บาทนั้น ถือเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจ จึงเป็น เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40 (8)

(ข) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสินจํานวน 34,500 บาทนั้น เมื่อเป็นดอกเบี้ยจาก เงินฝากประจําไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (8) จึงต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยธนาคาร ผู้จ่ายเงินได้จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ตามมาตรา 50 (2) (ก) และนายทองผู้มีเงินได้ จะนําดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวมายื่นรวมกับเงินได้ประเภทอื่น ๆ เพื่อเสียภาษีตอนสิ้นปีหรือไม่ก็ได้ ส่วนเงินได้ จากการขายรถยนต์จํานวน 750,000 บาทนั้น ได้รับยกเว้นภาษีไม่ต้องนํามาเสียภาษีเพราะเป็นเงินได้จากการขาย สังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกตามมาตรา 42 (9)

สรุป

(ก) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสินเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก)ส่วนเงินได้จากการขายอาหารเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)

(ข) ดอกเบี้ยเงินฝากประจํานายทองต้องนํามาเสียภาษี ส่วนเงินได้จากการขายรถยนต์ นายทองไม่ต้องนํามาเสียภาษี

 

ข้อ 3 บริษัท เอสเอเอสมารีน จํากัด เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศอังกฤษ มีวัตถุประสงค์กระทําธุรกิจซื้อขายสินค้าและบริการขนส่งโดยมีการกระทํากิจการ ทั้งในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย ในรอบระยะเวลาบัญชี 2561 ปรากฏข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้

(1) บริษัทฯ มีอาคารสํานักงานถาวรประจําอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพื่อติดต่อธุรกิจต่าง ๆ ในราชอาณาจักรไทย สํานักงานฯ มีเงินได้จากกิจการขนส่งระหว่าประเทศอังกฤษกับราชอาณาจักรไทย สองรายการ คือ เงินค่าระวางขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือแมนเชสเตอร์จํานวน 100 ล้านบาท และเงินค่าระวางขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองจํานวน 90 ล้านบาท

(2) บริษัทฯ มีสํานักงานสาขาที่ประเทศรัสเซีย สํานักงานสาขาฯ ของบริษัทฯ ดังกล่าวมีเงินรายได้จากกิจการขนส่งระหว่างประเทศตุรกีกับประเทศรัสเซียหนึ่งรายการ คือ ค่าโดยสารของบุคคลเพื่อ เดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานกรุงมอสโกรัสเซียจํานวน 80 ล้านบาท โดยที่ทุกครั้งในระหว่างการขนส่ง ผู้โดยสาร เครื่องบินหรืออากาศยานจะต้องลงจอดเพื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในราชอาณาจักรไทยทุกครั้งก่อนที่จะบินต่อออกไปนอกราชอาณาจักรไทยเพื่อเข้าสู่ท่าอากาศยานกรุงมอสโกรัสเซีย ให้ท่านวินิจฉัยว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี 2561 เงินได้พึงประเมินรายการดังกล่าว ต้องเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ท่านนักศึกษาใช้เพียงประมวลรัษฎากร มาตรา 66 และมาตรา 67 ในการวินิจฉัยเท่านั้น)

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 66 “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทํากิจการในที่อื่น รวมทั้งในประเทศไทย ให้เสียภาษีในกําไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทําในประเทศไทย…”

มาตรา 67 “การเสียภาษีตามความในส่วนนี้ให้เสียตามอัตราที่กําหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษี เงินได้ท้ายหมวดนี้ เว้นแต่ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง กระทํากิจการขนส่ง ผ่านประเทศต่าง ๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสารค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น

(2) ในกรณีรับขนของ ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์ อื่นใดที่เรียกเก็บ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํา กิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย และกิจการที่กระทําเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ ในกรณีรับขนคนโดยสาร ต้องเป็นการเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดในประเทศไทย ส่วนกรณีรับขนของ ต้องเป็น การขนของออกนอกประเทศเท่านั้นจึงจะมีหน้าที่เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร

กรณีตามอุทาหรณ์ บริษัท เอสเอเอสมารีน จํากัด จะต้องนําเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

1 กรณีที่บริษัทฯ มีอาคารสํานักงานถาวรประจําอยู่ในราชอาณาจักรไทย และสํานักงานฯ มีเงินได้จากกิจการขนส่งระหว่างประเทศอังกฤษกับราชอาณาจักรไทย 2 รายการนั้น

รายการที่ 1 เงินค่าระวางขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือแมนเชสเตอร์จํานวน 100 ล้านบาทนั้น ถือเป็นเงินได้เนื่องจากการรับขนของออกจากประเทศไทย และเมื่อบริษัท เอสเอเอสมารีน จํากัด เป็นนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทํากิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทย โดยกระทํากิจการขนส่ง ผ่านประเทศต่าง ๆ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องนําเงินได้พึงประเมินจํานวน 100 ล้านบาทดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลโดยเสียในอัตราร้อยละ 3 ของค่าระวางตามประมวลรัษฎากรมาตรา 67 (2) ประกอบมาตรา 66 วรรคสอง

รายการที่ 2 เงินค่าระวางขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองจํานวน 90 ล้านบาทนั้น แม้จะมิใช่เงินได้เนื่องจากการรับขนของออกจากประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรมาตรา 67 (2) ก็ตาม แต่เมื่อบริษัทฯ เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทํากิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้ง ในประเทศไทย เงินได้พึงประเมินจํานวน 90 ล้านบาทที่สํานักงานของบริษัทฯ ที่กระทํากิจการในประเทศไทยได้รับ จึงต้องนํามาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยเสียจากกําไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 66 วรรคสอง

2 กรณีที่บริษัทฯ มีสํานักงานสาขาที่ประเทศรัสเซีย และสํานักงานสาขาฯ ของบริษัทฯ ดังกล่าวมีเงินได้จากกิจการขนส่งระหว่างประเทศตุรกีกับประเทศรัสเซีย คือค่าโดยสารของบุคคลเพื่อเดินทางเข้าสู่ ท่าอากาศยานกรุงมอสโกรัสเซียจํานวน 80 ล้านบาทนั้น ไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66 วรรคสอง เพราะไม่ใช่เงินได้พึงประเมินเนื่องจากการกระทํากิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทย และเงินได้พึงประเมินดังกล่าวก็มิใช่เป็นเงินได้ที่เป็นค่าโดยสารที่เรียกเก็บในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 (1) ดังนั้น เงินได้จํานวน 80 ล้านบาทดังกล่าว จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

สรุป

ในรอบระยะเวลาบัญชี 2561 เงินได้พึงประเมิน 2 รายการ คือ เงินค่าระวางขนส่งสินค้า เข้าสู่ท่าเรือแมนเชสเตอร์จํานวน 100 ล้านบาท และเงินค่าระวางขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง จํานวน 90 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนเงินได้ที่เป็นค่าโดยสารจํานวน 80 ล้านบาท ไม่ต้องเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

Advertisement