การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 บริษัท สยามเคมี จํากัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยและได้ทําสัญญากับนายจอห์นโซในขณะที่นายจอห์นโซอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อจ้างนายจอห์นโซ ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ให้ทํางานที่จังหวัดภูเก็ต เป็นเวลา 3 เดือน ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559 นายจอห์นโซเลิกสัญญาเดิมและได้ทําสัญญาใหม่กับสํานักงาน สาขาของบริษัท สยามเคมี จํากัด ที่ประเทศสิงคโปร์ และตกลงให้นายจอห์นโซรับตําแหน่งผู้จัดการ ประจําสํานักงานสาขาฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยสํานักงานสาขาฯ ดังกล่าวเป็นผู้ชําระค่าจ้างให้แก่ นายจอห์นโซทั้งหมด เดือนละ 200,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือน โดยที่สํานักงานสาขาฯ ไม่บันทึก ค่าจ้างเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ และในเวลาต่อมา นายจอห์นโซได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย เพื่อมาทํางานให้แก่สาขาฯ จนสิ้นปี พ.ศ. 2559 และนายจอห์นโซเสียชีวิตในค่ําคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2559 นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า นายจอห์นโซเป็นผู้มีสัญชาติสิงคโปร์ และมีภูมิลําเนาที่ประเทศ สิงคโปร์ และเงินค่าจ้างทุก ๆ เดือนในปี พ.ศ. 2559 นายจอห์นโซได้รับโอนเงินเข้าทางบัญชีธนาคารที่ ประเทศสิงคโปร์ของนายจอห์นโซทุกเดือน และนายจอห์นโซได้ใช้จ่ายเงินเดือนส่วนที่ได้รับในขณะที่ ตนทํางานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ทั้งหมด โดยไม่นําเงินเดือนค่าจ้างดังกล่าวเข้ามาประเทศไทยเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า รายการเงินเดือนที่นายจอห์นโซได้รับในปีภาษี 2559 ต้องเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทํา ในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคหนึ่ง)

ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ เงินเดือนที่นายจอห์นโซได้รับในปีภาษี 2559 ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 เงินเดือน ๆ ละ 200,000 บาท ที่บริษัท สยามเคมี จํากัด ได้จ่ายให้แก่นายจอห์นโซใน ประเทศไทยเป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงินจํานวน 600,000 บาท และเงินเดือน ๆ ละ 200,000 บาท ที่สํานักงานสาขาฯ ได้จ่ายให้แก่นายจอห์นโซในขณะที่นายจอห์นโซได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเพื่อมาทํางานให้แก่สาขาฯ อีก 4 เดือน เป็นเงิน 800,000 บาทนั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทยและเป็น เงินได้ที่มีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น นายจอห์นโซจะต้องนําเงินได้ทั้งหมดจํานวน 1,400,000 บาท ดังกล่าว มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วรรคหนึ่ง

2 เงินเดือน ๆ ละ 200,000 บาท ที่สํานักงานสาขาของบริษัท สยามเคมี จํากัด ในประเทศ สิงคโปร์ จ่ายให้แก่นายจอห์นโซในขณะที่นายจอห์นโซไปรับตําแหน่งผู้จัดการประจําสํานักงานสาขาของบริษัทฯ โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของนายจอห์นโซในประเทศสิงคโปร์นั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่ งานที่ทําในต่างประเทศ และถือเป็นเงินได้ที่มีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศไทย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายจอห์นโซน้ําเงินเดือนที่ได้รับในขณะอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ใช้จ่ายไปทั้งหมดโดยไม่ได้นําเงินเดือนดังกล่าวเข้ามา ในประเทศไทยเลย ดังนั้นแม้ว่านายจอห์นโซจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันก็ตาม แต่เมื่อนายจอห์นโซ ไม่ได้เอาเงินได้ดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้ นายจอห์นโซจึงไม่ต้องนําเงินได้ จํานวนดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม

สรุป

นายจอห์นโซจะต้องนําเงินเดือนที่ได้รับในประเทศไทยจํานวน 1,000,000 บาท มาเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณีเป็นผู้ปฏิบัติแทน (มาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง) ส่วนเงินเดือนที่ได้รับในต่างประเทศไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

 

ข้อ 2 ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเรื่อง “สิทธิหักค่าลดหย่อน” ในการคํานวณหาค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร “อย่างน้อย 10 รายการ” โดยละเอียด

ธงคําตอบ

“สิทธิหักค่าลดหย่อน” ในการคํานวณหาค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น หมายถึง สิทธิของ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในการนํารายการต่าง ๆ ที่กฎหมายได้กําหนดไว้มาหักเพิ่มได้อีกหลังจาก ได้มีการหักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ก่อนนําเงินได้ที่เหลือซึ่งเรียกว่า “เงินได้สุทธิ” ไปคํานวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ตามประมวลรัษฎากร ได้กําหนดรายการต่าง ๆ ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธินําไปหักเป็นค่า ลดหย่อนไว้หลายรายการ เช่น

1 หักลดหย่อนสําหรับตัวผู้มีเงินได้ โดยหักได้ 60,000 บาท

2 หักลดหย่อนสําหรับสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ในกรณีที่สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ไม่มีเงินได้พึงประเมิน หรือมีแต่ไม่ได้แยกคํานวณภาษี โดยหักได้ 60,000 บาท

3 หักลดหย่อนสําหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ รวมทั้ง บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ โดยหักได้คนละ 30,000 บาท (ตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ ในมาตรา 47)

4 เบี้ยประกันชีวิต ที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปในปีภาษีสําหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ (รวมทั้งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้) โดยหักได้ส่วนแรก 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้ หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกําหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป

5 เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ สามารถหักลดหย่อนได้ตามจํานวนที่ จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท เป็นเงินที่ได้รับยกเว้นภาษี โดยนําจํานวนเงินส่วนที่เกินดังกล่าวหักจากเงินได้พึงประเมินก่อนหักค่าใช้จ่ายตามจํานวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 490,000 บาท

6 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (สําหรับการกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย.) ตาม จํานวนเงินที่ได้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

7 เงินสมทบทุนที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม (รวมทั้งกรณีที่สามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม) โดยหักได้ตามจํานวนที่จ่ายจริง

8 ค่าลดหย่อนบิดามารดา ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท โดยบิดามารดานั้นต้องมี อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ..

9 เงินที่ได้จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง (ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559) โดยหักได้ไม่เกิน ร้อยละ 20 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์

10 หักลดหย่อนเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา โดยสามารถหักได้ 2 เท่าของจํานวนเงินที่ ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

11 หักลดหย่อนสําหรับเงินบริจาค โดยผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนสําหรับเงินบริจาคได้ เท่าจํานวนที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว และให้หักค่าลดหย่อนได้เฉพาะ

(1) เงินที่บริจาคให้แก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของรัฐ

(2) เงินที่บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่สถานที่ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา

 

 

ข้อ 3 บริษัท อเมริกันเทคโนโลยี จํากัด ไม่มีสาขาหรือกิจการใด ๆ ในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2560 บริษัท อเมริกาฯ ได้ขายเครื่องจักรอุตสาหกรรมให้กับบริษัท ไทยอุตสาหกรรมสิ่งทอ จํากัด โดยได้ส่ง ผู้จัดการฝ่ายขายมาเซ็นสัญญากันในประเทศไทยจํานวนเงิน 700 ล้านบาท และนําฝากเข้าบัญชีไว้กับ ธนาคารในประเทศไทย จงวินิจฉัยว่า บริษัท อเมริกันเทคโนโลยี จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากรในเงินจํานวนดังกล่าวอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 65 วรรคหนึ่ง “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในเวนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวนได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี ”

มาตรา 66 วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้ง ขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทํากิจการในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”

มาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของ 7 ต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับ เงินได้หรือผลกําไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและ ให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทําการแทนหรือผู้ทําการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และ ความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกําไรที่กล่าวแล้ว”

วินิจฉัย

ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในการประกอบกิจการ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกําไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ประกอบกิจการในประเทศไทย และเมื่อให้ถือว่าเป็นการประกอบกิจการในประเทศไทย ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงเข้า หลักเกณฑ์ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่ว่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ คือตามบทบัญญัติในมาตรา 65 วรรคหนึ่งนั่นเอง ซึ่งต้องเสียภาษีจากฐานกําไรสุทธิที่คํานวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการหักด้วย รายจ่ายตามเงื่อนไขที่กฎหมายกําหนด

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่บริษัท อเมริกันเทคโนโลยี จํากัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ของต่างประเทศ ไม่มีสาขาหรือกิจการใด ๆ ในประเทศไทย ได้ขายเครื่องจักรอุตสาหกรรมให้กับบริษัท ไทยอุตสาหกรรม สิ่งทอ จํากัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย โดยได้ส่งผู้จัดการฝ่ายขายมาเซ็นสัญญากันในประเทศไทยจํานวน เงิน 700 ล้านบาทนั้น ถือได้ว่าบริษัท อเมริกันฯ ได้ประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง เนื่องจากมีตัวแทนในการประกอบกิจการในประเทศไทย ดังนั้น บริษัท อเมริกันฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรในจํานวนเงินดังกล่าวตามมาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 66 วรรคหนึ่ง โดยเสียภาษีจากฐานภาษีกําไรสุทธิที่คํานวณได้จากรายได้ที่ได้รับจํานวน 700 ล้านบาทดังกล่าว

สรุป

บริษัท อเมริกันเทคโนโลยี จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ในเงินจํานวน 700 ล้านบาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 66 วรรคหนึ่ง และต้องเสียภาษีจากฐานภาษีกําไรสุทธิตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง

 

Advertisement