การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายสมโชคทําอาชีพหลายอย่างโดยเป็นนายหน้าขายประกันชีวิตให้บริษัทแห่งหนึ่ง และยังเป็นนายหน้าขายที่ดินและคอนโดมิเนียม ปีภาษี 2555 นายสมโชคสามารถขายประกันชีวิตในประเทศไทย มีรายได้ 20 ล้านบาท ได้รายได้จากการเป็นนายหน้าขายที่ดินและคอนโดมิเนียมจํานวน 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีคอนโดมิเนียมให้เช่าที่ประเทศสิงคโปร์จํานวน 2 ห้อง มีรายได้ทั้งสิ้น 2.4 ล้านบาท รายได้สองจํานวนแรกในประเทศไทยถูกนําไปฝากธนาคารไว้ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนรายได้จากการให้เช่าคอนโดมิเนียมที่ประเทศสิงคโปร์ถูกส่งเข้ามาฝากไว้กับธนาคารในประเทศไทย และปีภาษี 2555 นายสมโชคอาศัยอยู่ในประเทศไทยและได้บินไปประเทศสิงคโปร์เพียงปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 10 วันเท่านั้น อยากทราบว่าปีภาษี 2555 นายสมโชคจะนําเงินได้พึงประเมินทั้งสามจํานวนมาเสียภาษีให้กับ ประเทศไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตาม บทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทํา ในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก)

ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ เงินได้พึงประเมินของนายสมโชค จากการเป็นนายหน้าขายประกันชีวิต 20 ล้านบาท และจากการเป็นนายหน้าขายที่ดินและคอนโดมิเนียมจํานวน 10 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมิน ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทยเนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย ดังนั้นแม้นายสมโซคจะได้นํา เงินรายได้ทั้งสองจํานวนไปฝากไว้ที่ธนาคารในประเทศสิงคโปร์ นายสมโชคก็จะต้องนําเงินรายได้ทั้งสองจํานวนนั้น มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคแรก

ส่วนเงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าคอนโดมิเนียมที่ประเทศสิงคโปร์ของนายสมโชคจํานวน 2.4 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดจากแหล่งเงินได้นอกประเทศไทยเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ แต่เมื่อนายสมโชคได้นําเข้ามาฝากไว้ในธนาคารในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้ และในปีภาษี นายสมโชคได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน เพราะได้บินไปประเทศสิงคโปร์เพียง 20 วัน จึงถือว่านายสมโชคเป็น ผู้อยู่ในประเทศไทย ดังนั้นนายสมโชคจึงต้องนําเงินได้จํานวน 2.4 ล้านบาท ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้กับประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม

สรุป

นายสมโชคจะต้องนําเงินได้พึงประเมินทั้งสามจํานวนมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้กับประเทศไทยตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ข้อ 2 นายวิชัยเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท Express จํากัด (บริษัทฯ) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ในรอบระยะเวลาบัญชี 2554 นายวิชัยได้รับเงินปันผลที่ประกาศจ่ายจากบริษัทฯ เป็นจํานวน 70 ล้านบาท โดยที่นายวิชัยมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ อย่างไรก็ตาม ในปีภาษี 2554 นายวิชัยเดินทางไปทํางานที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลานานกว่า 8 เดือนในปีภาษีดังกล่าว ท่านจงวินิจฉัยว่า

ก นายวิชัยมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามนัยมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ข หากสมมติให้นายวิชัยมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามนัยมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ได้เสียภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 30 ของกําไรสุทธิ จํานวนเครดิตภาษี เงินปันผลที่นายวิชัยพึงจะได้รับจะเท่ากับเท่าใด

และนายวิชัยต้องนําเงินได้จํานวนรวมเท่าใดมาแสดงเพื่อเสียภาษีเงินได้ต่อไป

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 39 “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย”

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(4) เงินได้ที่เป็น

(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกําไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

มาตรา 47 ทวิ “ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(4) (ข) ซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเครดิตในการคํานวณภาษี โดยให้นําอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้นได้ผลลัพธ์เท่าใด ให้คูณด้วยจํานวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกําไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคํานวณภาษี

เครดิตภาษีที่คํานวณได้ตามความในวรรคหนึ่ง ให้นํามารวมคํานวณเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา 48

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”

วินิจฉัย

ก ตามอุทาหรณ์ นายวิชัยเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท Express จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียน จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เมื่อนายวิชัยได้รับเงินปันผลจากบริษัทฯ เป็นจํานวน 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินได้ตาม มาตรา 40(4) (ข) นายวิชัยย่อมมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามนัยมาตรา 47 ทวิ เนื่องจากเป็นเงินปันผล ซึ่งได้รับจากบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และนายวิชัยมีภูมิลําเนาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือว่า ครบองค์ประกอบตามมาตรา 47 ทวิ วรรคแรกและวรรคสาม แม้ว่าในปีภาษีดังกล่าวนายวิชัยจะไม่เป็นผู้อยู่ใน ประเทศไทยเนื่องจากอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วันก็ตาม

ข. จํานวนเครดิตภาษีเงินปันผลที่นายวิชัยพึงจะได้รับ (ตามมาตรา 47 ทวิ วรรคแรก) เท่ากับ 30 ล้านบาท

และนายวิชัยจะต้องนําเงินได้พึงประเมินจํานวน 100 ล้านบาท (70 + 30) มาแสดงเพื่อ เสียภาษีเงินได้ (มาตรา 39 ประกอบกับมาตรา 47 ทวิ วรรคสอง)

สรุป

ก นายวิชัยมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามนัยมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวล รัษฎากร

ข จํานวนเครดิตภาษีเงินปันผลที่นายวิชัยพึ่งจะได้รับจะเท่ากับ 30 ล้านบาท และนายวิชัยต้องนําเงินได้จํานวนรวม 100 ล้านบาท มาแสดงเพื่อเสียภาษีเงินได้

 

ข้อ 3 American Charter เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา มีสาขาอยู่ในประเทศต่าง ๆรวมทั้งประเทศไทย American Charter สาขาประเทศไทยได้ประกอบกิจการทั้งรับฝากและให้กู้เงิน โดยในส่วนของการให้เงินกู้นั้นจะให้บริการและได้รับดอกเบี้ยจากทั้งลูกค้าในประเทศไทยและ ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อยากทราบว่า รายรับดอกเบี้ยที่ได้จากลูกค้าในประเทศไทย และประเทศกลุ่มอาเซียน รวมทั้งผลกําไรที่เกิดจากการประกอบกิจการดังกล่าว ธนาคารจะต้อง เสียภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 66 วรรคสอง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทย ให้เสียภาษีในกําไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้ กระทําในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีและการคํานวณกําไรสุทธิให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรา 65 และ มาตรา 65 ทวิ แต่ถ้าไม่สามารถจะคํานวณกําไรสุทธิดังกล่าวแล้วได้ให้นําบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษีตาม มาตรา 71(1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา 70 ทวิ วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจําหน่ายเงินกําไรหรือเงิน ประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกําไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกําไรออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้ โดยหักภาษี จากจํานวนเงินที่จําหน่ายนั้นตามอัตราภาษีเงินได้สําหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนําส่งอําเภอท้องที่ พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกําหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันจําหน่าย”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ American Charter เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา มีสาขาอยู่ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย โดย American Charter สาขาประเทศไทยได้ประกอบกิจการ ทั้งรับฝากและให้กู้เงิน จึงถือว่า American Charter ในกรณีดังกล่าวเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งกระทํากิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีใน กําไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทําในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้นดอกเบี้ยที่ได้รับ ทั้งจากลูกค้าในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน จึงถือว่าเป็นรายรับจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้ กระทําในประเทศไทย ซึ่งต้องนํามาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 66 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร

และในกรณีที่มีการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีดังกล่าวแล้ว หากต่อมาได้มีการจําหน่าย เงินกําไรออกไปจากประเทศไทยก็ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจําหน่ายเงินกําไรดังกล่าวอีกตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

สรุป ธนาคาร American Charter จะต้องนํารายรับดอกเบี้ยที่ได้รับจากลูกค้าในประเทศไทย และประเทศกลุ่มอาเซียน รวมทั้งผลกําไรที่เกิดจากการประกอบกิจการดังกล่าวมาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษี ตามมาตรา 66 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร

 

Advertisement