การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายไข่เป็นนักมวยอาชีพสัญชาติไทย ได้เดินทางไปแข่งขันชกมวยสากลชิงแชมป์โลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้เดินทางไปเก็บตัวและทําการแข่งขันเป็นเวลา 4 เดือน ปรากฏว่า นายไข่ ได้รับชัยชนะและได้รับตําแหน่งแชมป์โลก จึงได้เงินรางวัลจากการแข่งขันจํานวน 5 ล้านบาท นายไข่ได้นําเงินสดจํานวน 2 ล้านบาทฝากไว้กับธนาคารในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนเงินรางวัล ส่วนที่เหลือนายไข่ได้นําไปซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์มูลค่า 3 ล้านบาท โดยนําติดตัวกลับเข้ามาใน ประเทศไทย และได้พํานักอยู่ในประเทศไทยตลอดปีภาษี ดังนี้ อยากทราบว่าเงินได้ดังกล่าว เป็นเงินได้ประเภทใด และนายไข่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้ดังกล่าวนั้น หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 39 “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย”

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”

มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือ กิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติ ในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทําใน ประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคหนึ่ง)

ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยต่อเมื่อ ผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือกิจการ ที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับ ปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไข่ได้เดินทางไปแข่งขันชกมวยชิงแชมป์โลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เงินรางวัลจากการแข่งขันจํานวน 5 ล้านบาทนั้น เงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตาม มาตรา 40 (8) และจะต้องนําเงินได้พึงประเมินจํานวน 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินได้ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ใน ต่างประเทศ เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นจากหน้าที่งานที่ทําในต่างประเทศมาเสียภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาก็ต่อเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสามด้วย กล่าวคือจะต้องได้นําเงินได้นั้นเข้ามา ในประเทศไทยในปีภาษีและเป็นผู้ที่ได้อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีด้วย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายไขได้เดินทางไปเก็บตัวและทําการแข่งขันอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 4 เดือน ย่อมถือว่านายไข่ได้อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษี ดังนั้น การที่นายไข่ได้นําเงินรางวัล จํานวน 3 ล้านบาทไปซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินอันเป็นเงินได้พึงประเมินอย่างหนึ่งตามมาตรา 39 และได้นํานาฬิกาดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย นายไข่จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคสอง

ส่วนเงินได้ส่วนที่ฝากไว้ที่ธนาคารในประเทศสหรัฐอเมริกาจํานวน 2 ล้านบาทนั้น เมื่อนายไข่ไม่ได้ นําเงินได้จํานวนดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย นายไข่จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคสอง

สรุป

เงินได้จากการแข่งขันชกมวยจํานวน 5 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตาม มาตรา 40 (8) และนายไขจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้ดังกล่าวจํานวน 3 ล้านบาท ส่วนเงินได้ จํานวน 2 ล้านบาทที่ฝากไว้กับธนาคารในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ข้อ 2 ปีภาษี 2561 นายประเสริฐมีรายได้จากการเป็นประธานกรรมการบริษัทได้รับเงินเดือนจากบริษัท อนันตา จํากัด เดือนละ 500,000 บาท เดือนมกราคมได้รับปันผลจากบริษัท 30 ล้านบาท เดือนมีนาคมถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลจํานวน 200,000 บาท เดือนกันยายนนายประเสริฐถูก ฆาตกรรมเสียชีวิต แต่เดือนธันวาคมบริษัทจะจ่ายโบนัสอีกจํานวน 1,000,000 บาทเป็นประจําทุกปี นายประเสริฐมีภรรยาที่เคยจดทะเบียนสมรส 3 ปีคือนางคริส มีบุตรที่เกิดในระหว่างสมรสคือ นายพิทอายุ 22 ปี ศึกษาระดับปริญญาตรีที่ฮ่องกง ประเทศจีน และหลังจากนั้นได้จดทะเบียนหย่ากัน แต่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาตลอด 25 ปี แต่นางคริสไม่ได้ทํางาน ก่อนเสียชีวิต 1 วัน นายประเสริฐ ได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางนิภา ซึ่งมีบุตรด้วยกันมาก่อนคือนายฉีอายุ 19 ปี ไม่เรียนหนังสือ แต่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรเอาไว้ นางนิภาป่วยเป็นลูคีเมียจึงไม่ได้ทํางาน กรณีนี้

ก รายได้ทั้งหมดของนายประเสริฐเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใดบ้าง ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ข นายประเสริฐต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร ด้วยวิธีการใด

ค หากนายประเสริฐต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะนํานางคริสอดีตภรรยาที่อยู่กินกันนายพิทบุตรชาย นางนิภา นายฉีบุตรชาย มาหักค่าลดหย่อนได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้ เนื่องจากการจ้างแรงงาน

(4) เงินได้ที่เป็น

(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกําไรหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่นนอกจาก ที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”

มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสียภาษี เงินได้

(11) รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ รางวัลสลากกินแบ่งหรือสลากออมสินของ รัฐบาล…”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วยข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ รายได้ของนายประเสริฐ ทั้งหมดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด และต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 เงินเดือนจาก บริษัท อนันตา จํากัด เดือนละ 500,000 บาท และเงินโบนัสอีกจํานวน 1,000,000 บาทนั้น ถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ตามมาตรา 40 (1) ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2 เงินปันผลจากบริษัท 30 ล้านบาท ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40 (4) (ข) ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3 เงินได้จากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล 200,000 บาท ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40 (8) แต่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (11)

ข หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครอง ทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณีปฏิบัติแทน และโดยเฉพาะในการยื่นรายการเงินได้พึงประเมินของผู้ตายนั้น ให้รวมเงินได้ พึงประเมินของผู้ตายและของกองมรดกที่ได้รับตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตายเป็นยอดเงินได้พึงประเมินที่ จะต้องยืนทั้งสิ้น”

กรณีตามอุทาหรณ์ ในปีภาษี 2561 นายประเสริฐจะต้องนําเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินเดือน ๆ ละ 500,000 บาท โบนัสจํานวน 1,000,000 บาท และเงินปันผล 30 ล้านบาท มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่เมื่อปรากฏว่านายประเสริฐได้ถึงแก่ความตายก่อนที่จะยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณี เป็นผู้ทําหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายประเสริฐแทนนายประเสริฐ โดยการคํานวณภาษีเสมือนนายประเสริฐเป็นบุคคลธรรมดาที่ยังมีชีวิตอยู่

ค หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้

(1) ลดหย่อนให้สําหรับ

(ก) ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท

(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท

(ค) บุตร

(1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท

(2) บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคน

ในกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรทั้ง (1) และ (2) การหักลดหย่อนสําหรับบุตร ให้นําบุตรตาม (1) ทั้งหมด มาหักก่อน แล้วจึงนําบุตรตาม (2) มาหัก เว้นแต่ในกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรตาม (1) ที่มีชีวิตอยู่ รวมเป็นจํานวนตั้งแต่ สามคนขึ้นไป จะนําบุตรตาม (2) มาหักไม่ได้ แต่ถ้าบุตรตาม (1) มีจํานวนไม่ถึงสามคน ให้นําบุตรตาม (2) มาหักได้ โดยเมื่อรวมบุตรตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกินสามคน

การหักลดหย่อนสําหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปี และยังศึกษาอยู่ใน มหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา หรือซึ่งเป็นผู้เยาว์ แต่มิให้หักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมิน ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42

การหักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าว ให้หักได้ตลอดปีภาษีไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปี ภาษีหรือไม่”

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายประเสริฐต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนํานางนิภาภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสในปัจจุบันมาหักลดหย่อนได้ 60,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ข) ส่วนนางคริสซึ่งเป็นอดีต ภรรยา แม้จะได้อยู่กินกันฉันสามีภรรยาจนถึงปัจจุบันก็จะนํามาหักลดหย่อนไม่ได้

และนอกจากนั้น นายประเสริฐยังสามารถหักลดหย่อนบุตรได้อีก 2 คน ๆ ละ 30,000 บาท คือ นายพีทบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่เกิดระหว่างสมรสกับนางคริสและมีอายุไม่เกิน 25 ปี และศึกษาอยู่ในระดับ ปริญญาตรีแม้จะได้ศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศก็ตาม และนายฉีซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่บิดาจดทะเบียน รับรอง และเป็นผู้เยาว์แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือก็ตาม ตามมาตรา 47 (1) (ค)

 

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาอธิบายเงื่อนไขและผลทางกฎหมายเรื่อง “ความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล”ตามประมวลรัษฎากร

ธงคําตอบ

ตามประมวลรัษฎากรได้กําหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “ความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคล” ไว้ดังนี้ คือ

1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่

(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (มาตรา 66 วรรคหนึ่ง) (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ได้แก่

(2.1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และ กระทํากิจการในประเทศไทย หรือกระทํากิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย (มาตรา 66)

(2.2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และ กระทํากิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย และกิจการที่ทํานั้นเป็นกิจการประเภทการขนส่งผ่าน ประเทศต่าง ๆ (มาตรา 67)

(2.3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2, 3, 4, 5 หรือ 6 ตามมาตรา 40 (2), (3), (4), (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย (มาตรา 70)

(2.4) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกําไร ในประเทศไทย (มาตรา 76 ทวิ)

(2.5) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และ ได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (1) แล้ว ได้จําหน่ายเงินกําไรหรือเงินประเภทอื่นที่กันไว้จากกําไร หรือถือได้ว่า เป็นเงินกําไรออกไปจากประเทศไทย (มาตรา 70 ทวิ)

2 ฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องเสียภาษีจากฐานภาษี ดังนี้ คือ

(1) ฐานภาษีกําไรสุทธิ นิติบุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีจากกําไรสุทธิ คือ นิติบุคคลตาม (1) และนิติบุคคลตาม (2) ได้แก่ นิติบุคคลตาม (2.1) และ (2.4) ตามมาตรา 66 มาตรา 76 ทวิ ประกอบมาตรา 65

(2) ฐานภาษียอดรายรับก่อนหักรายจ่าย นิติบุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีจากฐานภาษีดังกล่าว ได้แก่ นิติบุคคลตาม (2.2) ตามมาตรา 67

(3) ฐานภาษีเงินกําไรที่จําหน่ายไปต่างประเทศ นิติบุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีจากฐาน ภาษีนี้ ได้แก่ นิติบุคคลตาม (2.5) ตามมาตรา 70 ทวิ

(4) ฐานภาษีเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย นิติบุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีจากฐาน ภาษีนี้ ได้แก่ นิติบุคคลตาม (2.3) ตามมาตรา 70

 

Advertisement