การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ปีภาษี 2558 ตั้งแต่เดือนมกราคม บริษัท เทียนเทียน จํากัด เป็นบริษัทจัดจําหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ได้จ้างนายวินคนพม่าเป็นผู้จัดการสาขาที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เงินเดือนของนายวินได้ส่ง เข้าบัญชีธนาคารที่ประเทศพม่า และได้จ้างนางสาววันหนึ่งไปเป็นผู้จัดการสาขาประจําที่ประเทศลาว เงินเดือนของนางสาววันหนึ่ง บริษัทฯ จัดส่งเข้าบัญชีนางสาววันหนึ่งที่ประเทศลาวทุกเดือน และที่ประเทศเวียดนาม บริษัทฯ ได้จ้างนางสาวเมย์คนเวียดนามอาศัยอยู่ที่ประเทศเวียดนามเป็นนายหน้า หาลูกค้าในประเทศเวียดนามให้กับบริษัทฯ โดยหากหาลูกค้าให้บริษัทฯ ได้ นางสาวเมย์จะได้รับ ค่านายหน้าจากบริษัทฯ เป็นครั้ง ๆ ไป อยากทราบว่า เงินเดือนของนายวินและนางสาววันหนึ่ง เงินค่านายหน้าของนางสาวเมย์ ตลอดปีภาษี 2558 นี้ จะต้องนํามาเสียภาษีให้กับประเทศไทยหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับ ประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทําใน ประเทศไทย หรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก)

ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่บริษัทฯ ได้จ้างนายวินคนพม่าเป็นผู้จัดการสาขาที่ อ.แม่สอด จ.ตากนั้น เงินเดือน ที่นายวินได้รับ ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย และเป็นเงินได้ที่มีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แม้เงินได้ดังกล่าวบริษัทจะได้ส่งเข้าบัญชีที่ประเทศพม่าก็ตาม นายวินก็จะต้อง นําเงินได้ดังกล่าวเสียภาษีให้กับประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคแรก

2 การที่บริษัทฯ ได้จ้างนางสาววันหนึ่งไปเป็นผู้จัดการสาขาที่ประเทศลาว และบริษัทจัดส่ง เงินเดือนเข้าบัญชีของนางสาววันหนึ่งที่ประเทศลาวทุกเดือนนั้น เงินเดือนที่นางสาววันหนึ่งได้รับถือเป็นเงินได้ พึงประเมินที่เกิดจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย และเป็นเงินได้ที่มีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย นางสาววันหนึ่งจึงต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคแรก

3 การที่บริษัทฯ จ้างนางสาวเมย์คนเวียดนามและได้อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนามเป็น นายหน้าหาลูกค้าให้กับบริษัทฯ ที่ประเทศเวียดนาม เมื่อหาลูกค้าได้ก็จะได้รับค่านายหน้านั้น เงินค่านายหน้าที่ นางสาวเมย์ได้รับ ถือว่าเป็นเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ เพราะเป็นเงินได้จากหน้าที่การงานที่ทําใน ต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อนางสาวเมย์ไม่ได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันและมิได้อาศัยอยู่ใน ประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษี นางสาวเมย์จึงไม่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสองและสาม

สรุป เงินเดือนของนายวินและของนางสาววันหนึ่ง ต้องนํามาเสียภาษีให้กับประเทศไทย

ส่วนเงินค่านายหน้าของนางสาวเมย์ไม่ต้องนํามาเสียภาษีให้กับประเทศไทย

 

ข้อ 2 นายอดัมนักการเงินคนอังกฤษได้วีซ่าทํางานในประเทศไทยกับบริษัทแห่งหนึ่งตลอดปีภาษี 2558 นายอดัมมีบุตรชาย 1 คน อายุ 10 ปี ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในประเทศไทย และภริยาเป็นแม่บ้านไม่ได้ทํางาน นายอดัมได้รับเงินเดือนเดือนละ 5 แสนบาท ไปเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษ ให้กับมหาวิทยาลัยหลักสูตรนานาชาติแห่งหนึ่ง ได้ค่าตอบแทน 5 หมื่นบาท ไปเป็นวิทยากรหลักสูตร ระยะสั้นได้ค่าตอบแทน 1 แสนบาท ปีภาษี 2558 นี้ นายอดัมได้รับเงินปันผลจากการเล่นหุ้นใน ตลาดหลักทรัพย์จํานวน 7 ล้านบาท และบุตรชายของนายอดัมได้รับการติดต่อให้ไปถ่ายโฆษณา เครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งได้รับค่าตอบแทนจํานวน 1 แสนบาท อยากทราบว่า เงินได้พึงประเมินที่นายอดัม ได้รับ เป็นเงินได้ประเภทใดบ้าง และนายอดัมสามารถหักค่าลดหย่อนในกรณีใดได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ นายจ้างจ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน

(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลดเงินอุดหนุนในงานที่ทํา เบี้ยประชุม บําเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรืองานที่รับทําให้นั้นจะเป็นการประจําหรือชั่วคราว

(4) เงินได้ที่เป็น

(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกําไรหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล…”

มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้

(1) ลดหย่อนสําหรับ

(ก) ผู้มีเงินได้ 30,000 บาท (ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท

(ค) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้รวมทั้งบุตรชอบด้วย กฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย… คนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคน

การหักลดหย่อนสําหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีและยังศึกษาอยู่ ในมหาวิทยาลัย หรือชั้นอุดมศึกษาหรือซึ่งเป็นผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ อันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้หักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เงินได้พึงประเมินที่นายอดัมได้รับในปีภาษี 2558 ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทดังต่อไปนี้

1 เงินเดือนที่นายอดัมได้รับจากบริษัทเดือนละ 5 แสนบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภท ที่ 1 ตามมาตรา 40 (1) เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

2 เงินที่ได้รับเป็นค่าตอบแทน 5 หมื่นบาท จากการไปเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยฯ และค่าตอบแทนอีก 1 แสนบาท จากการเป็นวิทยากรหลักสูตรระยะสั้น เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ตาม มาตรา 40 (2) เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากการรับทํางานให้

3 เงินปันผลจากการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จํานวน 7 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40 (4) (ข) เพราะเป็นเงินได้ที่เป็นเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท

ส่วนการหักลดหย่อนนั้น นายอดัมสามารถหักลดหย่อนสําหรับตนเองในฐานะผู้มีเงินได้ตาม มาตรา 47 (1) (ก) จํานวน 30,000 บาท และหักลดหย่อนสําหรับภริยาตามมาตรา 47 (1) (ข) ได้อีกจํานวน 30,000 บาท ส่วนบุตรชายอายุ 10 ปี ไม่สามารถนํามาหักลดหย่อนได้เนื่องจากบุตรผู้เยาว์มีเงินได้ในปีภาษีถึง 15,000 บาท และเงินได้จากค่าถ่ายโฆษณานั้นไม่ใช่เงินได้พึงประเมินที่จะได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42

 

ข้อ 3 บริษัท เรือบินไทย จํากัด เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายประเทศจีน มีวัตถุประสงค์กระทํากิจการขนส่งทางอากาศในประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย ในรอบระยะ เวลาบัญชี 2558 บริษัท เรือบินไทย จํากัด ทําการขนสินค้าและคนโดยสาร ต้นทางจากประเทศจีน ผ่านเข้าประเทศไทยและออกจากประเทศไทยไปยังประเทศอินเดียปลายทาง โดยได้รับเงิน 50 ล้านบาท เป็นค่าขนส่งสินค้า และส่วนอีก 30 ล้านบาท เป็นค่าขนผู้โดยสาร โดยได้ชําระเงิน ทั้งสองจํานวนที่ประเทศต้นทางให้แก่นายอํานวยพนักงานสัญชาติไทยของบริษัทฯ ให้วินิจฉัยว่า เงินได้รายการดังกล่าว บริษัท เรือบินไทย จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 66 “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทํากิจการในที่อื่น รวมทั้งในประเทศไทย ให้เสียภาษีในกําไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทําในประเทศไทย”

มาตรา 67 “การเสียภาษีตามความในส่วนนี้ ให้เสียตามอัตราที่กําหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษี เงินได้ท้ายหมวดนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง กระทํากิจการขนส่ง ผ่านประเทศต่าง ๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสารค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น

(2) ในกรณีรับขนของ ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์ อื่นใดที่เรียกเก็บ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํา กิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย และกิจการที่กระทําเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ ในกรณีรับขนคนโดยสาร ต้องเป็นการเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดในประเทศไทย ส่วนกรณีรับขนของ ต้องเป็น การขนของออกนอกประเทศเท่านั้นจึงจะมีหน้าที่เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อบริษัท เรือบินไทย จํากัด เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตาม กฎหมายของประเทศจีน โดยมีวัตถุประสงค์กระทํากิจการขนส่งทางอากาศในประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ รวมทั้ง ประเทศไทย การที่บริษัท เรือบินไทย จํากัด ได้รับเงิน 50 ล้านบาท เป็นค่าขนส่งสินค้า และจํานวน 30 ล้านบาท เป็นค่าขนส่งผู้โดยสารในรอบระยะเวลาบัญชี 2558 นั้น เงินได้ทั้ง 2 รายการดังกล่าวนั้น บริษัท เรือบินไทย จํากัด ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคแรก เพราะบริษัท เรือบินไทย จํากัด มิได้เป็นนิติบุคคลที่ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง เพราะแม้ บริษัท เรือบินไทย จํากัด จะได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ แต่เงินได้ทั้ง 2 รายการ ดังกล่าวมิได้เกิดจากกิจการที่กระทําในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทย

และนอกจากนั้นเงินได้จํานวน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าขนส่งสินค้านั้น เป็นรายได้จากการรับ ขนสินค้าจากประเทศจีนผ่านเข้าประเทศไทยและออกจากประเทศไทยไปยังประเทศอินเดีย มิใช่เป็นการขนส่ง สินค้าออกจากประเทศไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 (2) และเงินได้จํานวน 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าขนส่งผู้โดยสารนั้น เป็นรายได้จากการเรียกเก็บค่าโดยสารที่ประเทศจีนมิได้เรียกเก็บในประเทศไทย จึงไม่ต้องนํารายได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นกัน เพราะกรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 67 (1)

สรุป เงินได้ทั้งสองจํานวนดังกล่าว บริษัท เรือบินไทย จํากัด ไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

 

Advertisement