การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 นายแดงได้เดินทางไปทํางานที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างที่ทํางานอยู่ประเทศสิงคโปร์ นายแดงได้ส่งเงินมาให้นางสุขใจมารดาเดือนละสองหมื่นบาททุกเดือน ต่อมาเมื่อ สัญญาจ้างสิ้นสุด นายแดงจึงได้นําเงินที่ทํางานได้ไปซื้อนาฬิกาข้อมือหนึ่งเรือนราคาสามหมื่นบาท และซื้อแหวนเพชรหนึ่งวงราคาสองหมื่นบาทมาฝากน้องสาว และได้เดินทางกลับมาประเทศไทย ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 พร้อมทั้งนําเงินกลับมาด้วยจํานวนสี่แสนบาท ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายแดงจะต้องนําเงินพร้อมทั้งทรัพย์สินที่ซื้อมาดังกล่าวข้างต้นมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด และเงินที่ส่งมาให้นางสุขใจมารดา นางสุขใจจะต้อง นํามาเสียภาษีเงินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 39 “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย”

มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”

มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้

(10) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในปี 2554 นายแดงได้อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม และได้เดินทางไปทํางานที่ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 1 สิงหาคมนั้น เมื่อนายแดงได้อยู่ในประเทศไทย เป็นระยะเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วัน จึงถือว่านายแดงเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสาม

เงินจํานวน 400,000 บาท รวมทั้งนาฬิกาและแหวนเพชรที่นายแดงนํากลับเข้ามาในประเทศไทย นั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 เพราะนาฬิกาและแหวนเพชรเป็นทรัพย์สินที่สามารถ คิดคํานวณได้เป็นเงิน และเมื่อเงินและทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่นายแดงได้รับเนื่องจากหน้าที่ งานที่ทําในต่างประเทศ เมื่อนายแดงได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็น ปีเดียวกันกับที่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้นนายแดงจะต้องนําเงินพร้อมทั้งทรัพย์สินที่ซื้อมาดังกล่าวข้างต้นมาเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร (ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสอง)

ส่วนเงินที่นายแดงส่งมาให้นางสุขใจมารดาเดือนละ 20,000 บาทนั้น นางสุขใจไม่ต้องนํามา เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10)

สรุป นายแดงจะต้องนําเงินพร้อมทั้งทรัพย์สินที่ซื้อมาดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสอง ส่วนนางสุขใจไม่ต้องนําเงินที่นายแดงส่งมาให้เดือนละ 20,000 บาท มาเสียภาษีเงินได้ เพราะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10)

 

ข้อ 2 นายสมชายและนางสมหญิงเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งสองมีบุตรที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูด้วยกันหนึ่งคนคือเด็กชายสมศักดิ์อายุ 10 ปี กําลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา ในปีภาษี 2555 นายสมชายมีบ้านให้เช่าหกหลัง มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าบ้านเดือนละ 60,000 บาท เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2555 นายสมชายประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชนถึงแก่ความตาย หลังจาก นายสมชายตายแล้ว นางสมหญิงซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกยังได้เก็บเงินค่าเช่าบ้านเข้ากองมรดกของ นายสมชายโดยยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาท ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า เงินได้จากค่าเช่าบ้านของนายสมชาย จะต้องนํามาเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร และจะนํานางสมหญิงและเด็กชายสมศักดิ์มาหักลดหย่อนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก

(ก) การให้เช่าทรัพย์สิน”

มาตรา 41 วรรคแรก “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจาก หน้าที่งานหรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์ใน ที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ”

มาตรา 47(4) “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้

(4) ในกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้เสมือนผู้ตายมีชีวิตอยู่ ตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย”

มาตรา 56 วรรคแรก “ให้บุคคลทุกคนเว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาพร้อมทั้ง ข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกําหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง”

มาตรา 57 ทวิ วรรคแรก “ถ้าผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 วรรคแรก ถึงแก่ความตาย เสียก่อนที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครอง ทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณีปฏิบัติแทน และโดยเฉพาะในการยื่นรายการเงินได้พึงประเมินของผู้ตายนั้น ให้รวมเงินได้ พึงประเมินของผู้ตายและของกองมรดกที่ได้รับตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตายเป็นยอดเงินได้พึงประเมินที่ จะต้องยื่นทั้งสิ้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในปีภาษี 2555 นายสมชายเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าทรัพย์สิน คือบ้าน 6 หลังตามมาตรา 40(5ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น นายสมชายจึงมีหน้าที่ต้องนําเงินค่าเช่าบ้านที่ ได้รับมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยตาม มาตรา 41 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556 ตามมาตรา 56 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร

แต่เมื่อปรากฏว่า นายสมชายได้ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี และนางสมหญิงซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกยังได้เก็บเงินค่าเช่าบ้านเข้ากองมรดกของนายสมชายโดยยังไม่ได้แบ่งให้แก่ ทายาท ดังนั้นตามมาตรา 57 ทวิ วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร การยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ ดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของนางสมหญิงผู้จัดการมรดกที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แทนนายสมชายผู้ตาย โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้จากค่าเช่าทั้งหมดที่นายสมชายผู้ตายได้รับ ทั้งก่อนตายและของกองมรดกตลอดปีภาษี 2555 นั้น ภายในเดือนมีนาคม 2556

และในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีดังกล่าวนั้น ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตาย ในระหว่างปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้เสมือนผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย (มาตรา 47(4) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นจึงสามารถนํานางสมหญิงและเด็กชายสมศักดิ์มาหักลดหย่อนได้เสมือนนายสมชาย ยังมีชีวิตอยู่

สรุป เงินได้จากค่าเช่าบ้านของนายสมชายจะต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้ นางสมหญิงผู้จัดการมรดกเป็นผู้ยื่นภาษีแทน และสามารถนํานางสมหญิงและเด็กชายสมศักดิ์มาหักลดหย่อนได้

 

ข้อ 3 ในรอบระยะเวลาบัญชี 2554 บริษัท สยามการบินระหว่างประเทศ จํากัด (มหาชน) เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ และได้ไปเปิดสาขา (Branch) จําหน่ายตั๋วในหลาย ๆ ประเทศ บริษัทฯ มีเครื่องบินจํานวน 60 ลํา ปรากฏว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายตั๋วเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศแถบยุโรป และตะวันออกกลาง จํานวน 500 ล้านบาท และรายได้จากการขายตัวในสาขาต่าง ๆ ที่ต่างประเทศ เพื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จํานวน 800 ล้านบาท จงวินิจฉัยว่า บริษัท สยามการบินระหว่าง ประเทศ จํากัด (มหาชน) ต้องมีภาระเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรจากรายได้ทั้งหมด ดังกล่าวอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 65 วรรคแรก “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี…”

มาตรา 66 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”

วินิจฉัย

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคแรก และมาตรา 66 วรรคแรก ได้บัญญัติให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะต้องเสียภาษีจากกําไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ ที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่าย ทั้งนี้โดยไม่คํานึงว่าจะเป็นเงินได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ ได้กระทํา ณ ที่ใดไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือนอกประเทศไทยก็ตาม จะต้องนํารายได้เหล่านั้นทั้งหมดมา เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่าบริษัท สยามการบินระหว่างประเทศ จํากัด (มหาชน) จะประกอบ กิจการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ แต่เมื่อเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จึงต้องมีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคแรก และมาตรา 66 วรรคแรก คือจะต้องนํารายได้จากการขายตัวในประเทศไทย จํานวน 500 ล้านบาท และในต่างประเทศจํานวน 800 ล้านบาท รวมเป็นเงิน : 1,300 ล้านบาท มาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย

สรุป บริษัท สยามการบินระหว่างประเทศ จํากัด (มหาชน) จะต้องนํารายได้ทั้งหมดจํานวน 1,300 ล้านบาท มาคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

Advertisement