การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3016 กฎหมายปกครอง (สําหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงทําตามคําสั่งต่อไปนี้

ก. จงอธิบายอํานาจดุลพินิจ และอํานาจผูกพัน หมายความว่าอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ข. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหมายความว่าอย่างไร และบทบัญญัติต่อไปนี้เรื่องใดในมาตราใดบ้างที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

มาตรา 4 การเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นเป็นโมฆะ เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว ผู้เช่าและผู้ให้เช่าอาจตกลงกันต่อระยะเวลา การเช่าออกไปอีกได้ มีกําหนดไม่เกินห้าสิบปีนับแต่วันที่ตกลงกันและต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 5 ผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น การเช่าที่ดินที่มีเนื้อที่เกินกว่าหนึ่งร้อยไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง การจดทะเบียนการเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ การกําหนดประเภทของพาณิชยกรรมหรือ อุตสาหกรรมที่ให้ทําการเช่า และการใช้หรือการเปลี่ยนแปลง ประเภทการใช้อสังหาริมทรัพย์ ตามที่เช่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง ให้อธิบดีมีอํานาจเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าที่ฝ่าฝืนหรือมิได้ปฏิบัติตามความในวรรคสองและวรรคสาม

มาตรา 6 สิทธิการเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ให้สามารถนําไปใช้เป็นหลักประกันการชําระหนี้โดยการจํานองได้และให้นําบทบัญญัติเกี่ยวกับการจํานองอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 7 สิทธิและหน้าที่ตามการเช่าให้ตกทอดแก่ทายาทได้ และผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิ์การเช่าไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้ เว้นแต่จะกําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า

มาตรา 8 การแก้ไขรายการที่จดทะเบียนการเช่า การให้เช่าช่วง การนําสิทธิการเช่าเป็นหลักประกันการชําระหนี้ การโอนสิทธิการเช่าหรือการตกทอดทางมรดกต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกมิได้

ธงคําตอบ

ก. “อํานาจดุลพินิจ” คืออํานาจที่กฎหมายได้บัญญัติให้แก่เจ้าหน้าที่ในการดําเนินการใช้อํานาจ ตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้หรือไม่ก็ได้ แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว เช่น กรณีที่ ประชาชนไปขออนุญาตพกพาอาวุธปืน แม้จะมีเอกสารหลักฐานครบถ้วนตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้ แต่กฎหมาย ก็ให้อํานาจเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจคือนายทะเบียนอาวุธปืนสามารถใช้ดุลพินิจว่าจะออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน ให้หรือไม่ก็ได้ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากสภาพและความเหมาะสมอื่น ๆ ประกอบด้วย

“อํานาจผูกพัน” คืออํานาจที่กฎหมายได้บัญญัติให้แก่เจ้าหน้าที่ว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงตามที่ กฎหมายบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องดําเนินการใช้อํานาจตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยไม่ชักช้า เช่น กรณีที่ประชาชนมีอายุครบเกณฑ์ตามที่กฎหมายกําหนดได้ไปขอทําบัตรประจําตัวประชาชน ดังนี้ถ้ามีเอกสารหลักฐาน ครบถ้วนตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้ เจ้าหน้าที่จะต้องจัดทําบัตรประจําตัวประชาชนให้ เนื่องจากเป็นหลักเกณฑ์ ของการทําบัตรประจําตัวประชาชนที่กฎหมายได้กําหนดไว้เช่นนั้น

ข. “วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของ เจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ (พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5)

จากความหมายของวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การดําเนินการของ เจ้าหน้าที่ที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนั้น จะต้องเป็นกรณีการเตรียมการและ การดําเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครองหรือกฎ

ดังนั้น บทบัญญัติต่าง ๆ ตามปัญหา เรื่องและมาตราที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง ได้แก่

1 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า “การเช่า ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่” ซึ่งเมื่อมีการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การรับจดทะเบียนของ เจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

2 มาตรา 5 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “ ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดี” ซึ่งการอนุมัติของ อธิบดีนั้นถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

3 มาตรา 5 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “การจดทะเบียนการเช่า” ซึ่งเมื่อมีการจดทะเบียน การรับจดทะเบียนถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

มาตรา 5 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ให้อธิบดีมีอํานาจเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่า…” ซึ่งการเพิกถอนการจดทะเบียนของอธิบดีถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติ ราชการทางปกครอง

มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “ โดยการจํานอง..” ซึ่งการจํานองนั้นจะต้องทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อมีการรับจดทะเบียน การรับจดทะเบียนถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และ

มาตรา 8 ที่บัญญัติว่า “การแก้ไขรายการที่จดทะเบียนการเช่า” ซึ่งการแก้ไขรายการ ที่จดทะเบียนเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

ส่วนมาตรา 7 ไม่ได้เป็นเรื่องของการเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ในการจัดให้มี คําสั่งทางปกครอง หรือกฎ จึงไม่ต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองแต่อย่างใด

 

ข้อ 2. จงนํากฎหมายปกครองไปอธิบายการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ว่ากฎหมายปกครองมีความสําคัญกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาคอย่างไรบ้าง พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

“กฎหมายปกครอง” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงาน ทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอํานาจและหน้าที่ในทางปกครองนั้น ได้แก่ อํานาจหน้าที่ในการจัดทําบริการ สาธารณะซึ่งเป็นกิจกรรมของฝ่ายปกครอง รวมทั้งการใช้อํานาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ในการออกกฎ ออกคําสั่ง ทางปกครอง การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ และการทําสัญญาทางปกครอง

1) การใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ เช่น การออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป เป็นต้น

2) การใช้อํานาจทางปกครองในการออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การรับรอง การรับจดทะเบียน เป็นต้น

3) การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การดับเพลิง การรื้อถอนอาคาร การรังวัดที่ดิน การวางท่อระบายน้ำ การซ่อมถนน หรือการซ่อมสะพาน เป็นต้น

4) การทําสัญญาทางปกครอง เช่น การที่หน่วยงานทางปกครองได้ทําสัญญากับเอกชน โดยให้เอกชนจัดทําสิ่งสาธารณูปโภค อาทิเช่น การทําสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน หรือถนน เป็นต้น

ซึ่งกฎหมายปกครองนั้น อาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกําหนด หรือประมวลกฎหมาย หรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาศคณะปฏิวัติก็ได้ เช่น พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พระราชบัญญัติเทศบาล หรือประมวล กฎหมายที่ดิน เป็นต้น

“หน่วยงานทางปกครอง” ได้แก่ หน่วยงานบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ได้รับมอบ ให้ใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมาย

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทาง ปกครองตามกฎหมาย ได้แก่ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือคณะกรรมการที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานทางปกครอง

“การบริหารราชการส่วนภูมิภาค” ได้แก่ จังหวัด (เป็นนิติบุคคล) และอําเภอ (ไม่เป็นนิติบุคคล) เป็นการบริหารราชการตามหลักการรวมอํานาจเช่นเดียวกับการบริหารราชการส่วนกลาง เพียงแต่การบริหารราชการ ส่วนภูมิภาคเป็นการบริหารราชการแบบแบ่งอํานาจปกครอง โดยเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาคนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางที่ส่วนกลางได้ส่งไปประจําเพื่อปฏิบัติราชการตามเขตภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ และมีอํานาจวินิจฉัยสั่งการบางอย่างตามที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะยังคง อยู่ภายใต้อํานาจบังคับบัญชาจากส่วนกลางโดยตรง

เมื่อพิจารณาจากความหมายของกฎหมายปกครอง การใช้อํานาจทางปกครอง หน่วยงาน ทางปกครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ และความหมายของการบริหารราชการส่วนภูมิภาคแล้ว จะเห็นได้ว่า กฎหมายปกครอง มีความสําคัญกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ดังนี้คือ

การบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็นการบริหารราชการโดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้อํานาจทางปกครอง เช่น การออกกฎหรือระเบียบข้อบังคับ หรือการออกคําสั่งแต่งตั้งโยกย้าย รวมทั้งการดําเนินการบริการสาธารณะ หรือการจัดทําสัญญาจ้างบริษัทเอกชนมาจัดทําบริการสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาค จะใช้อํานาจปกครองในการดําเนินการต่าง ๆ ได้ ก็จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาคก็ไม่สามารถที่จะ ใช้อํานาจหน้าที่ในการดําเนินการใด ๆ ได้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็คือกฎหมายปกครองนั่นเอง

ตัวอย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาค มีอํานาจออกคําสั่ง บรรจุ แต่งตั้ง ให้บําเหน็จ และลงโทษข้าราชการในส่วนภูมิภาคในจังหวัดได้ ก็เพราะมีกฎหมายปกครอง คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ เป็นต้น

 

ข้อ 3. ส่วนราชการ “จังหวัด” กับ “องค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด” ใช้หลักในการจัดระเบียบบริหารส่วนราชการเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

ในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (การจัดตั้งองค์กรทางปกครองหรือการจัดส่วนราชการ) ของไทยนั้น จะใช้หลักการที่สําคัญอยู่ 2 หลัก คือ หลักการรวมอํานาจปกครองและหลักการกระจายอํานาจปกครอง

หลักการรวมอํานาจปกครอง เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยการมอบอํานาจ ปกครองให้แก่ราชการบริหารส่วนกลาง และมีเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้ใช้อํานาจปกครอง ซึ่งหลักการรวมอํานาจปกครองนี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การรวมศูนย์อํานาจปกครอง และการกระจาย การรวมศูนย์อํานาจปกครองหรือการแบ่งอํานาจปกครอง

1 การรวมศูนย์อํานาจปกครอง คือ การรวมอํานาจวินิจฉัยสั่งการทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลาง หรือส่วนกลาง และต้องมีระบบการบังคับบัญชาที่เคร่งครัด มีการรวมกําลังในการบังคับต่าง ๆ คือ กําลังทหาร และกําลังตํารวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง และมีลําดับชั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่

2 การแบ่งอํานาจปกครองหรือการกระจายการรวมศูนย์อํานาจปกครอง เป็นรูปแบบ ที่อ่อนตัวลงมาของการรวมศูนย์อํานาจปกครอง โดยการมอบอํานาจในการตัดสินใจหรือการวินิจฉัยสั่งการบางอย่าง ให้แก่องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจําอยู่ในแต่ละท้องที่การปกครอง โดยองค์กรหรือ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังคงอยู่ในระบบบังคับบัญชาของส่วนกลาง

ประเทศไทยได้นําหลักการรวมอํานาจปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยการนําหลักการรวมศูนย์อํานาจปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง โดยการแบ่งส่วนราชการ ออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น และนําหลักการกระจายการรวมศูนย์อํานาจปกครองหรือหลักการแบ่งอํานาจ ปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็นจังหวัดและอําเภอ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยส่วนกลาง จะมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่น ซึ่งไม่ใช่องค์กรของส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค เช่น การมอบอํานาจ ปกครองให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทําบริการสาธารณะด้วยตนเอง โดยมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ ในความบังคับบัญชาของส่วนกลาง แต่จะอยู่ภายใต้การกํากับดูแล

ประเทศไทยได้นําหลักการกระจายอํานาจปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่น โดยจัดแบ่งส่วนราชการออกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การจัดส่วนราชการเป็น “จังหวัด” กับ “องค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด” จะใช้หลักในการจัดระเบียบบริหารส่วนราชการที่แตกต่างกัน กล่าวคือ จังหวัดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคใช้ หลักการกระจายการรวมศูนย์อํานาจปกครองหรือหลักการแบ่งอํานาจปกครองส่วนองค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งใช้หลักกระจายอํานาจปกครอง และทั้งสองหลักก็ยังมีความแตกต่างกัน ในสาระสําคัญเกี่ยวกับความเป็นอิสระ กล่าวคือ องค์การบริหารราชการส่วนจังหวัดจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล มีงบประมาณและบุคลากรเป็นของตนเอง สามารถดําเนินการได้โดยมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ของส่วนกลาง แต่จะอยู่ภายใต้การกํากับดูแล ส่วนจังหวัดนั้น การบริหารราชการจะอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชา อย่างใกล้ชิดจากส่วนกลาง ไม่มีงบประมาณและบุคลากรเป็นของตนเอง เจ้าหน้าที่จะได้รับการแต่งตั้งจาก ส่วนกลางทั้งสิ้น

 

ข้อ 4. เก่งเป็นผู้สนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งให้กับแคนพี่เขยของตนซึ่งลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน เก่งได้แจ้งย้ายจากบ้านเลขที่ 11 เข้าบ้านเลขที่ 22 ปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนว่าเก่งหวังผลในการเลือก ผู้ใหญ่บ้าน เพราะย้ายแต่ชื่อเข้าทะเบียนบ้านเท่านั้น แต่ตัวบุคคลไม่ได้เข้าอยู่จริง นายทะเบียนอําเภอ จึงใช้อํานาจตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทําทะเบียนราษฎร ออกคําสั่งย้ายชื่อของเก่งออกจาก ทะเบียนบ้านเลขที่ 22 ไปเข้าทะเบียนบ้านกลาง สํานักทะเบียนประจําอําเภอ ทําให้เก่งไม่มีชื่อใน บัญชีรายชื่อเป็นผู้มีคุณสมบัติใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ดังนี้ คําสั่งย้ายชื่อเก่งออกจากทะเบียน บ้านเลขที่ 22 เข้าทะเบียนบ้านกลาง เป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปจงอธิบายพร้อมเหตุผล

ธงคําตอบ

ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง

กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองนั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพ บางกระดาน ของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

ตามปัญหา การที่นายทะเบียนอําเภอซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ได้ใช้อํานาจตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทํา ทะเบียนราษฎร ออกคําสั่งย้ายชื่อของเก่งออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 22 ไปเข้าทะเบียนบ้านกลาง ทําให้เก่งไม่มี รายชื่อในบัญชีรายชื่อเป็นผู้มีคุณสมบัติใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านนั้น ถือว่าคําสั่งย้ายชื่อเก่งออกจากทะเบียนบ้าน เลขที่ 22 เข้าทะเบียนบ้านกลาง เป็นคําสั่งทางปกครอง เพราะมีองค์ประกอบครบถ้วนตามนัยของคําสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กล่าวคือ เป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ที่เป็น การใช้อํานาจตามกฎหมาย และมีผลกระทบต่อสถานภาพแห่งสิทธิของเก่ง คือทําให้เก่งไม่มีชื่อในบัญชีรายชื่อ เป็นผู้มีคุณสมบัติใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน

สรุป

คําสั่งย้ายชื่อเก่งออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 22 เข้าทะเบียนบ้านกลาง เป็นคําสั่งทาง ปกครอง

Advertisement