การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3016 กฎหมายปกครอง (สําหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายอย่างละเอียดว่าหน่วยงานทางปกครองได้แก่หน่วยงานใดบ้าง และกฎหมายปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีความสําคัญต่อหน่วยงานทางปกครองดังกล่าวอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างให้ครบถ้วน

ธงคําตอบ

“หน่วยงานทางปกครอง” ได้แก่ หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ใช้อํานาจ หรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครอง และมีฐานะเป็นนิติบุคคล

จากความหมายดังกล่าว สามารถแยกหน่วยงานทางปกครองออกได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่

(1) หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม

(2) หน่วยงานการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อําเภอ

(3) หน่วยงานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

(4) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง ธนาคารออมสิน

การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น

(5) หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง

(6) หน่วยงานเอกชนที่ใช้อํานาจหรือได้รับให้ใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมาย ได้แก่

สํานักงานรังวัดเอกชน สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์ สภาทนายความ แพทยสภา เป็นต้น

“กฎหมายปกครอง” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงาน ทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอํานาจและหน้าที่ในทางปกครองนั้น ได้แก่ อํานาจหน้าที่ในการจัดทําบริการ สาธารณะซึ่งเป็นกิจกรรมของฝ่ายปกครอง รวมทั้งการใช้อํานาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ในการออกกฎ ออกคําสั่ง ทางปกครอง การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ และการทําสัญญาทางปกครอง

1 การใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ เช่น การออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป เป็นต้น

2 การใช้อํานาจทางปกครองในการออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การรับรอง การรับจดทะเบียน เป็นต้น

3 การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การดับเพลิง การรื้อถอนอาคาร การรังวัดที่ดิน การวางท่อระบายน้ำ การซ่อมถนน หรือการซ่อมสะพาน เป็นต้น

4 การทําสัญญาทางปกครอง เช่น การที่หน่วยงานทางปกครองได้ทําสัญญากับเอกชน โดยให้เอกชนจัดทําสิ่งสาธารณูปโภค อาทิเช่น การทําสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน หรือถนน เป็นต้น

“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของ เจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ (พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5) โมเดลเปเบลอะลาน และสาร รองรับการออกแบบตก กฎหมายปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีความสําคัญต่อหน่วยงานทางปกครอง ดังนี้ คือ

หน่วยงานทางปกครอง จะมีอํานาจและหน้าที่ในทางปกครองตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ซึ่ง อํานาจและหน้าที่ในทางปกครองดังกล่าว คือ การใช้อํานาจทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองในการออก กฎ ออกคําสั่งทางปกครอง การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น และการทําสัญญาทางปกครองนั่นเอง ซึ่ง หน่วยงานทางปกครองจะใช้อํานาจทางปกครองต่าง ๆ ดังกล่าวได้ก็จะต้องมีกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อํานาจ และหน้าที่ไว้ด้วย และในการใช้อํานาจปกครองของหน่วยงานทางปกครองก็จะต้องดําเนินการให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ซึ่งเรียกว่าวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองด้วย

ถ้าหน่วยงานทางปกครองได้ใช้อํานาจทางปกครองไม่เป็นไปตามที่กฎหมายปกครองได้ บัญญัติไว้ หรือได้ใช้อํานาจทางปกครองไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ บัญญัติไว้ การใช้อํานาจทางปกครองดังกล่าวย่อมเป็นการใช้อํานาจทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจ ก่อให้เกิดข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาก็ได้

 

ข้อ 2. จงนํากฎหมายปกครองไปใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัยพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ครบถ้วน

ธงคําตอบ

“กฎหมายปกครอง” ซึ่งอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกําหนด หรือประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ในทางปกครอง แก่หน่วยงานทางปกครอง หรือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําทางปกครอง อื่น ๆ รวมทั้งการทําสัญญาทางปกครองด้วย

“หน่วยงานทางปกครอง” ได้แก่ หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ใช้อํานาจ หรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครอง และมีฐานะเป็นนิติบุคคล

“เจ้าหน้าที่” ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครอง ตามกฎหมาย รวมถึงคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นและมีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย เช่น ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ รวมถึงคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วย ม้าลานนาบง “การใช้อํานาจทางปกครอง” คือการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ได้แก่

(1) การออกกฎ เช่น การออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง เป็นต้น

(2) การออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ การอนุญาต การรับจดทะเบียน เป็นต้น

(3) การกระทําทางปกครองอื่น ๆ เช่น การปฏิบัติการทางปกครอง หรือสัญญาทางปกครองเป็นต้น

มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล มีอํานาจหน้าที่ ในทางปกครองตามที่กฎหมายปกครอง คือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยได้กําหนดไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัย เช่น อธิการบดี คณบดี อาจารย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เป็นผู้ดําเนินการใช้ อํานาจปกครองตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ของมหาวิทยาลัย

การใช้อํานาจในการออกกฎ เช่น อธิการบดี ออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้กับ นักศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้ที่จะสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

การใช้อํานาจในการออกคําสั่งทางปกครอง เช่น อธิการบดีออกคําสั่งให้อาจารย์ทําการสอน วิชาต่าง ๆ หรือออกคําสั่งให้เพิกถอนสถานภาพของนักศึกษา หรือการประกาศผลสอบของนักศึกษาในการสอบ แต่ละวิชาของอาจารย์ เป็นต้น

การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การสอนหนังสือ หรือการทําวิจัยของอาจารย์ เป็นต้น

การทําสัญญาทางปกครอง เช่น การที่มหาวิทยาลัยได้ทําสัญญาจ้างให้บริษัทเอกชนสร้าง อาคารเรียน เป็นต้น

ซึ่งในการใช้อํานาจปกครองต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น มหาวิทยาลัยหรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จะกระทําได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายปกครองคือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยได้บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ไว้ เท่านั้น และจะต้องเป็นการใช้อํานาจปกครองตามหลักกฎหมายปกครองด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต หลักประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งหลักอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารมหาวิทยาลัย

และเมื่อการใช้อํานาจปกครองดังกล่าวเกิดข้อพิพาทขึ้น ก็สามารถนําข้อพิพาทนั้นไปฟ้องร้อง ยังศาลปกครองได้ เพราะถือว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้อํานาจทางปกครองของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นข้อพิพาท ทางปกครอง หรือคดีปกครองที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

และนอกจากนั้น ถ้าการใช้อํานาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก่อให้เกิด ความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด มหาวิทยาลัยก็จะต้องรับผิดชอบในผลของการกระทําละเมิดของ เจ้าหน้าที่นั้นด้วย

 

ข้อ 3. การที่ราชการบริหารส่วนกลางมอบอํานาจวินิจฉัยสั่งการบางส่วนให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ส่วนกลางแต่งตั้งและส่งไปประจําเขตการปกครองต่าง ๆ โดยอยู่ในบังคับบัญชาของส่วนกลาง เป็นลักษณะ การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใด มีสาระสําคัญอย่างไร ดังนี้ ราชการบริหารดังกล่าวนี้ สามารถยกเลิกโดยมีผลกระทบต่อราชการบริหารส่วนกลางหรือไม่ จงอธิบายตามที่ท่านได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

ในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (การจัดตั้งองค์กรทางปกครองหรือการจัดส่วนราชการ) ของไทยนั้น จะใช้หลักการที่สําคัญอยู่ 2 หลัก คือ หลักการรวมอํานาจปกครองและหลักการกระจายอํานาจปกครอง

หลักการรวมอํานาจปกครอง เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยการมอบอํานาจ ปกครองให้แก่ราชการบริหารส่วนกลาง และมีเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้ใช้อํานาจปกครอง ซึ่งหลักการรวมอํานาจปกครองนี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การรวมศูนย์อํานาจปกครอง และการกระจายการรวมศูนย์อํานาจปกครองหรือการแบ่งอํานาจปกครอง

1 การรวมศูนย์อํานาจปกครอง คือ การรวมอํานาจวินิจฉัยสั่งการทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลาง หรือส่วนกลาง และต้องมีระบบการบังคับบัญชาที่เคร่งครัด มีการรวมกําลังในการบังคับต่าง ๆ คือ กําลังทหาร และกําลังตํารวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง และมีลําดับชั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่

2 การแบ่งอํานาจปกครองหรือการกระจายการรวมศูนย์อํานาจปกครอง เป็นรูปแบบ ที่อ่อนตัวลงมาของการรวมศูนย์อํานาจปกครอง โดยการมอบอํานาจในการตัดสินใจหรือการวินิจฉัยสั่งการบางอย่าง ให้แก่องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจําอยู่ในแต่ละท้องที่การปกครอง โดยองค์กรหรือ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังคงอยู่ในระบบบังคับบัญชาของส่วนกลาง

ประเทศไทยได้นําหลักการรวมอํานาจปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยการนําหลักการรวมศูนย์อํานาจปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง โดยการแบ่งส่วนราชการ ออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น และนําหลักการกระจายการรวมศูนย์อํานาจปกครองหรือหลักการแบ่งอํานาจ ปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็นจังหวัดและอําเภอ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยส่วนกลาง จะมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่น ซึ่งไม่ใช่องค์กรของส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค เช่น การมอบอํานาจ ปกครองให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทําบริการสาธารณะด้วยตนเอง โดยมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ ในความบังคับบัญชาของส่วนกลาง แต่จะอยู่ภายใต้การกํากับดูแล

ประเทศไทยได้นําหลักการกระจายอํานาจปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่น โดยจัดแบ่งส่วนราชการออกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

ดังนั้น การที่ราชการบริหารส่วนกลางมอบอํานาจวินิจฉัยสั่งการบางส่วนให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ ส่วนกลางแต่งตั้งและส่งไปประจําเขตการปกครองต่าง ๆ โดยอยู่ในบังคับบัญชาของส่วนกลาง จึงเป็นลักษณะของ การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามหลักการกระจายการรวมศูนย์อํานาจปกครอง หรือหลักการแบ่งอํานาจปกครองนั่นเอง โดยหลักการดังกล่าวจะมีสาระสําคัญ ดังนี้คือ

1 ต้องมีราชการบริหารส่วนกลาง เพราะราชการบริหารส่วนกลางเป็นเจ้าของอํานาจ และจะเป็นผู้จัดแบ่งอํานาจของตนไปให้แก่ส่วนภูมิภาค

2 ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนของส่วนกลาง โดยส่วนกลางจะเป็นผู้แต่งตั้งและจัดส่ง เจ้าหน้าที่เหล่านั้นไปประจําอยู่ตามเขตการปกครองในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ เช่น ไปประจําอยู่ตามจังหวัด และอําเภอต่าง ๆ เป็นต้น และเจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังคงอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของส่วนกลาง

3 ส่วนกลางจะแบ่งอํานาจให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งไปประจําอยู่ในส่วนภูมิภาคเพื่อไป ดําเนินการเฉพาะบางเรื่องหรือบางขั้นตอนในขอบเขตที่ส่วนกลางกําหนด ซึ่งจะแบ่งอํานาจให้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับส่วนกลางโดยคํานึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสําคัญ

การที่ราชการบริหารส่วนกลางได้ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปประจําที่จังหวัด และอําเภอนั้น ทําให้เห็นว่าราชการบริหารส่วนกลางยังไม่ไว้วางใจประชาชนในท้องถิ่น ทําให้ราชการบริหารส่วนภูมิภาคเป็นอุปสรรค ในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนอง ความต้องการของท้องถิ่นเอง ดังนั้นถ้ามีการยกเลิกราชการบริหารส่วนภูมิภาคนั้นเสียย่อมไม่มีผลกระทบต่อราชการ บริหารส่วนกลาง ทั้งนี้เพราะอํานาจปกครองยังคงอยู่ที่ราชการบริหารส่วนกลางซึ่งเป็นเจ้าของอํานาจอยู่นั่นเอง

 

ข้อ 4. นายหนึ่งเป็นข้าราชการครูได้ร้องเรียนข้อเท็จจริงต่อกระทรวงศึกษาธิการว่า นายสองผู้อํานวยการโรงเรียนที่นายหนึ่งรับราชการอยู่นั้น และคณะกรรมการพิจารณาความดีความชอบกระทําการ โดยมิชอบในการพิจารณาความดีความชอบประกอบกับบริหารงานขาดหลักธรรมาภิบาล นายสอง ไม่พอใจเห็นว่านายหนึ่งทําให้ภาพพจน์ของโรงเรียนเสียหาย นายสองจึงมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีตนเองเป็นประธานกรรมการ ปรากฏผลสอบสวนว่าการกระทําของ นายหนึ่งมีมูลเหตุวินัยไม่ร้ายแรง นายสองจึงออกคําสั่งตัดเงินเดือนนายหนึ่ง 10% เป็นเวลา 3 เดือน นายหนึ่งเห็นว่าการที่นายสองออกคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีนายสอง เป็นประธานนั้นถือว่านายสองมีส่วนได้เสียหรือมีเหตุความไม่เป็นกลาง อาจไม่ถูกต้องตามกฎหมายวิธี ปฏิบัติราชการทางปกครอง นายหนึ่งจึงมาปรึกษาท่านว่าคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่ และสามารถใช้กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเป็นข้อต่อสู้นายสองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกเหตุผลตามหลักกฎหมาย ธงคําตอบ

ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็น การถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง

กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองตาม (1) นั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของ เจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้

กรณีตามปัญหา การที่นายสองผู้อํานวยการโรงเรียนที่นายหนึ่งรับราชการอยู่ ได้มีคําสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่นายหนึ่งได้ร้องเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวนั้น การแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายสองเป็นเพียงการกระทําที่ยังไม่มุ่งหมายให้เกิดผลในทางกฎหมาย แต่เป็นการกระทําเพียงเพื่อให้บรรลุผลในการทราบข้อเท็จจริงบางอย่างเท่านั้น ดังนั้น คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง เพราะยังไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของนายหนึ่งแต่อย่างใด

และเมื่อคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเพียงการดําเนินการของ เจ้าหน้าที่เพื่อให้บรรลุผลในการทราบข้อเท็จจริงบางอย่างเท่านั้น ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้ จึงมิใช่ เป็นการเตรียมการหรือการดําเนินการของเจ้าหน้าที่หรือเพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง (คําสั่งลงโทษตัดเงินเดือน ซึ่งเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง) แต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่ต้องนํากฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาบังคับใช้

สรุป

คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่เป็นคําสั่งทางปกครอง และนายหนึ่ง ไม่สามารถใช้กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเป็นข้อต่อสู้นายสองได้

Advertisement