การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3016 กฎหมายปกครอง (สําหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงนํากฎหมายปกครองไปใช้ในการบริหารเทศบาล พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ครบถ้วนชัดเจน

ธงคําตอบ

“กฎหมายปกครอง” ซึ่งอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกําหนด หรือประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ในทางปกครอง แก่หน่วยงานทางปกครอง หรือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําทางปกครอง อื่น ๆ รวมทั้งการทําสัญญาทางปกครองด้วย

“หน่วยงานทางปกครอง” ได้แก่ หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ใช้อํานาจ หรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครอง และมีฐานะเป็นนิติบุคคล

“เจ้าหน้าที่” ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครอง ตามกฎหมาย รวมถึงคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นและมีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย เช่น ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วย

“การใช้อํานาจทางปกครอง” คือการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ได้แก่

(1) การออกกฎ เช่น การออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง เป็นต้น

(2) การออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ การอนุญาต การรับจดทะเบียน เป็นต้น

(3) การกระทําทางปกครองอื่น ๆ เช่น การปฏิบัติการทางปกครอง หรือสัญญาทางปกครอง เป็นต้น

เทศบาล เป็นหน่วยงานทางปกครองในรูปแบบของหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และ มีสภาพเป็นนิติบุคคล ส่วนเจ้าหน้าที่ของเทศบาล เช่น นายกเทศมนตรี ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งเทศบาลและ เจ้าหน้าที่ของเทศบาล จะมีอํานาจและหน้าที่ในการบริหารงานของเทศบาล ตามที่ พ.ร.บ. เทศบาล ซึ่งเป็น กฎหมายปกครองได้บัญญัติไว้ เช่น มีหน้าที่จัดให้มีและบํารุงทางบกและทางน้ำ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ของประชาชน มีหน้าที่ป้องกันและระงับโรคติดต่อ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมในเขตเทศบาลนั้น

ซึ่งในการบริหารงานของเทศบาลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น เทศบาลและเจ้าหน้าที่ ของเทศบาลจําเป็นต้องมีการใช้อํานาจทางปกครองไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง รวมทั้งการกระทํา ทางปกครองในรูปแบบอื่น และการทําสัญญาทางปกครองด้วย ดังตัวอย่าง เช่น

1 เทศบาลได้ออกเทศบัญญัติซึ่งเป็นกฎ ห้ามประชาชนในเขตเทศบาลเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ในขณะที่กําลังมีโรคไข้หวัดนกระบาด เพื่อเป็นการป้องกันและระงับโรคติดต่อ เป็นต้น

2 การออกคําสั่งทางปกครอง เช่น นายกเทศมนตรี ได้มีคําสั่งให้นายดํา รองนายกเทศมนตรี พ้นจากตําแหน่งเพราะนายดําได้กระทําการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นต้น

3 การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การที่เจ้าหน้าที่ของเทศบาลได้ทําความ สะอาดถนนหรือทางระบายน้ำ เป็นต้น

4 การทําสัญญาทางปกครอง เช่น การที่เทศบาลได้ทําสัญญาจ้างบริษัทเอกชนทําถนน หรือท่าเทียบเรือ เป็นต้น

ซึ่งกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในการใช้อํานาจทางปกครองต่าง ๆ ของเทศบาลนั้น จะต้องมี กฎหมายปกครองซึ่งก็คือ พ.ร.บ. เทศบาลได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วเทศบาลและ เจ้าหน้าที่ของเทศบาลก็มิอาจที่จะกระทําการดังกล่าวได้เลย และในการใช้อํานาจปกครองดังกล่าวนั้น ก็จะต้อง เป็นการใช้อํานาจปกครองตามหลักของกฎหมายปกครองด้วย ได้แก่ หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความ สุจริต และหลักประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น

และนอกจากนั้น การใช้อํานาจทางปกครองดังกล่าวของเทศบาล ก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่กฎหมายปกครองอื่น ๆ ได้กําหนดไว้ด้วย เช่น การออกคําสั่งทางปกครองก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กําหนดไว้ เป็นต้น ถ้าการออกกฎหรือออกคําสั่งทางปกครองของเทศบาล ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ก็จะถือว่าเป็นการออกกฎหรือคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบ และจะก่อให้เกิดข้อพิพาททางปกครองหรือที่เรียกว่าคดีปกครองขึ้นได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องนําข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครองนั้นไปฟ้องยังศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

 

ข้อ 2. จงอธิบายว่าหลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต และหลักประโยชน์สาธารณะ เกี่ยวข้องกับกฎหมายปกครองอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

“กฎหมายปกครอง” ซึ่งอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกําหนด หรือประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ในทางปกครอง แก่หน่วยงานทางปกครอง หรือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการออกกฏ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําทางปกครอง อื่น ๆ รวมทั้งการทําสัญญาทางปกครองด้วย

“หน่วยงานทางปกครอง” ได้แก่ หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ใช้อํานาจ หรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครอง และมีฐานะเป็นนิติบุคคล

“เจ้าหน้าที่” ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครอง ตามกฎหมาย รวมถึงคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นและมีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย เช่น ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ รวมถึงคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วย

“การใช้อํานาจทางปกครอง” คือการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ได้แก่

(1) การออกกฎ เช่น การออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง เป็นต้น

(2) การออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ การอนุญาต การรับจดทะเบียน เป็นต้น

(3) การกระทําทางปกครองอื่น ๆ เช่น การปฏิบัติการทางปกครอง หรือสัญญาทางปกครอง เป็นต้น

“หลักการใช้อํานาจปกครอง” ตามกฎหมายปกครอง

1 หลักความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า เจ้าหน้าที่จะใช้อํานาจปกครองได้ก็ต่อเมื่อ มีกฎหมายบัญญัติให้อํานาจไว้ด้วย เพราะถ้าเป็นการใช้อํานาจโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อํานาจ นอกเหนือจากที่กฎหมายให้อํานาจไว้ ก็จะเป็นการใช้อํานาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2 หลักความสุจริต หมายความว่า การใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องกระทําด้วย ความเหมาะสมและตามสมควร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และจะต้องกระทําต่อบุคคลทุกคน โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

3 หลักประโยชน์สาธารณะ หมายความว่า การใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องกระทํา เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม มิใช่กระทําเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

จากความหมายของกฎหมายปกครอง รวมทั้งหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ การใช้ อํานาจทางปกครอง และหลักการใช้อํานาจปกครอง ได้แก่ หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต และ หลักประโยชน์สาธารณะดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกันดังนี้ คือ

กฎหมายปกครอง เป็นเรื่องของการใช้อํานาจปกครอง ได้แก่ การออกกฎ การออกคําสั่ง ทางปกครอง การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น และการทําสัญญาทางปกครองซึ่งจะบัญญัติไว้ในกฎหมาย ต่าง ๆ ที่บัญญัติให้อํานาจหน้าที่แก่หน่วยงานทางปกครอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ใช้อํานาจนั้น และ หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องใช้อํานาจปกครองตามที่กฎหมายปกครองได้บัญญัติให้ อํานาจไว้เท่านั้น และจะต้องเป็นการใช้อํานาจตามหลักกฎหมายปกครองด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต หลักประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น และต้องเป็นการใช้อํานาจปกครองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ การบริการสาธารณะด้วย และในกรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้อํานาจทางปกครองหรือเกิดกรณีพิพาททาง ปกครองหรือที่เรียกว่าคดีปกครองขึ้นมา จะต้องนําคดีนั้นไปฟ้องร้องยังศาลปกครองเนื่องจากศาลปกครองเป็นศาล ที่มีอํานาจในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง

ตัวอย่าง ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นกฎหมายปกครอง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บัญญัติ ให้อํานาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ เช่น บัญญัติให้อํานาจหน้าที่แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานที่ดินมีอํานาจหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่เกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ หรือมีอํานาจหน้าที่ในการดําเนินการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ในที่ดิน เป็นต้น

ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อํานาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้วเกิดกรณีพิพาทขึ้น เช่น เจ้าพนักงานที่ดินได้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ถือว่าข้อพิพาทดังกล่าวเป็น ข้อพิพาททางปกครอง หรือที่เรียกว่า คดีปกครอง ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงต้องนําคดีดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากศาลปกครองมีอํานาจหน้าที่ ในการพิจารณาคดีปกครองตามมาตรา 9 ดังกล่าว

 

ข้อ 3. ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ตามมาตรา 123 บัญญัติให้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอํานาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของ กรุงเทพมหานคร… ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการปฏิบัติใด ๆ ของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขัดต่อกฎหมาย มติของคณะรัฐมนตรีหรือเป็นไปในทางที่อาจทําให้ เสียประโยชน์ของกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะยับยั้งหรือสั่งการตามที่ เห็นสมควรก็ได้”

จากบทบัญญัติดังกล่าวกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นมีความเป็น อิสระจากราชการส่วนกลางหรือไม่ เพียงใด จงอธิบายตามหลักกฎหมายปกครองที่ท่านได้ศึกษามาโดยละเอียด

ธงคําตอบ

“หลักการกํากับดูแล” เป็นหลักการที่นํามาใช้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรหรือบุคคล ที่มีอํานาจกํากับดูแลกับองค์กรที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแล ซึ่งหลักการกํากับดูแลนั้น องค์กรหรือบุคคลที่มีอํานาจ กํากับดูแลจะไม่มีอํานาจสั่งการให้องค์กรภายใต้การกํากับดูแลปฏิบัติการตามที่ตนเห็นสมควร แต่มีอํานาจเพียง การกํากับดูแลให้องค์กรภายใต้การกํากับดูแลปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามอํานาจหน้าที่ที่กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น และอํานาจในการกํากับดูแลขององค์กรหรือบุคคลที่มีอํานาจกํากับดูแลนั้นเป็นอํานาจที่มีเงื่อนไข คือจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ มีกฎหมายให้อํานาจและต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกําหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของ องค์กรภายใต้การกํากับดูแล

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในรูปของ การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นไปตามหลักการกระจายอํานาจทางพื้นที่ คือการที่รัฐจัดตั้งองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นนิติบุคคลมหาชนเพื่อมอบอํานาจให้ดําเนินกิจการของท้องถิ่นได้เองโดยมีหลักความเป็นอิสระ ในการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ กล่าวคือ สามารถดําเนินการที่ได้รับมอบหมายได้เองโดยไม่ต้องรับคําสั่ง หรืออยู่ภายใต้อํานาจบังคับบัญชาของราชการบริหารส่วนกลาง มีอํานาจวินิจฉัยสั่งการและดําเนินกิจการได้ด้วย งบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง โดยราชการบริหารส่วนกลางจะใช้หลักการกํากับดูแลให้ราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ตามมาตรา 123 ซึ่งได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอํานาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของ กรุงเทพมหานครนั้น ถือเป็นกรณีที่ส่วนกลางได้มอบอํานาจกํากับดูแลให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการควบคุมดูแลกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เพื่อความเป็นเอกภาพและภายใต้อํานาจการปกครองในฐานะที่ ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระ เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็น ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งตั้งขึ้นตามหลักการกระจายอํานาจปกครอง ดังนั้นอํานาจในการกํากับดูแลจะต้อง ก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย และให้ราชการส่วนกลางกํากับดูแลเฉพาะความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เช่น ตามมาตรา 123 ดังกล่าว ซึ่งได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอํานาจที่จะยับยั้งหรือสั่งการตามที่เห็นสมควรได้ใน กรณีที่เห็นว่ากรุงเทพมหานครไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีหรือปฏิบัติการใด ๆ ที่เป็นไป ในทางที่อาจทําให้เสียประโยชน์ของกรุงเทพมหานคร

ดังนั้น จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงยังคงถือว่ากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีความเป็นอิสระจากราชการส่วนกลางในการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของตน เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้ การกํากับดูแลของราชการส่วนกลางเท่านั้น

 

ข้อ 4. ผู้บัญชาการตํารวจนครบาลเห็นว่าปัจจุบันมีรถปริมาณมากขึ้นและไม่ได้จัดช่องจราจรไว้สําหรับรถที่มีความเร็วต่ำ ทําให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจรและเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ จึงอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติจราจร พ.ศ. 2522 ออกข้อบังคับ เจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครว่าด้วยการห้ามรถจักรยานยนต์ รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยกและในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป เพื่อเป็น การทดลองว่าระยะเวลาดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่

ดังนี้ ข้อบังคับดังกล่าวเป็นการกระทําทางปกครองประเภทใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

“การกระทําทางปกครอง” หมายถึง การกระทําขององค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าย ปกครอง หรือผลิตผลของการใช้อํานาจรัฐตามพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเสมอพระราชบัญญัติ เช่น พระราชกําหนด เป็นต้น

การกระทําทางปกครอง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1 “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติ ท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด หรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

2 “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

3 “การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น” ได้แก่ การกระทําทางปกครองทั้งหลายที่ ไม่ใช่การออกกฎ หรือการออกคําสั่งทางปกครอง ซึ่งมักจะเรียกกันว่า “ปฏิบัติการทางปกครอง”

4 “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้ จัดทําบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

สําหรับ “กฎ” นั้น จะมีลักษณะที่สําคัญ 2 ประการ คือ

1 บุคคลที่อยู่ภายใต้กฎจะถูกนิยามไว้เป็นประเภท และไม่สามารถที่จะทราบจํานวนที่ แน่นอนได้

2 บุคคลที่ถูกนิยามไว้ภายใต้กฎนั้น กฎจะกําหนดให้บุคคลนั้นกระทําการ หรือห้ามมิให้ กระทําการ หรือได้รับอนุญาตให้กระทําการ หรือมีสิทธิที่จะกระทําซ้ำ ๆ ทําให้กฏมีผลบังคับกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน หรือในอนาคตที่ไม่แน่นอน

กรณีตามปัญหา การที่ผู้บังคับการตํารวจนครบาลอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติจราจร พ.ศ. 2522 ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครว่าด้วยการห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยกและในอุโมงค์ลอดทางร่วม ทางแยกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปนั้น ข้อบังคับ ดังกล่าวถือเป็นผลิตผลของการใช้อํานาจรัฐตามพระราชบัญญัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง ซึ่งมีผลบังคับ เป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ดังนั้น ข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นการกระทํา ทางปกครองประเภทกฎ

สรุป

ข้อบังคับดังกล่าวเป็นการกระทําทางปกครองประเภทกฎ

Advertisement