การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3016  กฎหมายปกครอง (สําหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายอย่างละเอียดว่ากฎหมายปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีความสําคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

“กฎหมายปกครอง” และ “วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” มีความสําคัญต่อการบริหาร ราชการแผ่นดิน ดังนี้ คือ

“กฎหมายปกครอง” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงาน ทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอํานาจและหน้าที่ในทางปกครองนั้น ได้แก่ อํานาจหน้าที่ในการจัดทําบริการ สาธารณะซึ่งเป็นกิจกรรมของฝ่ายปกครอง รวมทั้งการใช้อํานาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ในการออกกฎ ออกคําสั่ง ทางปกครอง การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ และการทําสัญญาทางปกครอง

1 การใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ เช่น การออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป เป็นต้น

2 การใช้อํานาจทางปกครองในการออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การรับรอง การรับจดทะเบียน เป็นต้น

3 การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การดับเพลิง การรื้อถอนอาคาร การรังวัดที่ดิน การวางท่อระบายน้ำ การซ่อมถนน หรือการซ่อมสะพาน เป็นต้น

4 การทําสัญญาทางปกครอง เช่น การที่หน่วยงานทางปกครองได้ทําสัญญากับเอกชน โดยให้เอกชนจัดทําสิ่งสาธารณูปโภค อาทิเช่น การทําสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน หรือถนน เป็นต้น

“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของ เจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ (พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5)

การบริหารราชการแผ่นดินของไทยตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1 ราชการบริหารส่วนกลาง หมายความถึง ราชการที่ฝ่ายปกครองจัดทําเพื่อประโยชน์ ส่วนรวมของประชาชนทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ เช่น การรักษาความสงบภายใน การป้องกันประเทศ การคมนาคม การคลัง เป็นต้น

องค์การที่จัดทําราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนกลาง และมีอํานาจหน้าที่จัดทําราชการในอํานาจหน้าที่ของตนตลอดทั้งประเทศ

2 ราชการบริหารส่วนภูมิภาค หมายความถึง ราชการของกระทรวง ทบวง กรม อันเป็น องค์กรของราชการบริหารส่วนกลางที่ได้แบ่งแยกออกไปจัดทําตามเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อสนอง ความต้องการส่วนรวมของประชาชนในเขตการปกครองนั้น ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางซึ่ง สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ออกไปประจําตามเขตการปกครองนั้น ๆ เพื่อบริหารราชการภายใต้การ บังคับบัญชาของราชการบริหารส่วนกลาง ซึ่งราชการบริหารส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัด และ อําเภอ รวมตลอดถึงตําบลและหมู่บ้าน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าในส่วนภูมิภาค

3 ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หมายความถึง ราชการบางอย่างที่รัฐมอบหมายให้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดทําเอง เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนเฉพาะในเขตท้องถิ่นนั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเอง ซึ่งตามหลักไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

ในการบริหารราชการแผ่นดินของไทยทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ส่วน ภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ส่วนรวม และการใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําทางปกครองใน รูปแบบอื่น ๆ และหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่จะดําเนินการต่าง ๆ ได้ ก็จะต้องมีกฎหมายได้บัญญัติให้ อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวคือกฎหมายปกครองนั้นเอง เช่น พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการ แผ่นดินฯ พ.ร.บ. เทศบาลฯ เป็นต้น

ซึ่งการดําเนินการใช้อํานาจทางปกครองดังกล่าว โดยเฉพาะที่สําคัญคือการใช้อํานาจทาง ปกครองของเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะออกคําสั่งทางปกครองนั้น ถ้าจะให้คําสั่งทางปกครองที่ออกมานั้นเป็นคําสั่งทาง ปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ผู้ออกคําสั่งทางปกครองนั้น จะต้องดําเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และขั้นตอนที่กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กําหนดไว้ เช่น ตามมาตรา 13 ในการพิจารณาทางปกครอง เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ตนมีอํานาจพิจารณาทางปกครอง จะทําการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ หรือ ตามมาตรา 30 ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้โอกาสคู่กรณีได้ทราบ ข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และให้คู่กรณีได้มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน เป็นต้น

และนอกจากนั้น ในการใช้อํานาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องใช้อํานาจดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักการของกฎหมายปกครองด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย “หลักประโยชน์สาธารณะ หลักความซื่อสัตย์สุจริต และหลักความเป็นธรรม เป็นต้น

ถ้าการใช้อํานาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายปกครองได้บัญญัติไว้ หรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือไม่เป็นไปตามหลักการของ กฎหมายปกครอง ย่อมถือว่าเป็นการใช้อํานาจทางปกครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายและจะทําให้เกิดข้อพิพาท ทางปกครองขึ้นมาได้

 

ข้อ 2. จงนํากฎหมายปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไปใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัยพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ครบถ้วนชัดเจน

ธงคําตอบ

“กฎหมายปกครอง” ซึ่งอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกําหนด หรือประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ในทางปกครอง แก่หน่วยงานทางปกครอง หรือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําทางปกครอง อื่น ๆ รวมทั้งการทําสัญญาทางปกครองด้วย

“หน่วยงานทางปกครอง” ได้แก่ หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมทั้งหน่วยงานเอกชน ที่ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครอง และมีฐานะเป็นนิติบุคคล

“เจ้าหน้าที่” ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครอง ตามกฎหมาย รวมถึงคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นและมีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย เช่น ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ รวมถึงคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วย

“การใช้อํานาจทางปกครอง” คือการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ได้แก่

(1) การออกกฎ เช่น การออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง เป็นต้น

(2) การออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ การอนุญาต การรับจดทะเบียน เป็นต้น

(3) การกระทําทางปกครองอื่น ๆ เช่น การปฏิบัติการทางปกครอง หรือสัญญาทางปกครอง เป็นต้น

“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของ เจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ (พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5)

มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล มีอํานาจหน้าที่ ในทางปกครองตามที่กฎหมายปกครอง คือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยได้กําหนดไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัย เช่น อธิการบดี คณบดี อาจารย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เป็นผู้ดําเนินการใช้ อํานาจปกครองตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ของมหาวิทยาลัย

การใช้อํานาจในการออกกฎ เช่น อธิการบดี ออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้กับนักศึกษา ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้ที่จะสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

การใช้อํานาจในการออกคําสั่งทางปกครอง เช่น อธิการบดีออกคําสั่งให้อาจารย์ทําการสอน วิชาต่าง ๆ หรือออกคําสั่งให้เพิกถอนสถานภาพของนักศึกษา หรือการประกาศผลสอบของนักศึกษาในการสอบ แต่ละวิชาของอาจารย์ เป็นต้น

การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การสอนหนังสือ หรือการทําวิจัยของอาจารย์ เป็นต้น

การทําสัญญาทางปกครอง เช่น การที่มหาวิทยาลัยได้ทําสัญญาจ้างให้บริษัทเอกชนสร้าง อาคารเรียน เป็นต้น

ซึ่งในการใช้อํานาจปกครองต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น มหาวิทยาลัยหรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จะกระทําได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายปกครองคือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยได้บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ไว้ เท่านั้น และจะต้องเป็นการใช้อํานาจปกครองตามหลักกฎหมายปกครองด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต หลักประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งหลักอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารมหาวิทยาลัย

และที่สําคัญในการใช้อํานาจทางปกครองต่าง ๆ ในการบริหารมหาวิทยาลัยของ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครองด้วย เช่น การที่อธิการบดีจะออกคําสั่งเพิกถอนสถานภาพของนักศึกษา ก็จะต้องให้นักศึกษาผู้นั้นได้ทราบ ข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และให้นักศึกษาผู้นั้นได้มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน เป็นต้น

ถ้าการใช้อํานาจทางปกครองของมหาวิทยาลัยหรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นไปตามที่ กฎหมายได้กําหนดไว้ หรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือไม่ถูกต้อง ตามหลักการของกฎหมายปกครอง ย่อมถือว่าเป็นการใช้อํานาจทางปกครองที่มิชอบด้วยกฎหมายและจะก่อให้เกิด ข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาได้

และเมื่อการใช้อํานาจปกครองดังกล่าวเกิดข้อพิพาทขึ้น ก็สามารถนําข้อพิพาทนั้นไปฟ้องร้อง ยังศาลปกครองได้ เพราะถือว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้อํานาจทางปกครองของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นข้อพิพาท ทางปกครอง หรือคดีปกครองที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

และนอกจากนั้น ถ้าการใช้อํานาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก่อให้เกิด ความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด มหาวิทยาลัยก็จะต้องรับผิดชอบในผลของการกระทําละเมิดของ เจ้าหน้าที่นั้นด้วย

 

ข้อ 3. จงอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างหลักกระจายอํานาจปกครองซึ่งใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นกับอํานาจกํากับดูแลมาโดยละเอียด

ธงคําตอบ

“หลักการกระจายอํานาจปกครอง” เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยวิธีการ ที่รัฐจะมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรทางปกครองอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของราชการบริหารส่วนกลาง เพื่อไป จัดทําบริการสาธารณะบางอย่าง โดยมีความเป็นอิสระ เช่น การมอบอํานาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไป ดูแลและจัดทําบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งองค์กรทางปกครองนั้นไม่ต้อง ขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของส่วนกลางเพียงแต่ขึ้นอยู่ในความกํากับดูแลเท่านั้น

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในรูปของ การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นไปตามหลักการกระจายอํานาจทางพื้นที่ คือการที่รัฐจัดตั้งองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นนิติบุคคลมหาชนเพื่อมอบอํานาจให้ดําเนินกิจการของท้องถิ่นได้เองโดยมีหลักความเป็นอิสระ ในการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ กล่าวคือ สามารถดําเนินการที่ได้รับมอบหมายได้เองโดยไม่ต้องรับคําสั่ง หรืออยู่ภายใต้อํานาจบังคับบัญชาของราชการบริหารส่วนกลาง มีอํานาจวินิจฉัยสั่งการและดําเนินกิจการได้ด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง โดยราชการบริหารส่วนกลางจะใช้หลักการกํากับดูแลให้ราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

และการที่ราชการบริหารส่วนกลางมิได้มอบอํานาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดําเนินการ จัดทําบริการสาธารณะโดยมีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ และจะต้องอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของราชการบริหาร ส่วนกลางนั้น เป็นเพราะว่าไม่ต้องการให้มีผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพของประเทศนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ราชการบริหารส่วนกลางจะกํากับดูแลเฉพาะความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กล่าวคือจะควบคุมว่าราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่นทั้งหลายได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ และอํานาจกํากับดูแลจะไม่ก้าวล่วงไปควบคุมดุลพินิจหรือ ความเหมาะสมของการกระทําทั้งหลายของราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อให้ยังคงหลักความเป็นอิสระแก่ ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีเหตุผลทางด้านการเมือง ได้แก่ การส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ให้แก่คนในท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่น และให้คนในท้องถิ่นมีความรับผิดชอบท้องถิ่นด้วย ตนเองอีกด้วย นอกเหนือจากเหตุผลของการแบ่งเบาภาระการจัดทําบริการสาธารณะทั้งหมดของราชการบริหาร ส่วนกลาง

 

ข้อ 4. ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับการร้องเรียนว่ามีการก่อสร้างรีสอร์ทของนายค้อไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ภูทับเบิก ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จึงทําหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงจากกรมป่าไม้ และกรมที่ดินเพื่อตรวจสอบที่ดินที่ปลูกสร้างรีสอร์ทของนายค้อดังกล่าว ซึ่งกรมที่ดินทําหนังสือแจ้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ว่า นายค้อไม่มีเอกสารการครอบครองใด ๆ ตามกฎหมายที่ดิน ทําให้ที่ตั้ง รีสอร์ทของนายค้ออาจบุกรุกป่าตามกฎหมายป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จึงได้มีหนังสือสั่งการไปยัง นายอําเภอภูทับเบิกให้ชี้แจงทําความเข้าใจกับนายค้อว่าไม่สามารถดําเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ใด ๆ บนพื้นที่ดังกล่าวได้จนกว่าจะมีหนังสือตอบกลับจากกรมป่าไม้ก่อน นายค้อเห็นว่าหนังสือ สั่งการดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ไม่ถูกต้อง เพราะตนอาจได้รับความเสียหายเนื่องจาก ไม่สามารถเปิดบริการให้ทันฤดูท่องเที่ยวในปีนี้ได้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าหนังสือสั่งการดังกล่าวเป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็น การถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองนั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

กรณีตามปัญหา การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีหนังสือสั่งการไปยังนายอําเภอภูทับเบิก ให้ชี้แจงทําความเข้าใจกับนายค้อว่านายค้อไม่สามารถดําเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใด ๆ บนพื้นที่ของที่ดินดังกล่าว ได้จนกว่าจะได้มีหนังสือตอบกลับจากกรมป่าไม้ก่อนนั้น แม้หนังสือสั่งการดังกล่าวจะออกโดยเจ้าหน้าที่ แต่ก็เป็นเพียง คําสั่งภายในของเจ้าหน้าที่ที่มีไปยังองค์กรฝ่ายปกครองด้วยกัน ยังไม่มีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครองแต่อย่างใด ดังนั้น หนังสือสั่งการดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จึงไม่เป็นคําสั่งทางปกครอง เพราะขาดองค์ประกอบของ คําสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ดังกล่าวข้างต้น

สรุป หนังสือสั่งการดังกล่าวไม่เป็นคําสั่งทางปกครอง

Advertisement