การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายแดงยื่นคําขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่ถูกนายดําคัดค้านโดยอ้างว่าได้มีการนํารังวัดทับที่ดินของตน เจ้าพนักงานที่ดินโดยอาศัยอํานาจในการสอบสวนเปรียบเทียบตาม มาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงมีคําสั่งให้กันที่ดินส่วนที่ทับกันออก และออกโฉนดที่ดิน ให้กับนายแดงเฉพาะส่วนที่ไม่ได้ทับ ขอให้ท่านวินิจฉัยว่าคําสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานที่ดินเป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้บัญญัติความหมาย ของคําว่า “คําสั่งทางปกครอง” ไว้ว่า

“คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็น การถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง”

วินิจฉัย

กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองตาม (1) นั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายแดงได้ยื่นคําขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่ถูก นายดําคัดค้านโดยอ้างว่าได้มีการรังวัดทับที่ดินของตน เจ้าพนักงานที่ดินโดยอาศัยอํานาจในการสอบสวน เปรียบเทียบตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงมีคําสั่งให้กันที่ดินส่วนที่ทับกันออกและออกโฉนดที่ดินให้ กับนายแดงเฉพาะส่วนที่ไม่ได้ทับนั้น คําสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และเป็นการใช้อํานาจตาม กฎหมายนั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของบุคคลคือนายแดงแล้ว ดังนั้น คําสั่งดังกล่าวจึงเป็น คําสั่งทางปกครองตามนัยของมาตรา 5 (1) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังกล่าวข้างต้น

สรุป

คําสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานที่ดิน เป็นคําสั่งทางปกครอง

 

ข้อ 2. สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทําสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การประมวลผลระบบคอมพิวเตอร์กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อติดตั้งในโรงพยาบาลของรัฐ ต่อมาเกิดกรณีพิพาทเกิดขึ้น บริษัทเอกชนรายนี้จะฟ้องสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้รับผิด ตามสัญญาได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งใน เรื่องดังต่อไปนี้

(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง” และตามมาตรา 3 ได้บัญญัติให้คํานิยามของ “สัญญาทางปกครอง” ไว้ว่า

“สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น หน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทํา บริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

วินิจฉัย

กรณีที่จะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่ง เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น สามารถนําคดีไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น จะต้องเป็นสัญญาทางปกครองประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ

1 สัญญาทางปกครองโดยสภาพ คือ สัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่ง กระทําการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดําเนินการหรือเข้าร่วมดําเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกําหนดในสัญญา ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้อํานาจทาง ปกครอง หรือการดําเนินกิจการทางปกครองหรือบริการสาธารณะบรรลุผล

2 สัญญาทางปกครองตามที่กําหนดในมาตรา 3 คือ สัญญาที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ ที่สําคัญ 2 ประการ ได้แก่

(1) คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือบุคคลซึ่ง ได้รับมอบหมายให้กระทําการแทนรัฐ ส่วนอีกฝ่ายจะเป็นรัฐหรือเอกชนก็ได้

(2) จะต้องเป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทําบริการ สาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทําสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้ง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การประมวลผลระบบคอมพิวเตอร์กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อติดตั้งในโรงพยาบาล ของรัฐนั้น จะเห็นได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีองค์ประกอบที่สําคัญ 2 ประการตามนัยของมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว กล่าวคือ มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็น หน่วยงานทางปกครอง และสัญญาซื้อขายดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาจัดทําบริการสาธารณะ เนื่องจากการทํา สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การประมวลผลระบบคอมพิวเตอร์เพื่อติดตั้งใน โรงพยาบาลของรัฐนั้น ถือว่าเป็นการจัดหาเครื่องมือสําคัญเพื่อให้การดําเนินการบริการสาธารณะบรรลุผลสําเร็จ ดังนั้นสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง

และเมื่อเป็นสัญญาทางปกครอง ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นมา บริษัทเอกชนรายนี้จะต้องฟ้อง สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นคดีต่อศาลปกครอง เพราะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตาม มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4)

สรุป

บริษัทเอกชนรายนี้ต้องฟ้องสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ศาลปกครอง เพราะ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

 

ข้อ 3. นายเขียวเป็นทนายความถูกลูกความร้องเรียนต่อคณะกรรมการสภาทนายความว่าได้กระทําการขัดต่อมารยาททนายความ คณะกรรมการสภาทนายความได้พิจารณาแล้วจึงมีมติและมีคําสั่งโดย อาศัยอํานาจตาม พ.ร.บ. สภาทนายความ พ.ศ. 2528 เพิกถอนใบอนุญาตว่าความของนายเขียว ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 และได้แจ้งคําสั่งดังกล่าวให้นายเขียวทราบในวันที่ 10 มีนาคม 2559 นายเขียวเห็นว่าคําสั่งเพาถอนใบอนุญาตว่าความของตนนั้น ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมและ ประสงค์จะฟ้องคณะกรรมการสภาทนายความเรียกค่าเสียหายต่อศาลปกครอง ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเขียวจะต้องยื่นคําฟ้องดังกล่าวต่อศาลปกครองภายในกําหนดเวลาใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อํานาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คําสั่งทางปกครองหรือคําสั่งอื่น หรือ จากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร”

และมาตรา 51 บัญญัติว่า “การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี”

วินิจฉัย

การที่คณะกรรมการสภาทนายความซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยของมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อํานาจปกครองหรือให้ดําเนินกิจการทาง ปกครองได้อาศัยอํานาจตาม พ.ร.บ. สภาทนายความ พ.ศ. 2528 ออกคําสั่งทางปกครองเพิกถอนใบอนุญาตว่าความ ของนายเขียวในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 และได้แจ้งคําสั่งดังกล่าวให้นายเขียวทราบในวันที่ 10 มีนาคม 2559 และนายเขียวเห็นว่าคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตว่าความของตนนั้น ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมและประสงค์จะ ฟ้องคณะกรรมการสภาทนายความเรียกค่าเสียหายต่อศาลปกครองนั้น ถือได้ว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีพิพาท เกี่ยวกับการกระทําละเมิดทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ดังนั้น นายเขียวจะต้องยื่นคําฟ้องดังกล่าว ต่อศาลปกครองภายในกําหนด 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งเพิกถอนดังกล่าว (คือนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2559) ซึ่งนายเขียวจะต้องฟ้องคณะกรรมการสภาทนายความภายในวันที่ 10 มีนาคม 2560 (ตามมาตรา 51)

สรุป

นายเขียวจะต้องยื่นคําฟ้องดังกล่าวต่อศาลปกครองภายในวันที่ 10 มีนาคม 2560 คือ ภายในกําหนดเวลา 1 ปีนับแต่วันที่นายเขียวได้รับแจ้งคําสั่งนั้น

 

ข้อ 4.นายเหลืองได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง โดย อาศัยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีในการบรรจุให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งนั้น ต่อมาเจ้าหน้าที่ ฝ่ายกองการเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าใบปริญญาที่นายเหลืองใช้เป็นหลักฐานในการสมัครสอบเข้ารับ ราชการนั้นเป็นปริญญาบัตรปลอม หากท่านเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะ ดําเนินการตามกฎหมายกับนายเหลืองได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 67 “ผู้ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดํารง ตําแหน่งใดตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง มาตรา 55 มาตรา 56 มาตรา 63 มาตรา 64 และมาตรา 65 หากภายหลัง ปรากฏว่าขาดคุณสมบัติทั่วไปหรือมีลักษณะต้องห้ามโดยไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 36 หรือขาดคุณสมบัติ เฉพาะสําหรับตําแหน่งนั้นโดยไม่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการโดยพลัน แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอํานาจและหน้าที่ และการรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเหลืองได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง โดยอาศัยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีในการบรรจุให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งนั้น ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองการเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าใบปริญญาที่นายเหลืองใช้เป็นหลักฐานในการสมัครสอบเข้ารับ ราชการนั้นเป็นปริญญาบัตรปลอม กรณีดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะตามบทบัญญัติมาตรา 67 กล่าวคือ นายเหลืองเป็น ผู้ที่ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญแล้วต่อมาภายหลังปรากฏว่านายเหลืองขาดคุณสมบัติทั่วไป หรือขาดคุณสมบัติเฉพาะสําหรับตําแหน่งนั้น ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จึงต้องสั่งให้นายเหลืองออกจากราชการทันที

แต่อย่างไรก็ตาม การสั่งให้นายเหลืองออกจากราชการได้ทันทีนั้น ตามมาตรา 67 ได้บัญญัติ ไว้ว่าจะไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่นายเหลืองได้ปฏิบัติไปตามอํานาจและหน้าที่และการรับเงินเดือนหรือ ผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้น ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาจะเรียก เงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้นไม่ได้

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้นายเหลืองออกจากราชการทันที แต่จะเรียก เงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้นไม่ได้

Advertisement