การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4 ข้อ

ข้อ  1  นายรักชาติ  สามัคคี  รับราชการตำแหน่งนิติกร  ระดับ  6  กรมทางหลวง  กระทรวงคมนาคม  ต่อมาอธิบดีกรมทางหลวงมีคำสั่งไล่นายรักชาติออกจากราชการ  เนื่องจากกระทำการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  นายรักชาติเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งดังกล่าว  จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมทางหลวงที่ไล่ตนออกจากราชการ  ท่านเห็นว่าศาลปกครองจะรับคำฟ้องของนายรักชาติไว้พิจารณาได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

มาตรา  3  ในพระราชบัญญัตินี้

เจ้าหน้าที่รัฐ  หมายความว่า

(1) ข้าราชการ  พนักงาน  ลูกจ้าง  คณะบุคคล  หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง

(2) คระกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท  คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ  คำสั่ง  หรือมติใดๆที่มีผลกระทบต่อบุคคล  และ

(3) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชา  หรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม  (1)  หรือ  (2)

มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่  หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  หรือโดยไม่สุจริต  หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร  หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

มาตรา  42  วรรคสอง  ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอน  และวิธีการดังกล่าว  และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น  หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควร  หรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด

ตาม  พ.ร.บ.  ข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535

มาตรา  124  ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้  ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

วินิจฉัย

เมื่อพิจารณาคู่พิพาท  ได้แก่  นายรักชาติ  สามัคคี  ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือน  สังกัดกรมทางหลวง  จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำนิยามในมาตรา  3  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  กับอธิบดีกรมทางหลวง  ซึ่งเป็นผู้บริหารในกรมทางหลวง  จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ตามมาตรา  3  แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน  ส่วนประเด็นที่พิพาทนั้นเกิดจากการที่นายรักชาติเห็นว่า  อธิบดีกรมทางหลวงมีคำสั่งไล่นายรักชาติออกจากราชการโดยไม่เป็นธรรม  ทำให้นายรักชาติได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากคำสั่งดังกล่าว  กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  9  วรรคหนึ่ง (1)  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากนายรักชาติ  ยังไม่ได้แก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายตามมาตรา  42  วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติข้างต้น  คือยังไม่ได้อุทธรณ์ต่อ  ก.พ.  ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  กำหนดไว้  ดังนั้นหากนายรักชาตินำคดีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครอง  ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาได้

 


ข้อ  2  ก  
ข้าราชการพลเรือน  ตาม พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  หมายถึง  บุคคลใด  และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นข้าราชการพลเรือนหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข  ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือน  ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ผู้บังคับบัญชาจะมีกระบวนการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นตลอดจนลงโทษได้อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ก  ข้าราชการพลเรือน  หมายความว่า  บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือน  ในกระทรวงทบวงกรมฝ่ายพลเรือน  (มาตรา  4)

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐไม่ถือเป็นข้าราชการพลเรือน  เนื่องจากไม่ได้รับบรรจุแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้  แต่บรรจุและแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติอื่น

ข  ผู้บังคับบัญชาต้องทำการสืบสวนในเบื้องต้นก่อน  (ตามมาตรา  99  วรรค  5)  และถ้าเห็นว่า  มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยให้สอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรมโดยไม่ชักช้า  และในการสอบสวนให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  102  และถ้าการสอบสวนปรากฏว่าข้าราชการพลเรือนกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ก็ให้ดำเนินการลงโทษตามกระบวนการและโทษที่กำหนดในมาตรา  104  คือให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออก  หรือไล่ออก  ตามความร้ายแรงแห่งกรณี  ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้  แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก

 


ข้อ  3  ก  
มาตรการบังคับทางปกครอง  ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  หมายถึงอะไร  และจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ด้วยกัน  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ข  ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองกำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ  ถ้าผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม  เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับอย่างใดได้บ้าง  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ก  การบังคับทางปกครอง  ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.  2539  หมายถึง  การดำเนินการของเจ้าหน้าที่โดยใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับประชาชนที่มีภาระผูกพันต้องปฏิบัติการตามหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครอง  (มาตรา  56  วรรคหนึ่ง)  แต่การบังคับทางปกครองไม่ใช้กับเจ้าหน้าที่ด้วยกัน  เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  (มาตรา  55)  เพราะเจ้าหน้าที่กระทำการในนามของหน่วยงานของรัฐ  ดังนั้นถ้าเจ้าหน้าที่คนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่ง  ก็จะไม่ใช้การบังคับทางปกครองเข้าไปบังคับเอาเลยไม่ได้ 

ข  คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ  ถ้าผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม  เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองอย่างใดอย่างหนึ่ง  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  58  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  ดังนี้

(1) เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการด้วยตนเอง  หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทนโดยผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบห้าต่อปีของค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่

(2) ให้มีการชำระค่าปรับทางปกครองตามจำนวนที่สมควรแก่เหตุแต่ต้องไม่เกินสองหมื่นบาทต่อวัน

ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับการเร่งด่วนเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายที่มีโทษในทางอาญา  หรือมิให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ  เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยไม่ต้องออกคำสั่งทางปกครองให้กระทำหรือละเว้นกระทำก่อนก็ได้  แต่ทั้งนี้ต้องกระทำโดยสมควรแก่เหตุและภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน

 


ข้อ  4  พระภิกษุธงชัย  ได้เข้าศึกษาและศึกษาจนสำเร็จตามหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์)  ปรากฏว่า  มหาวิทยาลัยฯ  ได้มีหนังสือแจ้งให้พระภิกษุธงชัยทราบว่า  มหาวิทยาลัยฯ  พิจารณาแล้วเห็นว่า  ไม่อาจอนุมัติปริญญาบัตรให้แก่พระภิกษุธงชัยได้  เพราะพระภิกษุธงชัยไม่ได้ปฏิบัติศาสนกิจตามระเบียบของมหาวิทยาลัยฯ  ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจของผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีที่ได้กำหนดไว้  ดังนั้นจึงไม่อนุมัติปริญญาบัตรให้แก่พระภิกษุธงชัย  ต่อมาพระภิกษุธงชัยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้พระภิกษุธงรบอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือต่อทางมหาวิทยาลัยฯ  และชี้แจงว่า  การที่พระภิกษุธงชัยไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจตามระเบียบของมหาวิทยาลัยฯได้นั้น  เพราะอาพาธ  ทั้งมีสุขภาพไม่สมบูรณ์และอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์  พร้อมทั้งได้ยื่นใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชประกอบการพิจารณาด้วย  หลังจากมหาวิทยาลัยฯ  รับหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าวแล้วก็เพิกเฉยมิได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด  พระภิกษุธงชัยจึงมาปรึกษาท่าน  เพื่อจะฟ้องมหาวิทยาลัยฯ  กรณีไม่อนุมัติปริญญาบัตรให้แก่ตน  เป็นคดีต่อศาลปกครอง  ดังนี้ท่านจะให้คำปรึกษาแก่พระภิกษุธงชัยในกรณีดังกล่าวนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539

มาตรา  4  พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่

(9) การดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา

ปละตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครอง  และวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา  หรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าเป็นการออกกฎ  คำสั่ง

มาตรา  42  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย  จากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

มาตรา  72  ในการพิพากษาคดี  ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่ง  หรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมด  หรือบางส่วน  ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  9  (1)

วินิจฉัย

การดำเนินการหรือกระทำการของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  (มหาวิทยาลัยสงฆ์)  ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของ  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  (ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ  มาตรา  4  (9))

กรณีที่มหาวิทยาลัยฯ  ไม่อนุมัติให้พระภิกษุธงชัยได้รับปริญญาบัตร  จึงเป็นการดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา  ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่พระภิกษุ  กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าพระภิกษุธงชัยเป็นผู้เสียหาย  หรือเดือดร้อนจากข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  (ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา  42)

ดังนั้น  พระภิกษุธงชัย  จึงไม่อาจฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง  (ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา  9  (1))  เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของมหาวิทยาลัยฯ  ที่ไม่อนุมัติปริญญาบัตรดังกล่าว  (ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา 72)

Advertisement