การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. (ก) ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น หากเจ้าหน้าที่ออกคําสั่งทางปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายไปแล้วต่อมาจะเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข) ในการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 นั้นมีกี่วิธีขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

(ก) ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 53 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า คําสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ออกคําสั่งอาจเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวในภายหลังได้ แต่ต้อง อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ ดังนี้ คือ

1 ถ้าเป็นคําสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคําสั่ง ทางปกครอง อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอนหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใด ขณะหนึ่งตามที่กําหนดได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่คงต้องทําคําสั่งทางปกครองที่มีเนื้อหาทํานองเดียวกันนั้นอีก หรือเป็น กรณีที่การเพิกถอนไม่อาจกระทําได้เพราะเหตุอื่น ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงประโยชน์ของบุคคลภายนอกประกอบด้วย

2 ถ้าเป็นคําสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคําสั่ง ทางปกครอง อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอน หรือมีผลในอนาคตไปถึง ขณะใดขณะหนึ่งตามที่กําหนดได้ เฉพาะเมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้

(1) มีกฎหมายกําหนดให้เพิกถอนได้หรือมีข้อสงวนสิทธิ์ให้เพิกถอนได้ในคําสั่งทาง ปกครองนั้นเอง

(2) คําสั่งทางปกครองนั้นมีข้อกําหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติ แต่ไม่มีการ ปฏิบัติภายในเวลาที่กําหนด

(3) ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ เช่นนี้ในขณะทําคําสั่งทางปกครองแล้วเจ้าหน้าที่คงจะไม่ทําคําสั่งทางปกครองนั้น และหากไม่เพิกถอนจะ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้

(4) บทกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีบทกฎหมายเช่นนี้ในขณะทําคําสั่งทาง ปกครองแล้วเจ้าหน้าที่คงจะไม่ทําคําสั่งทางปกครองนั้น แต่การเพิกถอนในกรณีนี้ให้กระทําได้เท่าที่ผู้รับประโยชน์ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือยังไม่ได้รับประโยชน์ตามคําสั่งทางปกครองดังกล่าว และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิด ความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้

(5) อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชน อันจําเป็นต้องป้องกันหรือขจัดเหตุดังกล่าว

ในกรณีที่มีการเพิกถอนคําสั่งทางปกครองเพราะเหตุตาม (3) (4) และ (5) ผู้ได้รับประโยชน์มีสิทธิ ได้รับค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดจากความเชื่อโดยสุจริตในความคงอยู่ของคําสั่งทางปกครองได้

3 ถ้าเป็นคําสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือ ให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลย้อนหลังหรือไม่มีผลย้อนหลัง หรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กําหนดได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดําเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของคําสั่งทางปกครอง

(2) ผู้ได้รับประโยชน์มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดําเนินการให้เป็นไปตาม เงื่อนไขของคําสั่งทางปกครอง

(ข) ในการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แบ่งออก เป็น 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่

1 โดยวิธีการสอบแข่งขัน ตามมาตรา 53 และมาตรา 54 ซึ่งกําหนดว่า

การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งใด ให้บรรจุและแต่งตั้งจากผู้สอบแข่งขันได้ในตําแหน่งนั้น โดยบรรจุและแต่งตั้งตามลําดับในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้

การสอบแข่งขัน การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ และรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กําหนด

ผู้สมัครสอบแข่งขันในตําแหน่งใด ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม หรือ ได้รับการยกเว้นในกรณีที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสําหรับตําแหน่งหรือได้รับ อนุมัติจาก ก.พ. ตามมาตรา 62 ด้วย

2 โดยการคัดเลือก ตามมาตรา 55 ซึ่งกําหนดว่า

ในกรณีที่มีเหตุพิเศษ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 อาจคัดเลือก บรรจุบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งโดยไม่ต้องดําเนินการสอบแข่งขันตามมาตรา 53 ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กําหนด

3 โดยการสรรหากรณีพิเศษ ตามมาตรา 56 ซึ่งกําหนดว่า

กระทรวงหรือกรมใดมีเหตุผลและความจําเป็นอย่างยิ่ง จะบรรจุบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และความชํานาญงานสูง เข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งประเภทวิชาการระดับชํานาญการ ชํานาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ หรือทรงคุณวุฒิ หรือตําแหน่งประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กําหนด

 

 

ข้อ 2. “บริการสาธารณะ” คืออะไร แบ่งได้เป็นกี่ประเภท จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา ธงคําตอบ

1 ความหมายของบริการสาธารณะ

บริการสาธารณะนั้นจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือ

1) กิจกรรมที่ถือว่าเป็นบริการสาธารณะจะต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลมหาชน ซึ่งหมายถึง กรณีที่นิติบุคคลมหาชนเป็นผู้ประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง อันได้แก่ กิจกรรมที่รัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ดําเนินการ และยังหมายความรวมถึงกรณีที่รัฐมอบกิจกรรมของรัฐบางประเภท ให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทนด้วย

2) กิจกรรมดังกล่าวในข้อ 1) จะต้องเป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และตอบสนองความต้องการของประชาชน

2 ประเภทของบริการสาธารณะ

บริการสาธารณะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ บริการสาธารณะทางปกครอง บริการ สาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และบริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม

1) บริการสาธารณะทางปกครอง

บริการสาธารณะทางปกครอง คือ กิจกรรมที่โดยสภาพแล้วเป็นงานในหน้าที่ของฝ่าย ปกครองที่จะต้องจัดทําเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชน กิจกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการดูแล ความปลอดภัยและความสงบสุขของชุมชน บริการสาธารณะประเภทนี้ฝ่ายปกครองต้องอาศัยอํานาจพิเศษตาม กฎหมายมหาชนในการจัดทํา

บริการสาธารณะทางปกครองส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่รัฐจัดทําให้ประชาชนโดยไม่ต้อง เสียค่าตอบแทน และนอกจากนี้ เนื่องจากเนื้อหาของบริการสาธารณะทางปกครองจะเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่เฉพาะ ของฝ่ายปกครองที่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษในการจัดทํา รวมทั้งอํานาจพิเศษของฝ่ายปกครองในการจัดทําบริการ สาธารณะด้วย ดังนั้นบริการสาธารณะประเภทนี้ ฝ่ายปกครองจึงไม่สามารถมอบให้องค์กรอื่นหรือเอกชนเข้ามา ดําเนินการแทนได้

บริการสาธารณะทางปกครองจะได้แก่ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบภายใน การป้องกันประเทศ และการคลัง เป็นต้น

– 2) บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม คือ บริการสาธารณะที่เน้น ทางด้านการผลิตสินค้า การจําหน่ายสินค้า การให้บริการ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการ ของเอกชน ซึ่งการบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนี้จะมีวิธีปฏิบัติงานที่สร้างขึ้นมาเอง เพื่อให้ เกิดความคล่องตัวในการดําเนินการ และเงินทุนส่วนใหญ่มาจากค่าตอบแทนการบริการจากผู้ใช้บริการ เช่น การเดิน รถโดยสารประจําทาง การให้บริการที่เป็นสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ การผลิตและจําหน่ายน้ํามันเชื้อเพลิง เป็นต้น

3) บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม คือ บริการสาธารณะที่เป็นการให้บริการ ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องการความอิสระคล่องตัวในการทํางานโดยไม่มุ่งเน้นการหากําไร เช่น การแสดงนาฏศิลป์ พิพิธภัณฑ์ การกีฬา การศึกษาวิจัย ฯลฯ

 

 

ข้อ 3. การกระจายอํานาจทางบริการ คืออะไร แตกต่างจากการกระจายอํานาจทางเขตแดนอย่างไร จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

“การกระจายอํานาจ” คือ รูปแบบหนึ่งของการปกครองซึ่งรัฐถ่ายโอนอํานาจทางปกครอง บางส่วนให้นิติบุคคลมหาชนอื่นนอกจากรัฐ เพื่อจัดทําบริการสาธารณะบางอย่างได้เอง โดยมีความอิสระทางปกครอง และทางการคลัง ไม่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาลกลาง เพียงแต่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลส่วนกลาง เท่านั้น ซึ่งการจัดองค์กรของรัฐรูปแบบนี้มี 2 ประเภท คือ

การว่างจากงาน “การกระจายอํานาจทางเขตแดนหรือทางพื้นที่” คือ การที่รัฐมอบบริการสาธารณะบางอย่าง ที่มิใช่บริการสาธารณะระดับชาติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทํา ซึ่งการจัดทําบริการสาธารณะจะถูกจํากัด ขอบเขตโดยพื้นที่หรืออาณาเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ในท้องที่นั้น ๆ การบริหารงานลักษณะนี้ เรียกว่า “การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น”

ตัวอย่างของการกระจายอํานาจทางเขตแดนหรือทางพื้นที่ ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหาร ส่วนตําบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีฝ่ายบริหารและ ฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง และสามารถดําเนินการบริการสาธารณะได้โดยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชา แต่อยู่ภายใต้อํานาจกํากับดูแลของส่วนกลาง

ส่วน “การกระจายอํานาจทางบริการหรือทางเทคนิค” คือการที่รัฐมอบบริการสาธารณะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เช่น เรื่องของการไฟฟ้า การประปา การโทรศัพท์ เป็นต้น หรือบริการสาธารณะเฉพาะด้าน ได้แก่ บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็น บริการสาธารณะที่เป็นการให้บริการโดยไม่มีการมุ่งเน้นหากําไร เช่น เรื่องของกีฬา การศึกษาวิจัย หรือการแสดง นาฏศิลป์ เป็นต้น ให้แก่องค์กรนิติบุคคลมหาชนที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น ซึ่งมิได้อยู่ในระบบราชการเป็นผู้จัดทําและ ดําเนินการแทนรัฐ โดยให้องค์กรเหล่านั้นมีอิสระในการดําเนินงานได้เอง รัฐเพียงแต่กํากับดูแลการดําเนินงาน ขององค์กรนิติบุคคลนั้น

องค์กรที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดทําและดําเนินการบริการสาธารณะแทนรัฐดังกล่าว ได้แก่ องค์กร นิติบุคคลมหาชนที่จัดตั้งขึ้นในรูปของ “รัฐวิสาหกิจ” หรือ “องค์การมหาชน” นั่นเอง ซึ่งจะกําหนดขึ้นในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับกิจการ วัตถุประสงค์และการบริหารงาน โดย

1 ถ้าเป็นการกระจายอํานาจให้จัดทําบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม องค์กรนิติบุคคลมหาชนที่จัดตั้งขึ้นควรเป็นในรูปของรัฐวิสาหกิจ

2 ถ้าเป็นการกระจายอํานาจให้จัดทําบริการสาธารณะเฉพาะด้าน (บริการสาธารณะทาง สังคมและวัฒนธรรม) นิติบุคคลมหาชนที่จัดตั้งขึ้นควรเป็นในรูปขององค์การมหาชน

วิธีการกระจายอํานาจทางบริการ จะแตกต่างกับวิธีการกระจายอํานาจทางเขตแดนตรงที่ว่า การกระจายอํานาจทางบริการนั้น ส่วนกลางจะมอบอํานาจให้องค์การต่างๆ ไปจัดทําบริการสาธารณะเพียงอย่างใด อย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งโดยหลักจะไม่มีการกําหนดอาณาเขตหรือพื้นที่ไว้ แต่การกระจายอํานาจทางเขตแดนนั้น ส่วนกลางจะมอบอํานาจในการจัดทําบริการสาธารณะหลายๆ อย่างให้แก่องค์กรส่วนท้องถิ่นไปดําเนินการ โดย จะมีการกําหนดอาณาเขตหรือพื้นที่ไว้ด้วย และการกระจายอํานาจทางบริการจะไม่ถือการเลือกตั้งผู้บริหารเป็นเงื่อนไขในการจัดตั้งองค์กรที่ได้รับการกระจายอํานาจ ซึ่งต่างจากการกระจายอํานาจทางเขตแดนที่ผู้บริหารต้อง มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

 

 

ข้อ 4. เทศบาลฯ ได้มีคําสั่งเป็นหนังสือให้นายแดงปลัดเทศบาลฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหนึ่งหมื่นบาท กรณีรับผิดทางละเมิดแก่เทศบาลฯ ภายใน 45 วัน หลังจากพ้นกําหนดอุทธรณ์คําสั่งฯ นายแดงได้ ตรวจพบใหม่ว่าในการพิจารณาคําสั่งฯ ของเทศบาลฯ มิได้หยิบยกพยานเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งมีอยู่ ในสํานวนและเป็นพยานหลักฐานที่สําคัญยิ่งขึ้นมาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยเพื่อออกคําสั่งฯ แต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นคําสั่งฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ภายใน 20 วันหลังจากการตรวจพบดังกล่าว นายแดงจึงได้ยื่นหนังสือขอให้เทศบาลฯ พิจารณาทบทวนคําสั่งฯ ใหม่ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายแดง จะขอให้เทศบาลฯ พิจารณาทบทวนคําสั่งฯ ใหม่ในกรณีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และหากจนถึง เวลานี้ได้ล่วงเลยมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้วเทศบาลฯ ก็ได้ละเลยมิได้มีหนังสือชี้แจงหรือวินิจฉัยและ – แจ้งให้นายแดงทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนี้หากนายแดงประสงค์จะยื่นฟ้องเทศบาลฯ ใน

กรณีนี้เป็นคดีต่อศาลปกครอง ศาลปกครองมีอํานาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 54 “เมื่อคู่กรณีมีคําขอ เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งทางปกครองที่ พ้นกําหนดอุทธรณ์ ตามส่วนที่ 5 ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทําให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปใน สาระสําคัญ

การยื่นคําขอให้พิจารณาใหม่ต้องกระทําภายในเก้าสิบวันนับแต่ผู้นั้นได้รู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้ พิจารณาใหม่ได้”

และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

มาตรา 49 “การฟ้องคดีปกครอง จะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึง เหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงาน ทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจาก หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคําชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย มีดังนี้ คือ ประเด็นที่ 1 นายแดงจะขอให้เทศบาลฯ พิจารณาทบทวนคําสั่งฯ ใหม่ในกรณีนี้ได้หรือไม่

การที่นายแดงได้ยื่นหนังสือขอให้เทศบาลฯ พิจารณาทบทวนคําสั่งฯ ใหม่ โดยอ้างว่าคําสั่งของ เทศบาลฯ ที่ให้ตนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคําสั่งฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายแดงได้ตรวจพบใหม่ว่า ในการพิจารณาคําสั่งฯ ของเทศบาลฯ มิได้หยิบยกพยานเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งมีอยู่ในสํานวนและเป็นพยานหลักฐาน ที่สําคัญยิ่งขึ้นมาประกอบการวินิจฉัยเพื่อออกคําสั่งฯ แต่อย่างใดนั้น

กรณีดังกล่าว แม้ว่านายแดงจะได้ยื่นคําขอให้พิจารณาใหม่ภายใน 90 วันก็ตาม แต่พยานเอกสาร หลักฐานดังกล่าวก็ไม่ใช่ “พยานหลักฐานใหม่” ตามมาตรา 54 (1) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ทั้งนี้เพราะพยานหลักฐานดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ในสํานวนอยู่แล้ว แม้พยานหลักฐาน นั้นเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาทางปกครองมิได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยประกอบการออกคําสั่งทางปกครองก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ แต่เป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและเป็นการให้เหตุผล ในการทําคําสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น นายแดงจะขอให้เทศบาลฯ พิจารณาทบทวนคําสั่งฯ ใหม่ในกรณีนี้

ประเด็นที่ 2 หากนายแดงยื่นฟ้องเทศบาลฯ ในกรณีนี้เป็นคดีต่อศาลปกครอง ศาลปกครอง จะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้หรือไม่

ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ กําหนดว่า ในการฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นคําฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่พ้นกําหนด 90 วันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดี ได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจง จากหน่วยงานทางปกครอง

แต่กรณีดังกล่าว การที่นายแดงได้มีหนังสือร้องขอต่อเทศบาลฯ ให้พิจารณาคําสั่งดังกล่าวใหม่ และยังไม่ได้รับหนังสือชี้แจงหรือวินิจฉัยในกรณีนี้จากเทศบาลฯ นั้น เป็นเวลาเพียงหนึ่งเดือนยังไม่พ้นกําหนด 90 วัน จึงเป็นกรณีที่นายแดงมิได้ยื่นฟ้องคดีตามระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้น ศาลปกครองจะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาไม่ได้

สรุป

นายแดงจะขอให้เทศบาลฯ พิจารณาทบทวนคําสั่งฯ ใหม่ในกรณีนี้ไม่ได้

หากนายแดงยื่นฟ้องเทศบาลฯ ในกรณีเป็นคดีต่อศาลปกครอง ศาลปกครองไม่มีอํานาจ รับฟ้องไว้พิจารณา

Advertisement