การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. หลักการกระจายอํานาจคืออะไร แบ่งได้เป็นประเภท และแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไรจงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

การกระจายอํานาจ คือ รูปแบบหนึ่งของการปกครองซึ่งรัฐถ่ายโอนอํานาจทางปกครอง บางส่วนให้นิติบุคคลมหาชนอื่นนอกจากรัฐ เพื่อจัดทําบริการสาธารณะบางอย่างได้เอง โดยมีความอิสระทาง ปกครองและทางการคลัง ไม่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาลกลาง เพียงแต่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาล ส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งการจัดองค์กรของรัฐรูปแบบนี้มี 2 ประเภท คือ

1 การกระจายอํานาจทางเขตแดนหรือทางพื้นที่ คือ การที่รัฐมอบบริการสาธารณะ บางอย่างที่มิใช่บริการสาธารณะระดับชาติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทํา ซึ่งการจัดทําบริการสาธารณะจะถูก จํากัดขอบเขตโดยพื้นที่หรืออาณาเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ในท้องที่นั้น ๆ การบริหารงานลักษณะนี้เรียกว่า “การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น”

2 การกระจายอํานาจทางบริการหรือทางเทคนิค คือ การที่รัฐมอบบริการสาธารณะ อย่างใดอย่างหนึ่งให้องค์กรซึ่งมิได้อยู่ในระบบราชการจัดทําด้วยเงินทุนและเจ้าหน้าที่ขององค์กรนั้น ซึ่งการจัดทํา บริการสาธารณะไม่ได้ถูกจํากัดหรือกําหนดขอบเขตของกิจกรรมโดยพื้นที่ แต่เป็นเรื่องทางเทคนิค เช่น เรื่องของ การไฟฟ้า การประปา การโทรศัพท์ เป็นต้น องค์กรที่จัดทําอาจอยู่ในรูปของ “รัฐวิสาหกิจ” หรือ “องค์การมหาชน” แล้วแต่จะกําหนด โดยขึ้นอยู่กับความหลากหลายในแง่กิจการ วัตถุประสงค์ และการบริหารงาน

 

 

ข้อ 2. “กฎ” และ “คําสั่งทางปกครอง” คืออะไร มีลักษณะที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และมาตรา 3 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ให้นิยามของ “กฎ” ไว้เช่นเดียวกันว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือ บทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

จากนิยามข้างต้น จะเห็นได้ว่า “กฎ” จะมีลักษณะที่สําคัญอยู่ 2 ประการ คือ

(1) บุคคลที่ถูกบังคับให้กระทําการ ถูกห้ามมิให้กระทําการ หรือได้รับอนุญาตให้กระทําการ ต้องเป็นบุคคลที่ถูกนิยามไว้เป็นประเภท เช่น ผู้เยาว์ คนต่างด้าว ข้าราชการพลเรือนสามัญ ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่อาจทราบ จํานวนที่แน่นอนของบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับของข้อความที่บังคับให้กระทําการ ห้ามมิให้กระทําการ หรืออนุญาต ให้กระทําการได้

(2) กรณีที่บุคคลซึ่งถูกนิยามไว้เป็นประเภทจะถูกบังคับให้กระทําการ ถูกห้ามมิให้กระทําการ หรือได้รับอนุญาตให้กระทําการ ต้องเป็นกรณีที่ถูกกําหนดไว้อย่างเป็นนามธรรม (Abstract) เช่น บังคับให้กระทําการ ทุกครั้งที่มีกรณีตามที่กําหนดไว้เกิดขึ้นหรือได้รับอนุญาตให้กระทําการทุกวันสิ้นเดือน เช่น ห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่ บนรถโดยสารประจําทาง ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ข้าราชการกรม กองต้องแต่งเครื่องแบบมาทํางาน ทุกวันจันทร์ เป็นต้น

ส่วน “คําสั่งทางปกครอง” นั้น มีการบัญญัตินิยามไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนี้

“คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่า จะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง”

จากนิยามข้างต้น จะเห็นได้ว่า “คําสั่งทางปกครอง” จะมีองค์ประกอบหรือสาระสําคัญอยู่ 5 ประการ คือ

(1) ต้องเป็นการกระทําโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

(2) ต้องเป็นการกระทําที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมาย

(3) ต้องเป็นการกระทําที่มีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้าง นิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคล

(4) ต้องเป็นการกระทําที่มีผลมุ่งใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

(5) ต้องเป็นการกระทําที่มีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

ตัวอย่าง การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาศัยอํานาจตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกใบอนุญาตให้นายดําก่อสร้างอาคาร ใบอนุญาตดังกล่าวถือว่าเป็น คําสั่งทางปกครอง เป็นต้น

จากความหมายและสาระสําคัญของคําว่า “กฎ” และ “คําสั่งทางปกครอง” ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า “กฎ” และ “คําสั่งทางปกครอง” จะมีลักษณะที่เหมือนกันคือ ต่างก็เป็น “นิติกรรมทางปกครอง” กล่าวคือ เป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล แต่มีข้อแตกต่างกัน อยู่ที่ว่า “กฎ” นั้นมีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ส่วน “คําสั่งทางปกครอง” นั้นมีผลบังคับแก่กรณีใดและหรือแก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ

 

 

ข้อ 3. (ก) นายแดงถูกตั้งกรรมการสอบสวนว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา นายดําผู้บังคับบัญชาจึงมีคําสั่งลงโทษปลดนายแดงออกจากราชการ โดยระบุในคําสั่งว่านายแดง มีความผิดเพราะเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนอง หรือยิงปืนด้วยความคึกคะนองโดยไม่มีการ แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายแดงว่าเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนอง หรือยิงปืนด้วยความคึกคะนอง คงตั้งข้อกล่าวหาเพียงว่าต้องหาคดีอาญาฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมืองฯ เท่านั้น ขอให้ท่านวินิจฉัยว่าคําสั่งของนายดําที่สั่งลงโทษนายแดงดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข) นายเขียวรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ต่อมานายเขียวไปก่อหนี้บุคคลภายนอกและถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย กรณีดังกล่าวนี้ภายใต้บังคับ ของ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ผู้บังคับบัญชาของนายเขียวจะต้องดําเนินการตามกฎหมายกับนายเขียวอย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 30 “ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้ คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

ความในวรรคหนึ่งมิให้นํามาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติ เป็นอย่างอื่น

(1) เมื่อมีความจําเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

(2) เมื่อจะมีผลทําให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกําหนดไว้ในการทําคําสั่งทางปกครอง ต้องล่าช้าออกไป

(3) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้ไว้ในคําขอ คําให้การ หรือคําแถลง

(4) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทําได้

(5) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง

(6) กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อ ประโยชน์สาธารณะ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะออกคําสั่งทางปกครองใด และ คําสั่งทางปกครองนั้นอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ผู้ออกคําสั่งทางปกครองนั้นจะต้องให้คู่กรณีมี โอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และต้องให้คู่กรณีได้มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 30 วรรคสอง และวรรคสาม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงถูกตั้งกรรมการสอบสวนว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยต้องหาคดีอาญา และต่อมานายดําผู้บังคับบัญชาจึงมีคําสั่งปลดนายแดงออกจากราชการ ซึ่งเป็นคําสั่งทาง ปกครองและมีผลกระทบต่อสิทธิของคู่กรณีคือนายแดง โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่านายแดงมีความผิดเพราะเมา สุรายิงปืนด้วยความคึกคะนอง หรือยิงปืนด้วยความคึกคะนอง ซึ่งทําให้นายแดงไม่มีโอกาสที่จะได้ทราบ ข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาอันนําไปสู่การลงโทษได้เพียงพอ และไม่มีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีเหตุจําเป็นที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคแรก แต่อย่างใด ดังนั้น คําสั่งปลดนายแดง ออกจากราชการดังกล่าวของนายดําจึงขัดต่อมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ จึงเป็นคําสั่ง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งปลดนายแดงออกจากราชการของนายดํา เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 36 ข. (6) “ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ข. ลักษณะต้องห้าม

(6) เป็นบุคคลล้มละลาย”

มาตรา 110 “ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีอํานาจสั่งให้ข้าราชการ พลเรือนสามัญออกจากราชการเพื่อรับบําเหน็จบํานาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญ ข้าราชการได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(3) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 36 ก. (1) หรือ (3) หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (1) (3) (6) หรือ (7)”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานราชการ แห่งหนึ่ง และต่อมานายเขียวได้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น ถือว่านายเขียวมีลักษณะต้องห้ามมิให้ รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนตามมาตรา 36 ข. (6) ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาของนายเขียวซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตาม มาตรา 57 จึงมีอํานาจสั่งให้นายเขียวออกจากราชการเพื่อรับบําเหน็จบํานาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วย บําเหน็จบํานาญข้าราชการได้ตามมาตรา 110 (3)

สรุป ผู้บังคับบัญชาของนายเขียวจะต้องสั่งให้นายเขียวออกจากราชการเพื่อรับบําเหน็จบํานาญ เหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการตามมาตรา 110 (3) ประกอบมาตรา 36 ข. (6)

 

 

ข้อ 4. องค์การบริหารส่วนตําบลบ้านนาทองได้ทําการขยายถนนจากถนนขนาดสองช่องจราจรเป็นสี่ช่องจราจร อบต. บ้านนาทองเห็นว่าการขยายถนนนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะจึงได้ขอร้องให้ นายแดงซึ่งมีบ้านอยู่ติดถนนดังกล่าวช่วยรื้อถอนรั้วบ้านที่อยู่ติดถนนออกทั้งหมดเพื่อความสะดวก ในการก่อสร้างถนน โดย อบต. บ้านนาทองตกลงว่าจะสร้างรั้วบ้านให้นายแดงใหม่ หลังการก่อสร้าง ขยายถนนแล้วเสร็จ ซึ่งนายแดงก็ได้รื้อถอนรั้วบ้านของตนตามที่ อบต. บ้านนาทองได้ร้องขอ แต่เมื่อ การก่อสร้างขยายถนนแล้วเสร็จ อบต. บ้านนาทองก็ไม่ได้สร้างรั้วบ้านใหม่ให้แก่นายแดงตามที่ ตกลงกันไว้ นายแดงจึงได้มีหนังสือทวงถามต่อ อบต. บ้านนาทองในเรื่องนี้ แต่ อบต. บ้านนาทอง ก็คงนิ่งเฉยและไม่มีการดําเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนั้นหากนายแดงมาปรึกษาท่านเพื่อจะฟ้อง อบต. บ้านนาทองเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายในกรณีดังกล่าวเป็นเงินหนึ่งแสนบาท เพื่อนําเงินไปสร้างรั้วบ้านใหม่ ดังนี้ ท่านจะแนะนํานายแดงในกรณีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537

มาตรา 67 “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตําบลมีหน้าที่ต้องทําในเขต องค์การบริหารส่วนตําบล ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีและบํารุงรักษาทางน้ําและทางบก” พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อํานาจตามกฎหมาย”

มาตรา 42 วรรคแรก “ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอํานาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคําบังคับตามที่กําหนดใน มาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง”

มาตรา 72 “ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอํานาจกําหนดคําบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(3) สั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทําการหรืองดเว้นกระทําการ โดยจะ กําหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทําละเมิดหรือความรับผิด ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการฟ้องเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง”

วินิจฉัย

การที่องค์การบริหารส่วนตําบลบ้านนาทองได้ทําการปรับปรุงและขยายถนนจากถนนขนาด สองช่องจราจรเป็นสี่ช่องจราจรนั้น ถือว่าเป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่ของตนตามมาตรา 67 (1) แห่ง พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537

การที่ อบต. บ้านนาทองได้ขอร้องให้นายแดงซึ่งมีบ้านอยู่ติดถนนดังกล่าวช่วยรื้อถอนรั้วบ้าน ที่อยู่ติดถนนออกทั้งหมดเพื่อความสะดวกในการก่อสร้างถนน โดย อบต. บ้านนาทองตกลงว่าจะสร้างรั้วบ้านให้ นายแดงใหม่ หลังการก่อสร้างขยายถนนเสร็จแล้ว และนายแดงก็ได้รื้อถอนรั้วบ้านของตนตามที่ อบต. บ้านนาทอง ได้ร้องขอนั้น ถือได้ว่าเป็นการดําเนินการทางปกครองเพื่อให้การบริการสาธารณะที่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของ อบต. บ้านนาทอง สําเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ในภาระหน้าที่ที่กฎหมายได้กําหนดไว้

แต่เมื่อมีการก่อสร้างขยายถนนเสร็จแล้ว อบต. บ้านนาทองก็ไม่ได้สร้างรั้วบ้านใหม่ให้แก่ นายแดงตามที่ได้ตกลงไว้ ย่อมถือว่านายแดงเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายตามมาตรา 42 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ จากการงดเว้นการกระทําของ อบต. บ้านนาทอง ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ “ความรับผิดอย่างอื่น” ของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐอันเกิดจากการใช้อํานาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคแรก (3)

ดังนั้น นายแดงจึงสามารถฟ้อง อบต. บ้านนาทองเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครอง มีคําพิพากษาตามมาตรา 72 (3) คือ สั่งให้ อบต. บ้านนาทองใช้เงินให้แก่นายแดง หรือสั่งให้ อบต. บ้านนาทอง กระทําการสร้างรั้วบ้านใหม่ให้แก่นายแดง โดยจะกําหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ได้

สรุป

หากนายแดงมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คําปรึกษาแก่นายแดงในกรณีตามที่ได้ อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement