การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. (ก) นายแดงมายื่นคําขออนุญาตก่อสร้างโรงงานในเขตชุมชนโดยอธิบดีกรมโรงงานมีคําสั่งอนุญาตให้นายแดงก่อสร้างโรงงานได้โดยมิได้ระบุเหตุผลไว้ แต่การก่อสร้างโรงงานของนายแดงดังกล่าว ย่อมกระทบถึงผู้อยู่ข้างเคียงไม่มากก็น้อย ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งของอธิบดีกรมโรงงานดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข) นายขาวมาสมัครเข้ารับราชการเป็นนิติกรกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งระบุคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งต้องจบปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต แต่นายขาวได้นําใบปริญญาปลอมมาสมัคร ต่อมามีการตรวจสอบพบเข้าในภายหลังจากที่นายขาวได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะดําเนินการทาง กฎหมายกับนายขาวได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”

มาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “คําสั่งทางปกครองที่ทําเป็นหนังสือและการยืนยัน คําสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย

บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่ให้ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) เป็นกรณีที่มีผลตรงตามคําขอและไม่กระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงมายื่นคําขออนุญาตก่อสร้างโรงงานในเขตชุมชนโดยอธิบดี กรมโรงงานมีคําสั่งอนุญาตให้นายแดงก่อสร้างโรงงานได้โดยมิได้ระบุเหตุผลไว้ด้วยนั้น ถือเป็นคําสั่งทางปกครองที่ ทําเป็นหนังสือ ซึ่งตามมาตรา 37 วรรคหนึ่งได้บังคับว่าจะต้องระบุเหตุผลไว้ด้วย และแม้ว่าการที่อธิบดีกรมโรงงาน ได้ออกคําสั่งทางปกครองดังกล่าวจะเป็นการออกคําสั่งที่มีผลตรงตามคําขอของนายแดงก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การก่อสร้างโรงงานของนายแดงดังกล่าวจะกระทบถึงบุคคลผู้อยู่ข้างเคียงไม่มากก็น้อย จึงเป็นคําสั่ง ที่กระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่น กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 37 วรรคสาม (1) ที่จะไม่ต้องระบุ เหตุผลไว้ได้ ดังนั้น คําสั่งของอธิบดีกรมโรงงานที่ไม่ระบุเหตุผลของการอนุญาตไว้ด้วย จึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของอธิบดีกรมโรงงานดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 67 “ผู้ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดํารง ตําแหน่งใดตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง มาตรา 55 มาตรา 56 มาตรา 63 มาตรา 64 และมาตรา 65 หากภายหลัง ปรากฏว่าขาดคุณสมบัติทั่วไปหรือมีลักษณะต้องห้ามโดยไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 36 หรือขาดคุณสมบัติเฉพาะ สําหรับตําแหน่งนั้นโดยไม่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งให้ผู้นั้น ออกจากราชการโดยพลัน แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอํานาจและหน้าที่ และ การรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้น…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวมาสมัครเข้ารับราชการเป็นนิติกรกรมบัญชีกลาง กระทรวง การคลัง ซึ่งระบุคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งต้องจบปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต แต่นายขาวได้นําใบปริญญาปลอม มาสมัคร และต่อมามีการตรวจสอบพบเข้าในภายหลังจากที่นายขาวได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้วนั้น กรณีดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะตามบทบัญญัติมาตรา 67 กล่าวคือ นายขาวเป็นผู้ที่ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็น ข้าราชการพลเรือนสามัญแล้ว ต่อมาภายหลังปรากฏว่านายขาวขาดคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งนั้น ดังนั้น ผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะต้องสั่งให้นายขาวออกจากราชการทันที

แต่อย่างไรก็ตาม การสั่งให้นายขาวออกจากราชการได้ทันที่นั้น ตามมาตรา 67 ได้บัญญัติไว้ว่า จะไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่นายขาวได้ปฏิบัติไปตามอํานาจและหน้าที่และการรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์ อื่นใดที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้น ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาจะเรียกเงินเดือนและ ประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้นไม่ได้

สรุป

ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะต้องสั่งให้นายขาวออกจากราชการ ทันที แต่จะเรียกเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนมีคําสั่งให้ออกนั้นไม่ได้

 

 

ข้อ 2. การจัดองค์กรของรัฐทางปกครองในรูปของการบริหารราชการส่วนภูมิภาคคืออะไร แตกต่างจากการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

“การจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค” คือการจัดองค์กรของรัฐ ทางปกครองโดยใช้หลักการรวมอํานาจแบบการกระจายการรวมศูนย์อํานาจการปกครอง หรือการแบ่งอํานาจ การปกครอง โดยมีการแบ่งเขตการปกครองประเทศออกเป็นจังหวัดและอําเภอ แล้วรัฐบาลในส่วนกลางจะมอบ อํานาจในการตัดสินใจหรือในการสั่งการในทางปกครองในบางเรื่องบางระดับให้แก่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ซึ่ง เป็นตัวแทนของส่วนกลางที่ถูกส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาคทั่วราชอาณาจักรเพื่อจัดทําบริการสาธารณะ ตามที่กฎหมายกําหนด หรือตามที่รัฐบาลส่วนกลางหรือผู้บังคับบัญชามอบหมาย โดยที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังอยู่ ภายใต้บังคับบัญชาตามลําดับของรัฐบาลส่วนกลาง

สําหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคของไทยนั้น เป็นไปตามกฎหมายดังนี้คือ

1 ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งได้กําหนดให้ จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอําเภอ

2 ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ซึ่งได้กําหนดให้จัดระเบียบ บริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นตําบลและหมู่บ้าน

“การจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น” คือ การจัดองค์กรของรัฐ ทางปกครองโดยใช้หลักการกระจายอํานาจทางปกครองและเป็นการกระจายอํานาจในทางเขตแดนหรือในทางพื้นที่ โดยที่รัฐจะมอบความเป็นนิติบุคคลให้แก่ชุมชนในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดที่มีความพร้อมที่จะบริหารกิจการของตนเอง โดยการจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วรัฐบาลส่วนกลางก็จะกระจายอํานาจหรือถ่ายโอนภารกิจหรือบริการ สาธารณะบางส่วนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดําเนินการแทนรัฐ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้น มีอํานาจหน้าที่เป็นของตนเอง มีรายได้เป็นของตนเอง และมีองค์กรในการบริหารงานเป็นของตนเอง เพียงแต่ ยังคงอยู่ภายใต้อํานาจการกํากับดูแลของส่วนกลาง

สําหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของไทยนั้น มีอยู่ 2 ระบบ ได้แก่

1 ระบบทั่วไป ที่ใช้แก่ท้องถิ่นทั่วไป ซึ่งมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ

(1) เทศบาล ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

(2) องค์การบริหารส่วนตําบล ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราช บัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 และ

(3) องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราช บัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

2 ระบบพิเศษ ที่ใช้เฉพาะท้องถิ่นบางแห่ง ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ

(1) กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และ

(2) เมืองพัทยา ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542

 

 

ข้อ 3. “กฎ” และ “คําสั่งทางปาครอง” คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และมาตรา 3 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ให้นิยามของ “กฎ” ไว้เช่นเดียวกันว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

จากนิยามข้างต้น จะเห็นได้ว่า “กฎ” จะมีลักษณะที่สําคัญอยู่ 2 ประการ คือ

(1) บุคคลที่ถูกบังคับให้กระทําการ ถูกห้ามมิให้กระทําการ หรือได้รับอนุญาตให้กระทําการ ต้องเป็นบุคคลที่ถูกนิยามไว้เป็นประเภท เช่น ผู้เยาว์ คนต่างด้าว ข้าราชการพลเรือนสามัญ ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่อาจ ทราบจํานวนที่แน่นอนของบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับของข้อความที่บังคับให้กระทําการ ห้ามมิให้กระทําการ หรือ อนุญาตให้กระทําการได้

(2) กรณีที่บุคคลซึ่งถูกนิยามไว้เป็นประเภทจะถูกบังคับให้กระทําการ ถูกห้ามมิให้กระทําการ หรือได้รับอนุญาตให้กระทําการ ต้องเป็นกรณีที่ถูกกําหนดไว้อย่างเป็นนามธรรม (Abstract) เช่น บังคับให้กระทําการ ทุกครั้งที่มีกรณีตามที่กําหนดไว้เกิดขึ้นหรือได้รับอนุญาตให้กระทําการทุกวันสิ้นเดือน เช่น ห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่ บนรถโดยสารประจําทาง ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ข้าราชการกรม กองต้องแต่งเครื่องแบบมาทํางาน ทุกวันจันทร์ เป็นต้น

ส่วน “คําสั่งทางปกครอง” นั้นมีการบัญญัตินิยามไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติ ราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนี้

“คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะ เป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย อุทธรณ์ การรับรอง และการรับ จดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง

จากนิยามข้างต้น จะเห็นได้ว่า “คําสั่งทางปกครอง” จะมีองค์ประกอบหรือสาระสําคัญอยู่ 5 ประการ คือ

(1) ต้องเป็นการกระทําโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

(2) ต้องเป็นการกระทําที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

(3) ต้องเป็นการกระทําที่มีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้าง นิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคล

(4) ต้องเป็นการกระทําที่มีผลใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

(5) ต้องเป็นการกระทําที่มีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

ตัวอย่าง การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาศัยอํานาจตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกใบอนุญาตให้นายดําก่อสร้างอาคาร ใบอนุญาตดังกล่าวถือว่าเป็น คําสั่งทางปกครอง เป็นต้น

จากความหมายและสาระสําคัญของคําว่า “กฎ” และ “คําสั่งทางปกครอง” ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า “กฎ” และ “คําสั่งทางปกครอง” จะมีลักษณะที่เหมือนกันคือ ต่างก็เป็น “นิติกรรมทางปกครอง กล่าวคือ เป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล แต่มีข้อแตกต่างกัน อยู่ที่ว่า “กฎ” นั้นมีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ส่วน “คําสั่งทางปกครอง” นั้นมีผลบังคับแก่กรณีใดและหรือแก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ

 

 

ข้อ 4. ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้มีคําสั่งเป็นหนังสือให้นายเอกนายกองค์การบริหารส่วนตําบลฯ พ้นจากตําแหน่งตามที่นายอําเภอฯ ได้สอบสวนและมีหนังสือเสนอฯ ซึ่งตามมาตรา 92 พ.ร.บ. สภาตําบล และองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 บัญญัติให้คําสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว “เป็นที่สุด” วันรุ่งขึ้นนายเอกได้ยื่นอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ว่าการสอบสวน ในกรณีนี้ตนมิเคยได้รับแจ้งให้ทราบข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ซึ่งทําให้ไม่สามารถ โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานได้ ระหว่างที่นายเอกรอการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ หากนายเอกประสงค์จะฟ้องกรณีนี้เป็นคดีต่อศาลปกครองโดยขอให้ศาลฯ เพิกถอนคําสั่งฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ที่ให้ตนพ้นจากตําแหน่งๆ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลปกครองมีอํานาจที่จะ รับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผลในการตอบ โดยชัดแจ้ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

ตาม พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 มาตรา 92 “หากปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตําบล กระทําการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของ ประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ ให้นายอําเภอดําเนินการสอบสวนโดยเร็ว ในกรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตําบล มีพฤติกรรมดังกล่าวจริง ให้นายอําเภอ เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตําแหน่ง ทั้งนี้ คําสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด”

ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่ คําสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่าง เพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน”

ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฏ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดเนื่องจากกระทําโดยไม่มีอํานาจหรือ นอกเหนืออํานาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็น สาระสําคัญที่กําหนดไว้สําหรับการกระทํานั้น”

มาตรา 42 “ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดย มือาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอํานาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคําบังคับตามที่กําหนดใน มาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ในกรณีที่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนหรือวิธีการสําหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย ในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทําได้ต่อเมื่อมีการดําเนินการตามขั้นตอนและ วิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลา ที่กฎหมายนั้นกําหนด”

มาตรา 72 “ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอํานาจกําหนดคําบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคําสั่ง หรือสั่งห้ามการกระทําทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มี การฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 (1)”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ประกอบกับหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น สามารถแยกประเด็น วินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคําสั่งให้นายเอกพ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหาร ส่วนตําบลฯ ตามที่นายอําเภอเสนอนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอํานาจกระทําได้ตาม พ.ร.บ.สภาตําบลและองค์การ บริหารส่วนตําบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 และคําสั่งดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นให้เป็นที่สุด

และที่ว่าคําสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุดนั้น หมายความเฉพาะให้เป็นที่สุดภายในของ ฝ่ายปกครองเท่านั้น ถ้าหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า คําสั่งทางปกครองนั้น (คําสั่งให้นายเอกพ้นจากตําแหน่งนายก องค์การบริหารส่วนตําบลฯ) เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ต้องห้ามในการที่จะนําคดีนั้นไปฟ้องร้องต่อศาล ปกครองเพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนคําสั่งนั้นได้ โดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

ประเด็นที่ 2 แม้นายอําเภอจะให้มีการสอบสวนเป็นการลับ แต่เมื่อคําสั่งฯ ที่ออกมานั้น มีผลกระทบต่อสิทธิของนายเอกโดยตรง การที่คณะกรรมการฯ มิได้แจ้งให้นายเอกทราบข้อเท็จจริงตามที่ ถูกกล่าวหาซึ่งทําให้นายเอกไม่สามารถโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนได้เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ประเด็นที่ 3 เมื่อนายเอกเห็นว่าคําสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นคําสั่งทางปกครองไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทําโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสําคัญที่กําหนดไว้ สําหรับการกระทํานั้น นายเอกสามารถนําคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคําสั่งทางปกครองดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 72 (1) เนื่องจากนายเอกเป็นผู้ได้รับ ความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทําของ เจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น หากนายเอกประสงค์จะฟ้องกรณีเป็นคดีต่อศาลปกครอง โดยขอให้ศาลปกครองเพิกถอน คําสังฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้ตนพ้นจากตําแหน่ง ศาลปกครองย่อมมีอํานาจที่จะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้

สรุป

ศาลปกครองมีอํานาจที่จะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้

Advertisement