การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. ก) ตามข้อ 51 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ พ.ศ. 2538 กําหนดให้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนออื่นของผู้เข้าเสนอราคา ทุกรายและคัดเลือกรายที่เสนอได้ตรงและใกล้เคียงมาตรฐาน และให้เปิดซองข้อเสนอด้านราคา เฉพาะรายที่ได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกตามข้อเสนอด้านเทคนิคแล้ว ต่อมากรุงเทพมหานครต้องการก่อสร้างอาคารสูง 5 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่ทําการแห่งใหม่ของ สํานักงานเขตแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร มีผู้ยื่นซองประมูลรับเหมาก่อสร้างหลายราย คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาพิจารณาแล้วมีมติว่าข้อเสนอทางเทคนิคของ นายแดงต่ำกว่ามาตรฐานจึงไม่ได้รับการพิจารณาข้อเสนอทางด้านราคาต่อไป ขอให้ท่านวินิจฉัยว่าการมีมติของคณะกรรมการดังกล่าว เป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ข) นายเขียวได้ไปงานปีใหม่กับเพื่อนในต่างจังหวัดซึ่งมีการเฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้นมีการจุดพลุดอกไม้ไฟ นายเขียวจึงยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเป็นการแสดงออกในการต้อนรับปีใหม่ของตน ปรากฏว่า นายเขียวถูกตํารวจจับและศาลลงโทษจําคุก 10 วัน ปรับห้าร้อยบาท ต่อมากระทรวงมหาดไทย เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการในตําแหน่งปลัดอําเภอ นายเขียวมาสมัครเข้ารับราชการ ดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

ก) ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง”หมายความว่า

1 การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่า จะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย การอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

2 การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง

และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2543) ออกตามความใน พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทาง ปกครอง พ.ศ. 2539 กําหนดให้ “การดําเนินการของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหา หรือการให้สิทธิประโยชน์ใน กรณีดังต่อไปนี้ เป็นคําสั่งทางปกครอง คือ

1 การดําเนินการเกี่ยวกับการจัดหาหรือให้สิทธิประโยชน์ในกรณีของ

(ก) การสั่งรับหรือไม่รับคําเสนอขาย รับจ้าง แลกเปลี่ยน ให้เช่าซื้อ เช่า หรือให้สิทธิ ประโยชน์

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาพิจารณาแล้วมีมติว่า ข้อเสนอทางเทคนิคของนายแดงต่ํากว่ามาตรฐานจึงไม่ได้รับการพิจารณาข้อเสนอทางด้านราคาต่อไปนั้น ถือเป็นการ ดําเนินการเกี่ยวกับการจัดหาในกรณีการสั่งไม่รับคําเสนอรับจ้างของนายแดง จึงมีผลกระทบต่อสถานภาพของ สิทธิของนายแดง จึงเป็นคําสั่งทางปกครอง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2543) ข้อ 1 (ก) ดังกล่าวข้างต้น การประปา สรุป การมีมติของคณะกรรมการดังกล่าว เป็นคําสั่งทางปกครอง

ข) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 36 ข. (7) “ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ข. ลักษณะต้องห้าม

(7) เป็นผู้เคยต้องรับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกเพราะกระทําความผิด อาญา เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ”

และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 102 บัญญัติว่า “ความผิดลหุโทษคือความผิดซึ่งต้อง ระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับเช่นว่านี้ด้วยกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวได้ใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าจนถูกตํารวจจับและศาลได้ลงโทษจําคุก นายเขียว 10 วัน และปรับห้าร้อยบาทนั้น ความผิดที่นายเขียวได้กระทําถือเป็นความผิดลหุโทษตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 102 ดังนั้นเมื่อกระทรวงมหาดไทยเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการในตําแหน่งปลัดอําเภอ นายเขียวย่อมสามารถมาสมัครเข้ารับราชการดังกล่าวได้ เพราะนายเขียวไม่ได้เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 36 ข. (7)

สรุป

นายเขียวสามารถมาสมัครเข้ารับราชการดังกล่าวได้

 

 

ข้อ 2. หลักนิติรัฐ คืออะไร มีความสัมพันธ์กับกฎหมายปกครองอย่างไร จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

“หลักนิติรัฐ” คือ หลักการปกครองโดยยึดกฎหมายเป็นใหญ่ และกฎหมายที่นํามาใช้นั้น จะต้องมาจากประชาชน มิใช่มาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และการใช้อํานาจของฝ่ายปกครอง ต้องสามารถตรวจสอบและควบคุมได้

สาระสําคัญของหลักนิติรัฐ มีอยู่ 3 ประการ ดังนี้คือ

1 บรรดาการกระทําทั้งหลายขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมาย ที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะมีอํานาจสั่งการให้ราษฎร กระทําการหรือละเว้นไม่กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ก็ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อํานาจไว้อย่าง ชัดแจ้งและจะต้องใช้อํานาจนั้นภายในกรอบที่กฎหมายกําหนดไว้ .

2 บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วย รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ให้อํานาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่ง เสรีภาพของราษฎรนั้น จะต้องมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนพอสมควรว่าให้องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารองค์กรใดมี อํานาจล่วงล้ําเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใดและภายในขอบเขตอย่างใด และกฎหมาย ดังกล่าวจะต้องไม่ให้อํานาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ําเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรเกิน ขอบเขตแห่งความจําเป็นเพื่อธํารงรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์สาธารณะ

3 การควบคุมไม่ให้การกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมายก็ดี การ ควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี จะต้องเป็นอํานาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งมี ความเป็นอิสระจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร และองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ โดยองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งทําหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือของการกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร อาจจะเป็นองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการอีกองค์กรหนึ่งแยกต่างหากจากองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งทําหน้าที่ พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาก็ได้

หลักนิติรัฐมีความสัมพันธ์กับกฎหมายปกครอง ดังนี้คือ

1 กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่กําหนดให้องค์กรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐมีอํานาจรัฐ หรืออํานาจมหาชนที่จะกําหนดกฎเกณฑ์หรือออกคําสั่งให้เอกชนต้องปฏิบัติตามได้โดยไม่จําเป็นต้องอาศัย ความสมัครใจหรือความยินยอมของเอกชน เช่น กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองจะกําหนดว่าในพื้นที่ “สีเขียว” ห้าม การก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างใด ๆ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารจะกําหนดว่า การก่อสร้างอาคารจะต้องได้รับอนุญาต และอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงานท้องถิ่น กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกจะกําหนดให้เจ้าพนักงานจราจร จัดระเบียบการจราจรให้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องปฏิบัติตาม กฎหมายต่าง ๆ ที่ควบคุมการประกอบอาชีพของเอกชน ฯลฯ นอกจากนี้ กฎหมายปกครองยังเป็นกฎหมายที่กําหนดให้องค์กรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐมีอํานาจรัฐหรืออํานาจ มหาชนที่จะบังคับใช้กฎหมายโดยบังคับให้เอกชนปฏิบัติตามกฎหมาย หากเอกชนใดฝ่าฝืนกฎหมายก็ให้องค์กร ของรัฐหรือบุคลากรของรัฐมีอํานาจตามกฎหมายที่จะบังคับการได้เองโดยไม่ต้องไปร้องขอต่อศาลให้ศาลบังคับให้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกให้อํานาจแก่เจ้าพนักงานจราจรในอันที่จะใช้รถยกของตนลากรถยนต์ที่จอดใน ที่ห้ามจอดไปไว้ที่สถานีตํารวจได้ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารให้อํานาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นในอันที่จะเข้า ดําเนินการรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าของอาคารไม่ยอมปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ที่ให้รื้อถอนอาคารดังกล่าว

2 กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่กําหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้อํานาจ โดยองค์กรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ และเป็นกฎหมายที่กําหนดกฎเกณฑ์ในการควบคุมการใช้อํานาจดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเฉพาะหรือกฎหมายที่กําหนดมาตรฐานกลาง เช่น กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เป็นต้น

 

 

ข้อ 3. ตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล คืออะไร เหมือนกันหรือไม่ ถ้าไม่ แตกต่างกันอย่างไร และมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 51 บัญญัติว่า ให้จัดระเบียบ บริหารราชการส่วนภูมิภาค ดังนี้ (1) จังหวัด (2) อําเภอ และมาตรา 68 บัญญัติว่า การจัดการปกครองอําเภอ นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่

“ตําบล” เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคตาม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 62 ซึ่งบัญญัติว่า ท้องที่หลายตําบลอันสมควรอยู่ในความปกครองอันเดียวกันให้จัดตั้งเป็น อําเภอหนึ่ง และมาตรา 29 บัญญัติว่า การจัดตั้งตําบลนั้นเป็นอํานาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะพิจารณากําหนดเขต แล้วรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย เมื่อกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบด้วยก็ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งตําบลขึ้นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ตําบลต้องรวมหมู่บ้านราว 20 หมู่บ้าน

ในการปกครองตําบลมีเจ้าหน้าที่คือกํานัน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย แต่ไม่มีฐานะ เป็นข้าราชการ โดยได้รับเลือกจากราษฎรในตําบลนั้น โดยเลือกจากผู้ใหญ่บ้านตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเลือกตั้งกํานันผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจําตําบลซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ในวิชาแพทย์

ส่วน “องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 ซึ่งได้กําหนดว่า สภาตําบลที่มีรายได้โดยไม่รวม เงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ํากว่าปีละ 150,000 บาท หรือตามเกณฑ์ รายได้เฉลี่ยตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกําหนด อาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตําบลได้ โดยทําเป็น ประกาศของกระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนตําบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอาจเปลี่ยนฐานะเป็น เทศบาลได้โดยทําเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทย

การจัดระเบียบในองค์การบริหารส่วนตําบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตําบล ซึ่งสมาชิกสภาได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตําบลนั้น และนายกองค์การ บริหารส่วนตําบลซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

 

 

ข้อ 4. นายกเทศมนตรีฯ ได้มีประกาศเทศบาลเรื่องการปรับอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บขยะใหม่หลังจากไม่ได้ปรับมา 18 ปี จากหลังคาเรือนละ 10 บาท เป็น 20 บาทต่อเดือน นายเอกซึ่งมีภูมิลําเนาใน เขตเทศบาลฯ จึงได้ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีฯ เป็นคดีต่อศาลปกครองและขอให้ศาลปกครอง เพิกถอนประกาศฯ เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุเพราะเทศบัญญัติเรื่องการกําจัดขยะมูลฝอย ได้กําหนดค่าเก็บขยะไว้เพียงเดือนละ 10 บาทเท่านั้น ประกาศการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียม การเก็บขยะให้ต่างไปจากที่เทศบัญญัติกําหนดไว้โดยไม่ได้มีการแก้ไขเทศบัญญัติฉบับเดิมเสียก่อน จึงเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ โดยที่นายเอกยังไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งประกาศฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลปกครองมีอํานาจที่จะรับฟ้องคดีของนายเอก ไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และจะมีคําสั่งหรือคําวินิจฉัยในคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด ให้ตอบโดยยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผลในการตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติ ท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด หรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

มาตรา 44 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออก โดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คําสั่ง ทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว”

ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ในมาตรา 3 “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติ ท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด หรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

มาตรา 9 “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่อง ดังต่อไปนี้

คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดเนื่องจากกระทําโดยไม่มีอํานาจหรือ นอกเหนืออํานาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็น สาระสําคัญที่กําหนดไว้สําหรับการกระทํานั้น”

มาตรา 42 “ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดย มิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอํานาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคําบังคับตามที่กําหนดใน มาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ในกรณีที่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนหรือวิธีการสําหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย ในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทําได้ต่อเมื่อมีการดําเนินการตามขั้นตอนและ วิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลา ที่กฎหมายนั้นกําหนด

มาตรา 72 “ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอํานาจกําหนดคําบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคําสั่ง หรือสั่งห้ามการกระทําทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มี การฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 (1)”

และตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496

มาตรา 60 “เทศบาลมีอํานาจตราเทศบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมายในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ของเทศบาลที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกเทศมนตรีฯ ได้มีประกาศเทศบาลเรื่องการปรับอัตราค่าธรรมเนียม การเก็บขยะใหม่นั้น ถือเป็นการออกประกาศฯ เพื่อปฏิบัติตามเทศบัญญัติเรื่องการกําจัดขยะมูลฝอย ดังนั้นประกาศฯ ที่ออกตามเทศบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในความหมายของคําว่า “กฎ” ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ

เมื่อการออกประกาศฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บขยะมูลฝอยให้ต่างไปจาก ที่เทศบัญญัติฯ ได้กําหนดไว้ให้ต่างไปจากเดิม โดยไม่ได้มีการแก้ไขเทศบัญญัติฯ ฉบับเดิมเสียก่อน จึงเป็นการ กระทําโดยปราศจากอํานาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกระทําที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบอันเป็น สาระสําคัญที่กําหนดไว้สําหรับการกระทํานั้นตามมาตรา 60 (1) แห่ง พ.ร.บ. เทศบาลฯ และมาตรา 9 (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ดังนั้นนายเอกซึ่งมีภูมิลําเนาอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลฯ ย่อมเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายโดยตรงจากการออกประกาศฯ ดังกล่าวตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ นายเอกจึงมีสิทธิฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองพิพากษาสั่งให้เพิกถอนกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังกล่าวได้ตามมาตรา 72 (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีที่เป็นการออกกฏโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเทศบาลฯ ในกรณีนี้นั้น นายเอกย่อมสามารถใช้สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อผู้ออกกฎก่อน แต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนหรือวิธีการไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นนายเอกผู้ฟ้องคดีจึงไม่อยู่ใน บังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ

ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอํานาจที่จะรับฟ้องคดีของนายเอกไว้พิจารณาได้ และมีอํานาจพิพากษา สั่งให้เพิกถอนประกาศฯ ของเทศบาลดังกล่าวได้

สรุป

ศาลปกครองมีอํานาจที่จะรับฟ้องคดีของนายเอกไว้พิจารณาได้ และจะมีคําสั่งให้เพิกถอน ประกาศฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเทศบาลดังกล่าว

Advertisement