การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ยื่นฟ้องนายเฉียงและนายกระทิงเป็นจําเลยร่วมกันโดยบรรยายฟ้องว่า “นายเฉียงเป็นลูกจ้างของนายกระทิงขับรถส่งน้ำแข็งในทางการที่จ้างของนายกระทิงโดยประมาทด้วยความเร็วสูงชนโจทก์ ขณะที่โจทก์ยืนกําลังจะข้ามถนนอยู่ได้รับความเสียหายเป็นการทําละเมิดโจทก์ ขอให้นายเฉียงและ นายกระทิงร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ 1 ล้านบาท” นายเฉียงยื่นคําให้การยอมรับตามฟ้อง แต่นายกระทิงยื่นคําให้การปฏิเสธว่า “ในวันเกิดเหตุนายเฉียง ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของนายกระทิง ยังอยู่ในช่วงทดลองงานอยู่ และในขณะเกิดเหตุนายเฉียงเลิกงาน แล้วแต่ได้ยืมรถของนายกระทิงไปทําธุระส่วนตัว จึงไม่ได้กระทําการไปในทางการที่จ้าง อีกทั้งการ ขับรถชนดังกล่าวมิได้เกิดจากความประมาทของนายเฉียง แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยเพราะมีรถมาตัดหน้า ในระยะกระชั้นชิด ขอให้ศาลยกฟ้อง” ในวันชี้สองสถาน ศาลได้ถามนายกระทิงว่าจะยืนยันคําให้การหรือไม่ นายกระทิงจึงตอบด้วยวาจาว่า “นายกระทิงยอมรับว่านายเฉียงเป็นลูกจ้างจริงไม่ได้อยู่ในช่วงทดลองงาน แต่นายเฉียงกระทําไปเพราะ เหตุส่วนตัว ไม่ได้กระทําการในทางการที่จ้าง อีกทั้งเหตุละเมิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 แต่โจทก์นํามาฟ้องวันที่ 20 เมษายน 2558 เกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความในคดีละเมิดแล้ว”

ให้ท่านกําหนดประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ หากโจทก์และจําเลยทั้งสองไม่นําพยานหลักฐาน เข้าสืบ ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 1 “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(5) “คําคู่ความ” หมายความว่า บรรดาคําฟ้อง คําให้การ หรือคําร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาล เพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 “ ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับ และเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้ คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคแรก “บุคคลใดครอบครองหรือ ควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ ยานพาหนะนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 หากโจทก์และจําเลยทั้งสองไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ดังนั้น จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยทั้งสองตามอุทาหรณ์ คดีจึงมีประเด็น ข้อพิพาท ดังนี้

1 นายเฉียงเป็นลูกจ้างของนายกระทิงหรือไม่

2 นายเฉียงกระทําไปในทางการที่จ้างของนายกระทิงหรือไม่

3 การกระทําละเมิดของนายเฉียงเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม ในวันชี้สองสถาน เมื่อนายกระทิงรับแล้วว่านายเฉียงเป็นลูกจ้างของตนจริง จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว แม้นายกระทิงจะแถลงด้วยวาจาย่อมเป็นอันยุติ ดังนั้น ประเด็นที่ว่า นายเฉียงเป็นลูกจ้างของนายกระทิงหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันต่อไป ไม่ต้องกําหนดเป็นประเด็น ข้อพิพาท และแม้นายกระทิงจะแถลงเพิ่มประเด็นเรื่องอายุความเข้ามา แต่ศาลก็ไม่อาจทิ้งเรื่องอายุความเป็น ประเด็นข้อพิพาทได้ เพราะไม่ได้อยู่ในคําคู่ความจึงมีเหลือเพียงสองประเด็นคือ นายเฉียงกระทําไปในทางการที่ จ้างของนายกระทิงหรือไม่ และการทําละเมิดของนายเฉียงเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นแรกที่ว่า นายเฉียงกระทําไปในทางการที่จ้างของนายกระทิงหรือไม่ เมื่อโจทก์ กล่าวอ้างว่านายเฉียงจําเลยกระทําในทางการที่จ้าง และนายกระทิงจําเลยปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างย่อมมี ภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 เมื่อโจทก์ไม่ได้นําพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ในประเด็นนี้ ศาลต้องฟัง ตามคําให้การของนายกระทิงคือ นายเฉียงไม่ได้ทําการในทางการที่จ้าง

ประเด็นที่สองที่ว่า การทําละเมิดของนายเฉียงเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าว อ้างว่าจําเลยครอบครองหรือควบคุมดูแลรถส่งน้ําแข็งซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรและจําเลย ไม่ได้ให้การปฏิเสธ โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคแรก ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้อง รับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

ดังนั้น เมื่อจําเลยให้การกล่าวอ้างว่าความเสียหายเกิดขึ้น เพราะเหตุสุดวิสัย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลย เมื่อจําเลยไม่ได้นําพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ ในประเด็นนี้ ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย

 

ประเด็นที่ 3 หากโจทก์และจําเลยทั้งสองไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ฝ่ายใดจะชนะคดี

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทําของนายเฉียงไม่ได้กระทําการในทางการที่จ้างของนายกระทิง นายกระทิงจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายเฉียงด้วย ศาลต้องพิพากษายกฟ้องในส่วนของนายกระทิง ให้นายกระทิงชนะคดี ส่วนกรณีของนายเฉียง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่นายเฉียงขับรถชนโจทก์นั้นไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย อีกทั้ง นายเฉียงก็ให้การยอมรับตามฟ้อง ศาลจึงต้องพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ดังนี้

1 นายเฉียงกระทําไปในทางการที่นายจ้างหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

2 การทําละเมิดของนายเฉียงจําเลยเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่

จําเลย (นายกระทิง)

และหากโจทก์และจําเลยทั้งสองไม่นําพยานหลักฐานเข้าสืบ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องในส่วน ของนายกระทิงให้นายกระทิงชนะคดี แต่ในส่วนของนายเฉียง ศาลต้องพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

 

ข้อ 2 พนักงานอัยการโจทก์อ้างพยานบุคคลเป็นพยานดังนี้

คนที่ 1 บาทหลวงชาคริตเป็นชาวอังกฤษ เบิกความว่า “วันเกิดเหตุตนยืนอยู่บริเวณหน้าตึกเกิดเหตุ เห็นจําเลยถือปืนวิ่งตามผู้เสียหายไปยังหลังตึก หายไปสักครู่หนึ่งจึงได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด”

คนที่ 2 เด็กชายสมคิดอายุ 13 ปี เบิกความว่า “ตนอยู่ที่ตึกเกิดเหตุชั้นบน เห็นผู้เสียหายวิ่งมาหลบที่หลังตึกและจําเลยก็วิ่งตามมาแล้วยิงปืนไปยังผู้เสียหาย”

คนที่ 3 ดาบตํารวจสมหมายเบิกความว่า “ตนยืนควบคุมการจราจรอยู่ที่หน้าตึกเกิดเหตุ ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นบริเวณหลังตึก จึงรีบเข้าไปดู เห็นผู้เสียหายโดนยิงบริเวณแขน และเห็นจําเลยถือปืนกําลังวิ่งหลบหนีไป”

ให้ท่านวินิจฉัยว่า พยานทั้งสามคนนี้เป็นประจักษ์พยานหรือพยานบอกเล่า และพยานทั้งสามคนนี้ต้องสาบานตนก่อนเบิกความหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 95 วรรคแรก “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้น

(1) สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้

(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเอง โดยตรง”

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณี แห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่

(1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

(2) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ

(3) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา

(4) บุคคลซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณ”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวล กฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ เท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

วินิจฉัย

ในการรับฟังพยานนั้น ตามบทบัญญัติ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 วรรคแรก ได้กําหนดห้ามมิให้รับ ฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้นเป็นผู้ได้เห็น ได้ยิน หรือได้ทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วย ตนเอง ซึ่งในส่วนของพยานบุคคลนั้นก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประจักษ์พยานและพยานบอกเล่า

ประจักษ์พยาน หมายถึง พยานบุคคลที่ได้สัมผัสข้อเท็จจริงที่จะเบิกความมาด้วยตนเอง เช่น แดงเบิกความว่าเห็น ก. แทง ข. ดังนี้ แดงเป็นประจักษ์พยาน

ส่วนพยานบอกเล่า หมายถึง พยานบุคคลที่มิได้สัมผัสข้อเท็จจริงที่เบิกความมาด้วยตนเอง แต่รับทราบมาจากการบอกเล่าของบุคคลอื่น หรือบันทึกที่บุคคลอื่นทําไว้ เช่น ดําเบิกความว่า แดงเล่าให้ฟังว่า เห็น ก. แทง ข. ดังนี้ ดําเป็นพยานบอกเล่า

กรณีตามอุทาหรณ์

พยานบุคคลทั้งสามคน คือ บาทหลวงชาคริต เด็กชายสมคิด และ ดาบตํารวจสมหมาย ต่างก็เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยินเหตุการณ์มาด้วยตนเอง มิได้ไปฟังการบอกเล่าจากบุคคลใดมา ดังนั้น พยานบุคคลทั้งสามคนนี้จึงเป็นประจักษ์พยานที่รับฟังได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 หาใช่พยานบอกเล่าแต่อย่างใด

และในกรณีของพยานบุคคลนั้น กฎหมายยังบังคับให้พยานทุกคนต้องสาบานตนก่อนเบิกความ อีกด้วย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 กําหนดไว้ เช่น เป็นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นต้น ดังนั้น ทั้งบาทหลวงชาคริตและดาบตํารวจสมหมายจึงต้องสาบานตนก่อนเบิกความ แต่เด็กชายสมคิดอายุ 13 ปี ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จึงไม่จําต้องสาบานตนก่อนเบิกความแต่อย่างใดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป

พยานทั้งสามคนนี้ถือเป็นประจักษ์พยาน โดยบาทหลวงชาคริตและดาบตํารวจ สมหมาย จะต้องสาบานตนก่อนเบิกความ ส่วนเด็กชายสมคิดไม่จําต้องสาบานตนก่อนเบิกความแต่อย่างใด

 

ข้อ 3 โจทก์นํารูปถ่ายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจําเลยมาฟ้องให้จําเลยชําระเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยมีการระบุรูปถ่ายสัญญาในบัญชีระบุพยานและส่งสําเนาให้คู่ความอีกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว จําเลย ยื่นคําให้การว่าชําระหนี้โจทก์ไปหมดแล้วขอให้ยกฟ้องโดยจําเลยไม่ได้คัดค้านอะไร ในวันสืบพยาน โจทก์จึงนํารูปถ่ายสัญญาเข้าสืบ จําเลยคัดค้านว่าศาลไม่สามารถรับฟังรูปถ่ายสัญญาซื้อขายได้ ศาลต้องรับฟังต้นฉบับเอกสารเท่านั้น ภายหลังจากที่โจทก์สืบพยานเสร็จ จําเลยต้องการจะนําตัว นายทรงกรดมาสืบว่ารูปถ่ายสัญญานั้นเป็นรูปถ่ายสัญญาปลอม

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะสามารถ รับฟังรูปถ่ายสัญญาซื้อขายที่ดินได้หรือไม่ และจําเลยจะขอนําตัวนายทรงกรดเข้ามาสืบว่ารูปถ่ายนั้น เป็นรูปถ่ายสัญญาปลอมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่

(4) เมื่อคู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตน มิได้คัดค้านการนําเอกสารนั้นมาสืบตามมาตรา 125 ให้ศาลรับฟังสําเนาเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอํานาจศาลตามมาตรา 125 วรรคสาม

มาตรา 125 วรรคแรกและวรรคสาม “คู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็น พยานหลักฐานยันตน อาจคัดค้านการนําเอกสารนั้นมาสืบโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับ หรือบางส่วน หรือสําเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ โดยคัดค้านต่อศาลก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ

ถ้าคู่ความซึ่งประสงค์จะคัดค้านไม่คัดค้านการอ้างเอกสารเสียก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ หรือศาลไม่อนุญาตให้คัดค้านภายหลังนั้น ห้ามมิให้คู่ความนั้นคัดค้านการมีอยู่ และความแท้จริงของเอกสารนั้น หรือความถูกต้องแห่งสําเนาเอกสารนั้น…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์นํารูปถ่ายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจําเลยมาฟ้อง ให้จําเลยชําระเงินค่าซื้อขายที่ดิน โดยมีการระบุรูปถ่ายสัญญาในบัญชีระบุพยานและส่งสําเนาให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง เรียบร้อยแล้วนั้น รูปถ่ายสัญญาซื้อขายดังกล่าวถือเป็นสําเนาเอกสาร โดยหลักห้ามศาลรับฟังเว้นแต่เข้า ข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (4) คือ กรณีที่ไม่มีการคัดค้านตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 ศาลก็อาจรับฟังได้

ตามข้อเท็จจริง การที่จําเลยคัดค้านสําเนาเอกสารดังกล่าวในวันสืบพยานโจทก์ว่า ศาลไม่สามารถ รับฟังรูปถ่ายสัญญาซื้อขายได้ ย่อมไม่ถือเป็นการคัดค้านตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 ซึ่งกฎหมายกําหนดให้คัดค้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสําเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ เมื่อจําเลยมิได้คัดค้านด้วยเหตุผลดังว่านี้ จึงถือว่าจําเลยยอมรับโดยปริยายแล้วว่า รูปถ่ายสัญญาซื้อขายซึ่งเป็น สําเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว ศาลจึงสามารถรับฟังสําเนาสัญญาได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (4)

อีกทั้งการคัดค้านเอกสารตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 นั้น จะต้องคัดค้านก่อนสืบพยานเอกสาร นั้นเสร็จ เมื่อปรากฏว่า ภายหลังจากที่โจทก์สืบพยานเสร็จ จําเลยต้องการจะนําตัวนายทรงกรดมาสืบว่ารูปถ่ายสัญญา นั้นเป็นรูปถ่ายสัญญาปลอม จึงเป็นการคัดค้านเอกสารภายหลังจากสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จแล้ว ย่อมไม่สามารถ ทําได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125

สรุป

ศาลจะสามารถรับฟังรูปถ่ายสัญญาซื้อขายที่ดินได้ และจําเลยจะขอนําตัวนายทรงกรด เข้าสืบว่ารูปถ่ายนั้นเป็นรูปถ่ายสัญญาปลอมไม่ได้

Advertisement