การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์บริษัทประกันภัยฟ้องให้จําเลยรับผิดตามสัญญาที่ทําไว้กับโจทก์ จําเลยให้การว่าได้ทําสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้จริง แต่จําเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย เพราะผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ดังนี้

ฝ่ายโจทก์หรือจําเลยจะมีหน้าที่นําสืบในประเด็นใดบ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์บริษัทประกันภัยฟ้องให้จําเลยรับผิดตามสัญญาที่ทําไว้กับโจทก์ และจําเลยให้การว่าได้ทําสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้จริง แต่จําเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย เพราะผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ ประกันภัยนั้น จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าวจึงมีประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวว่า มีข้อยกเว้นความรับผิด ตามกรมธรรม์ประกันภัยจริงหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 8/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์อ้างว่าจําเลยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย แต่จําเลยต่อสู้ว่า จําเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย เพราะมีข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเท่ากับจําเลย เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า มีข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จําเลยกล่าวอ้าง ขึ้นใหม่ในคําให้การ ดังนั้น ภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว จึงตกแก่จําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

สรุป

ฝ่ายจําเลยมีหน้าที่นําสืบในประเด็นข้อพิพาทที่ว่า มีข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ ประกันภัยจริงหรือไม่

 

ข้อ 2 พระมหากษัตริย์และพระราชินี เมื่อมาเป็นพยานในศาลมีเอกสิทธิ์ประการใดบ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณี แห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่

(1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

(2) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ (3) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา

(4) บุคคลซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณ”

มาตรา 115 “พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือพระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยานจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ก็ได้ สําหรับ บุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมายจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ กําหนดไว้ตามกฎหมายนั้น ๆ ก็ได้”

จากบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อพระมหากษัตริย์และพระราชินีมาเป็นพยานศาลจะมีเอกสิทธิ์ดังนี้ คือ

1 ไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนเบิกความก็ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 (1)

2 ไม่ต้องเบิกความหรือให้ถ้อยคําใด ๆ ก็ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 115)

 

 

ข้อ 3 โจทก์กับจําเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จําเลยเป็นการตอบแทนที่จําเลยไถ่ถอนจํานองที่ดินพิพาทที่โจทก์เป็นหนี้ธนาคารอยู่ อันเป็นการให้ สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจําเลยประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2) ต่อมาจําเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องถอนคืนการให้ ขอให้บังคับจําเลยโอนที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ ดังนี้ หากในหนังสือสัญญา ให้ที่ดินระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จําเลยสามารถนําสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก…”

 

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก

กรณีตามอุทาหรณ์ จําเลยจะสามารถนําสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดิน เป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องถอนคืนการให้ การที่จําเลยจะนําสืบพยานบุคคล ให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน จําเลยย่อมมีสิทธิทําได้ เพราะกรณีดังกล่าว เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ มิใช่การฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ ดังนั้น การจะนําสืบพยานบุคคล ดังกล่าวของจําเลย จึงไม่ใช่การนําสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร คือสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์ กับจําเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข)

สรุป

จําเลยสามารถนําสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้สิ่งที่มี ค่าภาระติดพันได้

Advertisement