การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันก่อเหตุ  ในวันเวลาเกิดเหตุ  จำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาทในขณะที่ร่างกายอ่อนเพลีย  มีอาการหลับใน  ไม่สามารถบังคับรถยนต์ได้  เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับพุ่งเข้าชนโจทก์ซึ่งเดินอยู่บนบาทวิถี  ได้รับอันตรายสาหัส  ขดให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรวม  500,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี

จำเลยให้การว่า  จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ตามฟ้อง  ในวันเวลาเกิดเหตุ  จำเลยไม่ได้ขับรถด้วยความประมาท  ถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีหลุมมีบ่อหลายแห่ง  จำเลยขับรถยนต์ตามฟ้องมาพบหลุมขนาดใหญ่กลางถนนซึ่งสำนักงานเขตไม่ได้ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยไว้  จำเลยต้องหักหลบหลุมดังกล่าวโดยกะทันหันเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับเสียหลักขึ้นไปบนบาทวิถีและเฉี่ยวชนโจทก์  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์  โจทก์เสียหายเป็นเงิน  500,000  บาท  จริงหรือไม่  จำเลยไม่ทราบ  ไม่รับรอง  โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี  ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา  คำขอบังคับ  และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาขอให้ยกฟ้อง

ในวันชี้สองสถาน  ทนายโจทก์และทนายจำเลย  จำเลย  แถลงร่วมกันว่า  จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์คันก่อเหตุตามฟ้อง  แต่ขณะเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว

ให้วินิจฉัยว่า  คดีนี้มีประเด็นแห่งคดีที่ฟังเป็นยุติและประเด็นข้อพิพาทประการใด  และฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบ

ธงคำตอบ

มาตรา  84  วรรคแรก  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ  เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

มาตรา  177  วรรคสอง  ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า  จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน  รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น

มาตรา  437  วรรคแรก  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

วินิจฉัย

ประเด็นแห่งคดี  หมายถึง  ข้ออ้างหรือข้อต่อสู้ระหว่างโจทก์หรือจำเลยหรือคู่ความฝ่ายอื่นๆ  ซึ่งปรากฏในคำฟ้องหรือในคำให้การหรือคำคู่ความอื่นๆ  (ถ้ามี)

กรณีตามอุทาหรณ์  โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  437  แม้จำเลยให้การต่อสู้คดี  แต่ก็มีประเด็นแห่งคดีที่คู่ความฟังได้เป็นยุติ  ดังนี้

1       ประเด็นตามฟ้องที่ว่า  จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันก่อเหตุหรือไม่  แม้จำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันก่อเหตุตามฟ้อง  แต่จำเลยก็ไม่ได้ให้เหตุแห่งการปฏิเสธ  กรณีต้องถือว่าจำเลยยอมรับในประเด็นที่ว่า  จำเลยครอบครองควบคุมดูแลรถยนต์ตามฟ้องในขณะเกิดเหตุ  แม้ในวันชี้สองสถานทนายโจทก์และทนายจำเลยได้แถลงร่วมกันว่าขณะเกิดเหตุจำเลยไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวก็ตาม  แต่คำแถลงของคู่ความนี้ไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท  (ฎ. 862/2510)  คดีจึงฟังเป็นยุติตามคำให้การที่ถือว่ารับของจำเลย  ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์ตามฟ้องหรือไม่  แม้จำเลยให้การปฏิเสธก็ไม่มีผลกระทบต่อผลแพ้ชนะของคดี  จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัย

2       ประเด็นตามฟ้องที่ว่า  จำเลยต้องรับผิดในการเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่  ในกรณีดังกล่าวจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า  โจทก์ไม่ได้เสียหายจากรถยนต์ที่จำเลยขับ  กรณีต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้รับการเสียหายจากรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองควบคุมดูแล  โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  437  วรรคแรก  จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เพื่อการเสียหายนี้  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเพราะความผิดของโจทก์ผู้เสียหายนั้นเอง  แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การยกเหตุสุดวิสัยหรือเหตุเกิดเพราะความผิดของโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้  ดังนั้น  จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบได้  คดีจึงฟังได้เป็นยุติว่า  จำเลยต้องรับผิดในการเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์  (เทียบ  ฎ. 762/2517)

3       ประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่า  ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม  ในกรณีดังกล่าวจำเลยให้การเพียงยกถ้อยคำตามกฎหมายมาอ้างโดยไม่ได้บรรยายว่าฟ้องโจทก์ไม่ชัดแจ้งอย่างไร  กรณีจึงถือว่าคำให้การของจำเลยแสดงเหตุการณ์ปฏิเสธไม่ชัดแจ้ง  ไม่ชอบด้วย  ป.วิ.พ.  มาตรา  177  วรรคสอง  ดังนั้น  จึงไม่มีประเด็นให้ศาลวินิจฉัย  คดีจึงฟังได้เป็นยุติว่า  คดีของโจทก์ไม่เคลือบคลุม  (ฎ .913/2509,  ฎ. 48/2536)

ดังนั้น  คดีจึงมีประเด็นแห่งคดีที่ฟังเป็นยุติ  ดังนี้

1       จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ

2       จำเลยต้องรับผิดในทางเสียหายที่เกิดขึ้น

3       ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม

สำหรับประเด็นข้อพิพาท  มีดังนี้

1       โจทก์เสียหายเพียงใด

2       โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยสำหรับค่าเสียหายในอัตราร้อยละสิบห้ามต่อปีหรือไม่

ส่วนหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84  วรรคแรก  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด  ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ  ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้

1       ประเด็นข้อพิพาทที่ว่า  โจทก์เสียหายเพียงใดนั้น  ในกรณีดังกล่าวแม้จำเลยต่อสู้ว่า  โจทก์เสียหายเป็นเงิน  500,000  บาท  จริงหรือไม่  จำเลยไม่ทราบไม่รับรอง  กรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์เสียหายเป็นเงิน  500,000  บาท  กรณีเช่นนี้  โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความตามจำนวนค่าเสียหายที่ฟ้องมา  แต่หากโจทก์ไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ตามฟ้อง  ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เองตามสมควร  โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  438  วรรคแรก

2       ประเด็นข้อพิพาทที่ว่า  โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีหรือไม่นั้น  ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยได้เอง  คู่ความไม่ต้องนำสืบ

สรุป  

คดีจึงมีประเด็นแห่งคดีที่ฟังเป็นยุติ  ดังนี้

1       จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ

2       จำเลยต้องรับผิดในทางเสียหายที่เกิดขึ้น

3       ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม

คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบ  ดังนี้

1       โจทก์เสียหายเพียงใด  โจทก์มีหน้าที่นำสืบ

2       โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีหรือไม่  เป็นปัญหาข้อกฎหมายคู่ความไม่ต้องนำสืบ  ศาลวินิจฉัยได้เอง

 


ข้อ  2  เมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2550  นายจูมงชาวเกาหลีใต้ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าถูกคนทำร้ายชิงเอาทรัพย์ไป  นายแดงเห็นเหตุการณ์คนร้ายคือนายดำ  แต่นายจูมงจะต้องเดินทางกลับประเทศของตนโดยด่วน  พนักงานสอบสวนจึงเสนอเรื่องต่อพนักงานอัยการให้ร้องขอต่อศาลขอสืบนายจูมงเป็นพยานไว้ก่อน  โดยยังจับนายดำไม่ได้  ดังนี้  พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอสืบนายจูมงไว้ก่อนฟ้องได้หรือไม่  และถ้าจับนายดำมาฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว  นายแดงถูกทำร้ายอาจถึงแก่ความตายได้ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์  พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายแดงไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  173/2  วรรคสอง

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอ  ศาลจะมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันกำหนดนัดสืบพยานก็ได้

มาตรา  237  ทวิ  วรรคแรก  ก่อนฟ้องคดีต่อศาลเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร  ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง  หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี  หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม  หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า  พนักงานอัยการโดยตนเองได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหายหรือเจ้าพนักงานสอบสวน  จะยื่นคำร้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้  ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด  และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ  ให้พนักงานอัยการนำตัวผู้นั้นมาศาล  หากถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของศาล  ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป

วินิจฉัย

นายจูมงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของนายดำผู้ต้องหาในความผิดฐานชิงทรัพย์  กรณีนี้จึงถือว่านายจูมงเป็นพยานสำคัญในคดี  เมื่อได้ความว่าก่อนฟ้องคดีต่อศาลมีเหตุที่นายจูมงพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร  โดยนายจูมงเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดีทั้งมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า  ดังนั้น  เมื่อพนักงานสอบสวนเสนอคำร้องต่อพนักงานอัยการ  พนักงานอัยการจึงสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลขอสืบนายจูมงไว้ก่อนฟ้องได้  โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่านายดำผู้ต้องหาได้กระทำผิดตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  237  ทวิ  วรรคแรก  ทั้งนี้  แม้จะยังจับตัวนายดำผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดไม่ได้ก็ตาม  (ฎ. 2980/2547)

ส่วนกรณีนายแดงซึ่งเป็นพยานที่เห็นเหตุการณ์  (ประจักษ์พยาน)  พนักงานอัยการโจทก์จะขอสืบนายแดงไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้หรือไม่นั้น  เห็นว่า  หากนายแดงถึงแก่ความตายโดยไม่มีการสืบพยานไว้ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์  ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลของคดีได้  เพราะนายแดงประจักษ์พยานซึ่งถือว่าเป็นพยานที่สำคัญกรณีจึงถือว่ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ที่ต้องมีการสืบนายแดงซึ่งเป็นพยานอันเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีไว้ล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดวันนัดสืบพยาน  ดังนั้น  พนักงานอัยการโจทก์จึงสามารถขอสืบนายแดงพยานไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  173/2  วรรคสอง

สรุป  พนักงานอัยการจึงสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลขอสืบนายจูมงไว้ก่อนฟ้องได้  และสามารถขอสืบนายแดงพยานไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ได้เช่นกัน


ข้อ  3  โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยตามหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน  
80,000  บาท  จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้เป็นเรื่องการเล่นแชร์กัน แล้วนำสืบนายแดงเป็นพยานว่าจำเลยเล่นแชร์กับโจทก์และจำเลยประมูลแชร์ได้  โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นประกันว่าจำเลยจะส่งชำระค่าแชร์ในงวดที่เหลือต่อไปและต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  ซึ่งเป็นการนำสืบตามที่จำเลยให้การต่อสู่  ดังนี้  การนำสืบพยานของจำเลยดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก)  ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร  เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง

(ข)  ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า  ยังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้  มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา  (2)  แห่งมาตรา  93  และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า  พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด  หรือแต่บางส่วน  หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์  หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ย่อมต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร  ในเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง  หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก  เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้  คือ

1       กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย  หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย  หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2       พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3       พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4       สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5       คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

การนำสืบพยานของจำเลยดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยนำสืบนายแดงเป็นพยานตามคำให้การต่อสู้ว่า  ไม่ได้กู้เป็นเรื่องการเล่นแชร์กันซึ่งจำเลยเล่นแชร์กับโจทก์และจำเลยประมูลแชร์ได้  โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นประกันว่าจำเลยจะส่งชำระค่าแชร์ในงวดที่เหลือต่อไป  และต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  การนำสืบพยานจำเลยดังกล่าวเป็นการสืบถึงมูลเหตุที่มาของการทำสัญญากู้  เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์  เพราะจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  เท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94  วรรคท้าย  จำเลยจึงมีสิทธินำพยานบุคคลเข้าสืบได้  หาใช่เป็นการนำสืบถึงการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  653  วรรคสอง  อันจะต้องห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลไม่  (ฎ. 5292/2548)

สรุป  การนำสืบพยานของจำเลยดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement