การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จํานวน 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์หลายครั้งหลายรายการเป็นเงินรวม 100,000 บาท แต่จําเลยชําระค่าสินค้าไม่ครบถ้วน คงค้างชําระ 20,000 บาท ขอให้บังคับจําเลยชําระเงินจํานวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย จําเลยให้การว่าจําเลยไม่ชําระค่าสินค้าตามฟ้องเพราะสินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพ ไม่อาจนําไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญา ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงโดย ชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คําขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคดีของโจทก์ ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องมาภายในกําหนด 2 ปี นับแต่วันส่งมอบ ขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถาน เพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นตามคําให้การ ศาลได้สอบถามจําเลยในข้อที่จําเลยให้การว่าฟ้องของโจทก์ เคลือบคลุม จําเลยแถลงว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ระบุว่าจําเลยซื้อสินค้าอะไรเมื่อไร สินค้าแต่ละรายการเป็นเงินเท่าใด ทําให้จําเลยไม่สามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ ขอให้ศาลกําหนด เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วย ให้วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด และถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

3 ถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องว่าจําเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์หลายครั้งเป็นเงินรวม 100,000 บาท แต่จําเลยชําระค่าสินค้าไม่ครบถ้วน คงค้างชําระ 20,000 บาท จําเลยให้การว่าจําเลยไม่ชําระค่าสินค้าตามฟ้อง เพราะสินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว

จากคําฟ้องและคําให้การดังกล่าวจะมีประเด็นที่คู่ความโต้แย้งกัน คือ

(1) จําเลยต้องชําระ ราคาสินค้าตามฟ้องหรือไม่ และ

(2) คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ดังนั้นคดีนี้จึงมีข้อพิพาทดังนี้ คือ

1 จําเลยต้องชําระราคาสินค้าตามฟ้องหรือไม่

2 คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ส่วนคําให้การของจําเลยที่ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น จําเลยเพียงยกถ้อยคําตามกฎหมาย มาอ้างโดยไม่ได้บรรยายว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชัดแจ้งอย่างไร คําให้การของจําเลยจึงแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไม่ชัดแจ้ง (คําพิพากษาฎีกาที่ 4842536) จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่มีประเด็นให้ศาลวินิจฉัย การที่ จําเลยแถลงขอให้ศาลกําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วยนั้น แม้ในการชี้สองสถาน ศาลมีอํานาจสอบถามคู่ความ เพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นข้อพิพาท แต่การสอบถามนั้นก็จําต้องตรวจจากคําคู่ความที่ชอบด้วยกฎหมาย หากไม่เป็น คําคู่ความที่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว แม้คู่ความจะแถลงเป็นประการใดก็หาอาจทําให้คําคู่ความนั้นกลับเป็นคําคู่ความ ที่ชอบและมีประเด็นขึ้นตามที่ศาลสอบถามและที่คู่ความแถลงไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 122 – 130/2529) กรณีจึง ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจําเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์แล้วไม่ชําระ จําเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจําเลยไม่ได้ซื้อสินค้าไปจากโจทก์ตามฟ้องและชําระครบถ้วนแล้ว ถือว่าจําเลย ให้การรับว่าจําเลยได้ซื้อสินค้าไปจากโจทก์และค้างชําระค่าสินค้าตามฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเรื่องสินค้า ไม่มีคุณภาพขึ้นเป็นข้อต่อสู้ จําเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้

ประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 แม้จําเลยจะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อนี้มาในคําให้การ แต่ศาลฎีกา ได้วินิจฉัยวางบรรทัดฐานไว้ว่า การที่โจทก์ฟ้องนั้นสันนิษฐานว่าเป็นการฟ้องมาภายในกําหนดอายุความ เมื่อจําเลย ให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ปรากฏว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ประเด็นที่ 3 ถ้าคู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี

ในกรณีที่คู่ความต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อ 2. ต้องเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อนี้ และเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายพ้องคดีโจทก์ย่อมแพ้คดีทั้งสํานวน แม้จําเลยแถลง ไม่ติดใจสืบพยานตามภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อ 2. จําเลยก็ย่อมเป็นฝ่ายชนะคดีได้

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ดังนี้

1 จําเลยต้องชําระราคาสินค้าตามฟ้องหรือไม่ จําเลยมีภาระการพิสูจน์

2 คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีภาระการพิสูจน์ และถ้าคู่ความแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน จําเลยย่อมเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ข้อ 2 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง

(ก) ตามคําขออนุญาตตั้งสถานบริการและหนังสือยินยอมของบริษัท ลอยฟ้า จํากัด ซึ่งต้องทําเป็นหนังสือระบุว่าโจทก์เป็นผู้ขอจัดตั้งสถานบริการและได้รับอนุญาตให้จัดตั้งในนามส่วนตัว จําเลยขอนําพยานบุคคลมาสืบว่า โจทก์ขออนุญาตตั้งสถานบริการและได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง ในนามของบริษัท ลอยฟ้า จํากัด โจทก์คัดค้านต่อศาลว่า หากศาลอนุญาตให้จําเลยนําพยาน บุคคลมาสืบได้ก็จะเป็นการนําพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารต้องห้ามตามกฎหมาย

(ข) โจทก์จําเลยตกลงกันและแถลงต่อศาลว่า ขอให้ศาลถือเอาบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีลักทรัพย์ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี และศาลมีคําสั่ง ประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้ว มาเป็นคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นพิจารณาคดีของศาลต่อไป ศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาต หรือในชั้นพิจารณาคดี โจทก์ไม่อาจได้ตัวนายหนุ่มมาเบิกความต่อศาล เพราะติดตามหาตัวไม่พบ ศาลชั้นต้นจึงรับฟังบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในชั้นพิจารณาเพื่อวินิจฉัยคดี ให้วินิจฉัยว่า

กรณีข้อ (ก) คําคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ และในกรณีข้อ (ข) คําสั่งอนุญาต ของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ กับศาลชั้นต้นมีอํานาจรับฟังบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มใน ชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในชั้นพิจารณาได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิด หรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่า ด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 226/5 “ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจําเป็นหรือเหตุอันสมควร ศาลอาจรับฟังบันทึก คําเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือบันทึกคําเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่น ในคดีได้”

มาตรา 237 วรรคสอง “ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคําเบิกความ พยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคําเบิกความพยานในชั้นพิจารณา โดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยาน เบิกความตอบคําถามค้านของจําเลยไปทันทีได้ เว้นแต่ในข้อหาความผิดที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ำจําคุก ตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น”

วินิจฉัย

(ก) ในคดีอาญานั้น พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลย มีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ หรือในกรณีนําพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารก็ สามารถทําได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 ไม่ต้องห้ามเหมือนในคดีแพ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยขอนําพยานบุคคลมาสืบว่าโจทก์ขออนุญาตตั้งสถานบริการ และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งในนามของบริษัท ลอยฟ้า จํากัด มิใช่ในนามส่วนตัว แต่โจทก์คัดค้านว่า หากศาล อนุญาตให้จําเลยนําพยานบุคคลมาสืบได้ก็จะเป็นการนําพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายนั้น คําคัดค้านของโจทก์ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะในคดีอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 นั้น ไม่ได้ห้ามการนําพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารเหมือนในคดีแพ่ง

(ข) จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์

กรณีแรก การที่โจทก์และจําเลยตกลงกันและแถลงต่อศาลว่า ขอให้ศาลถือเอาบันทึก คําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มาเป็นคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นพิจารณาคดีของศาลต่อไป และศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาตนั้น คําสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 วรรคสอง เพราะเป็นกรณีที่คู่ความตกลงกัน และไม่ใช่คดีที่มีข้อหาความผิดที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จําคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งเมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตแล้วนายหนุ่มก็ไม่ต้องมาเบิกความใหม่ ทําให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น

กรณีที่สอง การที่คู่ความไม่ได้ตกลงกันให้นําเอาบันทึกคําเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มาเป็นคําเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาคดีนั้น หากมีเหตุอันสมควร ศาลจะรับฟังบันทึกคําเบิกความพยาน ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/5 ดังนั้นเมื่อโจทก์ ติดตามตัวนายหนุ่มมาเบิกความในชั้นพิจารณาคดีไม่ได้ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร ศาลชั้นต้นจึงมีอํานาจรับฟัง บันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบหลักฐานอื่นของโจทก์ในชั้นพิจารณาเพื่อ วินิจฉัยคดีได้ เพียงแต่เฉพาะบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียงอย่างเดียวจะนํามารับฟัง เพื่อลงโทษจําเลยไม่ได้

สรุป

(ก) คําคัดค้านของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

(ข) กรณีแรก คําสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย

กรณีที่สอง ศาลชั้นต้นมีอํานาจรับฟังบันทึกคําเบิกความของนายหนุ่มในชั้น ไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบหลักฐานอื่นของโจทก์ในชั้นพิจารณาได้

 

ข้อ 3 นายกรุงเทพฟ้องนายต่างจังหวัดกู้เงิน 5 ล้านแล้วไม่ชําระเงินกู้ตามหลักฐานสัญญากู้ ขอให้ศาลบังคับนายต่างจังหวัดให้การว่าตนได้ชําระหนี้เงินกู้แล้ว พร้อมกับขอนํานายต่างประเทศมาสืบให้เห็นถึง การชําระหนี้เงินกู้ของตน อยากทราบว่า กรณีดังกล่าวนี้นายต่างจังหวัดจะนํานายต่างประเทศมาสืบถึงการชําระหนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 653 วรรคสอง “ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงิน ได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่ง การกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94)

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายต่างจังหวัดจะนํานายต่างประเทศมาสืบถึงการชําระหนี้ได้หรือไม่ เห็นว่าเนื่องจากการกู้เงินระหว่างนายต่างจังหวัดกับนายกรุงเทพดังกล่าว เป็นการกู้เงิน โดยมีหลักฐานการกู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 ซึ่งการนําสืบถึงการชําระเงินนั้นก็จะต้องมีหลักฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กล่าวคือจะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสาร อันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืน หรือได้มีการแทงเพิกถอนลงในเอกสารการกู้นั้นแล้ว

เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายกรุงเทพฟ้องให้นายต่างจังหวัดชําระเงินกู้ตามหลักฐาน สัญญากู้นั้น เป็นการฟ้องให้รับผิดตามสัญญากู้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายต่างจังหวัดยอมรับตามสัญญากู้ แต่จะขอนําสืบถึงการชําระเงินกู้ ดังนี้ นายต่างจังหวัดจึงต้องนําเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จะนํานายต่างประเทศเข้ามาสืบถึงการชําระหนี้เงินกู้ของตนแทน พยานเอกสารไม่ได้เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย

สรุป

นายต่างจังหวัดจะนํานายต่างประเทศมาสืบถึงการชําระหนี้ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

 

Advertisement