การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ก. คําท้าในคดีแพ่งหมายถึงอะไร จงอธิบาย

ข. นางใจเริงขับรถชนนางพิมาลาขณะเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายเสียชีวิต มารดานางพิมาลาจึง เป็นโจทก์ฟ้องให้นางใจเริงจําเลยรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด นางใจเริงจําเลยต่อสู้ ในคําให้การว่า มารดานางพิมาลาจะเป็นโจทก์ที่มีอํานาจฟ้องแทนนางพิมาลาหรือไม่ จําเลย ไม่ทราบไม่รับรอง คดีนี้ขาดอายุความแล้ว และการที่นางใจเริงขับรถชนนางพิมาลานั้นเป็นเพราะ นางพิมาลาเดินข้ามถนนขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามสีแดง นางใจเริงจําเลยไม่ต้องรับผิดชอบ คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไร และใครมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

ก. “คําท้า” ในคดีแพ่ง หมายถึง การที่คู่ความฝ่ายหนึ่งแถลงว่าจะรับกันในข้อเท็จจริงอย่างใด อย่างหนึ่ง ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมดําเนินกระบวนพิจารณาเพียงเท่าที่ท้านั้นได้ แต่ถ้าฝ่ายหลังทําไม่ได้ ฝ่ายหลังก็ จะยอมรับในข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายแรกกล่าวอ้าง

หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า คําท้าหรือการท้ากันในศาล คือ การยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน แต่เงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการดําเนินกระบวนพิจารณา

หลักเกณฑ์สําคัญของการทําคําท้า ได้แก่

1 ต้องเป็นการท้ากันในเรื่องการดําเนินกระบวนพิจารณา หรือเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี เพราะถ้าเป็นการท้ากันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีหรือการดําเนินกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่ถือเป็นคําท้า ที่ศาลจะอนุญาต

2 ต้องมีการกําหนดเงื่อนไขว่า ถ้าผลของการดําเนินกระบวนพิจารณาหรือการชี้ขาดออกมา ทางหนึ่งให้ฝ่ายหนึ่งชนะ แต่ถ้าผลออกมาอีกทางหนึ่งก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งชนะ

3 คําท้านั้นจะต้องกระทํากันต่อหน้าศาล และศาลต้องอนุญาต หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่น ไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และ กําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อัน เดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

มาตรา 438 วรรคหนึ่ง “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัย ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การที่มารดาของนางพิมาลาเป็นโจทก์ฟ้องนางใจเริงเป็นจําเลยโดยอ้างว่าจําเลยขับรถ ชนนางพิมาลาขณะเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายเสียชีวิตนั้น เมื่อจําเลยให้การว่ามารดาของนางพิมาลาจะเป็นโจทก์ ที่มีอํานาจฟ้องแทนนางพิมาลาหรือไม่ จําเลยไม่ทราบไม่รับรอง คําให้การเช่นนี้ถือว่าเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่า จําเลยไม่ทราบไม่รับรองในเรื่องอํานาจฟ้องของโจทก์อย่างไร จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่ามารดาของนางพิมาลามีอํานาจฟ้องในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอํานาจฟ้อง

2 การที่จําเลยให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว แต่ในคําให้การของจําเลยไม่ได้อธิบายว่า ขาดอายุความเมื่อใด อย่างไร จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้นจึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องขาดอายุความ

3 การที่จําเลยให้การว่า เหตุที่จําเลยขับรถชนนางพิมาลานั้นเป็นเพราะนางพิมาลาเดิน ข้ามถนนในขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดง จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้น ถือเป็นคําให้การปฏิเสธที่มี เหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า “นางพิมาลาเดินข้ามถนนในขณะที่สัญญาณ ไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดงจริงหรือไม่” เพื่อสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้

4 การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดนั้น แม้จําเลยจะไม่ได้ ให้การไว้เกี่ยวกับค่าเสียหายเลย ก็ต้องถือว่าจําเลยไม่ยอมรับในส่วนนี้ จึงก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับ ค่าเสียหายว่า “คดีนี้มีค่าเสียหายเพียงใด”

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1 นางพิมาลาเดินข้ามถนนในขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดงจริงหรือไม่

2 คดีนี้มีค่าเสียหายเพียงใด ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นแรก ที่ว่านางพิมาลาเดินข้ามถนนขณะที่สัญญาณไฟจราจรเป็นสีแดงจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแล ยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย นั้นเอง” ดังนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลยที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้อง เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง ซึ่งหากจําเลยพิสูจน์ไม่ได้ จําเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แก่โจทก์

ประเด็นที่สอง ที่ว่ามีค่าเสียหายเพียงใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง แม้จําเลยจะไม่ได้ให้การโต้แย้ง จํานวนเงินค่าเสียหาย ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนําสืบถึง จํานวนค่าเสียหาย) แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เอง ตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบ ดังนี้

1 นางพิมาลาเดินข้ามถนนในขณะที่สัญญาณไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดงจริงหรือไม่ภาระการพิสูจน์ตกแก่จําเลย

2 คดีนี้มีค่าเสียหายเพียงใด ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

 

 

ข้อ 2 นายหนึ่ง อายุ 16 ปี นายสอง อายุ 17 ปี ได้ร่วมกันข่มขืนกระทําชําเราผู้เสียหาย อายุ 15 ปี ต่อมานายหนึ่งและนายสองถูกจับมาดําเนินคดีในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวน ดังนี้

ก ในการสอบปากคําผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีนักจิตวิทยา พนักงานอัยการ และมารดาผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมในการถามปากคํา ผู้เสียหายได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวน ว่าไม่ต้องการให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นชายหนุ่มเข้าร่วมในการถามปากคําด้วย แต่พนักงานสอบสวนยังคงดําเนินการสอบถามปากคําผู้เสียหายจนแล้วเสร็จโดยมีบุคคลดังกล่าวอยู่ด้วย

ข ในการสอบสวนนายหนึ่งผู้ต้องหา นายหนึ่งร้องขอต่อพนักงานสอบสวนว่าต้องการให้บิดาของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีนักจิตวิทยา พนักงานอัยการและทนายความของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนอยู่แล้วจึงสอบสวนนายหนึ่งจนแล้วเสร็จโดยไม่ได้จัดให้บิดาของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย

ค ในการสอบสวนนายสองผู้ต้องหา หลังจากแจ้งข้อหาให้นายสองทราบแล้ว ก่อนเริ่มถามคําให้การพนักงานสอบสวนถามนายสองว่ามีทนายความหรือไม่ นายสองตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการ ทนายความ พนักงานสอบสวนจึงทําการสอบสวนนายสองจนแล้วเสร็จ โดยมีบุคคลตามที่กฎหมาย กําหนดไว้เข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย แต่ไม่ได้จัดหาทนายความให้แก่นายสองแต่อย่างใด

ให้วินิจฉัยว่า การถามปากคําผู้เสียหายและการสอบสวนผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิต และร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยสถานบริการหรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจําคุกซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ร้องขอ การถามปากคําผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทําเป็น ส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสําหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและ พนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคําเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่า การถามปากคําเด็กคนใดหรือคําถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวน ถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคําถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคําถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร

นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์หรือพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการถามปากคําอาจถูก ผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น”

มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน สิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามี ทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้”

มาตรา 134/2 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวน ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก. ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสาม ได้วางหลักไว้ว่า ในการสอบถาม ปากคําผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศนั้น นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการสอบถามปากคําอาจถูกผู้เสียหายตั้งรังเกียจได้ ซึ่งถ้ามีกรณีดังกล่าวให้ พนักงานสอบสวนเปลี่ยนตัวผู้ที่เด็กตั้งข้อรังเกียจนั้น

ตามอุทาหรณ์ ในการสอบปากคําผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 15 ปียังไม่เกิน 18 ปี ในคดีความผิด ฐานข่มขืนกระทําชําเราซึ่งเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับเพศนั้น การที่พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีนักจิตวิทยา พนักงาน อัยการ และมารดาของผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมในการสอบถามปากคํา และผู้เสียหายได้ตั้งข้อสังเกียจ พนักงานอัยการโดยได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าไม่ต้องการให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นชายหนุ่มเข้าร่วมในการ ถามปากคําด้วย ดังนี้ พนักงานสอบสวนจะต้องเปลี่ยนตัวพนักงานอัยการ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสาม เมื่อพนักงานสอบสวนยังคงดําเนินการสอบถามปากคําผู้เสียหายจนแล้วเสร็จโดยไม่มี การเปลี่ยนตัวพนักงานอัยการคนดังกล่าว การถามปากคําผู้เสียหายของพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข. ในการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในความผิดเกี่ยวกับเพศนั้น จะต้องมี นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการสอบสวนนั้น (ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวี ประกอบมาตรา 134/2)

ตามอุทาหรณ์ ในการสอบสวนนายหนึ่งผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุ 16 ปีซึ่งไม่เกิน 18 ปี ในคดี ความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเรานั้น เมื่อนายหนึ่งได้ร้องขอต่อพนักงานสอบสวนว่าต้องการให้บิดาของนายหนึ่ง เข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย ดังนี้ พนักงานสอบสวนต้องดําเนินการให้ตามที่นายหนึ่งร้องขอ การที่พนักงานสอบสวน เห็นว่ามีนักจิตวิทยา พนักงานอัยการ และทนายความของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนอยู่แล้วจึงสอบสวน นายหนึ่งจนแล้วเสร็จ โดยไม่ดําเนินการจัดให้บิดาของนายหนึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยนั้น การสอบสวนผู้ต้องหา ของพนักงานสอบสวนในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวิ ประกอบมาตรา 134/2

ค. ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักไว้ว่า ในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

ตามอุทาหรณ์ในการสอบสวนนายสองผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุ 17 ปีซึ่งไม่เกิน 18 ปีนั้น หลังจากได้แจ้งข้อหาให้นายสองทราบแล้ว ก่อนเริ่มถามคําให้การพนักงานสอบสวนได้ถามนายสองว่ามีทนายความหรือไม่ นายสองตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความ ดังนี้ แม้ว่านายสองผู้ต้องหาจะตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการ ทนายความก็ตาม พนักงานสอบสวนก็ต้องดําเนินการจัดหาทนายความให้นายสองผู้ต้องหาเพื่อเข้าร่วมในการ สอบสวนด้วย การที่พนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนนายสองจนแล้วเสร็จ โดยมีบุคคลที่กฎหมายกําหนดไว้ เข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย แต่ไม่ได้ดําเนินการจัดหาทนายความให้แก่นายสองนั้น การสอบสวนผู้ต้องหาของ พนักงานสอบสวนในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง

สรุป

ก. การสอบปากคําผู้เสียหายของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข. การสอบสวนนายหนึ่งผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ค. การสอบสวนนายสองผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 

ข้อ 3 โจทก์ยื่นคําฟ้องขับไล่จําเลยออกไปจากที่ดินเพราะสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วโดยในสัญญาเช่ามีข้อความว่า “เช่าอาคาร 2 ชั้นโดยมีค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 สิ้นสุดการเช่า วันที่ 1 มกราคม 2560” โดยโจทก์ได้แนบสัญญาเช่าดังกล่าวไว้ท้ายคําฟ้องแล้ว จําเลยมายื่น คําให้การว่าระยะเวลายังไม่สิ้นสุดตามสัญญาที่ฟ้อง ต่อมาเมื่อถึงวันสืบพยานปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ ส่งสําเนาสัญญาเช่าดังกล่าวให้แก่จําเลยก่อนจะมีการสืบพยาน และจําเลยจะขอนําตัวนายหน่อเมือง ผู้เห็นเหตุการณ์ขณะทําสัญญาเช่ามาเป็นพยานโดยนายหน่อเมืองเบิกความว่า “สัญญาเช่าดังกล่าว คู่สัญญาตกลงกันว่าไม่มีกําหนดเวลาเช่า หากจะเลิกการเช่าต้องบอกล่วงหน้าก่อน 3 เดือน” (มีการยื่น บัญชีระบุพยานโดยระบุชื่อนายหน่อเมืองโดยถูกต้องแล้ว)

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะรับฟังสัญญาเช่า และรับฟังนายหน่อเมืองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 87 “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่

(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจํานงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจําเป็นจะต้องสืบ พยานหลักฐานอันสําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอํานาจ รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้”

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง หรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวันสืบพยาน ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก…”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลง ลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลจะรับฟังพยานบุคคลคือนายหน่อเมืองได้ หรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับว่าจะต้องมีเอกสารมาแสดง และในคดีนี้ข้อความในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจําเลยก็ชัดเจนแล้วว่ามีกําหนดเวลาการเช่าเป็นที่แน่นอน ซึ่งถือเป็นข้อความที่เป็นสาระสําคัญในคดีนี้ หากให้นําพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลา ก็จะเป็นการนําสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในเอกสารนั้น ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) ดังนั้น ศาลจึงรับฟังพยานบุคคลคือนายหน่อเมืองไม่ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า ศาลจะรับฟังสัญญาเช่าได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่งที่กําหนดให้คู่ความที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยาน จะต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาลและส่งให้ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วันนั้น เพราะกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมายัน ได้มีโอกาสตรวจสอบเอกสารก่อนเพื่อจะได้ซักค้านพยานได้ถูกต้อง ไม่เสียเปรียบแก่กัน แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ การที่โจทก์ได้แนบสําเนาเอกสารสัญญาเช่าไว้ท้ายคําฟ้องแล้ว เพียงแต่โจทก์ไม่ได้ส่งสําเนาเอกสารสัญญาเช่า ดังกล่าวให้แก่จําเลยก่อนที่จะมีการสืบพยานซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่งนั้น เมื่อศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่สําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่ง ความยุติธรรม และไม่ทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ศาลย่อมมีอํานาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 87 (2) ดังนั้น ในคดีนี้ศาลจึงรับฟังสัญญาเช่าได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 2347/2532)

สรุป

ในคดีนี้ศาลรับฟังสัญญาเช่าได้ แต่จะรับฟังนายหน่อเมืองไม่ได้

Advertisement