การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้ทําคําขอประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นําเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ว่า จะยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ มีมติพิเศษ ออกมาว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับโดยเสียงข้างมาก ดังนั้นจึงถามว่า

(1) การประนอมหนี้โดยที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับ ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายแล้วหรือยัง เพราะเหตุใด

(2) การขอประนอมหนี้ต้องมีการพิจารณากชั้น ชั้นไหนบ้าง ขั้นตอนเป็นอย่างไร

(3) การไต่สวนโดยเปิดเผยตามมาตรา 42 นั้น ต้องการทราบอะไรบ้าง

(4) ในขณะที่ไต่สวนโดยเปิดเผยนั้นได้ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซ่อนเร้นอยู่อีก เจ้าหนี้เลยคัดค้านว่า การที่เจ้าหนี้ทั้งหลายยอมรับในชั้นประชุมเจ้าหนี้นั้น เพราะไม่ทราบว่าลูกหนี้ยังมี ทรัพย์สินอื่นซ่อนอยู่อีก ดังนั้น การที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้มาครั้งก่อนจึงน้อยไป

ดังนี้ ศาลจะต้อง รับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้หรือไม่ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 42 วรรคแรก “เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทําให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความ ประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทําหรือละเว้นกระทําการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข”

มาตรา 46 “การยอมรับคําขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ยังไม่ผูกมัด เจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว”

มาตรา 52 “ในการที่ศาลจะมีคําสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณา รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ถ้ามี

เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้วมีอํานาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติ ยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา การประนอมหนี้โดยที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับนั้น ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย ตามมาตรา 46 เนื่องจากการขอประนอมหนีนั้นจะต้องมีการพิจารณา 2 ชั้น ได้แก่

1) การพิจารณาในชั้นประชุมเจ้าหนี้ และ

2) การพิจารณาในชั้นศาล

กล่าวคือ ในการประนอมหนี้นั้น ในชั้นแรกจะต้องได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยมติพิเศษ และเมื่อผ่านชั้นประชุมเจ้าหนี้โดยมติพิเศษแล้ว ต้องส่งมติพิเศษนั้นไปให้ศาลพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น การประนอมหนี้ที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับโดยมติพิเศษจึงยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายแต่อย่างใด

และเมื่อศาลได้รับมติพิเศษแล้ว ศาลจะต้องสั่งไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยตามมาตรา 42 ซึ่งจะ ต้องมีในทุกคดีล้มละลาย เพื่อให้ทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และเพื่อให้ทราบว่าลูกหนี้มีความประพฤติ เป็นอย่างไร ทําไมจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ในขณะที่ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยนั้น ปรากฏว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซุกซ่อนไว้อีก เจ้าหนี้จึงคัดค้านว่าการขอประนอมหนี้ครั้งก่อนนั้นน้อยไป และการที่เจ้าหนี้ทั้งหลายยอมรับในชั้นประชุมเจ้าหนี้นั้น เพราะเจ้าหนี้ไม่ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซ่อนอยู่อีก ดังนี้ เจ้าหนี้ย่อมสามารถคัดค้านได้ และเมื่อมีเจ้าหนี้ คัดค้าน ศาลจะต้องรับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้ตามมาตรา 52 วรรคท้าย

 

ข้อ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันขอรับชําระหนี้ มีหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร

– หนี้อะไรบ้างที่ไม่อาจนําไปขอรับชําระหนี้ได้เพราะเหตุใด

– หนี้ต่อไปนี้เจ้าหนี้จะนําไปขอรับชําระหนี้ได้หรือไม่

ก. กู้เงิน ข. 5 แสนบาท เมื่อ 1 ม.ค. 50 ต่อมาถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จาก ค. เจ้าหนี้คนอื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 50 และหลังจากนั้น ก. ได้ไปขอกู้เงินจาก ข. คนเดิม เพิ่มอีก 3 แสนบาท ข. เจ้าหนี้ ได้ให้ไป เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 50 ดังนี้ ข. เจ้าหนี้จะนํามูลหนี้ทั้ง 2 จํานวนไปขอรับชําระได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

อธิบาย

ตามบทบัญญัติมาตรา 94 วรรคแรก ได้กําหนดหลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะขอรับชําระหนี้ ไว้ดังนี้ คือ

1 เป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน คือ เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือมีสิทธิบังคับได้ทํานองเดียวกับผู้จํานํา หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจ้าหนี้สามัญนั่นเอง

2 มีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งหมายความถึงทั้งคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว และคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะเมื่อศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว กฎหมายห้ามลูกหนี้กระทําการ ใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน

3 มาขอรับชําระหนี้ รายในกําหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91)

4 หนี้ยังไม่ถึงกําหนดชําระ ก็มาขอรับชําระหนี้ได้ แต่หากสิทธิเรียกร้องยังไม่เกิดขึ้น จะนํามาขอรับชําระหนี้ไม่ได้

5 หนี้มีเงื่อนไข ก็นํามาขอรับชําระหนี้ได้

6 ถ้าไม่มาขอรับชําระหนี้ภายในกําหนด หนี้นั้นเป็นศูนย์ หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้ไม่มายื่น ขอรับชําระหนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชําระหนี้นั้น

7 ดอกเบี้ยหรือค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้จะนํามาขอรับชําระหนี้นั้น คิดได้ ถึงวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น (พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 100)

และหนี้ซึ่งไม่อาจนำไปขอรับชำระหนี้ได้นั้น ตามมาตรา 94 (1) และ (2) ได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ

1 หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้ (มาตรา 94 (1) เช่น หนี้ขาดอายุความ หนี้การพนัน หักกลบลบหนี้ หนี้เงินกู้ที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้ตามเช็คที่เจ้าหนี้ไม่นําสืบถึงที่มาของมูลหนี้ เป็นต้น

2 หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้ (มาตรา 94 (2)

กรณีตามข้อเท็จจริง ข. ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันสามารถนําหนี้จํานวน 5 แสนบาท ที่ ก. กู้ไป จาก ข. เมื่อ 1 ม.ค. 2550 มายื่นขอรับชําระหนี้ได้ เนื่องจากเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ก. จะถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และไม่ถือเป็นหนี้ต้องห้ามตามมาตรา 94 แต่ในส่วนของหนี้จํานวน 3 แสนบาทนั้น ข. เจ้าหนี้จะนํามายื่นขอรับ ชําระหนี้ไม่ได้ เพราะมูลหนี้นั้นเกิดขึ้นภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเป็นหนี้ที่ ข. เจ้าหนี้ ยอมให้ ก. ลูกหนี้ กระทําขึ้น ทั้ง ๆ ที่ ข. รู้อยู่แล้วว่า ก. มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงต้องห้ามตามมาตรา 94 (2)

 

ข้อ 3 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ลูกหนี้ขอประนอมหนี้มาร้อยละห้าสิบ ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ข. เป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งมาขอรับชําระหนี้ไว้ในการกู้เงินรายนี้มี ป. เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนั้น ข. เจ้าหนี้รายนี้จึงได้รับชําระหนี้ไปร้อยละห้าสิบ ข. เห็นว่า ป. ผู้ค้ำประกันยังเฉยไม่ชําระหนี้ ส่วนที่ยังขาด ข. จึงฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ และ ป. ผู้ค้ำประกันให้ชําระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะรับสํานวน 2 สํานวนนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 56 “การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัด เจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคําสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้”

มาตรา 59 “การประนอมหนี้ไม่ทําให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย”

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับสํานวน 2 สํานวนนี้ไว้พิจารณาหรือไม่นั้น แยก พิจารณาได้ดังนี้

กรณีสํานวนที่ ข. ฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้

ตามกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคน ไม่ว่าเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่มิได้ยอมรับการขอประนอมหนี้ แม้กระทั่งเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ที่มิได้ยื่นขอรับชําระหนี้ไว้ก็ตาม และเมื่อลูกหนี้ได้ชําระหนี้ตามข้อตกลง ในการประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ เว้นแต่หนี้ตามมาตรา 77 (1) และ (2) คือ หนีภาษีอากร และหนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้ หนี้ทั้งสองประเภทนี้ ลูกหนี้จะต้องชําระต่อไป จนกว่าจะครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ (มาตรา 56)

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า ลูกหนี้ขอประนอมหนี้มาร้อยละห้าสิบ ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับ และศาลเห็นชอบด้วยแล้ว การประนอมหนี้ดังกล่าวย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคนตามมาตรา 56 ดังนั้น เมื่อ ข. เจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้ไปแล้วร้อยละห้าสิบตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจาก หนี้สินที่เหลือ ข. เจ้าหนี้จะฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้สวนที่ยังขาดอยู่ไม่ได้ ศาลย่อมไม่รับสํานวนฟ้องไว้พิจารณา (คําพิพากษาฎีกาที่ 1001/2509)

กรณีสํานวนที่ ข. ฟ้องเรียกให้ ป. ชําระหนี้

ตามกฎหมายล้มละลาย ในการขอประนอมหนี้นั้น เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบ ด้วยแล้ว ย่อมมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นเช่นผู้ค้ำประกันหรือผู้ที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้หาได้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ (มาตรา 59)

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า ข. เจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้เพียงร้อยละห้าสิบจากลูกหนี้ ข. เจ้าหนี้ จึงสามารถฟ้องเรียกให้ ป. ผู้ค้ําประกันชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ได้ เพราะการประนอมหนี้ไม่ทําให้ผู้ค้ําประกันหลุดพ้น จากความรับผิดตามมาตรา 59

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับสํานวนที่ ข. เจ้าหนี้ฟ้อง ป. ผู้ค้ำประกันไว้พิจารณา แต่จะ ยกฟ้องสํานวนที่ ข. เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้

Advertisement