การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2545
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ธงคำตอบ
เหตุใดจึงตองมีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย
เหตุที่ต้องมีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยในคดีล้มละลายนั้น มีความประสงค์เพื่อต้องการทราบถึงเหตุ 3 ประการดังนี้
1 เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ทำอะไรและมีทรัพย์สินอยู่แห่งใด เท่าใด
2 เพื่อทราบถึงสาเหตุที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เช่น ค้าขายขาดทุน
3 เพื่อทราบถึงความประพฤติของลูกหนี้ ว่าได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นความผิดตามกฎหมายล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข
ทั้งนี้เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลายตามมาตรา 51 และมาตรา 70 (มาตรา 42 วรรคแรก)
การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยจะกระทำเมื่อใด และมีวิธีการอย่างไร
การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยนี้ กฎหมายบังคับไว้แต่เพียงว่า ต้องกระทำภายหลังประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกแล้วเท่านั้น จะกระทำก่อนหรือหลังพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ได้ (ฎ. 2181/2535) ทั้งนี้ศาลจะต้องทำการไต่สวนทุกคดี จะงดเสียมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถไต่สวนได้เพราะลูกหนี้
1 วิกลจริต
2 จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
3 กายพิการ
กรณีเช่นนี้ศาลมีอำนาจสั่งงดการไต่สวนโดยเปิดเผย หรือจะสั่งให้มีการไต่สวนโดยวิธีอื่นใด ณ ที่ใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ (มาตรา 44)
สำหรับวิธีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยนั้น ต้องกระทำเป็นการด่วน โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งประกาศแจ้งความกำหนดวันเวลานัดไต่สวนให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้มีโอกาสซักถามลูกหนี้ได้เต็มที่ (มาตรา 42 วรรคสอง)
ลูกหนี้จะให้ทนายความเข้าทำการแทนได้หรือไม่
การไต่สวนโดยเปิดเผยนั้น ลูกหนี้จะต้องมาศาลด้วยตนเองเพราะจะต้องสาบานตัวและตอบคำถามแก่ศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้แล้วหรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ 3 ประการดังที่กล่าวมาข้างต้น ลูกหนี้จะตั้งตัวแทนให้มาตอบคำถามแทนตน หรือจะตั้งทนายความให้มาตอบคำถามแทนตนเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญไม่ได้ แต่ทั้งนี้มิได้ห้ามลูกหนี้ที่จะตั้งทนายความเข้ามาช่วยเหลืออย่างอื่นที่ไม่ใช่การตอบคำถาม เช่น เขียนคำร้อง คำขอต่างๆ (มาตรา 43)