การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 การประนอมหนี้ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับโดยมติพิเศษผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายแล้วหรือยัง ขั้นตอนจะเป็นเช่นไร กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับคําขอประนอมหนี้ที่ร้อยละ 50 ส่งมติพิเศษมาให้ศาลพิจารณา ศาลสั่งไต่สวนโดยเปิดเผยได้ความว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินซ่อนอยู่อีกจึงคัดค้านว่า ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ ร้อยละ 50 นั้นน้อยไป และที่ยอมรับในที่ประชุมเจ้าหนี้เพราะไม่ทราบว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอื่นอีก

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะรับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้หรือไม่ และศาลจะสั่งอย่างไรต่อไป

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย  ตาม ม.ร.บ. ล้มละลาย .ศ. 2483

มาตรา 42 วรรคแรก “เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทําให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความ ประพฤติของลูกหนว่าได้กระทําหรือละเว้นกระทําการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข”

มาตรา 46 “การยอมรับคําขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ยังไม่ผูกพัน เจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคําสั่งเห็นชอบแล้ว”

มาตรา 52 ในการที่ศาลจะมีคําสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณา รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ถ้ามี

เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้วมีอํานาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติ ยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม”

มาตรา 56 “การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้วผูกมัด เจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคําสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้”

มาตรา 61 วรรคแรก “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไปขอให้ศาลพิพากษา ให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับ ความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจจัดการทรัพย์สิน ของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย”

มาตรา 63 วรรคแรก “เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้จะเสนอคําขอประนอมหนี้ ก็ได้ ในกรณีนี้ให้นําบทบัญญัติในส่วนที่ 6 ว่าด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้า ลูกหนี้ได้เคยขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายในกําหนดเวลาสามเดือนนับแต่ วันที่ขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล

 

อธิบาย (กรณีแรก)

จากบทบัญญัติมาตรา 46 จะเห็นได้ว่า ในการประนอมหนี้นั้น จะต้องมีการพิจารณา 2 ชั้น ได้แก่

1) การพิจารณาในชั้นประชุมเจ้าหนี้ และ

2) การพิจารณาในชั้นศาล

กล่าวคือ ในการประนอมหนี้นั้นในชั้นแรก จะต้องได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยมติพิเศษ และเมื่อผ่านขั้นประชุมเจ้าหนี้โดยมติพิเศษแล้ว ต้องส่งมติพิเศษนั้นไปให้ศาลพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น การประนอมหนี้ที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับโดยมติพิเศษจึงยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายแต่อย่างใด

และเมื่อศาลได้รับมติพิเศษแล้ว ศาลจะต้องสั่งไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยตามมาตรา 42 ซึ่งจะ ต้องมีในทุกคดีล้มละลาย เพื่อให้ทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และเพื่อให้ทราบว่าลูกหนี้มีความประพฤติ เป็นอย่างไร ทําไมจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว

และเมื่อได้ความว่าอย่างไร ศาลอาจสั่งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับมติพิเศษนั้นก็ได้ ถ้าศาล ได้มีคําสั่งเห็นชอบ การประนอมหนี้นั้นก็จะมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ทุกคน แม้ว่าเจ้าหนี้บางคนจะไม่เห็นชอบด้วยก็ตาม ตามมาตรา 56

แต่อย่างไรก็ตาม การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลได้สั่งเห็นชอบด้วย แล้วนั้น จะไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคําสั่งปลดจาก ล้มละลายได้ (เช่น หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร เป็นต้น) เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นจะได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้

และถ้าศาลสั่งไม่เห็นชอบ ศาลก็จะสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 61 วรรคแรก ซึ่งถ้าลูกหนี้ มีความประสงค์จะขอประนอมหนี้ใหม่ ลูกหนี้ก็ต้องไปขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายตามมาตรา 63 วรรคแรก ต่อไปได้

วินิจฉัย (กรณีหลัง)

ในการไต่สวนโดยเปิดเผยตามมาตรา 42 นั้น ในการที่ศาลจะมีคําสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ถ้ามี และในขณะ ที่ศาลไต่สวน ถ้าได้ความจริงว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นอีก เจ้าหนี้ก็มีสิทธิคัดค้านได้ว่าลูกหนี้ขอประนอมหนี้น้อยไป ถึงแม้ว่าจะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม (มาตรา 52)

ตามอุทาหรณ์ การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับคําขอประนอมหนี้ที่ร้อยละ 50 และได้ส่งมติพิเศษ มาให้ศาลพิจารณาและศาลได้สั่งไต่สวนโดยเปิดเผยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่น ๆ อีก และการที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ร้อยละ 50 นั้นน้อยไป ดังนี้เจ้าหนี้ย่อมสามารถคัดค้านได้โดยอ้างว่าไม่ทราบว่า ขณะนั้นลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นอยู่อีก และเมื่อมีเจ้าหนี้คัดค้านศาลจะต้องรับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้ตามมาตรา 52 และศาลจะต้องสั่งไม่เห็นชอบกับมติพิเศษและสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 61 วรรคแรก และให้หมายเหตุว่า ถ้าลูกหนี้ยังจะขอประนอมหนี้ก็ให้ขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายตามมาตรา 63 วรรคแรก

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้ และจะสั่งไม่เห็นชอบกับมติพิเศษ และสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย

 

ข้อ 2 บริษัท สินสยาม จํากัด ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจําปี 2552 ขาดไป 3 ล้านบาท เจ้าพนักงานประเมินภาษีจึงมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเพิ่มเติมดังกล่าวมายังบริษัท สินสยาม จํากัด ให้ชําระภาษีเพิ่มเติม ปรากฏว่าบริษัท สินสยาม จํากัด ไม่ยอมชําระหนี้ อธิบดีกรมสรรพากร จึงมีคําสั่งตามประมวลรัษฎากรให้ยึดที่ดินและสํานักงานจํานวน 1 แปลง และอายัดเงินสดในธนาคาร อีกจํานวน 1 ล้านบาท ของบริษัท สินสยาม จํากัด ไว้เพื่อชําระหนี้ ธนาคารได้ส่งเงินอายัดไว้ต่อ กรมสรรพากรตามหมายอายัด และกรมสรรพากรได้ส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว ระหว่างที่มีการ ประกาศขายทอดตลาด ธนาคารไทย จํากัด ได้ฟ้องบริษัท สินสยาม จํากัด เป็นคดีล้มละลายและ ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหนังสือให้กรมสรรพากรส่งมอบที่ดิน ที่ยึดไว้และเงินสดจํานวน 1 ล้านบาท เพื่อเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ กรมสรรพากรยื่นคําคัดค้าน ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ที่ดินของบริษัท สินสยาม จํากัด นั้นกรมสรรพากรได้ยึดไว้ตามประมวล รัษฎากรแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอํานาจสั่งให้ส่งมอบที่ดินและเงินสดจํานวน 1 ล้านบาท

หากท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะพิจารณาคําคัดค้านของกรมสรรพากรอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 19 วรรคแรก “คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายของศาล ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เข้ายึด ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครอง ของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย

มาตรา 109 “ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้

(1) ทรัพย์สินทั้งหลายอันลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย รวมทั้งสิทธิเรียกร้อง เหนือทรัพย์สินของบุคคลอื่น

(2) ทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายจนถึงเวลาปลดจาก ล้มละลาย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดย่อมถือเป็นหมายของศาลเพื่อให้อํานาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ อันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 19 วรรคแรก

และทรัพย์สินของลูกหนี้อันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109(1) และ (2) ได้แก่ทรัพย์สิน ที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจากนั้นจนถึงเวลาที่ปลดจากล้มละลาย ดังนั้น ในส่วนของที่ดินที่กรมสรรพากรยึดไว้นั้น เป็นทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีมาก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และยัง ไม่มีการจดทะเบียนโอนไปยังบุคคลอื่นเนื่องจากยังไม่มีการขายทอดตลาด กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังเป็นของ บริษัท สินสยาม จํากัด ลูกหนี้ จึงถือเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อม มีอํานาจยึดได้ตามมาตรา 19 วรรคแรก ประกอบมาตรา 109 ดังนั้นกรณีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องแจ้งยืนยัน ให้กรมสรรพากรส่งมอบที่ดินที่ยึดไว้มาเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้

ส่วนเงินสดจํานวน 1 ล้านบาทนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ แม้จะเป็นทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีมาก่อน วันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อกรมสรรพากรได้ส่งมอบเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว ลูกหนี้จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ใน เงินดังกล่าวในวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จึงไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายที่เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์จะยึดหรืออายัดได้ ดังนั้นกรณีเงินสดจํานวน 1 ล้านบาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องแจ้งยืนยัน เห็นชอบตามคําคัดค้านของกรมสรรพากรและยกเลิกคําสั่งให้ส่งเงินสดจํานวน 1 ล้านบาทดังกล่าว

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้าพเจ้าต้องแจ้งยืนยันให้กรมสรรพากรส่งมอบ ที่ดินที่ยึดไว้มาเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ และเห็นชอบตามคําคัดค้านของกรมสรรพากรโดยยกเลิกคําสั่งให้ส่ง เงินสดจํานวน 1 ล้านบาท

 

ข้อ 3 คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง ในการพิจารณาตั้งผู้ทําแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเชียวเป็นผู้ทําแผน ส่วนลูกหนี้เสนอนายชาญเป็นผู้ทําแผน ศาลล้มละลายกลางพิจารณา แล้วเห็นว่านายชาญที่ลูกหนี้เสนอมีคุณสมบัติเป็นผู้ทําแผน จึงมีคําสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผน

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลดังกล่าวขอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/17 วรรคแรก “ในการพิจารณาตั้งผู้ทําแผน ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้ เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทําแผนด้วย เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคําสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทําแผน ก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทําแผนก็ดี หรือลูกหนี้ เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่น เป็นผู้ทําแผนด้วยก็ดี ให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อ พิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า

คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญ เป็นผู้ทําแผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17 วรรคแรก ได้กําหนด หลักเกณฑ์การตั้งผู้ทําแผนไว้ดังนี้คือ

1 กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทําแผน ศาลอาจมีคําสั่งตั้ง บุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทําแผนก็ได้

2 กรณีที่ศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทําแผน หรือลูกหนี้เจ้าหนี้ ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทําแผนด้วย ให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ศาลจะมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนไปเลยทีเดียวไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเขียวเป็นผู้ทําแผน และลูกหนี้เสนอนายชาญ เป็นผู้ทําแผนด้วย ศาลจึงต้องมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด เพื่อ พิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ทั้งนี้ตามมาตรา 90/17 วรรคแรก ศาลจะมีคําสั่งตั้งนายเชียว หรือนายชาญเป็นผู้ทําแผนในทันทีหาได้ไม่ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผนในทันที ก่อนมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ คําสั่งของศาลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผน โดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ของมาตรา 90/17 วรรคแรกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement