การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายจนเป็นหนี้นายรวย จํานวน 2 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินเป็นการชําระหนี้ให้แก่นายรวย โดยระบุวันที่สั่งจ่ายเงินในเช็คเป็นวันที่ 20 มกราคม 2561 ปรากฏว่าในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายจน ตามที่ ธนาคารสยามยื่นคําฟ้องต่อศาลเป็นคดีล้มละลาย นายรวยทราบเรื่องจึงยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็ค ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ระหว่างไต่สวนคําขอรับชําระหนี้นั้น ธนาคารสยามได้ยื่นคัดค้าน คําขอรับชําระหนี้ของนายรวยว่า หนี้ตามเช็คถึงกําหนดชําระภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาด จึงไม่มีสิทธิได้รับชําระหนี้

หากท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีคําสั่งเกี่ยวกับ คําขอรับชําระหนี้ของนายรวย และคําคัดค้านของธนาคารสยามอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายรวยยื่นขอรับชําระหนี้ตามเช็คจํานวน 2 ล้านบาท ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์นั้น ถือเป็นเรื่องการขอรับชําระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่มีประกันในคดีล้มละลาย ซึ่งตามมาตรา 94 ได้วางหลัก ไว้ว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจะขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่า หนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่เป็นหนี้ต้องห้ามตามมาตรา 94 (1) และ (2)

ตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หนี้ตามเช็คที่นายจนสั่งจ่ายให้แก่นายรวยเป็นหนี้อันเกิดขึ้นก่อน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยนายจนออกเช็คในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ดังนั้นจึงฟังได้ว่าวันที่ออกเช็คอันถือเป็นวันที่มูลหนี้ตามเช็คเกิดขึ้นนั้น เป็นเวลาก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายรวยจึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 94 วรรคหนึ่ง

ส่วนคําคัดค้านของธนาคารสยามที่ว่า หนี้ตามเช็คถึงกําหนดชําระภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงไม่มีสิทธิได้รับชําระหนี้นั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะตามมาตรา 94 ได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ว่า แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม หากว่ามูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ย่อม อาจขอรับชําระหนี้ได้ ดังนั้นแม้กําหนดชําระเงินตามเช็คจะครบกําหนดในวันที่ 21 มกราคม 2561 อันเป็นวัน หลังจากวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม หนี้ตามเช็คนั้นย่อมอาจขอรับชําระหนี้ได้ หากข้าพเจ้าเป็น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีคําสั่งให้รับคําขอรับชําระหนี้ของนายรวย และมีคําสั่งให้ยกคําคัดค้านของธนาคารสยาม

สรุป หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าพเจ้าจะมีคําสั่งให้รับคําขอรับชําระหนี้ ของนายรวย และมีคําสั่งให้ยกคําคัดค้านของธนาคารสยาม

 

ข้อ 2 คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งที่ประชุม เจ้าหนี้ได้ลงมติยอมรับแผนแล้วให้ศาลพิจารณา ปรากฏว่าแผนฟื้นฟูกิจการนั้นมิได้ระบุคุณสมบัติ และค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนไว้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีรายการ ไม่ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 จึงมีคําสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ให้ท่านวินิจฉัยว่าคําสั่งของศาลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/42 “ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

(7) ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทน…”

มาตรา 90/58 “ให้ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า

(1) แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 90/58 (1) ให้ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาล พิจารณาแล้วเห็นว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ซึ่งตามมาตรา 90/42 (7) ได้บัญญัติไว้ว่า ในแผน ต้องมีรายการ ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทนไว้ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ศาลพิจารณานั้น มิได้ระบุคุณสมบัติและค่าตอบแทน ของผู้บริหารแผนไว้ และเมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ศาลจึงไม่อาจมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนได้ ดังนั้น การที่ศาลมีคําสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน คําสั่งของศาลจึง ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของศาลที่ไม่เห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 การประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย เรียกว่าการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ประชุมกันเพื่ออะไร

– ในการประชุมเจ้าหนี้ที่มีเรื่องของลูกหนี้ขอประนอมหนี้เข้ามาโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ทําคําขอประนอมหนี้เข้ามาในที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งในการประชุมเจ้าหนี้นั้นเองมี “มติพิเศษ”ออกมาว่า “ขออย่าให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย” ในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเป็นประธานในที่ประชุม ท่านเห็นว่า “มติพิเศษนั้น” ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด และท่านจะแก้ไขประการใด (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลัก กฎหมายประกอบให้ครบถ้วนด้วย)

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่ง จํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”

มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือ ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”

มาตรา 33 “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกคราว และให้มี รายงานการประชุมลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย”

มาตรา 36 “เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือ ประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาล และ ศาลอาจมีคําสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในคดีล้มละลายเมื่อศาล ได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดซึ่ง เป็นการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก และให้นําคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนี้ เพื่อ

1 ให้ได้มติพิเศษว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ หรือ

2 ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และ

3 ปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป

ตามอุทาหรณ์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นําคําขอประนอมหนี้เข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก และผลของมติพิเศษจากที่ประชุมเจ้าหนี้ออกมาว่า “ขออย่าให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย” นั้น มติพิเศษดังกล่าวย่อม เป็นมติที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ดังนั้นในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเป็นประธาน ในการประชุมตามมาตรา 33 เมื่อเห็นว่ามติพิเศษนั้นขัดต่อกฎหมายก็จะแก้ไขตามมาตรา 36 ซึ่งมีหลักดังนี้ คือ

1 ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติพิเศษนั้นขัดต่อกฎหมาย

2 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทําคําขอเป็นคําร้องยื่นต่อศาลเพื่อให้ศาลเพิกถอนหรือทําลายมตินั้น

3 ศาลอาจมีคําสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมตินั้นได้

4 แต่ต้องยื่นต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติ

สรุป ข้าพเจ้าในฐานะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเป็นประธานในการประชุม เห็นว่า มติพิเศษนั้นขัดต่อกฎหมาย และข้าพเจ้าจะแก้ไขตามหลักกฎหมายที่ได้อธิบายข้างต้น

Advertisement