การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ก. กู้เงิน ข.  หนึ่งล้านบาท  มีกำหนดเวลาสามปี  โดยมี  ค.  เป็นผู้ค้ำประกัน  หนี้เงินกู้ครบกำหนดแล้วแต่  ก.  ยังไม่ได้ชำระหนี้  ข.  ต่อมา  ค.  ผู้ค้ำประกันตาย  อยากทราบว่า  ข.  จะเรียกให้  ง.  ทายาทของ  ค.  ชำระหนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  203  วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้  แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่  แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

มาตรา  204  วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  686  ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด  ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  1599  วรรคแรก  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

มาตรา  1600  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ  เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

วินิจฉัย

ก.      กู้เงิน ข.  หนึ่งล้านบาท  มีกำหนดเวลา  3  ปี  โดยมี  ค.  เป็นผู้ค้ำประกัน  กรณีนี้จึงต้องเป็นไปตามมาตรา  203  วรรคสอง  กล่าวคือ  สัญญากู้เงินมีกำหนดระยะเวลาในการใช้คืน  คือ  3  ปี  ซึ่งบทสันนิษฐานมีว่าในกรณีที่มีการกำหนดเวลาไว้  แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย  เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลานั้นไม่ได้  แต่ลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนี้เงินกู้ครบกำหนดแล้ว  แต่  ก.  ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้  ข.  ต่อมา  ค.  ผู้ค้ำประกันตาย  จะเห็นว่า  เมื่อสัญญาเงินกู้มีกำหนดเวลาชำระตามมาตรา  203  วรรคสอง  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญาดังกล่าว  ถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด  ตามมาตรา  204  วรรคสอง  อันจะส่งผลให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้  กล่าวคือสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาซึ่งผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้  จึงเกิดความรับผิดตามกฎหมายของผู้ค้ำประกันแล้ว  ข.  จึงมีสิทธิเรียกให้  ค.  ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้  แต่ปรากฏว่า  ค.  ตายก่อน  จึงมีปัญหาว่า  ข.  เจ้าหนี้จะเรียกให้ทายาทของผู้ค้ำประกันรับผิดได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า  มรดก  ตามมาตรา  1600  ที่ได้กำหนดว่ากองมรดกของผู้ตาย  ได้แก่  ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆซึ่งไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย  เมื่อการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของผู้ค้ำประกันเป็นหน้าที่และความรับผิดของผู้ตาย  ซึ่งไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวแล้วจึงถือว่าเป็นมรดก  ตามมาตรา  1600  ด้วย  ดังนั้นเมื่อผู้ค้ำประกันตายภายหลังจากที่ลูกหนี้ผิดนัดหน้าที่และความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน  จึงตกแก่ทายาทของผู้ค้ำประกันทันทีที่เจ้ามรดกตายตามมาตรา  1599  ซึ่งทายาทจะอ้างว่ามิใช่เป็นหนี้ของตนมิได้  เพราะผู้รับมรดกย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด(หนี้)  ของผู้ตายเจ้ามรดกด้วย  อย่างไรก็ตามทายาทก็ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน

สรุป  ข.  เจ้าหนี้  สามารถเรียกให้  ง.  ทายาทของ  ค.  ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน  ก.  ได้

 

ข้อ  2  หลังจากสนธิ์ผู้บิดาถึงแก่กรรม  สิทธิชัยบุตรของสนธิ์จัดการศพของบิดาเสร็จแล้ว  สัญผู้เป็นปู่ได้ถึงแก่ความตายโดยกะทันหันอีกคนหนึ่ง  หลังจากจัดงานศพให้ปู่แล้ว  สิทธิชัยร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของปู่  สมนึกน้องของสนธิ์  ซึ่งเป็นอาของสิทธิชัยคัดค้านว่า  สิทธิชัยไม่ใช่ทายาทของสัญบิดา  ไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก  ขอให้ยกคำร้อง  ข้อคัดค้านของสมนึกฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1713  ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย  ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป  หรืออยู่นอกราชอาณาเขต  หรือเป็นผู้เยาว์

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ  หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ  หรือในการแบ่งปันมรดก

(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการไว้ไม่มีผลบังคับด้วยประการใดๆ

การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น  ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม  ก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรมและถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์  และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก  แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  1713  จะเห็นได้ว่าทายาทสามารถมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้  ซึ่งทายาทตามนัยมาตรา  1713 หมายความรวมทั้งทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดก  สำหรับทายาทโดยธรรมนั้นย่อมหมายถึงทายาทในลำดับแรกๆ  ที่ยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ในลำดับหนึ่งๆที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทในลำดับถัดไปที่ไม่มีสิทธิรับมรดก  ก็ไม่สามารถมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  สนธิ์เป็นบุตรของสัญ  จึงถือว่าสนธิ์เป็นผู้สืบสันดานซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของสัญ  ตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งได้ตายก่อนเจ้ามรดก  แต่สนธิ์มีบุตรคือ  สิทธิชัย  จึงถือว่าสิทธิชัยเป็นทายาทโดยธรรมของวนธิ์  กล่าวคือ  เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของสนธิ์จึงเข้ารับมรดกแทนที่บิดาในมรดกของสัญซึ่งเป็นปู่ได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1642  และมาตรา  1643

เมื่อสิทธิชัยมีสิทธิรับมรดกของสัญในฐานะผู้รับมรดกแทนที่  ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้  ข้ออ้างของสมนึกที่ว่าสิทธิชัยไม่ใช่ทายาทของสัญ  ไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก  จึงฟังไม่ขึ้น (ฎ. 616/2547)

สรุป  ข้อคัดค้านของสมนึกฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  พระภิกษุเผือกได้บรรพชาหน้าไฟเป็นสามเณรในวันเผาศพมารดา  ต่อมาเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุใช้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์คลอดมา  เมื่อโยมบิดาถึงแก่กรรมแล้วพระภิกษุเผือกมอบอำนาจให้ผันน้องชายไปโอนสวนยางพารา  25 ไร่  ที่ได้รับมรดกจากมารดา  และอีก  37  ไร่  ที่ได้รับมรดกจากบิดาเป็นของตน  นอกจากนั้นระหว่างอยู่ในสมณเพศ  พระภิกษุเผือกยังมีทรัพย์สินอื่นจากกิจนิมนต์  และเงินฝากในธนาคารอีก  1,500,000  บาท  แยกฝากธนาคาร  3  บัญชี  บัญชีละ  500,000  บาท  พระภิกษุเผือกได้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ  ยกทรัพย์สินทั้งหมดที่อยู่ในกุฏิของตนให้ผันน้องชาย  และลงลายมือชื่อ  แต่เขียนเพิ่มเติมด้านล่างว่า  ทั้งนี้ให้รวมทั้งสมุดเงินฝากต่างๆด้วย  ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้

ผันถึงแก่กรรมก่อนพระภิกษุเผือก  ทิ้งนวลนภาภรรยาให้เป็นม่าย  แต่ไม่มีลูกด้วยกัน  เมื่อพระภิกษุเผือกนำสมุดเงินฝากทั้ง  3  เล่ม  ฝากไว้ที่เจ้าอาวาสนั้นตกได้แก่ใคร  นวลนภาจะเข้ารับมรดกแทนที่ผันได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  1623  ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น  เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ  ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น  เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

มาตรา  1624 ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่  และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น  หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1657  พินัยกรรมนั้นจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้  กล่าวคือ  ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด  วัน  เดือน  ปี  และลายมือชื่อของตน

การขูดลบ  ตก  เติม  หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเองและลงลายมือชื่อกำกับไว้

บทบัญญัติมาตรา  9  แห่งประมวลกฎหมายนี้  มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1753  ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก  เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม  หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติตามมาตรา  1624  ที่กำหนดว่า  ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่”  เห็นว่า  พระภิกษุ  ตามนัยของบทบัญญัติใน  ป.พ.พ.  ได้แก่พระภิกษุที่ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาเท่านั้น  ไม่หมายความรวมถึงสามเณร  แม่ชี  นักพรต  หรือนักบวชในศาสนาอื่นด้วย  เช่นนี้สวนยางพารา  25  ไร่ที่พระภิกษุเผือกได้รับมรดกจากมารดาขณะเป็นสามเณร (มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่เจ้ามรดกตาย)  แม้จะได้จดทะเบียนโอนกันภายหลังอุปสมบทเป้นพระภิกษุแล้ว  ก็ยังถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามมาตรา  1624  ไม่ตกเป็นสมบัติของวัด  ต้องนำมรดกส่วนนี้แบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของพระภิกษุเผือกต่อไป

เมื่อข้อเท็จจริงปรากกว่านายผันน้องชายซึ่งเป็นญาติคนที่เหลืออยู่เพียงคนเดียว  และเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  เสียชีวิตไปก่อนพระภิกษุเผือกเจ้ามรดก  ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงตกไป  เพราะผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรมตามมาตรา  1698(1)  แม้ส่วนของพินัยกรรมที่มิได้ลงชื่อจะไม่สมบูรณ์ตามมาตรา  1657  ก็ตาม  เมื่อพระภิกษุเผือกไม่มีทายาทอื่นอีก  อีกทั้งนางนวลนภาภรรยาของนายผันซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของพระภิกษุเผือก  ก็มิใช่ทายาทโดยธรรมของพระภิกษุตามมาตรา  1629  ด้วย

และนางนวลนภาจะเข้ารับมรดกแทนที่นายผันสามีตามมาตรา  1639  ก็ไม่ได้  เพราะการรับมรดกแทนที่ใช้บังคับในระหว่างผู้สืบสันดานโดยตรงและเป็นทายาทโดยธรรมเท่านั้น  ไม่มีบทบัญญัติใดให้ภรรยารับมรดกแทนที่สามีได้  ดังนั้นสวนยางพารา  25  ไร่  จึงตกทอดแก่แผ่นดินตามมาตรา  1753 (ฎ. 1191/2482 648/2497)

เมื่อพินัยกรรมเป็นอันตกไปตามมาตรา  1698(1)  จึงต้องนำไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคแรก  แต่อย่างไรก็ตามทรัพย์สินในพินัยกรรมทั้งหมด  รวมทั้งสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร  และที่ดินที่ได้รับมรดกจากบิดา  ล้วนแต่เป็นทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น  จึงตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาตามมาตรา  1623

สรุป  สวนยางพารา  25  ไร่  ตกทอดแก่แผ่นดิน  ทรัพย์สินตามพินัยกรรม  บัญชีเงินฝากธนาคารและที่ดินอีก  37  ไร่  ตกเป็นสมบัติของวัด

 

ข้อ  4  สงบกับอำภามีบุตรด้วยกันคนหนึ่งพึ่งหย่ากันเมื่อปี  2543  เพราะอำภาทราบว่าสงบแอบไปมีคนอื่นจนมีบุตรด้วยกันชื่อ  อาภัสรา ซึ่งสงบได้ส่งเสียให้เล่าเรียน  หลังจากหย่าก็ยังไม่ได้แบ่งสมบัติกันปี  2546  สงบถึงแก่ความตาย  อำภาร้องต่อศาลขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดกของสงบ  อาภัสราคัดค้านอ้างว่าอำภาไม่ใช่ทายาทของสงบ  คำคัดค้านฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด    

ธงคำตอบ

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1713  ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย  ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป  หรืออยู่นอกราชอาณาเขต  หรือเป็นผู้เยาว์

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ  หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ  หรือในการแบ่งปันมรดก

(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการไว้ไม่มีผลบังคับด้วยประการใดๆ

การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น  ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม  ก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรมและถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์  และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก  แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  1713  ดังกล่าว  ได้กำหนดถึงตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้  3  ประเภท  คือ  ทายาท  ผู้มีส่วนได้เสีย  หรือพนักงานอัยการ

สำหรับกรณีทายาทนั้น  หมายความถึงทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก  ซึ่งนอกจากจะร้องขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว  ยังมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดกได้

ส่วนผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้  หมายถึง  บุคคลที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในกองมรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยประการแรก  คือ  อาภัสรา  จะมีสิทธิร้องคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อสงบมีบุตรที่เกิดจากตนซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาเด็ก  อาภัสราจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายสงบ  โดยหลักแล้วไม่มีสิทธิรับมรดก  แต่นายสงบมีพฤติการณ์รับรองอาภัสรา  โดยส่งเสียให้เล่าเรียน  จึงถือว่าอาภัสราเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตามนัยมาตรา  1627  มีฐานะเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  จึงมีสิทธิรับมรดกของบิดา  เมื่อมีสิทธิในการรับมรดกของเจ้ามรดกจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก  รวมทั้งคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดกได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมาคือ  อำภาจะร้องขอต่อศาลเป็นผู้จัดการมรดกของนายสงบได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่ออำภาได้หย่าขาดจากนายสงบแล้ว  จึงไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยมาตรา  1629  วรรคท้าย  จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสงบ  แต่แม้อำภาจะไม่อยู่ในฐานะทายาทที่จะร้องขอต่อศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก  แต่อำภาเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย  กล่าวคือยังมิได้มีการแบ่งทรัพย์สิน (สินสมรส)  ระหว่างสามีภริยาเมื่อหย่ากันแล้วตามมาตรา  1533  จึงยังมีสิทธิร้องขอต่อศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้  ดังนั้นคำคัดค้านของอาภัสราจึงฟังไม่ขึ้น  (ฎ. 30/2549)

สรุป  อำภาย่อมร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้  ตามมาตรา  1713  ข้อคัดค้านของอาภัสราฟังไม่ขึ้น

Advertisement