การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเอกมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือนายโท นายเอกให้นายหล่อยืมรถยนต์เป็นเวลา 5 เดือนและให้นางสวยยืมข้าวสารจํานวน 10 กระสอบเป็นเวลา 5 เดือนเช่นเดียวกัน หลังจากให้คนทั้งสอง ยืมทรัพย์สินแล้วเป็นเวลา 2 เดือน นายเอกและนายหล่อเดินทางไปต่างจังหวัดและประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต ดังนี้ นายโทจะเรียกรถยนต์และข้าวสารคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตาย นั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท

กรณีตามอุทาหรณ์ นายโทจะเรียกรถยนต์และข้าวสารคืนได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีนายเอกให้นายหล่อยืมรถยนต์เป็นเวลา 5 เดือน

การที่นายเอกให้นายหล่อยืมรถยนต์นั้น เป็นสัญญายืมใช้คงรูป ซึ่งตามกฎหมาย สัญญายืมใช้คงรูปย่อมระงับไปเมื่อผู้ยืมตาย (ป.พ.พ. มาตรา 648) ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหล่อผู้ยืม ได้ถึงแก่ความตาย สัญญายืมรถยนต์ระหว่างนายเอกกับนายหล่อจึงต้องระงับไปแม้ว่าจะยังไม่ครบกําหนด 5 เดือน ก็ตาม สิทธิในการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมโดยกฎหมายถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย (ผู้ยืม) จึงไม่เป็นมรดก ตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทของผู้ยืม นายโทบุตรของนายเอกจึงสามารถเรียกรถยนต์คืนจากทายาทของนายหล่อได้

2 กรณีนายเอกให้นางสวยยืมข้าวสารจํานวน 10 กระสอบ เป็นเวลา 5 เดือน

การที่นายเอกให้นางสวยยืมข้าวสารจํานวน 10 กระสอบนั้น เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งตามกฎหมายสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง เป็นสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณ มีกําหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สิน ซึ่งให้ยืมนั้น (ป.พ.พ. มาตรา 650) โดยจะต้องคืนเมื่อครบกําหนดเวลาที่ได้ตกลงกัน ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ตาม สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ให้ยืมและผู้ยืม สิทธิและหน้าที่ ตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากนายเอก ให้นางสวยยืมข้าวสารไปได้ 2 เดือน นายเอกได้ถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาของนายเอกย่อมเป็น มรดกตกทอดแก่นายโทผู้เป็นทายาท นายโทจึงไม่สามารถเรียกข้าวสารคืนจากนางสวยก่อนครบกําหนดเวลา 5 เดือน

สรุป

นายโทเรียกรถยนต์คืนจากทายาทของนายหล่อได้ แต่จะเรียกข้าวสารคืนจากนางสวย ก่อนครบกําหนดเวลา 5 เดือนไม่ได้

 

ข้อ 2 นายหนึ่งอยู่กินกับนางสองโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคือนายเอและนายบี ซึ่งนายหนึ่งให้ใช้นามสกุล ต่อมานายเอไปอยู่กินกับนางมกรา มีบุตรด้วยกันคือนายไก่ซึ่งนายเอได้อุปการะเลี้ยงดูอย่างดี ต่อมานายหนึ่งได้ไปจดทะเบียนรับนายด้วงมาเป็นบุตรบุญธรรม โดยนายด้วงมีบุตรชอบด้วย กฎหมายคือนายดิน หลังจากนั้นนายบีได้จดทะเบียนรับเด็กชายเพชรมาเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมา นายหนึ่งทําพินัยกรรมยกเงิน 90,000 บาท ให้นายด้วง หลังจากนั้น นายด้วงป่วยถึงแก่ความตาย ต่อมานายเอและนายบีประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายหนึ่งถึงแก่ความตาย เช่นนี้จงแบ่งมรดกของนายหนึ่งที่มีเงินสดนอกพินัยกรรมอีก 120,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคแรก “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1620 วรรคแรก “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1642 “การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา 1698 “ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทําพินัยกรรม”

มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผล ด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ทําพินัยกรรมยกเงิน 90,000 บาท ให้นายด้วงนั้น เมื่อ นายด้วงได้ตายก่อนเจ้ามรดก เงิน 90,000 บาท จึงกลับคืนสู่กองมรดกของนายหนึ่งเพื่อแบ่งแก่ทายาทโดยธรรม ต่อไปตามมาตรา 1698 (1), 1699 ประกอบมาตรา 1520 วรรคแรก 25ละกรณีนี้นายดินซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วย กฎหมายของนายด้วงไม่สามารถรับมรดกแทนที่นายด้วงได้ เพราะนายด้วงเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมและถึงแก่ ความตายก่อนเจ้ามรดก จึงไม่มีการรับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1642

ดังนั้น เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตายมรดกของนายหนึ่งจึงได้แก่ เงินตามพินัยกรรม 90,000 บาท และเงินสดนอกพินัยกรรมอีก 120,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 210,000 บาท ซึ่งมรดกทั้งหมดของ นายหนึ่งดังกล่าว ปกติย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่ง คือ นายเอ นายบี บุตรนอกกฎหมายที่นายหนึ่งได้รับรองแล้ว (ให้ใช้นามสกุล) และนายด้วงซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 ส่วนบางสองซึ่ง เป็นภริยาของนายหนึ่ง แต่เป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอยู่กินกับนายหนึ่งโดยมิได้จดทะเบียนสมรส จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง เพราะมิใช่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคท้าย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอ นายปี และนายด้วงได้ถึงแก่ความตายก่อน นายหนึ่งเจ้ามรดก จึงถือว่านายเอ นายปี และนายด้วง ไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ถึงไม่อาจรับมรดกได้ตามมาตรา 1604 วรรคแรก และเมื่อนายเอมีบุตรคือนายไก่ซึ่งแม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมาย ของนายเอแต่นายเอก็ได้อุปการะเลี้ยงดูอย่างดี ส่วนนายด้วงมีบุตรชอบด้วยกฎหมายคือนายดิน ทั้งนายไก่และ นายดินต่างก็เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเอและนายด้วง ดังนั้นนายไก่และนายดินจึงมีสิทธิเข้ารับมรดก ของนายหนึ่งแทนที่นายเอและนายด้วงตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643 ส่วนเด็กชายเพชรเป็นบุตร บุญธรรมของนายบีจึงมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายบี จึงไม่มีสิทธิเข้ารับมรดกของนายหนึ่งแทนที่นายบี ตามมาตรา 1643

ดังนั้น มรดกทั้งหมดของนายหนึ่งจํานวน 210,000 บาท จึงตกได้แก่นายไก่และนายดิน โดยทั้งสองจะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือคนละ 105,000 บาท ตามมาตรา 1633

สรุป

มรดกของนายหนึ่งตกได้แก่นายไก่และนายดินคนละ 105,000 บาท

 

ข้อ 3 นายดํากับนางแดงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นายดํามีนายขาวและนายเขียวเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน นายเขียวมีบุตรชอบด้วยกฎหมายคือเด็กชายเอก นายดําได้ทําพินัยกรรม ยกบ้านราคา 1,000,000 บาท ให้นางแดงและนายขาว และยกรถยนต์ราคา 500,000 บาท ให้นายเขียว หลังจากนั้นนายดําหัวใจวายตาย วันหนึ่งนางแดงและนายขาวทะเลาะกัน นายขาวใช้ปืนยิงนางแดง แต่นางแดงไม่ตาย นายขาวถูกดําเนินคดีอาญาโดยมีคําพิพากษาถึงที่สุดว่าพยายามฆ่านางแดง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 หลังจากนายดําตายนายเขียวได้เอาเงิน ในกองมรดกซึ่งเป็นเงินนอกพินัยกรรมที่มีอยู่ทั้งหมดจํานวน 600,000 บาท ไปเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียวโดยทุจริต จงแบ่งมรดกของนายดํา

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1605 “ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทําให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ ยกย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มีให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่ง เฉพาะอย่างในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น”

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทําหรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1607 “การถูกกําจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ ถูกกําจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว…”

มาตรา 1620 “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทําพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจําหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียง บางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จําหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629

(3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา 1629 (1) แต่มีทายาทตามมาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายดําเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของนายดําคือบ้านราคา 1,000,000 บาท ย่อมตกได้แก่นางแดงและนายขาว และรถยนต์ราคา 500,000 บาท ย่อมตกได้แก่นายเขียวตาม พินัยกรรม ส่วนเงินที่มีอยู่ทั้งหมด 600,000 บาท ซึ่งนายดําไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1620 วรรคสอง และทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกจํานวน 600,000 บาท ของนายดํา ได้แก่

1 นางแดง ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดํา ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรส ตามมาตรา 1629 วรรคท้าย และมีสิทธิได้รับมรดกกิ่งหนึ่งตามมาตรา 1635 (2) คือจะได้รับเงิน 300,000 บาท

2 นายขาวและนายเขียว พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของนายดํา ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 (3) และมีสิทธิได้รับมรดกอีกกึ่งหนึ่งคือ 300,000 บาท โดยนายขาวและนายเขียวจะได้รับส่วนแบ่ง คนละ 150,000 บาท ตามมาตรา 1633

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า

1 การที่นายขาวต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าพยายามฆ่านางแดงนั้น นายขาวไม่ได้ พยายามฆ่าเจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนแต่อย่างใด เพราะนายขาวและนางแดงต่างก็เป็นผู้มีสิทธิ รับมรดกของนายดําในชั้นเดียวกันหรือได้รับมรดกร่วมกัน ดังนั้นนายขาวจึงไม่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกของนายดํา ฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 (1)

2 การที่นายเขียวได้เอาเงินในกองมรดกซึ่งเป็นเงินนอกพินัยกรรมทั้งหมดจํานวน 600,000 บาท ไปเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียวโดยทุจริตนั้น การกระทําของนายเขียวถือว่าเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดก มากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ นายเขียวจึงต้องถูกกําจัดมิให้ได้รับมรดกเลยตามมาตรา 1605 วรรคแรก โดยเป็นการ ถูกกําจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกตาย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายเขียวมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือ เด็กชายเอก เด็กชายเอกจึงมีสิทธิสืบมรดกของนายดําเหมือนหนึ่งว่านายเขียวนั้นตายแล้วตามมาตรา 1607 (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 478/2539) ดังนั้น เด็กชายเอกจึงได้รับมรดกของนายดําโดยการสืบมรดกของนายเขียว จํานวน 150,000 บาท

แต่สําหรับรถยนต์ราคา 500,000 บาทนั้น ถือเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างที่นายดําได้ทํา พินัยกรรมยกให้กับนายเขียวโดยเฉพาะ จึงเข้าข้อยกเว้นของมาตรา 1605 วรรคสอง ดังนั้นนายเขียวจึงยังคงได้รับ มรดกตามพินัยกรรมคือรถยนต์ราคา 500,000 บาท

สรุป

มรดกของนายดําจะตกได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ คือ

1 บ้านราคา 1,000,000 บาท ตกได้แก่นางแดงและนายขาวตามพินัยกรรม

2 รถยนต์ราคา 500,000 บาท ตกได้แก่นายเขียวตามพินัยกรรม

3 เงินนอกพินัยกรรมจํานวน 600,000 บาท ตกได้แก่นางแดง 300,000 บาท และตกได้แก่นายขาวและเด็กชายเอกคนละ 150,000 บาท

 

ข้อ 4 นางพินอยู่กินกับนายโชคโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นายเอก นายโท และนายตรี นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อนางหนู มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ด.ช.น้อย นายเอก และนางหนูได้ไปจดทะเบียนรับ ด.ญ.นา มาเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย นางพิณทําพินัยกรรม ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดของตนให้กับนายตรีลูกชายคนเล็กที่นางพิณรักมากแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา นายเอกประสบอุบัติเหตุตาย หลังจากนั้นนางพิณถึงแก่ความตาย นางพิณมีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 900,000 บาท นายตรีไม่อยากรับมรดกของนางพิณแต่เพียงผู้เดียว นายตรีจึงได้สละมรดกของนางพิณ ในฐานะผู้รับพินัยกรรมโดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตดุสิต ดังนี้ ให้ท่านแบ่งมรดก ของนางพิณ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น”

มาตรา 1604 วรรคแรก “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา 1615 วรรคแรก “การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย”

มาตรา 1620 วรรคแรก “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงที่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา 1698 “ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป

(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม”

มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผล ด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ เมื่อนางพิณเจ้ามรดกถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกคือเงินจํานวน 900,000 บาท ซึ่งนางพิณได้ทําพินัยกรรมยกให้แก่นายตรีเพียงผู้เดียวเท่านั้น โดยหลักแล้วเงินจํานวน 900,000 บาท ย่อมตกได้แก่ นายตรีในฐานะผู้รับพินัยกรรม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายตรีได้ทําหนังสือสละมรดกของนางพิณในฐานะผู้รับพินัยกรรม มอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตดุสิตนั้น ถือว่าเป็นการสละมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1612 ดังนั้น ข้อกําหนด ในพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกไป จึงต้องนําเงินมรดกทั้งหมดจํานวน 900,000 บาท ไปแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรม ของผู้ตายตามมาตรา 1698 (3), 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคแรก และมาตรา 1615 วรรคแรก

สําหรับทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนางพิณ ได้แก่ นายเอก นายโท และนายตรี บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1546 โดยจะได้รับส่วนแบ่ง เท่า ๆ กัน คือ คนละ 300,000 บาท ตามมาตรา 1633 ส่วนนายโชคเป็นสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนางพิณ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเอกได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก จึงถือว่านายเอกไม่มี สภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นายเอกจึงไม่อาจรับมรดกได้ตามมาตรา 1604 วรรคแรก แต่ อย่างไรก็ตาม เมื่อนายเอกมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง คือ ด.ช.น้อย ดังนั้น ด.ช.น้อยมีสิทธิเข้ารับมรดกของนางพิณแทนที่นายเอกได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643 ส่วนนางหนูภริยาของ นายเอก และ ด.ญ.นา ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายเอกไม่มีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายเอก เพราะทั้งสองมิใช่ สันดานโดยตรงของนายเอก

ดังนั้น มรดกของนางพิณทั้งหมด 900,000 บาท จึงตกได้แก่ ด.ช.น้อย นายโท และนายตรี (คนละ 300,000 บาท

สรุป มรดกของนางพิณตกได้แก่ ด.ช.น้อย นายโท และนายตรีคนละ 300,000 บาท

Advertisement