การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเมฆมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 2 คน คือ นายหมอกและ น.ส.ฝน นายเมฆให้สิทธิเหนือพื้นดินบนที่ดินในเขตห้วยขวางแก่นายหนึ่งเป็นเวลา 10 ปี และให้นายสองเช่าที่ดินในเขตบางนาเพื่อ ปลูกอาคารพาณิชย์เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งนายสองตกลงว่าจะยอมให้อาคารพาณิชย์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของนายเมฆเมื่อครบกําหนดตามสัญญาเช่าหลังจากที่นายหนึ่งและนายสองใช้ประโยชน์ในที่ดิน มาแล้วเป็นเวลา 5 ปี นายเมฆป่วยหนัก นายเมฆจึงทําพินัยกรรมยกที่ดินในเขตห้วยขวางให้ นายหมอก และยกที่ดินในเขตบางนาให้ น.ส.ฝน ต่อมาอีก 6 เดือน นายเมฆอาการทรุดลง นายหนึ่ง และนายสองจึงช่วยกันพานายเมฆไปส่งที่โรงพยาบาล เพราะเห็นว่านายหมอกและ น.ส.ฝนไปทําธุระ ที่ต่างจังหวัด แต่เกิดอุบัติเหตุระหว่างทางเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทั้ง 3 คน ดังนี้ นายหมอกจะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายหนึ่ง และ น.ส.ฝนจะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายสองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดก ตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายเมฆ นายหนึ่ง และนายสองได้ถึงแก่ความตาย นายหมอกจะเรียกที่ดิน คืนจากทายาทของนายหนึ่ง และ น.ส.ฝนจะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายสองได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

1 กรณีนายเมฆให้สิทธิเหนือพื้นดินแก่นายหนึ่งเป็นเวลา 10 ปี ตามกฎหมายเมื่อนายเมฆ เจ้าของที่ดิน และนายหนึ่งผู้รับสิทธิ (ผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดิน) ถึงแก่ความตายย่อมไม่ทําให้สิทธิเหนือพื้นดินระงับสิ้นไป หน้าที่ที่จะต้องให้ผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินใช้ประโยชน์เหนือที่ดินนั้นไม่ถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ดังนั้นเมื่อนายเมฆและนายหนึ่งถึงแก่ความตาย หน้าที่และสิทธิดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท นายหมอก จึงต้องให้ทายาทของนายหนึ่งใช้ที่ดินนั้นต่อไปจนครบกําหนด 10 ปี จะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายหนึ่งไม่ได้

2 กรณีนายเมฆให้นายสองเขาที่ดินเพื่อปลูกอาคารพาณิชย์เป็นเวลา 10 ปี เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสองตกลงว่าจะยอมให้อาคารพาณิชย์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเมฆเมื่อครบกําหนดตาม สัญญาเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเช่าที่มีข้อตกลงต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เมื่อนายเมฆผู้ให้เช่าและนายสองผู้เช่าถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ดังนั้น น.ส.ฝนจึงต้อง ให้ทายาทของนายสองเช่าที่ดินนั้นต่อไปจนครบกําหนด 10 ปี จะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายสองไม่ได้

สรุป

นายหมอกจะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายหนึ่งไม่ได้ และ น.ส.ฝนก็จะเรียกที่ดินคืน จากทายาทของนายสองไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 2 นางลําไยเป็นหม้ายเนื่องจากสามีตาย นางลําไยมีพี่ชายร่วมบิดา 1 คน คือ นายมะม่วง และมีน้องสาวร่วมมารดาอีก 1 คน คือ นางมะปราง นางมะปรางเป็นแม่ค้าเร่นําสินค้าใส่รถไปขายยังต่างจังหวัด อยู่บ่อย ๆ จึงได้พบรักกับนายไข่และได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยถูกต้องตามกฎหมายจนมีบุตร 1 คน คือ ด.ช.ขวด พอ ด.ช.ขวดอายุได้ 10 ปี นายไข่ก็เป็นโรคตับแข็งตายเนื่องจากดื่มจัด นางมะปรางจึงเลี้ยงดูลูกตามลําพังโดยยึดอาชีพเดิม ระหว่างที่เร่ขายของตามต่างจังหวัด นางมะปราง ก็ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเสียชีวิต การเลี้ยงดู ด.ช.ขวดจึงเป็นภาระของนางลําไยซึ่งเป็นป้าแต่ผู้เดียว ต่อมาอีก 4 ปี นางลําไยก็ป่วยเป็นมะเร็งลําไส้ถึงแก่ความตาย ก่อนตายนางลําไยมีมรดกคือที่ดิน 2 แปลง ๆ ละ 20 ไร่ และเงินสดในธนาคารอีก 5 ล้านบาท โดยที่นางลําไยไม่ได้ทําพินัยกรรมใด ๆไว้เลย จงแบ่งมรดกของนางลําไย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1620 วรรคแรก “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1642 “การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนางลําไยเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และมีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 2 แปลง ๆ ละ 20 ไร่ และเงินสดในธนาคารอีก 5 ล้านบาท โดยที่นางลําไยไม่ได้ทําพินัยกรรมใด ๆ ไว้ มรดกของ นางลําไยย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของนางลําไยตามมาตรา 1620 วรรคแรก และทายาทโดยธรรมของ นางลําไยที่มีสิทธิจะได้รับมรดก ได้แก่

1 นายมะม่วง เพราะนายมะม่วงเป็นพี่ชายร่วมบิดาของนางลําไย จึงเป็นทายาทโดยธรรมที่ มีสิทธิรับมรดกของนางลําไยตามมาตรา 1629 (4)

2 นางมะปราง เพราะนางมะปรางเป็นน้องสาวร่วมมารดาของนางลําไย จึงเป็นทายาท โดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนางลําไยตามมาตรา 1629 (4)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางมะปรางได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก นางมะปรางจึงไม่อาจรับมรดกได้ เพราะไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แต่เมื่อนางมะปราง มีบุตรคือ ด.ช.ขวต ซึ่ง ด.ช.ขวดนั้นเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนางมะปราง (ตามมาตรา 1643) ด.ช.ขวดจึง สามารถเข้ารับมรดกแทนที่นางมะปรางในการรับมรดกของนางลําไยได้ ทั้งนี้เพราะตามมาตรา 1639 ได้กําหนดไว้ว่า เมื่อทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (4) คนใดได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดาน ก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ และตามมาตรา 1642 ก็ได้กําหนดไว้ว่าการรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับ แต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม ดังนั้น ด.ช.ขวดจึงมีสิทธิรับมรดกของนางลําไยโดยการรับมรดกแทนที่ นางมะปรางตามมาตรา 1639, 1642 และ 1643

อนึ่ง แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า เมื่อนางมะปรางถึงแก่ความตาย และแม้ว่านางลําไยจะได้ อุปการะเลี้ยงดู ด.ช.ขวดอย่างไร แต่ ด.ช.ขวดก็ไม่ใช่ผู้สืบสันดานของนางลําไย เป็นเพียงผู้สืบสันดานโดยตรงของ นางมะปรางเท่านั้น ดังนั้น ด.ช.ขวดจึงไม่อาจรับมรดกของนางลําไยในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) แต่อย่างใด

เมื่อมรดกทั้งหมดของนางลําไยตกได้เก่นายมะม่วง และ ด.ช.ขวดเพียงสองคน ดังนั้น ด.ช.ขวด และนายมะม่วงซึ่งเป็นลุง จึงได้รับมรดกของนางลําไยโดยจะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กันตามมาตรา 1633

สรุป

มรดกของนางลําไย คือที่ดิน 2 แปลง ๆ ละ 20 ไร่ และเงินสดในธนาคารอีกจํานวน 5 ล้านบาท ตกได้แก่นายมะม่วง และ ด.ช.ขวด โดยจะได้รับส่วนแบ่งคนละครึ่งตามเหตุผลและหลักกฎหมาย ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 นายหนึ่งมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2 คน คือ นายสองและนายสาม นายสองจดทะเบียนสมรสกับนางสวย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายเอกและนายโท นายสองประสบอุบัติเหตุตาย นายเอกสละ มรดกของนายสองถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมานายสามได้ขอเงินนายหนึ่งไปเป็นทุนในการค้าขาย นายหนึ่งได้มอบเงินจํานวนหนึ่งให้นายสามตามที่ขอ โดยนายสามได้ทําหนังสือมอบไว้แก่นายหนึ่งว่า จะขอสละมรดกของนายหนึ่งทั้งหมด หลังจากนั้นนายหนึ่งถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ นายหนึ่งมีมรดกทั้งสิ้น 600,000 บาท เมื่อจะมีการแบ่งมรดกของนายหนึ่ง นายโทอ้างว่านายเอก ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายสองในการสืบมรดกของนายหนึ่งเพราะตอนที่นายสองตาย นายบวก ได้สละมรดกของนายสอง นายเอกจึงมาปรึกษาท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมรดกว่ามรดกของ นายหนึ่งจะตกได้แก่ใคร เท่าใด ดังนี้ให้ท่านให้คําปรึกษาแก่นายเอก

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1619 “ผู้ใดจะสละหรือจําหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้า ในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้”

มาตรา 1620 วรรคแรก “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 16.30 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1642 “การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”

มาตรา 1645 “การที่บุคคลใดสละมรดกของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้น ไม่ตัดสิทธิของผู้สละที่จะ รับมรดกแทนที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นในการสืบมรดกของบุคคลอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้มรดกของนายหนึ่ง ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคแรก และทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง ได้แก่ นายสองและนายสาม ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันตามมาตรา 1629 (3) ดังนั้น มรดกของนายหนึ่ง จํานวน 600,000 บาท จึงต้องนํามาแบ่งแก่นายสองและนายสามคนละเท่า ๆ กัน คือ คนละ 300,000 บาท ตามมาตรา 1633

กรณีของนายสอง เมื่อปรากฏว่านายสองได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก และนายสองมี สืบสันดาน และเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง คือนายเอกและนายโท นายเอกและนายโทจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ นายสองได้ตามมาตรา 1639, 1642 และ 1643 โดยนายเอกและนายโทจะได้รับมรดกคนละเท่า ๆ กัน คือคนละ 150,000 บาท ตามมาตรา 1633 ส่วนการที่นายเอกได้สละมรดกของนายสองนั้น ย่อมไม่ตัดสิทธิของนายเอก ในการเข้ารับมรดกแทนที่นายสองในการสืบมรดกของนายหนึ่งแต่อย่างใด (ตามมาตรา 1645) ดังนั้น นายเอก จึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง ส่วนนางสวยซึ่งเป็นคู่สมรมของนายสองไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายสอง เพราะมิใช่ผู้สืบสันดานของนายสอง

สําหรับกรณีของนายสามนั้น แม้นายสามจะได้ทําหนังสือมอบไว้แก่นายหนึ่งว่าจะขอสละ มรดกของนายหนึ่งทั้งหมดนั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการสละมรดกตามกฎหมาย เพราะเป็นการสละมรดกก่อนเจ้า มรดกถึงแก่ความตาย อันเป็นการขัดต่อมาตรา 1619 ดังนั้น นายสามจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง

สรุป

มรดกของนายหนึ่งจํานวน 600,000 บาท ตกได้แก่ นายสาม 300,000 บาท และตกได้แก่ นายเอกและนายโทคนละ 150,000 บาท

 

ข้อ 4 นายไก่อยู่กินกับนางไข่มีบุตรด้วยกันคือนายเป็ด ซึ่งนายไก่อุปการะเลี้ยงดูอย่างดี ต่อมานายเป็ดอยู่กินกับนางปลามีบุตรด้วยกันคือนายห่านและนายหงส์ ซึ่งนายเป็ดได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา ต่อมา นายห่านจดทะเบียนรับ ด.ช.ดอนมาเป็นบุตรบุญธรรม นายเป็ดป่วยและถึงแก่ความตาย เมื่อ นายเป็ดตายปรากฏว่านายห่านได้ทําหนังสือสละมรดกของนายเป็ดมอบแก่ผู้อํานวยการเขตบางกะปิ หลังจากนั้นนายไก่ได้ด่าว่านายหงส์ด้วยถ้อยคําหยาบคาย ด้วยความโมโหนายหงส์จึงใช้มีดปาดคอ นายไก่จนถึงแก่ความตาย นายหงส์ถูกจับ และศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดว่านายหงส์เจตนาฆ่า นายไก่ตายโดยบันดาลโทสะจึงพิพากษาลงโทษจําคุก เช่นนี้จงพิจารณา (ก) การตกทอดมรดกของนายเป็ดซึ่งมีเงินสดในธนาคารจํานวน 120,000 บาท

(ข) การตกทอดมรดกของนายไก่ซึ่งมีเงินสดในธนาคารจํานวน 240,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น ”

มาตรา 1598/27 “การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้า ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน”

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 1615 “การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น”

มาตรา 1619 “ผู้ใดจะสละหรือจําหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้า ในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1630 “ตราบใดที่ทายาทซี ยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่ กรณีในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับ มรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่า เป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลาดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ขอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1634 “ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่ง ๆ … (3) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกเทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”

มาตรา 1644 “ผู้สืบสันดานจะรับมรดกแทนที่ได้ต่อเมื่อมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดก”

มาตรา 1645 “การที่บุคคลใดสละมรดกของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้น ไม่ตัดสิทธิของผู้สละที่จะ รับมรดกแทนที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นในการสืบมรดกของบุคคลอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

(ก) การตกทอดมรดกของนายเป็ด ซึ่งมีเงินสดในธนาคารจํานวน 120,000 บาทเมื่อนายเป็ดถึงแก่ความตาย ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดก ได้แก่

1 นายห่านและนายหงส์ ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายเป็ดรับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดาน และมีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 และเมื่อนายห่านได้ สละมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1612 และมาตรา 1619 นายห่านจึงเสียสิทธิรับมรดกในฐานะ ทายาทโดยธรรม แต่เมื่อนายห่านมีบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1598/27 คือ ด.ช.ดอน ดังนั้น ด.ช.ดอนจึงเป็นผู้สืบสันดาน และเข้าสืบมรดกได้ตามสิทธิของตนและชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากับ ส่วนแบ่งที่นายห่านมีสิทธิจะได้รับตามมาตรา 1615 วรรคสอง

2 นางไข่ ซึ่งเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1546 จึงเป็นทายาทโดยธรรม และมีสิทธิได้รับมรดกของนายเป็ดตามมาตรา 1629 (2) และจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร ตามมาตรา 1630 วรรคสอง

ส่วนนางปลาเมื่อมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายเป็ดจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรส ตามมาตรา 1629 วรรคท้าย จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเป็ด

ดังนั้นมรดกของนายเป็ดคือเงินสดในธนาคารจํานวน 120,000 บาท จึงตกได้แก่ นางไข่ นายหงส์ และ ด.ช.ดอน คนละเท่า ๆ กัน คือ คนละ 40,000 บาท ตามมาตรา 1633

(ข) การตกทอดมรดกของนายไก่ซึ่งมีเงินสดในธนาคารจํานวน 240,000 บาท

เมื่อนายไก่ถึงแก่ความตาย มรดกทั้งหมดย่อมตกได้แก่นายเป็ดซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมาย แต่ นายไก่บิดาได้รับรองแล้วตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 ส่วนนางไข่มิได้จดทะเบียนสมรสกับนายไก่จึง ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายไก่

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเป็ดข็งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตายก่อน เจ้ามรดก ซึ่งตามมาตรา 1639 และ 1643 ได้กําหนดให้ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเป็ดคือนายห่านและนายหงส์ เข้ารับมรดกแทนที่นายเป็ดได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายหงส์ได้ถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจําคุกในความผิดฐาน ฆ่าเจ้ามรดกคือนายไก่ตายโดยเจตนาและเป็นคําพิพากษาถึงที่สุด จึงถือว่านายหงส์ได้ถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐาน เป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 (1) และถือว่านายหงส์เป็นผู้มิได้มีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดก ดังนั้นนายหงส์ จึงไม่อาจรับมรดกแทนที่นายเป็ดได้

ส่วนนายด่านแม้จะได้สละมรดกของนายเป็ดโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่ตัดสิทธิของนายห่าน ที่จะรับมรดกแทนที่นายเป็ดในการสืบมรดกของนายไก่ตามมาตรา 1645 ดังนั้น มรดกของนายไก่จึงมีนายท่าน เข้ารับมรดกแทนที่จํานวน 240,000 บาท แต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1634

สรุป

(ก) มรดกของนายเป็นจํานวน 120,000 บาท ตกได้แก่ นางไข่ นายหงส์ และ ด.ช.ดอนคนละ 40,000 บาท

(ข) มรดกของนายไก่จํานวน 240,000 บาท ตกได้แก่นายห่านแต่เพียงผู้เดียว

Advertisement