การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 โดยบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทําความผิดของจําเลยว่า จําเลยออกเช็คเพื่อชําระหนี้ ตามสัญญารับสภาพหนี้ให้นายละมุดและได้แนบสําเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้องด้วย เมื่อนายละมุดได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ดังนี้ การบรรยายฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดกฎหมายหรือไม่ หากคําฟ้องของโจทก์ ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดและศาลมีคําพิพากษาให้ยกฟ้องแล้ว โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้ มาฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ โดยบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบของความผิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด หมายเหตุ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 “ผู้ใดออกเช็ค เพื่อชําระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

มาตรา 158 “ฟ้อง ต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับ เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลย เข้าใจข้อหาได้ดี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การกระทําที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 นั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชําระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายซึ่งเป็นองค์ประกอบของ การกระทําความผิดมิใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนําสืบในชั้นพิจารณา

การที่โจทก์ฟ้องจําเลยโดยบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จําเลยออกเช็คเพื่อชําระหนี้ตาม สัญญารับสภาพหนี้ และแนบสําเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้อง จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบ ของความผิด เพราะการรับสภาพหนี้มีได้ก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นใหม่ เพียงแต่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เท่านั้น ดังนั้น คําฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5) (คําพิพากษาฎีกาที่ 307/2549)

2 การที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะฟ้องโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของ ความผิดนั้น ถือว่าศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อม ระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) หากโจทก์นําคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ย่อมเป็นฟ้องซ้ํา ต้องห้ามตามกฎหมาย ดังนั้น กรณีดังกล่าวนี้โจทก์ย่อมไม่อาจฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่โดยบรรยายฟ้องให้ถูกต้อง ได้อีก (คําพิพากษาฎีกาที่ 770/2546)

สรุป การบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบของความผิด และเมื่อศาลมีคําพิพากษา ให้ยกฟ้องแล้ว โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ โดยบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบของ ความผิดไม่ได้

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยในขณะที่จําเลยมีอายุ 28 ปี ขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ ก่อนเริ่มพิจารณาศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ จําเลย ตอบว่าไม่มี แต่จําเลยไม่ต้องการทนายความเพราะสํานึกผิดในการกระทํา ดังนี้ หากศาลพิจารณาคดีไปโดยมิได้ตั้งทนายความให้จําเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ “ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามได้กระทําโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง หรือกระทํากับเด็กชายในลักษณะเดียวกันหรือได้กระทําโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจําคุกตลอดชีวิต”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 173 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จําเลย มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี และจําเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จําเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความ หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

แต่ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก (ไม่ว่าจะเป็นโทษจําคุกที่มีกําหนดเวลาหรือเป็นโทษจําคุก ตลอดชีวิต) ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยในขณะที่จําเลยมีอายุ 29 ปี ขอให้ลงโทษจําเลยตาม ป.อาญา มาตรา 277 วรรคสี่ ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก จึงเข้าหลักตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง ที่ได้กําหนดไว้ว่า ก่อนเริ่มพิจารณาศาลต้องถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและ จําเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อศาลถามจําเลยว่ามีทนายความ หรือไม่ จําเลยตอบว่าไม่มี แต่จําเลยไม่ต้องการทนายความ

ดังนี้ศาลจึงไม่ต้องตั้งทนายความให้ และหากศาล พิจารณาคดีไปโดยมิได้ตั้งทนายความให้จําเลย การพิจารณาคดีของศาลย่อมชอบด้วยกฎหมาย

สรุป หากศาลพิจารณาคดีไปโดยมิได้ตั้งทนายความให้จําเลย การพิจารณาคดีของศาลในกรณีนี้ ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายไมโลซึ่งยืนรอรถโดยสารประจําทางอยู่บริเวณป้ายจอดถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (ฟ้องถูกต้อง ตามกฎหมายทุกประการ) ทางพิจารณาได้ความแตกต่างจากฟ้องว่า

(ก) จําเลยขับรถยนต์ชนนายไมโลซึ่งยืนรอรถโดยสารประจําทางอยู่บริเวณป้ายจอดถึงแก่ความตายโดยเจตนา โดยสําคัญผิดว่านายไมโลคือนายโกโก้คู่อริของจําเลยกรณีหนึ่ง

(ข) จําเลยขับรถยนต์ชนนายโกโก้ซึ่งยืนรอรถโดยสารประจําทางอยู่บริเวณป้ายจอดโดยสําคัญผิดว่านายโกโก้คือนายไมโล และจากทั้งสองกรณีในข้างต้น ไม่ปรากฏว่าจําเลยได้ลงต่อสู้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมาย ประกอบ

หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคําขอหรือ ที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริง ที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายไมโล ซึ่งยืนรอรถโดยสารประจําทาง อยู่บริเวณป้ายจอดถึงแก่ความตาย แต่ทางพิจารณาได้ความแตกต่างจากฟ้องว่า จําเลยขับรถยนต์ชนนายไมโล ถึงแก่ความตายโดยเจตนา โดยสําคัญผิดว่านายไมโลคือนายโกโก้คู่อริของจําเลย ซึ่งตามกฎหมายจําเลยไม่อาจยกเอา ความสําคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาต่อนายไมโลนั้น ข้อแตกต่างกันระหว่างการกระทํา โดยเจตนากับประมาทตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าข้อแตกต่างเช่นว่านี้เป็นเพียงรายละเอียดมิให้ ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ เมื่อไม่ปรากฏว่าจําเลยหลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอํานาจตามมาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสองที่จะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานฆ่านายไมโลตายโดยเจตนาตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ นั้นได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม

(ข) การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถโดยประมาทชนนายไมโลถึงแก่ความตายนั้น วัตถุแห่งการกระทํา ตามฟ้องคือนายไมโล แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณากลับได้ความว่า ผู้ตายซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทํา คือนายโกโก้จึงเป็นการแตกต่างกันในสาระสําคัญ แม้จําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลก็ต้องพิจารณายกฟ้องโจทก์เสีย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบวรรคสอง ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้ แม้ข้อแตกต่างกัน ระหว่างการกระทําโดยเจตนากับประมาทนั้น ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม จะบัญญัติมิให้ถือว่า แตกต่างกันในข้อสาระสําคัญก็ตาม

สรุป

กรณีตาม (ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้ แต่จะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่ กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

กรณีตาม (ข) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านายเอจําเลยที่ 1 และนายบี จําเลยที่ 2 ร่วมกันพยายามฆ่านายซวยผู้เสียหาย ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ว่าไม่ได้กระทําผิดตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จําเลยทั้งสองพยายามฆ่านายซวยผู้เสียหาย แต่ฟังได้ว่าจําเลยที่ 2 ทําร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับ อันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 โดยจําเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทําผิดกับ จําเลยที่ 2 ที่พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยที่ 2 มีกําหนด 6 ปี ส่วนจําเลยที่ 1 พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าจําเลยทั้งสองกระทําผิดฐานพยายามฆ่านายซวยขอให้ลงโทษตามฟ้องนายบี จําเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทําผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจําเลยทั้ง 2 กระทําความผิดฐานพยายามฆ่านายซวย ขอให้ลงโทษตามฟ้อง ส่วนนายบีจําเลยที่ 2 ฎีกาว่าไม่ได้กระทําผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้เสียหาย ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์และจําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 216 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 217 ถึง 221 คู่ความมีอํานาจฎีกาคัดค้าน คําพิพากษา หรือคําสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น ให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง”

มาตรา 218 “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และ ให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจําคุก จําเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง”

มาตรา 220 “ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้หรือไม่ แยก วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของโจทก์ การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลลงโทษจําเลยทั้งสองฐานพยายามฆ่านายซวย ผู้เสียหายตามคําฟ้องนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข้อหาความผิดนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษา ยกฟ้องโจทก์คู่ความจึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 220 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 492/2536) ดังนั้น การที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจําเลยทั้งสอง กระทําความผิดฐานพยายามฆ่านายซวยขอให้ลงโทษตามฟ้องเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลในการรับฟัง พยานหลักฐาน จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์จึงถูกต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 220 ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงไม่สามารถรับฎีกาของโจทก์

กรณีของนายบีจําเลยที่ 2 การที่นายบีจําเลยที่ 2 ฎีกาว่าไม่ได้กระทําผิดฐานทําร้ายร่างกาย ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสขอให้ยกฟ้องนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจําเลยที่ 2 ทําร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับ อันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 พิพากษาลงโทษจําคุก 6 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนและลงโทษจําคุกจําเลยที่ 2 เกิน 5 ปี กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคสอง ซึ่งห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้ห้ามจําเลย ดังนั้นนายจําเลยที่ 2 จึงสามารถยื่นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคสอง ศาลชั้นต้น จึงมีคําสั่งรับฎีกาของนายบีจําเลยที่ 2 ได้

สรุป ศาลชั้นต้นไม่สามารถรับฎีกาของโจทก์ แต่สามารถรับฎีกาของนายบีจําเลยที่ 2 ได้

Advertisement