การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายขาวเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรก ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ 4 ปาก เสร็จแล้วทนายโจทก์แถลงว่าโจทก์ยังคงเหลือพยาน อีก 1 ปากคือ นายแดงซึ่งโจทก์ยังติดตามตัวนายแดงมาไม่ได้ ขอเลื่อนคดีไปคราวหน้า หากนัดหน้าโจทก์ ไม่สามารถติดตามตัวนายแดงมาเบิกความต่อศาลได้ ก็ให้ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบนายแดงอีก ศาล อนุญาตให้เลื่อนคดีไปไต่สวนมูลฟ้องต่อไปในนัดหน้า ครั้งถึงวันนัด ทนายโจทก์ไม่สามารถติดตาม ตัวนายแดงมาศาลได้ ฝ่ายโจทก์จึงไม่มีใครมาศาลเลย ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้องของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ดังนี้

(ก) โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สอง มิใช่นัดแรก ศาลยกฟ้องโจทก์ไม่ได้

(ข) ทนายโจทก์แถลงไว้ในนัดก่อนแล้วว่า หากนัดหน้าโจทก์ไม่สามารถติดตามตัวนายแดงมาเบิกความต่อศาลได้ ก็ให้ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบนายแดง แม้โจทก์ไม่มาศาลตามนัด ศาลก็ชอบที่จะดําเนินคดีต่อไปได้ คําพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ค) คดีนี้ในการไต่สวนมูลฟ้องนัดแรก โจทก์ได้นําพยานเข้าสืบไป 4 ปาก พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมีมูลพอที่ศาลจะประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาได้ คําพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ให้วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้ง 3 ข้อฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 166 วรรคแรก ได้กําหนดหน้าที่ของโจทก์ไว้ว่า ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์จะต้องมาศาลตามกําหนดนัด มิฉะนั้นก็ให้ศาลยกฟ้องเสีย เว้นแต่จะมีเหตุสมควร ศาลจึงจะเลื่อนคดีไปก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้ง 3 ข้อฟังขึ้นหรือไม่ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สอง หลังจากศาลไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ในนัดแรกไปบ้างแล้วนั้น ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรกได้ เพราะโจทก์ ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อศาลคือ นําพยานเข้าไต่สวนมูลฟ้องอีก หากโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานอีกก็ต้องแถลงให้ศาล ทราบเป็นกิจจะลักษณะ และเรื่องการไม่มาศาลตามกําหนดนัดเช่นนี้ ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงจะนําหลักเรื่องโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 200 และมาตรา 202 มาอนุโลม ใช้บังคับหาได้ไม่ ดังนั้น แม้เป็นกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในนัดที่สองมิใช่นัดแรก ศาลก็ยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อาญ มาตรา 166 วรรคแรกได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 227/2527)

(ข) วันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สอง แม้จะมิใช่นัดแรก โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นําพยานเข้าเสืบ ตามกําหนดนัด หากโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานอีกโจทก์ก็ต้องแถลงให้ศาลทราบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อจะได้ ดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ทนายโจทก์แถลงไว้ในนัดก่อนว่า หากนัดหน้าไม่สามารถติดตามตัวนายเดงบา เบิกความได้ ก็ให้ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบนายแดงอีก หาได้หมายถึงกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลด้วยไม่ เมื่อโจทก์ไม่มาศาล ตามกําหนดนัด ศาลชั้นต้นย่อมชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก (คําพิพากษาฎีกา ที่ 5564/2534

(ค) การที่จะพิจารณาว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่ไต่สวนมูลฟ้องไปแล้วจะพอฟังว่าคดีมีมูล หรือไม่ ต้องเป็นกรณีที่โจทก์มาศาลตามกําหนดนัดแล้ว แต่ไม่ติดใจนําพยานเข้าไต่สวนมูลฟ้องต่อไป เมื่อโจทก์ ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สอง แม้จะมิใช่วันนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรก ศาลก็ต้องยกฟ้องของโจทก์ เสียตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคแรก โดยไม่ต้องวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่สืบไปแล้วในนัดก่อนรวม 4 ปาก ว่าเพียงพอที่จะฟังว่าคดีมีมูลหรือไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 121/2538 และ 1726/2534)

สรุป อุทธรณ์ของโจทก์ทั้ง 3 ขอฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจําเลยในข้อหาความผิดฐานไม่ยื่นรายการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรมาตรา 35 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท ในวันนัดพิจารณาโจทก์และจําเลยมาศาล ศาลชั้นต้น ดําเนินกระบวนพิจารณาไปโดยอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจําเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงได้นัดฟังคําพิพากษา

(ก) ความปรากฏว่า จําเลยไม่มีทนายความ และศาลชั้นต้นก็มิได้สอบถามจําเลยในเรื่องทนายความก่อนอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง

(ข) ศาลชั้นต้นเรียกสํานวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาประกอบการวินิจฉัยลับหลังจําเลยโดยมิได้แจ้งให้จําเลยทราบ

(ค) ความปรากฏตามฟ้องว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ แต่เนื่องจากจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ทั้งมิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีจะต้องลงโทษจําเลยไปตามคํารับสารภาพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

ให้วินิจฉัยในแต่ละกรณีตาม (ก) (ข) และ (ค) ว่า การพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 172 วรรคสอง “เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจําเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาล เชื่อว่าเป็นจําเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง และถามว่าได้กระทําผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้ อย่างไรบ้าง คําให้การของจําเลยให้จดไว้ ถ้าจําเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดําเนินการพิจารณาต่อไป”

มาตรา 173 วรรคแรกและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จําเลย มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุกก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี และจําเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

มาตรา 175 “เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ถ้าเห็นสมควรศาลมีอํานาจเรียกสํานวนการสอบสวน จากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้”

มาตรา 176 วรรคแรก “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลย ได้กระทําผิดจริง”

มาตรา 185 วรรคแรก “ถ้าศาลเห็นว่าจําเลยมิได้กระทําผิดก็ดี การกระทําของจําเลยไม่เป็น ความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จําเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจําเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจําเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การพิจารณาของศาลชั้นต้นในกรณีตาม (ก) (ข) และ (ค) ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เห็นว่า

กรณีตาม (ก) พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจําเลยในความผิดฐานไม่ยื่นรายการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 35 ซึ่งมีระวางโทษปรับเพียงสถานเดียว มิใช่คดีที่มีโทษประหารชีวิต หรือคดีที่มีโทษ จําคุก อันจะตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคแรก และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่าก่อนเริ่มพิจารณา ให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ดังนี้ แม้จําเลยจะไม่มีทนายความและศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจําเลยในเรื่อง ทนายความก่อนอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังก็ตาม ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายการพิจารณาของศาลชั้นต้น การพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

กรณีตาม (ข) การเรียกสํานวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาประกอบการวินิจฉัย ของศาลชั้นต้น เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว เป็นอํานาจของศาลชั้นต้นที่จะกระทําได้โดยชอบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 175 ทั้งมิใช่การพิจารณาและสืบพยานในศาล ซึ่งต้องทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลยตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคแรก แม้ศาลชั้นต้นเรียกสํานวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาประกอบการวินิจฉัยลับหลัง จําเลยโดยมิได้แจ้งให้จําเลยทราบ ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

กรณีตาม (ค) โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 35 ซึ่งมีระวางโทษ ตามที่กฎหมายกําหนดให้ปรับไม่เกินสองพันบาท เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจําเลยไม่ติดใจ สืบพยาน ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคแรก เมื่อความปรากฏตามฟ้องของโจทก์ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ แม้จําเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยมิได้ให้ การต่อสู้เรื่องอายุความก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอํานาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ และปล่อยจําเลยไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 185 วรรคแรก เนื่องจากมาตรา 176 วรรคแรก มิได้บัญญัติบังคับให้ศาลจะต้องพิพากษาลงโทษจําเลยไป ตามคํารับสารภาพแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีจะต้องลงโทษจําเลยไปตามคํารับสารภาพ จึงเป็นการ ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว

สรุป

(ก) การพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย

(ค) การพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยใช้อาวุธปืนยิงนายแมวโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายแมวตาย ขอให้ลงโทษจําเลยตาม ป.อาญา มาตรา 288 หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง ดังนี้

(ก) จําเลยมีเจตนาแท้จริงที่จะฆ่านายหมาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่กลับใช้อาวุธปืนยิงนายแมวตายโดยสําคัญผิดตัวว่า นายแมวคือนายหมา อันเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 289(4), 61กรณีหนึ่ง

(ข) จําเลยใช้อาวุธปืนยิงนายแมว โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนายหมาตาย อันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านายแมวตาม ป.อาญา มาตรา 288, 80 บทหนึ่ง และผิดฐานฆ่านายหมาตายโดยพลาดตาม ป.อาญา มาตรา 288, 60 อีกบทหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง ให้วินิจฉัยว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น หากปรากฏว่าจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะพิพากษาลงโทษ จําเลยได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคแรก วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคหก “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคําขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช้ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็น เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ใน ตัวเอง ศาลจะลงโทษจําเลยในการกระทําผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) โจทก์ฟ้องว่าจําเลยใช้อาวุธปืนยิงนายแมวโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายแมวตาย แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณากลับได้ความว่า จําเลยมีเจตนาแท้จริงที่จะฆ่านายหมาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่กลับใช้อาวุธปืนยิงนายแมวตายโดยสําคัญผิดตัว ซึ่งจําเลยจะยกเอาความสําคัญผิดมาข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทํา โดยเจตนาหาได้ไม่ จําเลยจึงมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 289(4), 61 นั้น แม้ทางพิจารณาจะแตกต่างกับฟ้อ ในเรื่องเจตนาโดยสําคัญผิดตัว แต่ก็มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสําคัญ เมื่อจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจําเลยฐานฆ่านายแมวตาม ป.อาญา มาตรา 288, 61 ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อที่ปรากฏในทางพิจารณาว่าจําเลย ฆ่านายแมวตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อาญา มาตรา 289(4) นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ จึงลงโทษจําเลย ในเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 289(4) ไม่ได้ เพราะเป็นคําขอและโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคแรก

(ข) โจทก์ฟ้องว่าจําเลยใช้อาวุธปืนยิงฆ่านายแมวตายโดยเจตนา ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 288 แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณากลับได้ความว่า จําเลยใช้อาวุธปืนยิงนายแมวโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนพลาดไปถูกนายหมาตายอันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านายแมวตาม ป.อาญา มาตรา 288, 80 บทหนึ่ง และมีความผิดฐานฆ่านายหมาตายโดยพลาดตาม ป.อาญา มาตรา 288, 60 อีกบทหนึ่ง ปัญหาว่าศาลจะพิพากษา ลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด ขอแยกตอบดังนี้

สําหรับบทความผิดฐานพยายามฆ่านายแมวตาม ป.อาญา มาตรา 238, 80 นั้น เป็นความผิด ที่รวมอยู่ในความผิดฐานฆ่านายแมวตายตาม ป.อาญา มาตรา 288 ตามฟ้องซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ดังนั้น ศาลย่อมมีอํานาจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคแรก ที่จะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานพยายามฆ่านายแมว ตาม ป.อาญา มาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นบทเบากว่าที่พิจารณาได้ความได้

ส่วนบทความผิดฐานฆ่านายหมาตายโดยพลาดตาม ป.อาญา มาตรา 288, 60 นั้น แม้การ แตกต่างระหว่างเจตนาประสงค์ต่อผลตาม ป.อาญา มาตรา 59 วรรคสอง กับเจตนาโดยพลาดตาม ป.อาญา มาตรา 60 จะมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจําเลยฆ่านายแมวตาย แต่ทางพิจารณากลับฟังได้ความว่าจําเลยฆ่านายหมาตาย วัตถุแห่งการกระทําจึงเป็นบุคคลคนละคนกัน ต้องถือว่า แตกต่างกันในข้อสาระสําคัญและข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาว่าจําเลยฆ่านายหมาตายนั้น ก็เป็นเรื่อง นอกฟ้องนอกความประสงค์ให้ลงโทษจําเลย ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจําเลยในบทความผิดฐานฆ่านายหมาตาย โดยพลาดตาม ป.อาญา มาตรา 288, 60 ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคแรกและวรรคสี่

สรุป

(ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานฆ่านายแมวตายตาม ป.อาญา มาตรา 288, 61 ได้ แต่จะพิพากษาลงโทษจําเลยในเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 289(4) ไม่ได้

(ข) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานพยายามฆ่านายแมวตาม ป.อาญา มาตรา 288, 80 ได้ แต่จะพิพากษาลงโทษจําเลยในความผิดฐานฆ่านายหมาตายโดยพลาดตาม ป.อาญา มาตรา 238, 60 ไม่ได้

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจําคุก 6 เดือน โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกําหนด 1 ปี โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยให้หนักขึ้นส่วนจําเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจําคุก 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ดังนี้ จําเลยจะฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 218 “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และ ให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจําคุก จําเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง”

มาตรา 219 “ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน สีหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจําเลยไม่เกินกําหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จําเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจําเลย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องถือเป็นการฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจําคุกจําเลย 3 เดือน ฎีกาของจําเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจําคุก 6 เดือน โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจําเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจําคุก 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ เปลี่ยนโทษจําคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นโทษจําคุก จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 แต่ก็ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ต่อไป

เมื่อพิจารณาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 แล้วได้ความว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่าง พิพากษาลงโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ห้ามคู่ความฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่มีข้อยกเว้นให้จําเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก และเพิ่มเติมโทษจําเลยด้วย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการ ลงโทษจําคุก ซึ่งเป็นคุณแก่จําเลยมากกว่าคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจําเลย 3 เดือน กรณีถือว่าคําพิพากษา ศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจําเลย

เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก และเพิ่มเติมโทษจําเลยด้วย จําเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219

สรุป จําเลยจะฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้

Advertisement