การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จําเลยผู้เช่าออกไปจากที่ดินที่จําเลยทําสัญญาเช่าจากโจทก์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท และให้จําเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินซึ่ง อาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคําฟ้อง เดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจําเลยและบริวาร ออกไปจากที่ดินที่เช่า จําเลยให้การว่า จําเลยไม่ได้ผิดสัญญาเช่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จําเลยจนเสร็จและมีคําพิพากษาโดยฟังว่าจําเลยผิดสัญญาเช่า ตามฟ้องจึงพิพากษาให้จําเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่จําเลยเช่าจากโจทก์ กับให้จําเลยใช้ ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจําเลยและ บริวารจะออกไปจากที่ดินที่เช่า จําเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ที่เช่าจึงฟ้องจําเลยไม่ได้ ให้วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจําเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ใน ข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควร อุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว และคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจาก อสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคําฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนด ในพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 225 วรรคหนึ่ง “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความ จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็น สาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการห้ามคู่ความอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดี ดังต่อไปนี้ คือ

1 คดีที่ราคาทรัพย์ที่พิพาทหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

2 คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ในการยื่นอุทธรณ์นั้น

1 ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2 ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และ

3 อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยซึ่งเป็นผู้เช่าออกจากที่ดินที่เช่า ซึ่งในขณะยื่น คําฟ้องมีค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลผู้เช่าออกจากที่ดินอันมีค่าเช่าในขณะยื่นคําฟ้อง เดือนละ 3,000 บาท ซึ่งไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จําเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่จําเลยเช่าจากโจทก์แม้โจทก์ จะฟ้องเรียกให้จําเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 6,000 บาท และศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จําเลย ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท แต่ค่าเสียหายดังกล่าวนั้นมิใช่ค่าเช่าตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับ จําเลย ดังนั้นจะถือเอาค่าเสียหายไม่ว่าที่โจทก์ฟ้องหรือที่ศาลชั้นต้นกําหนดมาเป็นค่าเช่าไม่ได้ เพราะมิใช่คดีฟ้อง ขับไล่บุคคลผู้อาศัยหรือผู้บุกรุกออกจากที่ดิน

กรณีที่จําเลยอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจําเลยในข้อที่ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่านั้น เป็นการ อุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงย่อมต้องห้ามมิให้จําเลย อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224

ส่วนอุทธรณ์ของจําเลยในข้อที่ว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่เช่าจึงฟ้องจําเลยไม่ได้นั้นเป็น อุทธรณ์นอกเหนือจากที่จําเลยให้การต่อสู้คดีไว้ในศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้จําเลยอุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ดังนั้น อุทธรณ์ของจําเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป อุทธรณ์ของจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. วันที่ 1 มีนาคม 2559 โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “จําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 60,000 บาท แต่ไม่ยอมชําระคืน ขอให้ศาลพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย” ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2559 จําเลย ยื่นคําร้องขอขยายระยะเวลายื่นคําให้การต่อศาล อ้างว่าจําเลยต้องไปงานศพที่ต่างจังหวัดมิสามารถ ยื่นคําให้การได้ทันกําหนด 15 วัน ศาลพิเคราะห์คําร้องแล้วเห็นว่ามิใช่พฤติการณ์พิเศษจึงไม่อนุญาตให้จําเลยขยายระยะเวลาโดยมี คําสั่งในวันที่ 13 มีนาคม 2559 ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2559 จําเลยจึงยื่นอุทธรณ์คําร้องขออนุญาต ยื่นคําให้การดังกล่าวต่อศาล ให้ท่านวินิจฉัยว่า จําเลยจะสามารถยื่นอุทธรณ์คําร้องขออนุญาตยื่นคําให้การดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่ โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาด ตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่ง ระหว่างพิจารณา”

มาตรา 227 “คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือคําสั่ง วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณา และ ให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี”

มาตรา 228 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคําสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

(3) ไม่รับหรือคืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งมิได้ ทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คําสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคําสั่งเป็นต้นไป” วินิจฉัย คําสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณานั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 จะต้องเป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจําหน่ายคดี

2 เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลยังต้องทําคดีนั้นต่อไป

3 ไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 227 และมาตรา 228

และเมื่อเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว คู่ความจะอุทธรณ์คําสั่งนั้นทันทีไม่ได้ ต้องโต้แย้ง คัดค้านคําสั่งนั้นไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 (2)

ตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยยื่นคําร้องขอขยายระยะเวลายื่นคําให้การนั้น คําร้องขอขยาย ระยะเวลายื่นคําให้การไม่ใช่คําคู่ความ ดังนั้น การที่ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยขยายระยะเวลายื่นคําให้การ จึงไม่ใช่คําสั่งไม่รับคําคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 227 หรือมาตรา 228 (3) แต่อย่างใด คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา (คําพิพากษาฎีกาที่ 665/2509)

เมื่อเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา จําเลยจึงไม่สามารถยื่นอุทธรณ์คําร้องขออนุญาตยื่นคําให้การ ดังกล่าวได้ทันทีเพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 ถ้าจําเลยต้องการจะอุทธรณ์จะต้องโต้แย้งคําสั่งของ

ศาลไว้ก่อน แล้วจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ตัดสินคดีนั้น

สรุป จําเลยจะยื่นอุทธรณ์คําร้องขออนุญาตยื่นคําให้การดังกล่าวทันทีไม่ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจําเลยเป็นเงิน 1 ล้านบาท ฐานผิดสัญญา จําเลยต่อสู้ว่าจําเลยไม่ได้กระทําผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง ขอให้ศาลยกฟ้องในระหว่างพิจารณา โจทก์ร้องขอให้ศาล มีคําสั่งยึดรถยนต์ 2 คัน ที่จําเลยเอาไปให้อู่ซ่อม ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะไม่ส่งสําเนาคําร้องให้จําเลยได้คัดค้านก่อนได้หรือไม่ และถ้าท่านไต่สวน แล้วเห็นว่ารถยนต์คันแรกเป็นรถยนต์ที่เช่าซื้อ ส่วนอีกคันเป็นรถยนต์ของจําเลย และจําเลยไม่จ่าย ค่าซ่อมรถยนต์ทั้ง 2 คัน อู่ซ่อมรถยนต์จึงยึดหน่วงรถยนต์ทั้ง 2 คันไว้ ท่านเห็นว่าโจทก์จะขอยึดรถยนต์ 2 คันนี้ไว้ก่อนมีคําพิพากษาได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อน พิพากษา รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย”

วินิจฉัย

บทบัญญัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ในการขอคุ้มครอง ประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาก่อนพิพากษา และตามมาตรา 254 (1) ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการยื่นคําร้อง ขอให้ศาลมีคําสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยนั้น คําว่า “ยึด” หมายถึง การเอา ทรัพย์สินมาไว้ในความดูแลรักษาของเจ้าพนักงานบังคับคดี และทรัพย์สินที่จะยึดนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินของ จําเลย คือยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลย โดยไม่คํานึงว่าทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของผู้ใด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจําเลยเป็นเงิน 1 ล้านบาท ฐานผิดสัญญา และในระหว่างพิจารณา โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งยึดรถยนต์ 2 คันที่จําเลยเอาไปให้อู่ซ่อมนั้น คําขอของโจทก์ ที่ให้ยึดรถยนต์เป็นคําขอตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (1) ซึ่งถือเป็นคําขอฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัด ดังนั้น ศาลจะให้ ส่งสําเนาคําร้องของโจทก์ให้จําเลยได้คัดค้านก่อนไม่ได้

ส่วนการที่โจทก์ขอให้ศาลมีคําสั่งยึดรถยนต์ 2 คันที่จําเลยเอาไปให้อู่ซ่อมนั้น เมื่อปรากฏ ข้อเท็จจริงว่ารถยนต์คันแรกเป็นรถยนต์ที่จําเลยเช่าซื้อมายังมิใช่เป็นของจําเลย ดังนั้นโจทก์จะร้องขอให้ยึดไม่ได้ ส่วนรถยนต์อีกคันซึ่งเป็นของจําเลยนั้นแม้จะถูกอู่ซ่อมรถยนต์ใช้สิทธิยึดหน่วงไว้เนื่องจากจําเลยไม่จ่ายค่าซ่อม โจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอให้ยึดไว้ก่อนมีคําพิพากษาได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (1)

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะไม่ส่งสําเนาคําร้องให้จําเลยได้คัดค้านก่อน และโจทก์จะขอยึด รถยนต์ไว้ก่อนมีคําพิพากษาได้เฉพาะรถยนต์คันที่เป็นของจําเลยเพียง 1 คันเท่านั้น

 

ข้อ 4. คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลชั้นต้นได้อ่านคําพิพากษาของศาลชั้นต้นให้โจทก์ฟังโดยจําเลยไม่มาฟังคําพิพากษาว่า พิพากษาให้จําเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันฟังคําพิพากษานี้ ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 โจทก์ยืนคําแถลง ต่อศาลชั้นต้นว่า บัดนี้ล่วงพ้นกําหนดเวลาจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามคําพิพากษาแล้ว จําเลย ไม่ยอมปฏิบัติตามคําพิพากษา โจทก์ได้ตรวจสอบโฉนดที่ดินที่พิพาทที่อยู่ที่สํานักงานที่ดินพบว่าจําเลย จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้นายจันทร์ไปในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งนายจันทร์และเจ้าพนักงานที่ดินดําเนินการจดทะเบียนโอนที่ดิน พิพาทให้แก่โจทก์ตามคําพิพากษา ให้วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดีหรือไม่ ศาลชั้นต้นจะ มีหนังสือแจ้งนายจันทร์และเจ้าพนักงานที่ดินดําเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ตามคําพิพากษาหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”

มาตรา 272 “ถ้าศาลได้พิพากษาหรือมีคําสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ก็ให้ศาลมีคํา บังคับกําหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคําบังคับในวันที่ได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่ง และให้เจ้าพนักงานศาลส่งคําบังคับนั้น ไปยังลูกหนี้ตามคําพิพากษา เว้นแต่ลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลมีคําบังคับนั้น และศาลได้สั่ง ให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสําคัญ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดีแก่จําเลยได้หรือไม่

การที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคําพิพากษาของศาลชั้นต้นให้โจทก์ฟัง โดยจําเลยไม่มาฟัง คําพิพากษาว่า พิพากษาให้จําเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันฟัง คําพิพากษานี้นั้น ถือว่าหนี้ที่จําเลยจะต้องปฏิบัติตามคําพิพากษาของศาลที่ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาท ให้แก่โจทก์นั้น เป็นกรณีคําพิพากษาซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 272 ได้บัญญัติให้ศาล มีคําบังคับกําหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคําบังคับในวันที่ได้อ่านคําพิพากษา และให้เจ้าพนักงานศาลส่งคําบังคับนั้นไปยัง ลูกหนี้ตามคําพิพากษา เมื่อคดีนี้จําเลยไม่ได้มาศาลในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคําพิพากษา ศาลชั้นต้นยังมิได้ออก คําบังคับและให้เจ้าพนักงานศาลส่งคําบังคับนั้นไปยังจําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษา ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีแก่จําเลยได้ แม้จะล่วงพ้นกําหนดเวลาตามคําพิพากษาที่ให้จําเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วก็ตาม

2 ศาลชั้นต้นจะมีหนังสือแจ้งนายจันทร์และเจ้าพนักงานที่ดินดําเนินการจดทะเบียนโอน ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคําพิพากษาได้หรือไม่

แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจําเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายจันทร์ไปใน ขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่เมื่อนายจันทร์เป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ตาม คําพิพากษาของโจทก์ในคดีนี้ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะมีหนังสือแจ้งนายจันทร์และเจ้าพนักงานที่ดินดําเนินการ จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคําพิพากษาไม่ได้ (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271)

สรุป โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดี และศาลชั้นต้นจะมีหนังสือแจ้งนายจันทร์และเจ้าพนักงาน ที่ดินดําเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคําพิพากษาไม่ได้

 

Advertisement