การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยฐานผิดสัญญาซื้อขายเครื่องเรือน อ้างว่า จําเลยไม่ยอมนําเครื่องเรือนมาส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญา ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะไม่สามารถนําเครื่องเรือนไปส่งให้ลูกค้าได้ ขอให้ ศาลบังคับจําเลยให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจํานวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี จําเลยยื่นคําให้การแก้คดีตามกฎหมาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลย ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จําเลยไม่พอใจ ในคําพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงต้องการยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ก่อนที่ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์จะสิ้นสุดลง จําเลยยื่นคําร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นคําฟ้อง อุทธรณ์ ต่อมาศาลมีคําสั่งให้ยกคําร้อง จําเลยไม่พอใจในคําสั่งของศาลจึงยื่นอุทธรณ์คําสั่งของศาล ทันที โดยไม่ได้โต้แย้งคําสั่งของศาลไว้ก่อน

ดังนี้ จําเลยจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 223 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 138, 168, 188 และ 222 และในลักษณะนี้ คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นประมวล กฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด”

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งขี้ขาดตัดสินคดีนั้น เป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่ง ระหว่างพิจารณา

วินิจฉัย

คําสั่งของศาลที่ถือว่าเป็น “คําสั่งระหว่างพิจารณา” ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นใน ระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 จะต้องเป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจําหน่ายคดี

2 เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลยังต้องทําคดีนั้นต่อไป

3 ไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227 และมาตรา 228

เมื่อเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว คู่ความจะอุทธรณ์คําสั่งทันทีไม่ได้ ต้องโต้แย้งคัดค้านคําสั่ง ไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คําสั่งนั้นตามมาตรา 226 (2) ส่วนคําสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ 3 ประการนี้ ไม่ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)

ตามข้อเท็จจริง การที่จําเลยยื่นคําร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นคําฟ้องอุทธรณ์ ถือว่าจําเลย ยื่นคําร้องในขณะที่ไม่มีคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล เนื่องจากศาลได้มีคําพิพากษาไปแล้ว ดังนั้นการที่ศาลมีคําสั่ง ยกคําร้องของจําเลยจึงไม่ใช่คําสั่งระหว่างพิจารณา แม้จําเลยจะไม่ได้โต้แย้งคําสั่งของศาล จําเลยก็สามารถอุทธรณ์ได้ เพราะสิทธิของจําเลยถูกโต้แย้ง โดยอาศัยมาตรา 223 ทั้งนี้เพราะตามมาตรา 223 นั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา หรือคําสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว คู่ความหรือบุคคลภายนอกซึ่งถูกกระทบกระทั่งต่อสิทธิหรือมีส่วนได้เสียในคดี ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ เว้นแต่คําพิพากษาหรือคําสั่งที่กฎหมายได้บัญญัติให้เป็นที่สุดหรือห้ามมิให้อุทธรณ์

สรุป จําเลยสามารถอุทธรณ์ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง จําเลยอุทธรณ์ว่า ลายมือชื่อของผู้กู้ในหนังสือ สัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่ลายมือชื่อจําเลย อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเกินกว่าอัตราที่กฎหมาย กําหนดตกเป็นโมฆะ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โดยนายยุติผู้พิพากษาที่นั่ง พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองไว้แล้วว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ให้วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจําเลยดังกล่าวชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคแรก “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้า ไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดี อันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้น หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่ เปิดช่องให้กระทําได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ ค่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการ ยื่นอุทธรณ์นั้น

1 ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2 ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และ

3 อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้น จะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

เว้นแต่ จะต้องด้วยหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น ก็ยังมีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่ออุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ได้ คือ

1 เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ

2 เป็นปัญหาที่คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือ

3 เพราะเหตุเป็นเรื่องศาลชั้นต้นที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจําเลยที่ว่า ลายมือชื่อของผู้กู้ ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่ลายมือชื่อของจําเลย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์ของจําเลยดังกล่าว ถือเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม เมื่อ จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ จึงไม่มีข้อต่อสู้ของจําเลยตามคําให้การในศาลชั้นต้นที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก อีกทั้งข้อที่จําเลยยกขึ้นต่อสู้ในอุทธรณ์ดังกล่าวก็มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนตามที่ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง บัญญัติยกเว้นให้อุทธรณ์ได้แม้จะมิได้ยกขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ในอํานาจของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุอันควร อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตามมาตรา 224 วรรคแรก ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ในกรณีนี้ได้

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยคือ อุทธรณ์ของจําเลยที่ว่า อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเกินกว่า อัตราที่กฎหมายกําหนด ตกเป็นโมฆะ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์ของจําเลยดังกล่าว ถือเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จําเลยขาดนัดยืน คําให้การซึ่งเท่ากับมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จําเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง อุทธรณ์ของจําเลยดังกล่าวจึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับไว้พิจารณา

สรุป ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งอุทธรณ์ของจําเลย โดยไม่รับอุทธรณ์ในข้อที่ว่า ลายมือชื่อของผู้กู้ ในหนังสือสัญญายืมเงินไม่ใช่ลายมือชื่อของจําเลย และรับอุทธรณ์ในข้อที่ว่า อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงิน เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนดตกเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ใช้ที่ดินของจําเลยเป็นทางเข้าออกมากว่า 10 ปี จําเลยได้ปิดกั้นทางทําให้โจทก์เข้าออกไม่ได้ ขอให้ศาลบังคับจําเลย ให้จําเลยเปิดทางให้โจทก์เข้าออกเพราะที่ดินของ จําเลยมีทางภาระจํายอม จําเลยต่อสู้ว่าที่ดินของจําเลยไม่มีทางภาระจํายอม ขอให้ศาลยกฟ้องใน ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคําร้องต่อศาลว่า จําเลยจะก่อสร้างบ้านจัดสรรและจะโอนขายที่ดินที่ โจทก์ฟ้องให้จําเลยเปิดทางภาระจํายอม หากต่อมาโจทก์เป็นฝ่ายชนะ โจทก์ก็จะต้องเสียหาย ใช้ ที่ดินของจําเลยเป็นทางเข้าออกไม่ได้ ขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยก่อสร้างและขอให้มีคําสั่งห้าม มิให้จําเลยจดทะเบียนสิทธินิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของจําเลย ศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า จําเลยจะก่อสร้าง บ้านและจะโอนขายที่ดินที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยเปิดทาง และมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยก่อสร้างบ้านและมี คําสั่งห้ามมิให้จําเลยจดทะเบียนสิทธินิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของจําเลยไว้ก่อนมีคําพิพากษา

ดังนี้ นักศึกษาเห็นว่า คําสั่งของศาลที่ห้ามมิให้จําเลยก่อสร้างบ้านและห้ามมิให้จําเลยจดทะเบียนสิทธินิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของจําเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือ การผิดสัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์ อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่าย ซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลาย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

(3) ให้ศาลมีคําสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นผู้มีอํานาจหน้าที่ตาม กฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับ ทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทําที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ๆ

มาตรา 255 “ในการพิจารณาอนุญาตตามคําขอที่ยื่นไว้ตามมาตรา 254 ต้องให้เป็นที่พอใจ ของศาลว่า คําฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนําวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้”

วินิจฉัย

บทบัญญัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการขอให้ศาลมีคําสั่ง กําหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา โดยหากโจทก์เห็นว่าโจทก์จะได้รับ ความเสียหายจากการกระทําของจําเลย โจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 ได้ แต่การร้องขอนั้น โจทก์จะต้องร้องขอเพื่อไม่ให้โจทก์ต้องเสียหายในเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจําเลยด้วย เพราะถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องบังคับจําเลยแล้ว โจทก์จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรานี้ ไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จําเลยเปิดทางให้โจทก์เข้าออก เพราะที่ดินของจําเลยมีทาง ภาระจํายอม การที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยก่อสร้างบ้านจัดสรรและห้ามมิให้จําเลยจดทะเบียน สิทธินิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของจําเลย จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องร้องขอให้ศาลบังคับจําเลย เพราะโจทก์ ไม่ได้ฟ้องบังคับห้ามมิให้จําเลยก่อสร้างบ้าน และมิได้ฟ้องบังคับให้จําเลยโอนที่ดินที่พิพาท อีกทั้งในการพิจารณา อนุญาตตามคําขอที่โจทก์ยื่นไว้ตามมาตรา 254 นั้น ศาลจะต้องเห็นว่าคําฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนํา วิธีการตามที่ขอมาใช้ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 255 ด้วย ศาลจึงอนุญาตตามคําขอได้ เมื่อปรากฏว่าเรื่องนี้โจทก์ร้องขอ ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องบังคับจําเลยจึงถือว่าคําฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลแม้จะมีเหตุ ศาลจะมีคําสั่งอนุญาตตาม คําขอไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 255 ดังนั้น คําสั่งของศาลที่ห้ามมิให้จําเลยก่อสร้างบ้านและห้ามมิให้จําเลย จดทะเบียนสิทธินิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของจําเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในกรณีดังกล่าวนี้ หากโจทก์ต้องการขอให้ศาลมีคําสั่งกําหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราว โจทก์ก็ชอบ ที่จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้จําเลยเปิดทางและให้มีคําสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินของ จําเลยไว้ก่อนมีคําพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (2) และ (3) เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกระที่ถูกฟ้องร้อง

สรุป คําสั่งของศาลที่ห้ามมิให้จําเลยก่อสร้างบ้านและห้ามมิให้จําเลยจดทะเบียนสิทธินิติกรรม ใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จําเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 111 ให้แก่โจทก์ โจทก์แถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคําบังคับ นายยุติผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีคําสั่งให้ออกคําบังคับ โดยให้เพิ่มข้อความต่อท้ายด้วยว่า หากจําเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคําพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ของจําเลย จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําบังคับ ชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือรายงานต่อศาล ชั้นต้นว่า เนื่องจากคําพิพากษาของศาลไม่ได้ระบุว่าให้ถือเอาคําพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ของจําเลย แม้จะมีข้อความดังกล่าวระบุไว้ในคําบังคับ แต่คําบังคับไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคําพิพากษา และการจดทะเบียนโอนที่ดินจะต้องมีคู่กรณีมาดําเนินการด้วยกันทั้งสองฝ่ายจึงจะจดทะเบียนโอน แก่กันได้ เจ้าพนักงานที่ดินควรจะปฏิบัติอย่างไร ศาลชั้นต้นมีคําสั่งแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่า หาก จําเลยไม่ไปจดทะเบียนให้แก่โจทก์ ก็ให้ถือเอาคําพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจําเลยตามที่ ระบุไว้ในคําบังคับ

ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลดังกล่าวชอบหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”

มาตรา 272 “ถ้าศาลได้พิพากษาหรือมีคําสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ก็ให้ศาลมี คําบังคับกําหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคําบังคับในวันที่ได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่ง และให้เจ้าพนักงานศาลส่ง

คําบังคับนั้นไปยังลูกหนี้ตามคําพิพากษา เว้นแต่ลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลมีคําบังคับนั้น และศาลได้สั่งให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสําคัญ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จําเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ เป็นกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นการให้จําเลยกระทํานิติกรรม อันเป็นหนี้ที่จําเลยต้องชําระแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตาม คําพิพากษา และ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 272 บัญญัติว่า “ถ้าศาลได้มีคําพิพากษาหรือมีคําสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดี ก็ให้ศาลมีคําบังคับกําหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคําบังคับ” การที่นายยุติผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้ออกคําบังคับโดย เพิ่มข้อความต่อท้ายในคําบังคับว่า หากจําเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคําพิพากษาของศาลแสดงการแสดงเจตนาของจําเลย จึงเป็นเพียงการกําหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคําพิพากษา มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงหนี้ที่จะต้องปฏิบัติ นอกเหนือไปจากคําพิพากษาอันจะเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 271 ที่บัญญัติให้การบังคับคดีต้องโดยอาศัยและ ตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาและคําสั่งนั้นแต่อย่างใดไม่ คําบังคับของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยมาตรา 272 แล้ว

เมื่อจําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา และสภาพแห่งการบังคับคดีสามารถใช้คําพิพากษาของศาล แทนการแสดงเจตนาของจําเลยที่จะต้องไปดําเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นจึงชอบ ที่จะมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดําเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยถือเอาคําพิพากษาของศาล แทนการแสดงเจตนาของจําเลยได้ ดังนั้น คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบแล้ว (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1584/2546 และที่ 2701/2537)

สรุป คําสั่งของศาลดังกล่าวชอบแล้ว

Advertisement