การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายเบิ้มหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายมะกรูดขว้างลงพื้นจนแตก ต่อมานายมะกรูดถึงแก่ความตายด้วยโรคประจําตัวยังไม่ทันได้ดําเนินคดีข้อหาทําให้เสียทรัพย์แก่นายเบิ้ม นางกะรัตมารดาของ นายมะกรูดจึงยื่นฟ้องนายเบิ้มเป็นจําเลยข้อหาทําให้เสียทรัพย์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายมะกรูด

ดังนี้ นางกะรัตยื่นฟ้องนายเบิ้มในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5 (2) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาต โดยชัดแจ้งจากภริยา

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(2) ผู้เสียหาย”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ผู้เสียหายที่มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28 (2) นั้น จะต้อง เป็นผู้เสียหายตามความใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการ แทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเบิ้มหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายมะกรูดขว้างลงพื้นจนแตกนั้น ถือว่านายมะกรูดเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง เพราะเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ดังนั้นนายมะกรูดย่อมมีอํานาจฟ้องนายเบิ้มต่อศาลในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28 (2)

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายมะกรูดได้ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้ยื่นฟ้องนายเบิ้ม ดังนี้ นางกะรัตมารดาของนายมะกรูดจะยื่นฟ้องนายเบิ้มในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่าตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) ได้บัญญัติให้อํานาจแก่ผู้บุพการี มีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหายหรือฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้ก็แต่เฉพาะ ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้ายถึงแก่ความตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้เท่านั้น ดังนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์นางกะรัตจะยื่นฟ้องนายเบิ้มในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ไม่ได้ เพราะนางกะรัตไม่ใช่ผู้เสียหายตาม  ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) และไม่มีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2)

สรุป

นางกะรัตจะยื่นฟ้องนายเบิ้มในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ไม่ได้

 

ข้อ 2. น.ส.หนึ่งอายุ 16 ปี ถูกนายเจ็กข่มขืนกระทําชําเรา น.ส.หนึ่งอับอายจึงไม่กล้าไปร้องทุกข์ แต่ได้บอกนายโรจน์ซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา น.ส.หนึ่ง และไม่ได้อยู่ด้วยกันกับ น.ส.หนึ่ง แต่นายโรจน์เป็นคนกว้างขวางเป็นที่รู้จักคนทั่วไปมาก นายโรจน์จึงมาร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.สุขดี พนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุโดยอ้างว่ามาร้องทุกข์แทน เนื่องจากเป็นบิดาตามความเป็นจริงของ น.ส.หนึ่ง พ.ต.ท.สุขดี พนักงานสอบสวนจึงสอบสวน สรุปสํานวนเสนอพนักงานอัยการและมีคําสั่งฟ้องนายเจ๊กฐานข่มขืนกระทําชําเราตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิด นั้นก่อน”

มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่ จะมีคําร้องทุกข์ตามระเบียบ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวอย่างไรนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงนายโรจน์เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ น.ส.หนึ่ง จึงไม่มีฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม และไม่สามารถจัดการแทน น.ส.หนึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (1) แม้ น.ส.หนึ่งจะเป็นผู้เยาว์ก็ตาม อีกทั้งนายโรจน์ ก็ไม่สามารถจัดการแทน น.ส.หนึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) เพราะแม้ว่านายโรจน์จะเป็นผู้บุพการี่ของ น.ส.หนึ่ง แต่ น.ส.หนึ่งเมื่อถูกนายเจ๊กข่มขืนกระทําชําเรา ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า น.ส.หนึ่งถูกทําร้ายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้แต่อย่างใด

ดังนั้น นายโรจน์จึงไม่ใช่บุคคลอื่นผู้มีอํานาจจัดการแทนได้ อันจะถือเป็น ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4)

และเมื่อความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเราที่นายโรจน์มาร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.สุขดี พนักงาน สอบสวนนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งจะต้องมีคําร้องทุกข์ตามกฎหมายเสียก่อน พนักงานสอบสวนจึงจะ มีอํานาจสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายโรจน์ไม่ใช่ผู้เสียหาย การร้องทุกข์ ของนายโรจน์จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (7) การสอบสวนของ พ.ต.ท.สุขดี พนักงานสอบสวน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 ศาลจึงต้องพิพากษา ยกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ

 

ข้อ 3. นายบริสุทธิ์สงสัยว่านายธรรมซึ่งเป็นคนอาศัยอยู่ในบ้านจะเป็นคนร้ายขโมยแหวนประจําตระกูลเพราะหลังเกิดเหตุ นายธรรมหนีออกจากบ้านไป นายบริสุทธิ์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดําเนินคดีกับนายธรรมในข้อหาลักทรัพย์ นอกจากนี้ นายบริสุทธิ์ยังเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธรรม ต่อศาลด้วย แต่พนักงานอัยการมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายธรรมที่ยังหลบหนีและยังไม่ได้ตัวมาทํา การสอบสวน โดยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติเห็นชอบกับคําสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว และศาลได้ไต่สวน มูลฟ้องคดีที่นายบริสุทธิ์เป็นโจทก์แล้ว มีคําพิพากษายกฟ้อง เพราะคดีไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า นายธรรมเป็นคนร้ายลักทรัพย์ ต่อมานายธรรมสํานึกผิดและนึกถึงบุญคุณที่นายบริสุทธิ์ได้เลี้ยงดู และให้พักอาศัยในบ้าน จึงสารภาพผิดและนําแหวนประจําตระกูลมาคืนให้กับนายบริสุทธิ์

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า คํารับสารภาพของนายธรรมและแหวนที่นายธรรมนํามาคืนให้กับนายบริสุทธิ์นั้น เป็นพยานหลักฐานใหม่อันสําคัญแก่คดีหรือไม่ และพนักงานอัยการจะมีคําสั่งฟ้องและยื่นฟ้องนายธรรมต่อศาล รวมทั้งนายบริสุทธิ์จะยื่นฟ้องนายธรรมเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

มาตรา 147 “เมื่อมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้น ในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสําคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทําให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้”

วินิจฉัย

ในกรณีที่สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องระงับ เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1 จําเลยในคดีแรกและคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน

2 การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําเดียวกัน

3 ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คํารับสารภาพของนายธรรมและแหวนที่ นายธรรมนํามาคืนให้กับนายบริสุทธิ์นั้นเป็นพยานหลักฐานใหม่อันสําคัญแก่คดีหรือไม่ เห็นว่า คํารับสารภาพของ นายธรรมและแหวนที่นายธรรมนํามาคืนให้กับนายบริสุทธิ์ถือเป็นพยานหลักฐานที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน ในสํานวนการสอบสวน และเป็นพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดซึ่งน่าจะทําให้ศาลพิพากษาลงโทษนายธรรมได้ จึงเป็นพยานหลักฐานใหม่อันสําคัญแก่คดีตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 147

ประเด็นที่สองที่ต้องวินิจฉัยมีว่า พนักงานอัยการจะมีคําสั่งฟ้องและยื่นฟ้องนายธรรมต่อศาล เป็นคดีใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามกฎหมายเมื่อพนักงานอัยการมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว พนักงานสอบสวน จะรื้อคดีนั้นมาสอบสวนอีกไม่ได้ แต่หากได้พยานหลักฐานใหม่อันสําคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทําให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถที่จะสอบสวนความผิดนั้นต่อไปเพื่อส่งให้พนักงานอัยการมีคําสั่งฟ้องต่อศาลได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 147) ตามข้อเท็จจริงเมื่อคํารับสารภาพของนายธรรมและแหวนที่นายธรรมนํามาคืนให้กับนายบริสุทธิ์ ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ อันสําคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทําให้ศาลลงโทษนายธรรมได้ โดยหลักพนักงานอัยการย่อมมีคําสั่งฟ้องและยื่นฟ้องนายธรรมต่อศาลได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านายบริสุทธิ์ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายธรรมในข้อหาลักทรัพย์จนศาล มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว พนักงานอัยการจึงยื่นฟ้องนายธรรมเป็นจําเลยในการกระทําเดียวกันกับคดีก่อน อีกไม่ได้ เพราะสิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4)

ประเด็นที่สามที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายบริสุทธิ์จะยื่นฟ้องนายธรรมเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีของพนักงานอัยการ กล่าวคือ การที่นายบริสุทธิ์ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายธรรมในข้อหาลักทรัพย์ จนศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้วนั้น ย่อมต้องห้ามมิให้นายบริสุทธิ์ยื่นฟ้องนายธรรม เป็นจําเลยในการกระทําเดียวกันกับคดีก่อนอีก เพราะสิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4)

สรุป คํารับสารภาพของนายธรรมและแหวนที่นายธรรมนํามาคืนให้กับนายบริสุทธิ์นั้นเป็น พยานหลักฐานใหม่อันสําคัญแก่คดี และพนักงานอัยการจะมีคําสั่งฟ้องและยื่นฟ้องนายธรรมต่อศาลเป็นคดีใหมไม่ได้ รวมทั้งนายบริสุทธิ์ก็จะยื่นฟ้องนายธรรมเป็นคดีใหม่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 4. พ.ต.ต.พิศุทธิ์เห็นรถคันหนึ่งจอดอยู่ โดยรถยนต์คันนี้มีร่องรอยว่าพึ่งจะถูกงัดแงะและเครื่องเสียงของรถยนต์หายไปในบริเวณใกล้เคียง พ.ต.ต.พิศุทธิ์พบนายมาโนชยืนถือเครื่องเสียงของรถยนต์ที่ ถูกงัดแงะอยู่ในมือ พ.ต.ต.พิศุทธิ์จะเข้าทําการจับนายมาโนช แต่นายมาโนชวิ่งหนีเข้าไปในบ้าน มารดาของนายมาโนช ซึ่งนายมาโนชก็พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย พ.ต.ต.พิศุทธิ์ได้ตามเข้าไปจับ นายมาโนชในบ้านมารดาของนายมาโนชทันทีโดยไม่มีหมายจับและหมายค้น ดังนี้ การจับของ พ.ต.ต.พิศุทธิ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”

มาตรา 80 “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือพบใน อาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ

อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดังระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่าความผิดนั้น เป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีดังนี้

(2) เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทําผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่ เกิดเหตุนั้น และมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทําผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่า ได้ใช้ในการกระทําผิดหรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น”

มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”

มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้

(3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทําความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้น ควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การจับของ พ.ต.ต.พิศุทธิ์ถือเป็นการจับในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้ ต้องมีอํานาจในการจับโดยมีหมายจับหรืออํานาจที่กฎหมายให้ทําการจับได้โดยไม่ต้องมีหมาย และได้ทําตาม บทบัญญัติใน ป.วิ.อาญา อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือ มีหมายค้น หรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นในที่ รโหฐานได้โดยไม่ต้องมีหมาย

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ.ต.ต.พิศุทธิ์พบนายมาโนชแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทําผิด ในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้น และนายมาโนชมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทําผิด อีกทั้งความผิดที่นายมาโนช กระทําคือ ความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีแนบท้าย ป.วิ.อาญา พ.ต.ต.พิศุทธิ์จึงมีอํานาจใน การจับนายมาโนชโดยไม่ต้องมีหมายจับเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้าประเภทที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคสอง (2) และตามข้อเท็จจริง พ.ต.ต.พิศุทธิ์ได้ทําตาม บทบัญญัติใน ป.วิ.อาญา อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐานตามมาตรา 92 (3) แล้วเนื่องจากเป็นกรณีที่นายมาโนช ซึ่งได้กระทําความผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูก พ.ต.ต.พิศุทธิ์ไล่จับได้หนีเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในบ้านมารดาของนายมาโนช ซึ่งเป็นที่รโหฐาน พ.ต.ต.พิศุทธิ์จึงมีอํานาจเข้าไปจับนายมาโนชในบ้านมารดาของนายมาโนชได้ทันที ดังนั้นการจับ ของ พ.ต.ต.พิศุทธิ์จึงชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1), 60 วรรคสอง (2), 81 และ 92 (3)

สรุป การจับของ พ.ต.ต.พิศุทธิ์ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement