การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทําชําเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนมีความผิดโดยไม่คํานึงถึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ปรากฏว่า เด็กหญิงน้อย อายุ 13 ปีเศษได้ยินยอมให้นายเขียวกระทําชําเรา ต่อมาอีก 15 วัน เด็กหญิงน้อย ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและเมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว เห็นว่าคดีมีหลักฐานจึงส่งสํานวน ให้พนักงานอัยการ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายเขียวต่อศาลตามข้อหาดังกล่าว นายขาว บิดาผู้ดูแลเด็กหญิงน้อยจึงจัดการแทนเด็กหญิงน้อยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเนื่องจาก เด็กหญิงน้อยอายุยังไม่เกิน 20 ปี ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1) เด็กหญิงน้อยมีอํานาจร้องทุกข์หรือไม่ และ

(2) นายขาวบิดาของเด็กหญิงน้อยมีอํานาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”

มาตรา 3 “บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอํานาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตาม เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล”

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

(1) ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 247) และมาตรา 123 มิได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับ ความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของ ผู้เยาว์ด้วย ดังนั้นผู้เยาว์จึงมีอํานาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3915/2551)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เด็กหญิงน้อย ได้ยินยอมให้นายเขียวกระทําชําเรานั้นก็ยังถือว่าเป็น ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 244) ประกอบด้วย ป.อาญา มาตรา 277 เพราะมาตรา 277 ได้บัญญัติเอาผิด ในกรณีที่เด็กหญิงน้อยยินยอมไว้ด้วย การยินยอมจึงถือเป็นองค์ประกอบของความผิด ดังนั้นการที่เด็กหญิงน้อยได้ ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับนายเขียวในข้อหาข่มขืนกระทําชําเรานั้นเด็กหญิงน้อยย่อมมีอํานาจที่จะ กระทําได้ เพราะการที่ผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายย่อมมีอํานาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 27)

(2) ตามกฎหมาย ผู้ที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาได้นั้น จะต้องเป็น ผู้เสียหายตามความใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2(4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการแทน ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายขาวเป็นบิดาผู้ดูแลเด็กหญิงน้อยซึ่งเป็นผู้เสียหายถือว่าเป็นผู้แทน โดยชอบธรรม จึงสามารถจัดการแทนเด็กหญิงน้อยผู้เยาว์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5(1) และสามารถขอเข้าร่วม เป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 342) และมาตรา 30 (คําพิพากษาฎีกาที่ 4147/2550)

สรุป

(1) เด็กหญิงน้อยมีอํานาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้

(2) นายขาวบิดาของเด็กหญิงน้อยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้

 

ข้อ 2. นายวิทย์ลักรถจักรยานยนต์ของนายเกียรติที่จังหวัดราชบุรีและนํามาขายให้แก่นายสมศักดิ์ที่จังหวัดนครปฐม นายเกียรติได้ร้องทุกข์ต่อร้อยตํารวจเอกสัญญา พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธร เมืองราชบุรี หลังจากร้อยตํารวจเอกสัญญาได้รับคําร้องทุกข์แล้ว ต่อมานายวิทย์ถูกดาบตํารวจจิตติ จับได้ที่จังหวัดราชบุรีและถูกดําเนินคดี โดยพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายวิทย์เป็นจําเลยในความผิด ฐานลักทรัพย์เวลากลางคืน อันเป็นคดีลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ต่อศาลจังหวัดราชบุรี เมื่อศาล จังหวัดราชบุรีได้พิพากษาลงโทษนายวิทย์จําเลยแล้ว ปรากฏว่าสิบตํารวจเอกถวัลย์ซึ่งเป็นตํารวจ ประจําสถานีตํารวจภูธรเมืองนครปฐมจับนายสมศักดิ์ได้ที่จังหวัดนครปฐมพร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ ของนายเกียรติที่ถูกนายวิทย์ลักไปและได้นําตัวนายสมศักดิ์ไปส่งให้แก่ร้อยตํารวจเอกจํารูญ พนักงาน สอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองนครปฐม ให้วินิจฉัยว่า

(ก) พนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสอบสวนคดีของนายสมศักดิ์ในความผิดฐานรับของโจร

(ข) พนักงานอัยการจะฟ้องนายสมศักดิ์เป็นจําเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 19 “ในกรณีดังต่อไปนี้

(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทําต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่า ท้องที่หนึ่งขึ้นไปพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้ ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

(ข) ถ้าจับตัวผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทําผิด ก่อนอยู่ในเขตอํานาจ”

มาตรา 24 “เมื่อความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันโดยเหตุหนึ่งเหตุใดเป็นต้นว่า

(1) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทําลงโดยผู้กระทําผิดคนเดียวกัน หรือผู้กระทําผิด หลายคนเกี่ยวพันกันในการกระทําความผิดฐานหนึ่งหรือหลายฐาน จะเป็นตัวการ ผู้สมรู้หรือรับของโจรก็ตาม

ดังนี้จะฟ้องคดีทุกเรื่อง หรือฟ้องผู้กระทําความผิดทั้งหมดต่อศาลซึ่งมีอํานาจชําระในฐาน ความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าไว้ก็ได้”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายวิทย์ลักรถจักรยานยนต์ของนายเกียรติที่จังหวัดราชบุรีและ นํามาขายให้แก่นายสมศักดิ์ที่จังหวัดนครปฐม ความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานรับของโจรในทรัพย์ ชิ้นเดียวกันนั้น เป็นความผิดต่อเนื่องตามความหมายของ ป.วิ.อาญา มาตรา 19(3) ดังนั้นพนักงานสอบสวนใน ท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่งตอนท้าย (เทียบคํา พิพากษาฎีกาที่ 3903/2531)

เมื่อนายเกียรติได้ร้องทุกข์ต่อร้อยตํารวจเอกสัญญาพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองราชบุรี และร้อยตํารวจเอกสัญญาได้รับคําร้องทุกข์ไว้แล้ว ร้อยตํารวจเอกสัญญาพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทํา ความผิดก่อนย่อมมีอํานาจทําการสอบสวนได้และเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสอบสวนคดีของนายสมศักดิ์ ในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ข) (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1126/2544)

(ข) แม้ความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเกิดที่จังหวัดราชบุรีกับความผิดฐานรับของโจรซึ่งเกิดขึ้นที่ จังหวัดนครปฐมเกิตตางท้องที่กัน แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน คือรถจักรยานยนต์ ของนายเกียรติผู้เสียหาย โดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนําไปจําหน่ายให้แก่นายสมศักดิ์ผู้รับของโจรในอีก ท้องที่หนึ่ง จึงเป็นความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้กระทําความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการ ลักทรัพย์ ผู้สมรู้ และรับของโจรตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 24(1) (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2455/2550)

และตามกฎหมายความผิดฐานลักทรัพย์เวลากลางคืนมีอัตราโทษสูงกว่าความผิดฐานรับของโจร ดังนั้นพนักงานอัยการจึงฟ้องนายสมศักดิ์เป็นจําเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลจังหวัดราชบุรีที่มี อํานาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 24 วรรคสอง (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2455/2550)

สรุป

(ก) พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองราชบุรีเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ สอบสวนคดีของนายสมศักดิ์ในความผิดฐานรับของโจร

(ข) พนักงานอัยการสามารถฟ้องนายสมศักดิ์เป็นจําเลยในความผิดฐานรับของโจร ต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้

 

ข้อ 3. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสาหัสเป็นจําเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ สร้อยคอทองคํา 1 เส้น หนัก 1 บาท ราคา 18,000 บาทของนายแสนดีผู้เสียหาย และขอให้ศาลสั่งให้นายสาหัส จําเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคํา จํานวน 18,000 บาทแก่นายแสนดีผู้เสียหายด้วย แต่ก่อน เริ่มสืบพยานโจทก์ นายแสนดียื่นคําร้องเข้ามาในคดีว่าขณะเกิดเหตุวิ่งราวทรัพย์ได้มีการยื้อแย่ง สร้อยคอทองคํากัน นายสาหัสจําเลยจึงใช้เท้าถีบนายแสนดีล้มลง เป็นเหตุให้นายแสนดีได้รับบาดเจ็บ ข้อเท้าข้างซ้ายพลิก ต้องเสียค่ารักษาเป็นเงินจํานวน 36,000 บาท อีกทั้งราคาทองคําได้สูงขึ้น ปัจจุบันสร้อยคอทองคําของนายแสนดีมีราคา 24,000 บาท จึงขอศาลให้บังคับนายสาหัสจําเลย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายแสนดีรวมเป็นเงินจํานวน 60,000 บาท ดังนี้ หากท่านเป็นศาลจะมีคําสั่งรับคําร้องของนายแสนดีในส่วนของเงินค่ารักษาพยาบาลและราคา สร้อยคอทองคําไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 43 “คดีลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก หรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทําผิดคืน เมื่อพนักงานยืนฟ้องคดีอาญาก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย”

มาตรา 4/1 วรรคท้าย “คําร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคําขอประการอื่นที่มิใช่คําขอบังคับให้จําเลย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทําความผิดของจําเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับ คําฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดําเนินการตามความในมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 44/1 วรรคท้าย ได้บัญญัติหลักไว้ว่า คําร้องของผู้เสียหาย ที่ขอให้ศาลบังคับจําเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับ คําฟ้องของพนักงานอัยการ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ฟ้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์อีกไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ ในคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสาหัสเป็นจําเลยใน ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ สร้อยคอทองคํา 1 เส้น หนัก 1 บาท ราคา 18,000 บาทของนายแสนดีผู้เสียหายและขอให้ ศาลสั่งให้นายสาหัสจําเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคําจํานวน 18,000 บาทแก่นายแสนดีผู้เสียหายด้วยนั้น เมื่อปรากฏว่าก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ นายแสนดียื่นคําร้องเข้ามาในคดีว่า นายสาหัสจําเลยได้ใช้เท้าถีบนายแสนดี จนล้มลงได้รับบาดเจ็บข้อเท้าพลิกด้วยนั้น เป็นการกล่าวหาว่านายสาหัสจําเลยกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์อัน แตกต่างจากคําฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ที่ฟ้องในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คําร้องของนายแสนดีจึงขัด หรือแย้งกับคําฟ้องของพนักงานอัยการ

และนอกจากนี้เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องขอให้นายสาหัสจําเลยคืน หรือใช้ราคาสร้อยคอทองคําจํานวน 18,000 บาทแก่นายแสนดีผู้เสียหายแล้ว แม้ราคาในปัจจุบันและขณะเกิดเหตุ จะแตกต่างกัน นายแสนดีก็ไม่อาจยื่นคําร้องเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 44/1 วรรคท้าย ดังนั้นศาลจึงต้องมีคําสั่งไม่รับคําร้องของนายแสนดีไว้พิจารณา

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะมีคําสั่งไม่รับคําร้องของนายแสนดีในสวนของเงินค่ารักษาพยาบาล และราคาสร้อยคอทองคําไว้พิจารณา

 

ข้อ 4. นางชุมมีตึกแถวสองชั้น ชั้นหนึ่งของตึกแถวใช้เป็นร้านขายข้าวแกง ส่วนชั้นสองของตึกแถวนางชุมและนายก้องเกียรติบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย อายุ 21 ปีใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยชั้นสองของตึกแถว ไม่ให้บุคคลทั่วไปขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต วันหนึ่งขณะที่นางชุมกําลังขายข้าวแกงอยู่ภายในร้าน ซึ่งอยู่ชั้นหนึ่งของตึกแถวซึ่งขณะนั้น ร.ต.อ.ปัณณ์และลูกค้าคนอื่น ๆ นั่งรับประทานข้าวแกงอยู่ นายก้องเกียรติเห็นนายวนัสคู่อริเดินเข้ามาในร้าน นายก้องเกียรติได้ตรงเข้าไปทําร้ายนายวนัส จนเป็นเหตุให้นายวนัสได้รับอันตรายแก่กาย ร.ต.อ.ปัณณ์จะเข้าทําการจับนายก้องเกียรติ นายก้องเกียรติจึงได้วิ่งหนีขึ้นไปที่ชั้นสองของตึกแถว ร.ต.อ.ปัณณ์จึงวิ่งตามขึ้นไปจับกุมนายก้องเกียรติ ที่ขั้นสองของตึกแถว ดังนี้ การจับของ ร.ต.อ.ปัณณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของ ศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”

มาตรา 80 วรรคแรก “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทํา หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”

มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”

มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้

(3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทําความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้น ควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางชุมมีตึกแถวสองชั้น โดยชั้นหนึ่งของตึกแถวใช้เป็นร้านขายข้าวแกง โดยขณะนั้น ร.ต.อ.ปัณณ์และลูกค้าคนอื่น ๆ นั่งรับประทานข้าวแกงอยู่จึงเป็นที่สาธารณสถาน ส่วนชั้นสองของ ตึกแถวใช้เป็นที่อยู่อาศัยโดยไม่ให้บุคคลทั่วไปขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นที่รโหฐาน

การที่ ร.ต.อ.ปัณณ์เห็นนายก้องเกียรติกําลังทําร้ายนายวนัสเป็นเหตุให้นายวนัสได้รับอันตราย แก่กายนั้นถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าประเภทความผิดซึ่งหน้าอย่างแท้จริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78(1) ประกอบ มาตรา 80 วรรคแรก ดังนั้น ร.ต.อ.ปัณณ์จึงมีอํานาจในการจับนายก้องเกียรติแม้ไม่มีหมายจับ

และการที่ ร.ต.อ.ปัณณ์วิ่งตามขึ้นไปจับกุมนายก้องเกียรติที่ชั้นสองของตึกแถวจึงเป็นการจับ ในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้นอกจากต้องมีอํานาจในการจับแล้วยังต้องทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือต้องมีหมายค้นหรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นใน ที่รโหฐานได้โดยไม่ต้องมีหมาย ซึ่ง ร.ต.อ.ปัณณ์ ได้ทําตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 92(3) แล้วเนื่องจากเป็นกรณีที่ นายก้องเกียรติซึ่งได้กระทําความผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูก ร.ต.อ.ปัณณ์ไล่จับหนีเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น ร.ต.อ.ปัณณ์จึงมีอํานาจตามเข้าไปจับนายก้องเกียรติที่ชั้นสองของตึกแถวได้ ดังนั้นการจับของ ร.ต.อ.ปัณณ์ จึงชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 78(1), มาตรา 80 วรรคแรก, มาตรา 81 และมาตรา 92(3)

สรุป การจับของ ร.ต.อ.ปัณณ์ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement