การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. เอกเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท ไทยรุ่งเรือง จํากัด เป็นจําเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญากู้และเดชเป็นจําเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จําเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคําให้การ ส่วนจําเลยที่ 2 ให้การว่า หนี้ตามสัญญากู้ระงับแล้ว จําเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันขอให้ยกฟ้อง ระหว่าง พิจารณาของศาลชั้นต้น

(1) เดชจําเลยที่ 2 ยื่นคําร้องว่าจําเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคําให้การไม่เข้ามาต่อสู้คดีทั้งที่หนี้ตามสัญญากู้ ระงับแล้วทําให้จําเลยที่ 2 ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจําเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินและหนี้สินของจําเลยที่ 1 ขอเข้ามาต่อสู้คดีแทนจําเลยที่ 1

(2) เอื้อ ยื่นคําร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในคดีเนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นของจําเลยที่ 1 มีความจําเป็น เพื่อยังให้รับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่ผู้ร้องมีอยู่ในบริษัทจําเลยที่ 1 จึงร้องสอดเข้ามา เป็นคู่ความในคดีด้วย

ดังนี้ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของเดชจําเลยที่ 2 และเอื้อหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจําเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้อง เกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของเดชจําเลยที่ 2 และเอื้อหรือไม่นั้นเห็นว่า

1 กรณีคําร้องของเดช

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความ อาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า การร้องสอดเข้ามาในคดีนั้นไม่ว่า จะด้วยความสมัครใจหรือด้วยถูกหมายเรียกเข้ามาในคดี ผู้ร้องสอดจะต้องเป็นบุคคลภายนอกคดีเท่านั้น

ตามข้อเท็จจริง คดีนี้เอกเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท ไทยรุ่งเรือง จํากัด เป็นจําเลยที่ 1 และ ฟ้องเดชเป็นจําเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ําประกันตามลําดับ เดชจึงอยู่ในฐานะคู่ความในคดีอยู่แล้ว ดังนั้นเดชจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกคดี ไม่อาจร้องสอดเข้ามาต่อสู้คดีแทนจําเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 วรรคแรก ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของเดชจําเลยที่ 2 ไม่ได้

2 กรณีคําร้องของเอื้อ

ตามข้อเท็จจริง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้อันเป็นกรณีที่ โจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากเอื้อผู้ร้อง สิทธิของเอื้อผู้ร้องมีอยู่ในบริษัทจําเลยที่ 1 เพียงใดก็คงมีอยู่อย่างนั้น เอื้อจึงไม่มีเหตุจําเป็นที่จะต้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือ บังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ เอื้อจึงร้องสอดเข้าเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (1) ไม่ได้ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของเอื้อไม่ได้

สรุป

ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของเดชและเอื้อไม่ได้

 

ข้อ 2. วิชัย คนไทยมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี กับปรีชาคนไทยมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดนครปฐมได้เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชา วิชัยและปรีชาพบกับแดงชาวกัมพูชามีภูมิลําเนาอยู่ใน ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นเพื่อนกับปรีชา วิชัยได้ตกลงซื้อพลอยทับทิมจากแดงโดยมีปรีชาค้ำประกัน การซื้อขาย เมื่อกลับเข้ามาในประเทศไทยวิชัยนําพลอยทับทิมที่ซื้อมาจากแดงให้ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบปรากฏว่าเป็นของปลอม ดังนี้วิชัยจะฟ้องแดงกับปรีชาให้ร่วมกันรับผิดฐานผิดสัญญาได้หรือไม่ และจะเสนอคําฟ้องต่อศาลเดียวกันได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ตรี “คําฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจําเลยมิได้มีภูมิลําเนา อยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลําเนาอยู่ใน ราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล

คําฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจําเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่า จะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคําฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้”

มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เพราะภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหา หลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่ง เช่นว่านั้นก็ได้”

มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วม หรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า วิชัยจะฟ้องแดงกับปรีชาให้ร่วมกันรับผิด ฐานผิดสัญญาได้หรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็น คู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในมูลความแห่งคดี

คําว่า “ประโยชน์ร่วมกัน” หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือมูลเหตุแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน เช่น การเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน การเป็นลูกหนี้ร่วมกัน บุคคลที่กระทําละเมิดร่วมกัน หรือบุคคลซึ่งถูกละเมิดด้วยการละเมิด อันเดียวกัน เป็นต้น และต้องเป็นประโยชน์ร่วมกันตามกฎหมาย และต้องเป็นการกระทําต่อเนื่องกัน อันเดียวกัน กระทบกระเทือนถึงกันและกัน

ตามข้อเท็จจริง การที่วิชัยตกลงซื้อพลอยทับทิมจากแดงโดยมีปรีชาค้ำประกันการซื้อขายนั้น วิชัยย่อมสามารถฟ้องแดงและปรีชาให้ร่วมกันรับผิดฐานผิดสัญญาได้ เพราะลูกหนี้กับผู้ค้ำประกันถือว่ามี ผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า วิชัยจะเสนอคําฟ้องต่อศาลเดียวกันได้หรือไม่ สามารถ พิจารณาได้ดังนี้

กรณีของปรีชา ตามกฎหมายนั้น การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคลจะต้องเสนอคําฟ้องต่อศาลที จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) จากข้อเท็จจริง การที่ปรีชาได้ทําสัญญาค้ำประกันการซื้อขายที่ประเทศกัมพูชา ย่อมถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าปรีชามีภูมิลําเนาอยู่จังหวัดนครปฐม วิชัยจึงต้องฟ้องปรีชาให้รับผิดฐานผิดสัญญาต่อ ศาลจังหวัดนครปฐมที่ปรีชามีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)

กรณีของแดง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ตรีนั้น การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคลซึ่งจําเลยมิได้มี ภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลําเนา อยู่ในราชอาณาจักรให้ฟ้องต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล จากข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าแดง มีภูมิลําเนาอยู่ที่ประเทศกัมพูชา และมูลคดีตามสัญญาซื้อขายก็เกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา ดังนี้ วิชัยซึ่งมีสัญชาติไทย จึงต้องฟ้องแดงให้รับผิดฐานผิดสัญญาต่อศาลแพ่งหรือศาลที่จังหวัดสุพรรณบุรีอันเป็นศาลที่โจทก์มีภูมิลําเนาอยู่ ในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ตรี

และเมื่อปรากฏว่ามูลคดีของปรีชาและแดงมีความเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ วิชัยประสงค์จะฟ้อง ปรีชาให้รับผิดในมูลคดีค้ําประกันการซื้อขาย และฟ้องแดงให้รับผิดตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งในกรณีดังกล่าว หาก แดงไม่นําพลอยทับทิมปลอมมาขายปรีชาในฐานะผู้ค้ําประกันการซื้อขายก็จะไม่ต้องถูกฟ้อง ดังนั้น เมื่อมูลความ แห่งคดีมีความเกี่ยวข้องกัน วิชัยจึงสามารถฟ้องปรีซาและแดงต่อศาลที่จังหวัดสุพรรณบุรี ศาลที่จังหวัดนครปฐม หรือศาลแพ่งศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5

สรุป

วิชัยจะฟ้องแดงกับปรีชาให้ร่วมกันรับผิดฐานผิดสัญญาได้ และสามารถเสนอคําฟ้อง ต่อศาลเดียวกันได้

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ําเข้ามาในที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จําเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำ จําเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจําเลยปลูกสร้างอาคารส่วนที่รุกล้ำโดยสุจริตขอให้โจทก์จดทะเบียนเป็นภาระจํายอม ดังนี้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฟ้องแย้ง แต่ไม่ได้เป็นของจําเลยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

มาตรา 179 วรรคท้าย “แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคําฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้อง เพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคําฟ้องเดิมต่อศาลแล้วเป็นแต่คําฟ้องเดิมและคําฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกัน พอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้”

วินิจฉัย

การที่จําเลยจะฟ้องแย้งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย จะต้อง ประกอบด้วยหลักเกณฑ์สําคัญ 3 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1 ต้องมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่

2 ต้องมีฟ้องเดิม

3 ฟ้องแย้งนั้นต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิม และจะต้องไม่เป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ําเข้ามาในที่ดิน ที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จําเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำ และจําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จําเลยปลูกสร้างอาคารส่วนที่รุกล้ำโดยสุจริตขอให้โจทก์จดทะเบียนเป็นภาระจํายอมนั้น ย่อมถือว่าฟ้องแย้งกับ ฟ้องเดิมเกี่ยวข้องกันพอที่จะสามารถพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย เนื่องจากเป็นการฟ้องเกี่ยวกับอาคารในส่วนที่รุกล้ําเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อเป็นฟ้องแย้งที่ ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นจึงต้องสังรับฟ้องแย้งของจําเลย

สรุป

ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฟ้องแย้งของจําเลย

 

ข้อ 4. โจทก์จําเลยพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ภายหลังจําเลยยื่นคําให้การ โจทก์ยื่นคําร้องขอถอนฟ้อง ศาลสั่งอนุญาต จําเลยอุทธรณ์คําสั่งอนุญาต ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ ฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันกับที่ถอนฟ้องไปแล้วหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องศาลอุทธรณ์สั่งอนุญาตให้โจทก์ ถอนฟ้องคดีก่อนถึงที่สุด ดังนี้ศาลชั้นต้นจะสั่งคําฟ้องของโจทก์อย่างไรจึงชอบด้วยกฎหมาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และ ผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น”

วินิจฉัย

การที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา

2 คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

3 คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

4 ห้ามโจทก์ฟ้อง

5 ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และต่อมาโจทก์ยื่นคําร้อง ขอถอนฟ้องจําเลยและศาลสั่งอนุญาต จําเลยจึงอุทธรณ์คําสั่งอนุญาตดังกล่าวนั้น ย่อมถือว่าคดีดังกล่าวยังอยู่ใน ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ กล่าวคือ คําสั่งศาลที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องยังไม่สิ้นสุด ดังนั้น การที่โจทก์ ฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ภายหลังศาลอุทธรณ์จะมีคําสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและคดีถึงที่สุดก็ไม่ทําให้ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลับเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งยกคําฟ้องโจทก์

สรุป

ศาลชั้นต้นต้องสั่งยกคําฟ้องของโจทก์เพราะเป็นฟ้องซ้อน

 

Advertisement