การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. เมืองต้องการยกที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ 50 ไร่ แก่บุตรสองคน คือ หนึ่งและสอง จึงไปทำสัญญาให้และจดทะเบียนโอนที่สำนักงานที่ดิน และเมืองได้ทำสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ 5 ไร่ จากไม้เพื่อใช้เป็นที่จอดรถของโรงแรมที่เมืองดำเนินกิจการอยู่ ปรากฏต่อมาว่า

ก.      ในโฉนดที่ดินมีการจดทะเบียนว่าผู้ได้รับการให้ที่ดินแปลงแรกสามคนคือ หนึ่ง และบุตรของหนึ่งอีกสองคน เพราะสองถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ซึ่งเมื่อเห็นว่าไม่ตรงตามความประสงค์ของตน และต้องการได้ที่ดินคืน โดยการยื่นคำร้องอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้สัญญาให้เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 156

ข.       เอก โท และตรี เจ้าของตึกแถวซึ่งอยู่ข้างที่ดินที่เช่าได้ติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่เช่า ทำให้เมืองไม่สามารถปรับปรุงที่ดินที่เช่าและสร้างหลังคาโรงรถได้ เมืองจึงจะฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ เอก โท และตรี รื้อถอนกันสาดออกไปจากที่ดินที่เช่า ทำให้เมืองไม่สามารถปรับปรุงที่ดินที่เช่าและสร้างหลังคาโรงรถได้ เมืองจึงจะฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้เอก โท และตรี รื้อถอนกันสาดออกไปจากที่ดินทีเช่า

ท่านเห็นว่าเมืองจะยื่นคำร้องขอตามข้อ ก. และฟ้องคดีตามข้อ ข. ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

        หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

        มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

        มาตรา 188 “ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับต่อไปนี้

(1)   ให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาล

วินิจฉัย

ก.      การที่บุคคลใดต้องใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท  โดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188(1) ต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติ กล่าวคือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้นๆได้

กรณีตามอุทาหรณ์ เมืองจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้สัญญาให้เป็นโมฆะเพราะตนได้กระทำไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติแล้วไม่มีบทบัญญัติมาตราใดรับรองว่าหากผู้ทำนิติกรรมยกที่ดินให้ผู้ใดไปแล้วให้ผู้นั้นใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมยกให้ดังกล่าวเป็นโมฆะได้ แม้ ป.พ.พ. มาตรา 156 ที่ให้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมเป็นโมฆะได้ แต่ก็เป็นเพียงหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเท่านั้น หาได้รับรองให้เมืองใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมยกให้นั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ เมืองจึงไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ (ฎ. 4530/2541) ต้องฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำฟ้องยื่นต่อศาล

ข.       กรณีตามอุทาหรณ์ เมืองจะยื่นฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้เอก โท และตรี รื้อถอนกันสาดออกไปจากที่ดินที่เช่าได้หรือไม่ เห็นว่า เอก โท และตรี ได้ติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่เมืองเช่าเมืองจึงไม่สามารถใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้ ทำให้เมืองได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดิน แม้ได้ความว่าเมืองเป็นเพียงผู้เช่าที่ดิน แต่การเช่าดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ในกิจการโรงแรมของเมือง กรณีเช่นนี้เมื่อเมืองเป็นเจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการกระทำของเอก โท และ ตรี อันถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของเมืองโจทก์ตามมาตรา 55 แล้ว เมืองจึงมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421และมาตรา 1337 ทั้งนี้แม้เอก โท และตรีจะติดตั้งหลังคากันสาดตึกแถวก่อนที่เมืองจะทำสัญญาเช่าที่ดินก็หาเป็นเหตุให้เมืองต้องเสียสิทธิดังกล่าวไปไม่ ดังนั้นเมืองโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเอก โท และตรี เป็นจำเลยให้รื้อถอนหลังคาที่ต่อเติมและกีดขวางการใช้ประโยชน์ของเมืองได้ (ฎ. 877/2546)

สรุป ก. เมืองไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้สัญญาเป็นโมฆะได้

      ข.  เมืองมีสิทธิฟ้อง เอก โท และตรี ให้รื้อถอนกันสาดออกไปจากที่ดินที่เช่าได้

 

ข้อ 2. นายสันติคนไทยไปมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสวีเดน นายเจสันชาวอังกฤษมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสวีเดนเช่นกัน นายเจสันได้ซื้อสินค้าจากนายสันติที่ประเทศสวีเดนและค้างชำระราคา นายสันติทวงถามหลายครั้งนายเจสันไม่ยอมชำระ นายสันติกลับมาเยี่ยมญาติในประเทศไทย ทราบว่านายเจสันมีคอนโดมิเนียมอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสันติประสงค์จะฟ้องนายเจสันให้ชำระหนี้ต่อศาลไทย จะฟ้องต่อศาลใดได้บ้าง

ธงคำตอบ

        หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

        มาตรา 4 ตรี คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

        คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้

        วินิจฉัย

        กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องการเสนอคำฟ้องในคดีที่จำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่โจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา 4 ตรี วรรคแรก ให้โจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องดังกล่าวนี้ได้ต่อศาลแพ่ง หรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล และตามมาตรา 4 9รีวรรคสอง ยังบัญญัติไว้อีกว่าถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ให้โจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินของจำเลยนั้นอยู่ในเขตศาลได้อีก

        ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อนายเจสันชาวอังกฤษจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีที่เกิดขึ้นก็มิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่นายสันติโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้นนายสันติจึงต้องฟ้องนายเจสันต่อศาลแพ่งตามมาตรา 4 ตรี วรรคแรก และเมื่อปรากฏว่านายเจสันมีคอนโดมิเนียมซึ่งเป็นทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสันติจึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ซึ่งเป็นศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลได้อีกศาลหนึ่งตามมาตรา 4 ตรี วรรคสอง

สรุป นายสันติจะฟ้องนายเจสันต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

ข้อ 3. เด็ดดวงเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่แสวงจำเลยให้ออกไปจากที่ดินและตึกแถวพิพาท พร้อมกับเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แสวงจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ เด็ดดวงโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้วมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อนสืบพยาน วงษ์ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบิดาของแสวงจำเลย ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาท ผู้ร้องได้ให้แสวงจำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและตึกแถวพิพาท จึงขอเข้ามาเป็นจำเลยเพื่อสงวนสิทธิของผู้ร้องโดยจะยื่นคำให้การต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเด็ดดวงโจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า วงษ์ผู้ร้องจะใช้สิทธิในทางที่ขัดกับสิทธิที่แสวงจำเลยเดิมมีอยู่ไม่ได้ เมื่อจำเลยเดิมขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำร้องของผู้ร้อง ดังนี้ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งคำร้องของวงษ์อย่างไร

ธงคำตอบ

        หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

        มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1)   ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

มาตรา 58 วรรคแรก ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (1) และ (3) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และ อาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม

        วินิจฉัย

        กรณีตามอุทาหรณ์ การที่วงษ์ผู้ร้องอ้างว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นของผู้ร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับการรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ จึงเป็นเรื่องที่วงษ์ร้องสอดตั้งข้อพิพาทเข้ามาเพื่อต่อสู้คดีกับเด็ดดวงโจทก์ อันถือได้ว่าเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 57(1) วงษ์ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องตามมาตรา 58 วรรคแรก ข้อห้ามตามมาตรา 58 วรรคสอง จึงนำมาใช้บังคับกับวงษ์ผู้ร้องไม่ได้ ดังนั้นแม้แสวงจะขาดนัดยื่นคำให้การวงษ์ผู้ร้องสอดก็มีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความและมีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ (ฎ. 797/2515) เพราะกฎหมายให้สิทธิผู้ร้องสอดสามารถใช้สิทธินอกเหนือจากสิทธิของจำเลยได้ ดังนั้น หากข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องของวงษ์ผู้ร้อง คำแถลงคัดค้านของเด็ดดวงโจทก์ฟังไม่ขึ้น

                สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องของวงษ์ผู้ร้อง คำแถลงคัดค้านของเด็ดดวงโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4. คดีแพ่งเรื่องหนึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่สุจริต ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนโรงเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ศาลพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้วมีมูล และไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่มีการสืบพยาน ดังนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

        หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

        มาตรา 198 วรรคแรก  ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

        มาตรา 198 ทวิ วรรคแรก และวรรคสอง ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

        เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

        วินิจฉัย

                        กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแต่จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดนั้น เป็นการดำเนินการตามมาตรา 198 วรรคแรก และถ้าศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายศาลอาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็น ฝ่ายชนะคดีก็ได้ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคแรก

        แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสองมาปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นคดีที่พิพาทโต้เถียงเกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดิน อันถือว่าเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และโจทก์ยื่นคำขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตามมาตรา 198 วรรคแรกนั้น กรณีดังกล่าวจึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง คือ ศาลจะต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วจึงจะมีคำพิพากษา แต่ตามข้อเท็จจริง ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลพิเคราะห์แต่เพียงว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายแล้วพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดี โดยไม่มีการสืบพยาน คำพิพากษาของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                สรุป การดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement